วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
การออกกำลังสมอง
นางสาวปัทมาภรณ์ อักษรชู นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ปฏิบัติการ
โดยปกติเซลล์ประสาทของมนุษย์มีการเจริญเติบโตจนถึงอายุ 5-6 ปี
หลังจากนั้นจะไม่มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ประสาท
แต่สามารถเพิ่มจำนวนของแขนงเซลล์ประสาทได้ไปตลอดชีวิต
ทำให้มีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทมากขึ้น
แขนงเหล่านี้ทำหน้าที่ในการรับและส่งสัญญาณประสาทไปยังเซลล์ต่าง ๆ รอบ ๆ
เซลล์ประสาทเพื่อให้การทำงานของสมองเป็นไปตามปกติ
การเพิ่มจำนวนของแขนงเซลล์ประสาทนั้นเกิดขึ้นจากการเรียนรู้
ถ้าเรามีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น ก็จะมีการแตกแขนงของเซลล์ประสาทมากขึ้น
ดังนั้นถ้าเรามีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำอะไรซ้ำซาก
จะเป็นการกระตู้นให้สมองมีการแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น การทำงานของสมองจะดีขึ้น
โรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของการเกิดโรคในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศ
(โดยพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) ผู้ที่มีการศึกษาน้อยหรือใช้สมองน้อย
พันธุกรรม และโรคทางร่างกายบางชนิดเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ระดับไขมันในเส้นเลือดสูง
โรคอัลไซเมอร์เกิดจากความผิดปรกติของ Amyloid protein หรือ Tau protein
ซึ่งจะไปเกาะกันเป็นก้อนในสมอง และทำลายเซลล์สมอง
โดยความผิดปรกติดังกล่าวจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ กระบวนทางเคมี
ทำให้เซลล์สมองเป็นพิษ ตาย และฝ่อ ทำให้สมองเหี่ยว ทำงานไม่ได้ และเกิดอาการต่าง ๆ
ของโรคอัลไซเมอร์ตามมา
ออกกำลังสมองด้วย neurobic
การฝึกทักษะสมองนี้เกิดจากแนวคิด นิวโรบิคส์
ซึ่งค้นคว้าโดยศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซี แคทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
ชาวอเมริกัน โดยนำแนวคิดการออกกำลังแบบแอโรบิคส์ ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง
ด้วยการขยับกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วน
มาประยุกต์กลายเป็นวิธีบริหารสมองที่ใช้ประสาทสัมผัสไปกระตุ้นกล้ามเนื้อสมองหลายๆ
ส่วนให้ขยับและตื่นตัว ทำให้แขนงเซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขา
เซลล์สมองสื่อสารกันมากขึ้น เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ สมองแข็งแรงขึ้น
นิวโรบิคส์ เอ็กเซอร์ไซส์ เกิดจากการกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
ได้แก่ การได้ยินได้มองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส
รวมไปถึงส่วนสำคัญส่วนที่ 6 คือ ส่วนของอารมณ์ ได้ทำงานเชื่อมโยงกัน
เมื่อฝึกออกกำลังสมองบ่อยๆ สมองจะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า
นิวโรโทรฟินส์เปรียบเหมือน อาหารสมอง ที่ทำให้เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ
เดนไดรต์ ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประสาททำงานดีขึ้น
จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เนื้อเซลล์เจริญเติบโตและเซลล์สมองแข็งแรง
หลักการของนิวโรบิคส์ประกอบด้วย
- เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมซ้ำแบบเดิมทุกวัน
ทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้น นาน เข้าจะทำโดยไม่ต้องคิด (Subconscion)
สมองจะทำงานลดลง เซลล์สมองถูกกระตุ้นลดลง นำไปสู่การฝ่อของเซลล์
นิวโรบิคส์จึงเริ่มจาก เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันง่ายๆ เช่น
เคยกินข้าวหลังอาบน้ำ ให้กินข้าวก่อนอาบน้ำ เพิ่มกิจกรรมใหม่ให้ตัวเอง
ออกไปวิ่งตอนเช้า ปรุงอาหารเช้าด้วยตนเอง เปลี่ยนวิธีปฏิบัติ
เช่นใช้มือข้างที่ไม่ถนัดแปรงฟันหรือกดรีโมท ฟังวิทยุจากสถานีใหม่
(ที่ไม่เคยฟัง)
- ใช้ประสาทสัมผัสมากขึ้น ดึงความสามารถของประสาทสัมผัสทั้ง รูป รส กลิ่น
เสียง สัมผัส และอารมณ์ มาใช้ให้มากที่สุด และใช้ประสาทสัมผัสมากกว่า 1
อย่างขึ้นไป โดยงดใช้ประสาทสัมผัสที่ใช้บ่อย เช่นใช้มือคลำหาของ แทนการมองหา
สื่อสารด้วยท่าทางแทนคำพูด ผสมผสานประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น
ดมกลิ่นหอมของดอกไม้ขณะฟังเพลง ลิ้มลองรสชาติไปพร้อมสูดดมกลิ่นของอาหาร
กระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น ใช้กลิ่นบำบัด จุดน้ำมันหอมระเหยขณะนวดตัว
เล่นเกมส์ฝึกสมอง เช่น เล่นไพ่ เล่นหมากรุก หมากล้อม
- ท้าทายประสบการณ์ใหม่ การทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นการกระตุ้นสมองอย่างดี และได้ ใช้ประสาทสัมผัสทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ เมื่อรู้สึกสนุก มีความสุขกับกิจกรรมใหม่ ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข นอกจากมีผลดีต่อสมอง ยังมีผลดีต่อร่างกายส่วนด้วย ซึ่งอาจทำได้โดย เดินทางท่องเที่ยว การไปสถานที่ใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ และการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ทำให้สมองได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหามากขึ้น ทำงานอดิเรกใหม่ เช่น เล่นกีฬา งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย หรือเลือกซื้อสินค้าในตลาดสดที่ได้พบปะผู้คนมากขึ้น พบปะสังสรรค์ การเข้าสังคมทำให้สมองได้แก้ปัญหามากขึ้น มีการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองมากขึ้น เช่นเข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัว เป็นสมาชิกชมรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
กินแบบไหนช่วยให้สมองและความจำดีขึ้นได้
ผศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร
หัวหน้ากลุ่มวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและการเพิ่มประสิทธิภาพสมอง คณะแพทยศาสตร์
ม.ขอนแก่น เผยว่าการทำงานของสมองนั้นเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท โดยเฉพาะ
อะซีทิลโคลีน (Acetylcholine)
ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพความจำของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus)
และอาหารหลายชนิดมีส่วนช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น
ในพืชผักจำพวกหอมหัวใหญ่ พริก ขิง
เหล่านี้มีสารสำคัญที่ช่วยเพิ่มเซลล์สมองส่วนฮิปโปแคมปัส
และกระตุ้นการหลั่งอะซีทิลโคลีน ส่งเสริมให้ความจำดีขึ้นได้
สารสำคัญในใบบัวบกช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของสมอง ทำให้สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี
สมาธิดี และความจำดีขึ้น
สารทอรีน(taurine) ที่พบเฉพาะในโปรตีนจากเนื้อสัตว์เท่านั้น
ช่วยบำรุงสมองและจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเซลล์สมอง ส่วนกรดโฟลิก (folic acid)
ที่พบมากในผักใบเขียว จำเป็นต่อการสังเคราะห์ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยป้องกันไม่ให้ทารกที่เกิดมาพิการทางสมองส่วนโอเมกา 3 (omega
3) ซึ่งพบมากในปลาทะเล และเป็นสารสำคัญที่ช่วยให้เซลล์ประสาททำงานได้อย่างเป็นปกติ
ช่วยลดการเกิดพังผืด (plaque) ในสมองและป้องกันอัลไซเมอร์ได้