ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความหมายของสมรรถนะ
สมรรถนะกับผลการปฏิบัติงาน
สมรรถนะของงานหรือสมรรถนะของคน
ความหมายของสมรรถนะ
สมรรถนะเป็นคำที่มีผู้ให้นิยามไว้แตกต่างกัน
คนทั่วไปแม้จะอยู่ในแวดวงของการบริหารงานบุคคลไม่ได้เรียกสมรรถนะด้วยความหมายเดียวกัน
และนี่ก็เป็นปัญหาที่ท้าทายของผู้ใช้สมรรถนะในอนาคต (Rothwell & Lindholm, 1999)
โดยทั่วไปคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าความหมายใดผิดหรือถูก แต่ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้
สำนักงาน ก.พ. ศึกษาสมรรถนะมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เป็นการศึกษาในระดับย่อย
(โครงการ) ได้แก่ โครงการพัฒนาหลักสูตรการประเมินบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งแรกบรรจุ ระดับ
3 โครงการวิจัยความสามารถของข้าราชการพลเรือนสามัญ (ระดับ 4-8)
โครงการความสามารถของผู้บริหารระดับกลาง โครงการสมรรถนะผู้บริหารระดับสูง
โครงการการบริหารระบบพนักงานราชการ
และล่าสุดโครงการพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน
ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่จัดทำเพื่อใช้ขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือนทั้งระบบ
สำหรับความหมายของสมรรถนะในแต่ละโครงการย่อยของสำนักงาน ก.พ.
แม้จะไม่เหมือนกันทีเดียวแต่มีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นพฤติกรรมในการทำงาน
เกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของงาน และเกี่ยวข้องกับความรู้ ทักษะ/ความสามารถ
และคุณลักษณะอื่นๆ ของบุคคลโดยตรง แต่เป็นกลุ่มของคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมในการทำงาน
อธิบายอีกอย่างหนึ่งก็คือ
ลักษณะพฤติกรรมการทำงานของบุคคลที่ทำให้เกิดผลงานที่โดดเด่นนั้น บุคคลต้องมี
ความรู้ ทักษะ ความสามารถและคุณลักษณะอื่นๆ จึงจะทำงานได้
แต่การที่บุคคลจะมีผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่นนั้นจะต้องมีสมรรถนะหรือคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมอีกด้วย
ยกตัวอย่างกรณีของนักการทูตในการศึกษาของ McClelland
แน่นอนว่าผู้ที่จะทำหน้าที่นักการทูตได้จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม
การเมือง ภาษา และอื่นๆ (ส่วนของความรู้ ทักษะ ความสามารถ)
แต่นักการทูตที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นพบว่ามีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคลด้านวัฒนธรรม
(Cross-cultural Interpersonal Sensitivity) ความคาดหวังทางบวกกับผู้อื่น (Positive
Expectations of Others) และความรวดเร็วในการเรียนรู้เครือข่ายด้านการเมือง (Speed
in Learning Political Networks)
ซึ่งเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่นักการทูตที่มีผลการปฏิบัติงานปานกลางไม่มี
ดังนั้นความรู้ ทักษะ และความสามารถ
เป็นพื้นฐานที่จะทำให้บุคคลปฏิบัติงานได้
และสมรรถนะเป็นส่วนที่ต่อยอดเพิ่มเติมขึ้นมาให้บุคคลปฏิบัติงานได้ผลงานที่โดดเด่น
ในเรื่องคำกำจัดความของสมรรถนะ สำนักงาน ก.พ.
ได้กำหนดนิยามของสมรรถนะว่าเป็น คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้
ทักษะ/ความสามารถ และคุณลักษณะอื่นๆ
ที่ทำให้บุคคลสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นในองค์กร กล่าวคือ
การที่บุคคลจะแสดงสมรรถนะใดสมรรถนะหนึ่งได้ มักจะต้องมีองค์ประกอบทั้งความรู้
ทักษะ/ความสามารถ และคุณลักษณะอื่นๆ ตัวอย่างเช่น
สมรรถนะการบริการที่ดีซึ่งอธิบายว่า สามารถให้บริการที่ผู้รับบริการต้องการได้
นั้น หากขาดองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ ความรู้ในงานหรือทักษะที่เกี่ยวข้อง
เช่นอาจต้องหาข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ และคุณลักษณะของบุคคลที่เป็นคนใจเย็น อดทน
ชอบช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว
บุคคลก็ไม่อาจจะแสดงสมรรถนะของการบริการที่ดีด้วยการให้บริการที่ผู้รับบริการต้องการได้
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ
สมรรถนะเป็นกลุ่มพฤติกรรมที่องค์การต้องการจากข้าราชการ
เพราะเชื่อว่าหากข้าราชการมีพฤติกรรมการทำงานในแบบที่องค์การกำหนดแล้ว
จะส่งผลให้ข้าราชการผู้นั้นมีผลการปฏิบัติงานดี
และส่งผลให้องค์กรบรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการไว้ ตัวอย่างเช่น
การกำหนดสมรรถนะการบริการที่ดี
เพราะหน้าที่หลักของข้าราชการคือการให้บริการแก่ประชาชน
ทำให้หน่วยงานของรัฐบรรลุวัตถุประสงค์คือการทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน