สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กฎอัยการศึก

“กฎอัยการศึก”(Martial law) เป็นคำประสมที่มาจากคำโดด 3 คำ ได้แก่ คำว่า “กฎ” คำว่า “อัยการ” และคำว่า “ศึก” มารวมกันเป็นคำเฉพาะ ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ระบุความหมายของคำโดดแต่ละคำไว้เป็นแม่คำหรือคำตั้ง ดังนี้

  • คำว่า “กฎ” หมายความว่า จดไว้เป็นหลักฐาน, ตรา, คำบังคับ,ข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติที่บังคับให้ต้องมีการปฏิบัติตาม

  • คำว่า “อัยการ” หมายความว่า การของเจ้า, ตัวบทกฎหมาย

  • คำว่า “ศึก” หมายความว่า การใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันอย่างรุนแรงระหว่างรัฐหรือประเทศตั้งแต่ 2 รัฐ หรือ 2 ประเทศขึ้นไป

และเมื่อนำความหมายของแม่คำหรือคำตั้ง แต่ละคำดังกล่าวมาพิจารณารวมกันแล้ว พอจะจำกัดความหมายโดยรวมของคำว่า “กฎอัยการศึก” ได้ว่า หมายถึง “กฎหมายในยามศึกหรือกฎหมายในภาวะสงคราม” ซึ่งมิได้บ่งชี้ถึงลักษณะพิเศษเฉพาะในรายละเอียด จึงอาจกล่าวได้ว่าความหมายโดยรวมดังกล่าวเป็นความหมายทั่วไปของ “กฎอัยการศึก”



ส่วนคำว่า “กฎอัยการศึก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมิได้ระบุให้ความหมายไว้โดยตรงในลักษณะเป็นคำมูล คำสามานยนาม หรือคำวิสามานยนามที่เป็นแม่คำหรือคำตั้ง แต่ได้จัดประเภทไว้เป็นคำประสมที่เป็นอนุพจน์หรือลูกคำของแม่คำหรือคำตั้ง คำว่า “กฎ” โดยได้ให้นิยามไว้ในลักษณะอธิบายความว่า คือ“กฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างประกอบการอธิบายความหมายว่า ในกรณีที่เกิดสงคราม การจลาจล ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือ การรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่าง ที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน ความหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นอรรถาธิบาย เพื่อมุ่งชี้เฉพาะให้เข้าใจถึงความหมายในเชิงปฏิบัติหรือการใช้งานจริง ซึ่งสอดคล้องตรงกับหลักการเฉพาะของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 และกฎหมายในกลุ่ม Martial law ที่ใช้กันในนานาประเทศ

จึงอาจกล่าวได้ว่า ความหมายคำว่า “กฎอัยการศึก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อย่างหลังนี้ที่ได้อธิบายความว่าหมายถึง “กฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” เป็นความหมายเฉพาะของ “กฎอัยการศึก” ตามข้อเท็จจริงในระบบกฎหมายไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย