วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

กีฏวิทยา

» กีฏวิทยาและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

» วิวัฒนาการของแมลง

» การเปลี่ยนแปลงด้านวิวัฒนาการของแมลง

» การกำเนิด และวิวัฒนาการของแมลง

» ประโยชน์และโทษของแมลง

» แมลงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน

» ทัศนคติที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคแมลง

» ความเชื่อเกี่ยวกับแมลง

» ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในประเทศไทย

» จำนวนชนิดแมลงในโลก

» การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง

» การอนุรักษ์แมลงในประเทศไทย

» แนวทางการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง

» เอกสารอ้างอิง

ทัศนคติที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคแมลง

ทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อแมลง
ทัศนคติ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึกภายในจิตใจของบุคคลที่มีต่อ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติอาจได้มาจากคำพูด สายตา สีหน้า กิริยา ท่าทาง หรือน้ำเสียงของเจ้าของทัศนคตินั้น การที่ชาวบ้านแสดงกิริยาอาการต่างๆ ทำให้สามารถทราบได้ว่าแมลงเป็นอาหารที่ชาวบ้านมีทัศนคติทางบวกมากกว่าทางลบ ทัศนคติที่ชาวบ้านแสดงออกมาสามารถแบ่งออกได้ เป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  • ค่านิยมที่มีต่อการบริโภคแมลง ชาวบ้านคิดว่าแมลงเป็นอาหารชนิดหนึ่ง บริโภคแล้วอิ่ม ไม่มีความรู้สึกว่าการกินแมลงเป็นเรื่องแปลก น่ารังเกียจหรือต่ำต้อย ในทางกลับกันต่างมีความภาคภูมิใจว่าตนได้บริโภคอาหารที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ และได้บริโภคอาหารที่ได้มาอย่าง ยากลำบาก เพราะการหาแมลงมีขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่าง ชาวบ้านมักไม่พอใจเมื่อมีใครถามว่า ทำไมจึงกินแมลงน่ารังเกียจ และมักจะตอบกลับมาด้วยท่าทางที่ว่าใครที่ไม่กินแมลงถือว่าเสียชาติเกิด ไม่รู้จักกิน
  • ความเชื่อเรื่องการบริโภคแมลงแล้วไม่บาป ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อชาติที่แล้วแมลงเป็นสัตว์ที่ขันอาสาต่อพระพุทธเจ้าเพื่อลงมาเลี้ยงชีวิตมนุษย์เหมือน วัว ควาย เป็ด ไก่ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารทุกชนิด โดยมีตำนานเล่าขานกันว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และให้กำเนิดมนุษย์ เมื่อมีมนุษย์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงวิตกกังวลว่าจะหาอาหารชนิดใดให้มนุษย์ เพราะถ้ามีแต่มนุษย์ไม่มีอาหาร มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จึงมอบให้พระยาแถนเป็นผู้จัดสรรเรื่องอาหารให้มนุษย์ พระยาแถนจึงได้ไต่ถามบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่บนสวรรค์ว่าพอมีใครที่จะ ขันอาสาลงมาเลี้ยงชีวิตมนุษย์บ้างบรรดาสัตว์ทั้งหลาย เช่น หมู วัว ควาย เป็ด ไก่ ปู ปลา และแมลง เป็นต้น จึงได้อาสาต่อพระยาแถนว่า พวกตนยินดีลงมาเป็นอาหารให้มนุษย์ เมื่อพระยาแถนได้ยินดังนั้นจึงกล่าวกับบรรดาสัตว์ว่า “สมัครใจเช่นนั้นก็ขอให้ลงมาเป็นอาหารแก่มนุษย์เถิดและหากครั้งใดที่มนุษย์ฆ่าเอาไปกินก็ขออย่าได้คิดอาฆาตแค้นกันเลยและขออย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมต่อกัน” เมื่อพระยาแถน พูดเสร็จบรรดาสัตว์ต่างๆ ก็ลงมาจากสวรรค์ ลงมาเป็นอาหารแก่มนุษย์ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

    จากคำเล่าขานนี้ชาวบ้านจึงมีความคิดว่า การฆ่าสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ไม่ถือว่าเป็นบาปเพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ตกลงกับพระยาแถนไว้แล้วว่าไม่มีบาปต่อกัน

    ดังนั้นก่อนที่จะฆ่าสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู วัว หรือแมลงชาวบ้านจะมีบทสวดว่า “ อนิจจัง อนิจจา พลังพลา สุขขัง สุขขา ขันอาสามาเป็นเลือดเป็นยางคน” นอกจากสามารถนำแมลงมาบริโภคได้ชนิดที่เรียกว่าไม่เป็นบาปแล้ว ชาวบ้านยังมีความรู้สึกว่าสัตว์ที่เป็นอาหารประเภทนี้เป็นของสูง ที่เป็นอาหารที่พระพุทธเจ้า และพระยาแถนประทานมาให้ ถือว่าเป็นสิ่งมงคลและเป็นการสมควรที่จะนำมากิน
  • ทัศนคติเกี่ยวกับรสชาติของแมลง ชาวบ้านรู้สึกว่าการได้บริโภคแมลงทำให้ได้รับความหลากหลายในรสชาติเพราะรสชาติของแมลงต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ความอร่อยและรสชาติของแมลงแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปอีกบางชนิดมีความมันมาก บางชนิดมีความมันน้อย บางชนิดมีความเปรี้ยวผสมกับความมัน บางชนิดมีขาที่อ่อนทำให้กรุบกรอบและบางชนิดเมื่อแกะเปลือกออกส่วนข้างในจะมันและอ่อนนิ่ม จากความหลากหลายในรสชาติทำให้ชาวบ้านเห็นว่าแมลงมีรสชาติแปลก อร่อย และติดใจในรสชาติ ดังนั้นการบริโภคแมลงจึงเป็นสีสันแก่ชีวิต ลดความเบื่อหน่ายจากรสชาติของอาหารประเภทเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่บริโภคอยู่อย่างจำเจ

    สำหรับรส “มัน” ของแมลงนี้ ชาวบ้านให้คำจัดความว่า หอม เหลือง เมื่อกินเข้าไปจะหอมที่ปลายจมูก กินแล้วรู้สึกเหมือนกินมะพร้าวหรือข้าวโพดสามารถทำให้อิ่มได้ บางคนกล่าวว่า กินเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อเพราะจะมีความอร่อยจากความมันที่อยู่ในตัวแมลงและเมื่อนำไปปรุงอาหารคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงยิ่งทำให้มีรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านจึงมีความกระตือรือร้นในการหาแมลงมาเพื่อบริโภค
  • ทัศนคติที่เกี่ยวกับประโยชน์ของแมลง ชาวบ้านรับรู้ว่าแมลงเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสามารถทำรายได้ให้แก่ตนและครอบครัว ซึ่งเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง เมื่อได้เงินมาบางครอบครัวจะถือโอกาสนี้ อบรมสั่งสอนให้ลูกหลานเป็นคนที่รู้จักหาเงินและเก็บเงินโดยจะให้ลูกหลานหาแมลงมาแล้วนำไปขายที่ตลาด รายได้ที่ได้มานั้นก็ให้เก็บไว้ใช้หรือหยอดกระปุกออมสิน และชาวบ้านรู้สึกว่าการบริโภคแมลงมีประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประหยัดเงินของตนในการซื้ออาหารมารับประทานเพราะแมลงสามารถใช้เป็นกับข้าวได้ เพียงแต่ต้องขยันหาแมลงมาให้ได้ ต้องมีความอดทน ทนเหนื่อยและการบริโภคแมลงยังส่งผลให้แก่ชาวบ้านอีกหลายประการ เช่น รักษาอาการเจ็บป่วย บำรุงร่างกาย บำรุงกระดูก บำรุงเลือด และผลผลิตจากแมลงก็สามารถนำมาทำประโยชน์ต่างๆ ได้อีกมากมายด้วย

 

การเลือกบริโภคแมลงของชาวบ้าน

แมลงแต่ละชนิดมีลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางชีวภาพภายในที่แตกต่างกัน บางชนิดเป็นแมลงที่มีพิษสามารถสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนังหรือบางชนิดทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องมีการรับรู้เกี่ยวกับลักษณะแมลงแต่ละชนิดว่ามีโทษหรือไม่ โดยคำบอกเล่าของพ่อแม่ บรรพบุรุษ หรือบางครั้งก็รับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตนเอง การรับรู้ที่มีผลต่อการบริโภคแมลงของชาวบ้านมีดังนี้

  • ชาวบ้านจะไม่นำแมลงที่เสียชีวิตมาบริโภค เนื่องจากไม่ทราบว่าแมลงนั้นเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด อาจจะโดนสารพิษ สารเคมีฆ่าแมลง หรือเสียชีวิตด้วยโรคระบาดก็ได้ พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมิได้ละเลยการคำนึงถึงความปลอดภัย แมลงที่ชาวบ้านนำมาบริโภคนั้นต้องถูกจับมาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสุขภาพดีและเมื่อได้มาแล้วก็จะนำมาปรุงอาหารทันที เพราะแมลงเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มีความทนทานน้อยหากเก็บไว้นานอาจจะเสียชีวิตก่อน บางครั้งแมลงที่เสียชีวิตก่อนการปรุงอาหารก็จะทิ้งไปเพราะชาวบ้านต้องการบริโภคแมลงที่สด
  • การคำนึงถึงความสะอาดก่อนนำมาบริโภค ก่อนนำแมลงไปปรุงอาหารต้องล้างตัวแมลงด้วยน้ำก่อน 1 ครั้ง เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกที่เกิดจากแหล่งที่อยู่ เช่น แมลงบางชนิดอาศัยในกองขี้ควาย บางชนิดอยู่ในน้ำนิ่งที่สกปรก และบางชนิดอาศัยอยู่ตามป่ารกจาก สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของแมลงทำให้สิ่งสกปรกต่างๆ ติดมากับตัวแมลง การล้างทำให้แมลงมีลำตัวที่สะอาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านให้ความสำคัญกับความสะอาด และให้ความสำคัญต่อสุขภาพในระดับหนึ่ง
  • การคัดเลือกส่วนที่ควรนำมาบริโภค เมื่อถึงขั้นตอนของการบริโภคชาวบ้านเลือกเฉพาะส่วนที่ควรบริโภคได้เท่านั้น เพราะแมลงมีความแข็งของปีก หัว ขา แตกต่างกันไป ความแข็งเกินไปของอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ไม่สะดวกในการบริโภคหรือไม่อร่อย เช่น ส่วนหัวที่แข็งจนเกินไปหรือส่วนขาที่มีหนาม ชาวบ้านจะเด็ดทิ้งและเลือกบริโภคส่วนของลำตัวที่มีแต่เนื้อ สำหรับแมลงที่มีขนาดของลำตัวเล็ก ปีกและขาไม่มีความแข็งและหนาจนเกินไปนัก ก็สามารถบริโภคได้ทั้งตัว เช่น ตั๊กแตน แมลงกระชอน และกุดจี่ เป็นต้น ปีกและขาของแมลงเหล่านี้สามารถสร้างรสชาติที่แปลกใหม่ให้แก่ชาวบ้านได้คือ กรอบและมัน

    การรับรู้ถึงอันตรายที่เกิดจากการบริโภคแมลง ชาวบ้านรู้ว่าแมลงประเภทกัด ต่อย เช่น ต่อ แตน หรือแมลงแคง มีพิษ การบริโภคแมลงดังกล่าวจึงไม่นิยมบริโภคครั้งละมากๆ เพราะทำให้เกิดอาการมึนเมา วิงเวียนศีรษะ บางรายถึงขั้นอาเจียน ซึ่งเป็นผลจากพิษที่อยู่ในตัวแมลงดังกล่าว

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย