ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความรู้
ฮอสเปอร์ (2532)
นับเป็นขั้นแรกของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ
ซึ่งอาจจะโดยการนึกได้ มองเห็น ได้ยิน หรือ ได้ฟัง ความรู้นี้
เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการเรียนรู้ โดยประกอบไปด้วยคำจำกัดความหรือความหมาย
ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ โครงสร้าง วิธีการแก้ไขปัญหา และมาตรฐานเป็นต้น
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการจำอะไรได้ ระลึกได้
โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนหรือใช้ความสามารถของสมองมากนัก ด้วยเหตุนี้
การจำได้จึงถือว่าเป็น กระบวนการที่สำคัญในทางจิตวิทยา
และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ
การนำความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินผล
ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ใช้ความคิดและความสามารถทางสมองมากขึ้นเป็นลำดับ
ส่วนความเข้าใจ (Comprehension)
ฮอสเปอร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นขั้นตอนต่อมาจากความรู้
โดยเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความสามารถของสมองและทักษะในชั้นที่สูงขึ้น
จนถึงระดับของการสื่อความหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้โดยการใช้ปากเปล่า ข้อเขียน ภาษา
หรือการใช้สัญลักษณ์ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลได้รับข่าวสารต่าง ๆ แล้ว
อาจจะโดยการฟัง การเห็น การได้ยิน หรือเขียน
แล้วแสดงออกมาในรูปของการใช้ทักษะหรือการแปลความหมายต่าง ๆ เช่น
การบรรยายข่าวสารที่ได้ยินมาโดยคำพูดของตนเอง
หรือการแปลความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยคงความหมายเดิมเอาไว้
หรืออาจเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อสรุปหรือการคาดคะเนก็ได้
ความรู้เกิดจากพฤติกรรม
ประภาเพ็ญ สุวรรณ (2542) ได้ให้คำอธิบายว่า ความรู้
เป็นพฤติกรรมขั้นต้นที่ผู้เรียนรู้เพียงแต่เกิดความจำได้
โดยอาจจะเป็นการนึกได้หรือโดยการมองเห็น ได้ยิน จำได้ ความรู้ในชั้นนี้ได้แก่
ความรู้เกี่ยวกับคำจำกัดความ ความหมาย ข้อเท็จจริง กฎเกณฑ์
โครงสร้างและวิธีแก้ไขปัญหา ส่วนความเข้าใจอาจแสดงออกมาในรูปของทักษะด้าน การแปล
ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเขียนบรรยายเกี่ยวกับข่าวสารนั้น ๆ โดยใช้คำพูดของตนเอง
และ การให้ความหมาย ที่แสดงออกมาในรูปของความคิดเห็นและข้อสรุป
รวมถึงความสามารถในการ คาดคะเน หรือการคาดหมายว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ความรู้มีขั้นตอนดังนี้
เบนจามิน บลูม (2542) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่าหมายถึง
เรื่องที่เกี่ยวกับการระลึกถึงสิ่งเฉพาะ วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ
รวมถึงแบบกระสวนของโครงการวัตถุประสงค์ในด้านความรู้
โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาของความจำ
อันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดระเบียบ โดยก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1965
บลูมและคณะ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้หรือพุทธิพิสัย (cognitive domain)
ของคน ว่าประกอบด้วยความรู้ตามระดับต่าง ๆ รวม 6 ระดับ
ซึ่งอาจพิจารณาจากระดับความรู้ในขั้นต่ำไปสู่ระดับของความรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป
โดยบลูมและคณะ ได้แจกแจงรายละเอียดของแต่ละระดับไว้ดังนี้
1. ความรู้ (Knowledge) หมายถึง
การเรียนรู้ที่เน้นถึงการจำและการระลึกได้ถึงความคิด วัตถุ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ
ซึ่งเป็นความจำที่เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ที่เป็นอิสระแก่กัน
ไปจนถึงความจำในสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
2. ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (Comprehension)
เป็นความสามารถทางสติปัญญาในการขยายความรู้ ความจำ
ให้กว้างออกไปจากเดิมอย่างสมเหตุสมผล การแสดงพฤติกรรมเมื่อเผชิญกับสื่อความหมาย
และความสามารถในการแปลความหมาย การสรุปหรือการขยายความสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3. การนำไปปรับใช้ (Application) เป็นความสามารถในการนำความรู้ (knowledge)
ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (comprehension) ในเรื่องใด ๆ ที่มีอยู่เดิม
ไปแก้ไขปัญหาที่แปลกใหม่ของเรื่องนั้น โดยการใช้ความรู้ต่าง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการกับความคิดรวบยอดมาผสมผสานกับความสามารถในการแปลความหมาย
การสรุปหรือการขยายความสิ่งนั้น
4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถและทักษะที่สูงกว่าความเข้าใจ
และการนำไปปรับใช้ โดยมีลักษณะเป็นการแยกแยะสิ่งที่จะพิจารณาออกเป็นส่วนย่อย
ที่มีความสัมพันธ์กัน รวมทั้งการสืบค้นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ
เพื่อดูว่าส่วนประกอบปลีกย่อยนั้นสามารถเข้ากันได้หรือไม่
อันจะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง
5. การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการรวบรวมส่วนประกอบย่อย ๆ
หรือส่วนใหญ่ ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นเรื่องราวอันหนึ่งอันเดียวกัน
การสังเคราะห์จะมีลักษณะของการเป็นกระบวนการรวบรวมเนื้อหาสาระของเรื่องต่าง ๆ
เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจนขึ้นมาก่อน
อันเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ภายในขอบเขตของสิ่งที่กำหนดให้
6. การประเมินผล (Evaluation) เป็นความสามารถในการตัดสินเกี่ยวกับความคิด
ค่านิยม ผลงาน คำตอบ วิธีการและเนื้อหาสาระเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
โดยมีการกำหนดเกณฑ์ (criteria) เป็นฐานในการพิจารณาตัดสิน การประเมินผล
จัดได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สูงสุดของพุทธิลักษณะ (characteristics of cognitive
domain) ที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ การนำไปปรับใช้
การวิเคราะห์และการสังเคราะห์เข้ามาพิจารณาประกอบกันเพื่อทำการประเมินผลสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ความรู้คือ สิ่งที่มนุษย์สร้าง ผลิต ความคิด ความเชื่อ ความจริง ความหมาย
โดยใช้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ตรรกะ แสดงผ่านภาษา เครื่องหมาย และสื่อต่าง ๆ
โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เป็นไปตาม
แนวคิดเกี่ยวกับความรู้
ญาณวิทยา (epistemology) หมายถึง ศาสตร์หรือทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้แท้
หรือความรู้ที่มีระบบ ในทางปรัชญา ความรู้ต้องเป็นความรู้ในความจริง
เพราะฉะนั้นปัญหาญาณวิทยา จึงไม่ใช่เพียงว่า ความรู้คืออะไร
แต่ยังเกี่ยวพันกับความจริงด้วย เช่น อะไรคือสิ่งที่เรารู้
มนุษย์รู้ความจริงได้หรือไม่ โดยวิธีใด ความจริงเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (Relative)
หรือเป็นสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) เป็นต้น
โปรตากอรัส (2553)
มนุษย์คือมาตรการสำหรับทุกสิ่ง (Man is the measure of all things.) :
ความรู้และความจริงเป็นอัตวิสัย
โปรตากอรัสเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า ความรู้
นั้นเป็นเพียงความเห็นหรือทัศนะของแต่ละคน (subjective opinion)
ความรู้ขึ้นอยู่กับผู้รู้แต่ละคน สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความจริงสำหรับคนหนึ่ง ๆ
ก็จะเป็นจริงสำหรับคน ๆ นั้น ไม่มีความจริงปรนัย (objective truth)
ที่ใช้และยอมรับได้สำหรับทุกคน ดังนั้น สำหรับโปรตากอรัส ความรู้ที่เป็นสากล
แน่นอนตายตัวสำหรับทุกคนจึงไม่มีอยู่ แม้กระทั่ง
ความฝันก็อาจเป็นจริงได้สำหรับผู้ฝัน กล่าวได้ว่า
ความจริงในทัศนะของโปรตากอรัสเป็นสิ่งสัมพัทธ์ คือ เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ตายตัว
ไม่จริงแท้แน่นอน
แนวคิดของโปรตากอรัส ยังเสนออีกว่า
มนุษย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสวงหาความรู้ที่เป็นสากลเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
เขาไม่เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถมีความรู้ในสิ่งเป็นจริงสูงสุด (Absolute Reality)
ในฐานะนักคิดในลัทธิประสบการณ์นิยม (empiricism) โปรตากอรัส
เน้นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และเชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นสิ่งจริง (seeing is
believing) การศึกษาไม่ใช่วิธีการเพื่อค้นหาว่าสิ่งใดจริงหรือเท็จ
ครูอาจารย์ก็ไม่ใช่ผู้ที่จะบอกหรือแสดงความจริง เป็นเพียงผู้ชักชวนให้ผู้เรียน
ยอมรับ คำพูดหรือความเชื่อของครูอาจารย์เท่านั้น
ส่วนการตัดสินใจยอมรับเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
โสคราตีส (2553)
โสคราตีส เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ คือ เป็นสากล
เที่ยงแท้แน่นอน เป็นความรู้ในความจริง และมีความรู้ชนิดเดียวคือ
ความรู้ชนิดที่ทำให้ผู้รู้รักความจริง เทิดทูนคุณธรรม
สามารถคิดและทำได้อย่างถูกต้อง
โสคราตีสเชื่อว่า ผู้มีความรู้จะไม่เป็นคนเลวโดยเด็ดขาด ส่วนผู้ที่ยังทำผิด
ก็เพราะเขาไม่มีความรู้ มีแต่เพียงความเห็น จึงอาจผิดพลาดได้เป็นธรรมดา
ผู้มีความรู้ทุกคนสามารถเข้าถึงความจริงได้ตรงกัน
เพราะความรู้หรือความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว
เรียกว่าเป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ (Apriori Knowledge) ดังนั้นสิ่งที่ถูกรู้คือ
ตัวเรา มิใช่โลกภายนอก คนเราต้องศึกษาตนเอง (Know Thyself)
ให้เข้าใจแล้วจะพบความจริง
วิธีการที่โสคราตีสใช้ในการศึกษาตนเองก็คือ การคิดตรึกตรองในขณะจิตสงบ
และอีกวิธีหนึ่งคือ การถาม-ตอบ หรือที่เรียกว่า วิธีการของโสคราตีส (Socratic
Method) ประกอบด้วย
1. สงสัยลังเล (skeptical) โสคราตีสจะเริ่มต้นด้วยการยกย่องคนอื่น
พร้อมกับขอร้องให้ช่วยอธิบายเรื่องที่ยังไม่กระจ่างให้ฟัง เช่น ความรัก ความงาม
คุณธรรม ความยุติธรรม ความรู้ เป็นต้น
2. สนทนา (conversation) โสคราตีสจะเป็นผู้ตั้งคำถามให้คู่สนทนาเป็นผู้ตอบ
เขาเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้คู่สนทนาเปิดเผยความจริงที่มีอยู่ในตัวเองออกมา
โดยมีเขาเป็นเพียงผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้นำความรู้ไปให้ เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งใหม่
ขอเพียงนำออกมาให้ถูกวิธี
3. หาคำจำกัดความ (conceptional หรือ definitional ) โสคราตีส
เชื่อว่าความจริงมาตรฐานจะแฝงอยู่ในคำจำกัดความ หรือคำนิยาม ที่สมบูรณ์ เช่น
ความยุติธรรม หากเรายังไม่รู้ว่า ความยุติธรรมคืออะไร
เราก็ยังไม่เข้าใจและไม่รู้จักว่าการกระทำใดยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม เป็นต้น
ดังนั้นการสนทนาจึงเป็นการเสนอคำนิยามศัพท์
และพยายามขัดเกลาคำนิยามนั้นให้บกพร่องน้อยที่สุด
4. ทดสอบด้วยการลงมือปฏิบัติ
โดยใช้วิธีการยกตัวอย่างที่มีสภาพแวดล้อมต่างกันมาช่วยโต้แย้งเพื่อขัดเกลาคำนิยาม
คำนิยามใดที่ยังโต้แย้งได้ก็แสดงว่ายังไม่สมบูรณ์
จะต้องหาคำจำกัดความที่ทุกคนยอมรับโดยไม่มีข้อแย้ง
5. สรุปกฎเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้อ้างอิงต่อไป
รวมถึงการพิสูจน์คำนิยามดังกล่าวด้วย
พลาโต (2553)
พลาโต (Plato) : การเรียน คือ การทบทวนความรู้เดิมในทัศนะของพลาโต
ความรู้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว (Apriori) ดังนั้น
ผู้มีความรู้คือ ผู้ที่จิตของเขาได้สัมผัสกับ แบบ ซึ่งเป็นความจริงสูงสุด
ส่วนการรับรู้อื่น ๆ เป็นเพียงความเชื่อ หรือความเห็น มิใช่ความรู้
พลาโตเสนอว่า จิตหรือวิญญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งเป็นอมตะนั้น คุ้นเคยกับ
แบบ ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อจิตมาคลุกคลีกับโลกแห่งวัตถุทำให้หลงลืมไป
กระบวนการศึกษาเป็นหนทางที่จะทำให้จิตฟื้นความทรงจำได้
การเรียนจึงเป็นการทบทวนสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว ครูเป็นเพียงผู้ ถาม
เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
ครูไม่ได้ป้อนหรือให้ความรู้ใหม่แก่ผู้เรียน
พลาโตไม่เห็นด้วยกับนักปรัชญาโซฟิสต์ (อย่าง โปรตากอรัส)
ที่เชื่อว่าความรู้คือประสาทสัมผัสและความเห็นส่วนบุคคล เพราะพลาโตเชื่อว่า
ประสาทสัมผัสอาจลวงเราได้ และยังเป็นเพียงเงาหรือมายาภาพของแบบเท่านั้น