วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

คำยืมภาษาต่างประเทศที่มีใช้ในภาษาไทย

สาเหตุที่ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย
คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ
อิทธิพลของภาษาต่างประเทศที่มีต่อภาษาไทย
คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีใช้ในภาษาไทย
คำยืมที่มาจากภาษาสันสกฤต
คำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษ
คำยืมภาษาจีนที่มีใช้ในภาษาไทย
คำภาษาเขมรในภาษาไทย
คำภาษาชวา-มลายูที่มีใช้ในภาษาไทย
คำภาษาอื่น ๆ ที่มีใช้ในภาษาไทย

อิทธิพลของภาษาต่างประเทศที่มีต่อภาษาไทย

ภาษาต่างปะเทศที่เข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น มีอิทธิพลต่อภาษาไทย คือ ทำให้ลักษณะของภาษาไทยเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้

  • คำมีพยางค์มากขึ้น ภาษาไทยเป็นภาษาตระกูลคำโดด คำส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เดิน ยืน นั่ง นอน เมือง เดือน ดาว ช้าง แมว ม้า ป่า น้ำ เป็นต้น เมื่อยืมคำภาษาอื่นมาใช้ ทำให้คำมีมากพยางค์ขึ้น เช่น
     
    - คำสองพยางค์ เช่น บิดา มารดา เชษฐา กนิษฐา ยาตรา ธานี จันทร กุญชร วิฬาร์ เป็นต้น
    - คำสามพยางค์ เช่นโทรเลข โทรศัพท์ พาหนะ จักรยาน ปรารถนา บริบูรณ์ เป็นต้น
    - คำมากกว่าสามพยางค์ เช่น กัลปาวสาน สาธารณะ อุทกภัย วินาศกรรม ประกาศนียบัตร เป็นต้น
     
  • มีคำควบกล้ำใช้มากขึ้น โดยธรรมชาติของภาษาไทยจะไม่มีคำควบกล้ำ เมื่อรับภาษาอื่นเข้ามาใช้เป็นเหตุให้มีคำควบกล้ำมากขึ้น เช่น บาตร ศาสตร์ ปราชญ์ พรหม ปราศรัย โปรด ปลูก ทรวง เกรด เคลียร์ เอ็นทรานซ์ ดรัมเมเยอร์ เป็นต้น
     
  • มีคำไวพจน์ใช้มากขึ้น (คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน) ซึ่งสะดวกและสามารถเลือกใช้คำได้เหมาะสมตามความต้องการและวัตถุประสงค์ เช่น
    นก บุหรง ปักษา ปักษิน สกุณา วิหค
    ม้า พาชี อาชา สินธพ หัย อัศวะ
    ดอกไม้ กรรณิกา บุปผชาติ บุหงา ผกา สุมาลี
    ท้องฟ้า คคนานต์ ทิฆัมพร นภดล โพยม อัมพร
    น้ำ คงคา ชลาลัย ธารา มหรรณพ สาคร
    พระจันทร์ แข จันทร์ นิศากร บุหลัน รัชนีกร
  • มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา คำไทยแท้ส่วนใหญ่มีตัวสะกดตรงตามมาตรา เมื่อได้รับอิทธิพลภาษาต่างประเทศ คำใหม่จึงมีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราจำนวนมาก เช่น พิพาท โลหิต สังเขป มิจฉาชีพ นิเทศ ประมาณ ผจญ กัปตัน ปลาสเตอร์ คริสต์ เคเบิล ดีเซล โฟกัส เป็นต้น
     
  • ทำให้โครงสร้างของภาษาเปลี่ยนไป เช่น
    - ใช้คำ สำนวน หรือประโยคภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น
     
    สำนวนภาษาต่างประเทศ เขาพบตัวเองอยู่ในห้อง
    สำนวนภาษาไทย เขาอยู่ในห้อง
    สำนวนภาษาต่างประเทศ นวนิยายเรื่องนี้เขียนโดยทมยันตี
    สำนวนภาษาไทย ทมยันตีเขียนนวนิยายเรื่องนี้
    สำนวนภาษาต่างประเทศ มันเป็นเวลาบ่ายเมื่อข้าพเจ้ามาถึงอยุธยา
    สำนวนภาษาไทย ข้าพเจ้ามาถึงอยุธยาเมื่อเวลาบ่าย

    - ใช้คำภาษาต่างประเทศปนกับภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่บางคำมีคำภาษาไทยใช้ เช่น
    เธอไม่แคร์ ฉันไม่มายด์ เขาไม่เคลียร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย