วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

คำยืมภาษาต่างประเทศที่มีใช้ในภาษาไทย

สาเหตุที่ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย
คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ
อิทธิพลของภาษาต่างประเทศที่มีต่อภาษาไทย
คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีใช้ในภาษาไทย
คำยืมที่มาจากภาษาสันสกฤต
คำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษ
คำยืมภาษาจีนที่มีใช้ในภาษาไทย
คำภาษาเขมรในภาษาไทย
คำภาษาชวา-มลายูที่มีใช้ในภาษาไทย
คำภาษาอื่น ๆ ที่มีใช้ในภาษาไทย

สาเหตุที่ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย

การติดต่อสัมพันธ์กันทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย ด้วยสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้

  • สภาพภูมิศาสตร์ คือ ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย จึงทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนเดินทางข้ามแดนไปมาหาสู่กันและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงมีการแลกเปลี่ยนภาษากัน เช่น คนไทยที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ ก็จะสามารถสื่อสารด้วยภาษาเขมรได้ คนไทยที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา รับเอาภาษามาลายูเข้ามาใช้ เป็นต้น
     
  • ประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของคนไทยเข้ามาอยู่ในถิ่นอาศัยปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมมีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อน เช่น เขมร ละว้า มอญ หรือมีการทำศึกสงครามกับชนชาติอื่น มีการกวาดต้อนเชลยศึกและประชาชน พลเมืองชนชาติอื่น ๆ ให้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้คนเหล่านี้ได้นำถ้อยคำภาษาเดิมของตนเองมาใช้ปะปนกับภาษาไทยด้วย
     
  • ศาสนา คนไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามาเป็นเวลาช้านาน เมื่อนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้รับถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสอน หรือคำเรียกชื่อต่าง ๆ ในทางศาสนาของศาสนานั้น ๆ มาปะปนอยู่ในภาษาไทยด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับ และศาสนาคริสต์ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ ในทางศาสนาก็จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วย
     
  • การค้าขาย จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลาอันยาวนาน เช่น ชาวจีน ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ตลอดถึงญี่ปุ่น ทำให้มีถ้อยคำในภาษาของชนชาตินั้น ๆ เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด
     
  • วรรณคดี วรรณคดีอินเดียที่ไทยนำเข้ามา เช่น เรื่องมหากาพย์รามายณะ และ มหาภารตะ แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีเค้าเรื่องมาจากเรื่องดาหลังของชวา ด้วยเหตุนี้วรรณคดีทำให้ภาษาสันสกฤตและภาษาชวาเข้ามาปะปนในภาษาไทย
     
  • ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี เมื่อชนชาติต่าง ๆ เข้ามาสัมพันธ์ติดต่อกับชนชาติไทย หรือเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ย่อมนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติอยู่ในสังคมเดิมของตนมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย นาน ๆ เข้าถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น
     
  • การศึกษาและวิทยาการด้านต่าง ๆ จากการที่คนไทยเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ทำให้ได้ใช้และพูดภาษาอื่น ๆ และรับเอาวิทยาการต่าง ๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงนำภาษาของประเทศนั้นมาใช้ปะปนกับภาษาของตน เช่น ภาษาอังกฤษ ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนและมาตรฐานสากล โดยการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนและภาษาที่สามารถสื่อสารกันในสากลโลก ดังนั้นการหลั่งไหลของภาษาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น
     
  • ความสัมพันธ์ทางการทูต การเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต ในการอพยพ โยกย้ายหรือในการติดต่อทางการทูต ย่อมทำให้ภาษาของเจ้าของถิ่นเดิมหรือผู้อพยพโยกย้ายมาใหม่นำมาใช้ร่วมกัน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส
     
  • อพยพย้ายถิ่นฐาน การอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจต้องไปประกอบอาชีพยังประเทศต่าง ๆ ภัยสงคราม การเมืองการปกครอง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย