วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

กีฏวิทยา

» กีฏวิทยาและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

» วิวัฒนาการของแมลง

» การเปลี่ยนแปลงด้านวิวัฒนาการของแมลง

» การกำเนิด และวิวัฒนาการของแมลง

» ประโยชน์และโทษของแมลง

» แมลงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน

» ทัศนคติที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคแมลง

» ความเชื่อเกี่ยวกับแมลง

» ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในประเทศไทย

» จำนวนชนิดแมลงในโลก

» การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง

» การอนุรักษ์แมลงในประเทศไทย

» แนวทางการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง

» เอกสารอ้างอิง

ประโยชน์และโทษของแมลง

ประโยชน์ที่ได้รับจากแมลง

  • ช่วยในการผสมละอองเกสรให้พืช ทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก ตลอดจนหญ้าแมลงที่ช่วยผสมละอองเกสร และแมลงที่มีสำคัญในการผสมละอองเกสรคือ ผึ้ง และแมลงอื่นๆ เช่น ผีเสื้อ แมลงภู่ และแมลงวัน เป็นต้น
  • เป็นอาหารของคนและสัตว์อื่นๆ เช่น ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาว ตัวอ่อนของแมลงปอ ลูกน้ำยุง เป็นอาหารของปลา ตัวหนอนเป็นอาหารของนก ส่วนที่นำมาเป็นอาหารของคนมีหลายชนิด ได้แก่ แมลงดานา ตัวอ่อนของผึ้ง ตัวอ่อนและไข่มด หนอนของด้วง หนอนของผีเสื้อ และตั๊กแตนปาทังก้า เป็นต้น
  • ผลผลิตจากแมลงนำมาทำประโยชน์ในทางการค้า ตัวอย่างเช่น ผ้าไหม เส้นไหม ได้มาจากผีเสื้อหนอนไหม ผีเสื้อยักษ์ ครั่งได้มาจากแมลงครั่งซึ่งเป็นเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง น้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง (Royal jelly) เกสรผึ้ง (Pollen grain) ได้จากผึ้ง และโคซิเนลดาย (Chocineal dye) ได้มาจากเพลี้ยหอย (Cochineal insect) เป็นต้น
  • ช่วยในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช โดยการเป็นแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงปอ แมลงช้าง แมลงวันหัวบุบ ตั๊กแตนตำข้าว เป็นแมลงห้ำคอยจับสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ยุง แมลงหวี่ และเพลี้ย ส่วนแมลงตัวเบียน เช่น ต่อเบียน แตนเบียน แมลงวันก้นขน แตนหางธง และต่อขุดรู จะทำลายผีเสื้อ ด้วง และอื่นๆ ได้ทั้งในระยะไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าแมลงนั้นๆ เป็นตัวเบียนแบบใด แมลงตัวห้ำ แมลงตัวเบียน มีความสำคัญเพราะช่วยลดประชากรของแมลงศัตรูพืช อาจกล่าวได้ว่าไม่มีวิธีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดีเท่ากับให้แมลงปราบกันเอง
  • นำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านพันธุกรรม และทางด้านการแพทย์ตัวอย่างเช่น แมลงหวี่ Drosophila melanogaster นำมาศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม การเพิ่มลดของประชากร แมลงวันสเปน (Spanish flies) นำมาสกัดเอาสาร แคนทาริดิน (Cantharidin) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาทมีประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ใช้ในการรักษาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ หนอนแมลงวันหัวเขียวปล่อยสารอัลเทนตัน (Altanton) ออกมา ปัจจุบันสารนี้นำมาใช้รักษาออสทีมายอีลิทิส (Osteomyelitis) และแผลบาดเจ็บลึกๆ ที่มีเนื้อเน่า จากการศึกษาแมลงในด้านพฤติกรรม การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง จะช่วยให้การเพิ่มความเข้าใจในพฤติกรรมการตอบสนองของสัตว์อื่นๆ ด้วย และมักนิยมใช้จำนวนประชากรของแมลงเป็นตัวบ่งบอกสภาพของสิ่งแวดล้อมในการ ศึกษามลภาวะ
  • ช่วยกำจัดอินทรีย์วัตถุ สิ่งเน่าเปื่อย ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสารง่ายๆ ซึ่งจะกลับไปสู่ดิน เป็นอาหารของพืชในที่สุด เช่น หนอนแมลงวันหัวเขียวกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย ตัวอ่อนของหนอนปลอกน้ำกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยในน้ำช่วยทำให้น้ำไม่เสีย เป็นการแก้ปัญหามลภาวทางน้ำ ด้วงมูลสัตว์ช่วยย่อยสลายมูลสัตว์ และยังช่วยลดจำนวนแมลงวันในบริเวณที่ เลี้ยงสัตว์โดยจะกินมูลของวัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งแมลงวันที่ขยายพันธุ์ในมูลสัตว์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ แมลงกินไม้ เช่น ด้วงเจาะไม้ และปลวก จะช่วยเปลี่ยนต้นไม้ล้ม และท่อนไม้ให้ย่อยสลายกลายเป็นดินมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อพืชและช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ
  • ช่วยในการบำรุงรักษาดิน และพื้นที่ต่างๆ ในการทำการเกษตร แมลงหลายชนิดใช้ชีวิตบางส่วน หรือตลอดชีวิตในดิน โดยดินจะเป็นรัง แหล่งป้องกันภัย และแหล่งอาหาร เพราะดินที่มีลักษณะเป็นช่องทำให้มีอากาศมาระบายของเสียจากการขับถ่าย และแมลงที่ตายช่วยในการปรับปรุงคุณภาพทางฟิสิกส์ของดินให้ดีขึ้น ตัวอย่างแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลงกระชอน ปลวก ผึ้ง ต่อ และแตน เป็นต้น
  • ทำให้เกิดรายได้ ถ้านำแมลงตัวเต็มวัย หรือตัวอ่อนมาเลี้ยงให้เป็นตัวเต็มวัยแล้วนำมาทำเป็นแมลงแห้งอัดใส่กรอบขาย
  • แมลงบางชนิดโดยเฉพาะ ผีเสื้อ และด้วง จะมีสีสันสวยงามทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกเป็นสุข จิตใจเบิกบาน แจ่มใส และรู้สึกสดชื่น
  • นักศิลปะ นักออกแบบเครื่องประดับ และนักออกแบบเครื่องแต่งกาย นิยมเอาความสวยงามในด้านโครงสร้างสีสันแมลงมาใช้เป็นแบบอย่างพื้นฐาน นอกจากนี้รังที่อยู่อาศัยของแมลงยังช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์แก่สถาปนิกด้วย

 

โทษของแมลง

  • ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชผล แมลงส่วนใหญ่สามารถทำลายพืชทุกชนิด และผลของการทำลายทำให้ผลผลิตลดลงจนกระทั่งทำให้พืชตายได้ เช่น
  • โดยการกัดกิน ใบ กิ่งก้าน ตาดอก ยอด ลำต้น ราก และผลของพืช ได้แก่ ตั๊กแตนกัดกินข้าว และข้าวโพด เป็นต้น ส่วนด้วงปีกแข็งกัดกินใบข้าวโพด องุ่น ส้ม บางชนิดกินรวงข้าว ข้าวฟ่าง สมอฝ้าย และฝักถั่ว เป็นต้น และหนอนของต่อ แตน บางชนิดกัดกิน ใบพืช เช่น ต่อฟันเลื่อยจะกัดกินใบสน
  • โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอด ลำต้น ราก และผล ได้แก่ มวนชนิดต่างๆ เพลี้ยอ่อน จักจั่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ เป็นต้น มวนเขียวข้าว มักจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ต้น และรวงของข้าว ข้าวฟ่าง ส่วนมวนแดงฝ้ายดูดน้ำเลี้ยงจากต้นและสมอฝ้าย นอกจากนี้ยังมี มวนเขียวส้ม มวนลำใย เพลี้ยจักจั่นข้าว เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยจักจั่นช่อมะม่วง เพลี้ยอ่อนข้าวโพด เพลี้ยอ่อนยาสูบ เพลี้ยอ่อนอ้อย เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยแป้งน้อยหน่า เพลี้ยไฟข้าว และเพลี้ยไฟข้าวโพด เป็นต้น
  • โดยการเจาะเข้าไปกินภายในลำต้น ก้าน ราก ผล และเมล็ด บางชนิดเจาะเข้าไปกินเนื้อใบซึ่งอยู่ใต้ผิวใบ เรียกว่า หนอนชอนใบ ได้แก่ หนอนชอนใบส้ม หนอนชอนใบถั่ว และหนอนชอนใบชมพู่ เป็นต้น ชนิดที่เจาะลำต้น ได้แก่ หนอนกอข้าว หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะลำต้นกาแฟ และหนอนเจาะลำต้นทุเรียน เป็นต้น ส่วนหนอนเจาะผล ได้แก่ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะฝักข้าวโพด และหนอนเจาะพริกหยวก และหนอนเจาะผลไม้ต่างๆ เช่น น้อยหน่า ขนุน ทุเรียน ชมพู่ และพุทรา ชนิดที่เจาะเมล็ดกาแฟ ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว เป็นต้น

    4.2.1.4 ทำให้เกิดปุ่มปม ตามต้น ยอด และใบพืช เช่น เพลี้ยไก่ฟ้ายอดชะอมทำให้เกิดปุ่มปม ที่ยอดอ่อนเรียกว่า ชะอมไข่ บั่วข้าวทำให้เกิดปมที่ต้นข้าวแล้วเป็นหลอดคล้ายใบหอม เป็นเหตุให้ข้าวไม่ออกรวง เป็นต้น
  • โดยการวางไข่เข้าไปในส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช จะก่อให้เกิดความเสียหายได้ ถ้าวางไข่ในผล และกิ่ง เช่น เพลี้ยจักจั่นข้าววางไข่ในกาบใบของต้นข้าว ส่วนจิ้งหรีด วางไข่ในกิ่งทำให้กิ่งหักหรือแห้งตายได้ ถ้าวางไข่ในผล จะทำให้ผลมีรูปร่างผิดปกติ ชนิดที่วางไข่ในผล เช่น แมลงวันทอง เป็นต้น
  • โดยเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชไปสร้างรัง ได้แก่ มดแดง นำใบไม้มาสร้างรัง ส่วนผึ้งกัดใบ กัดเนื้อไม้ และกลีบดอกไปสร้างรัง ในไม้ที่เป็นปล้อง เช่น ไม้ไผ่ ถ้าใบของต้นไม้ถูกนำไปสร้างรังจะทำให้ใบมีน้อยลง การสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารของพืชจะน้อยลงด้วย ต้นไม้จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
  • โดยเอาแมลงอื่นมาปล่อยในต้นพืช ให้ทำลายพืชนั้น ได้แก่ มด ที่อาศัยอยู่กับเพลี้ยอ่อนตามกิ่ง ยอด และใบอ่อน มดได้อาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนขับออกมาเป็นอาหาร เมื่อพืชเหี่ยวแห้งเนื่องจากถูกเพลี้ยอ่อนดูดน้ำเลี้ยง หรือเมื่อมีเพลี้ยอ่อนมากๆ มดก็จะช่วยขนย้ายเพลี้ยอ่อนไปยังต้นอื่นๆ
  • โดยการนำโรคมาสู่พืช ได้แก่ เชื้อรา แบคทีเรีย โปรโตซัว และไวรัส พบว่าโรคพืชโดยประมาณ 200 โรค มีแมลงเป็นพาหะ 3 ใน 4 ของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แมลงนำโรคมาสู่ต้นพืชได้ 3 ทางคือ
    - เชื้อโรคเข้าสู่พืชทางรอยวางไข่ รูเจาะกิน และรูที่แมลงเจาะเข้าไปในพืช
    - เชื้อโรคติดตามตัวหรือในตัวแมลงจากพืชต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
    - เชื้อโรคพักในตัวแมลงระยะหนึ่ง แล้วถ่ายทอดมาสู่พืชเมื่อแมลงกินอาหารบางกรณีเชื้อโรคต้องมีระยะหนึ่งของวงจรอยู่ในพืชด้วย แมลงที่นำเชื้อโรคมาสู่พืช เช่น เพลี้ยจักจั่นชนิดต่างๆ เพลี้ยอ่อนชนิดต่างๆ มอดเจาะไม้ เป็นต้น
  • โดยทำให้เกิดเชื้อโรคชนิดใหม่ ได้แก่ โรคราสนิม มีแมลงช่วยผสมข้าม ทำให้เกิดเชื้อโรคใหม่ๆ ทำให้พืชเกิดเป็นโรคได้ แมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ทำให้สปอร์ของเชื้อราจากที่แห่งหนึ่งไปผสมกับอีกที่หนึ่งได้

ความเสียหายที่เกิดกับคนและสัตว์

  1. เป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์ เช่น ยุงก้นปล่องเป็นพาหะโรค ไข้มาลาเรีย ยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และยุงรำคาญเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้าง
  2. เป็นตัวเบียนของคนและสัตว์ เช่น เหลือบ เหา หมัด และไรไก่
  3. โดยกลิ่นเหม็นที่แมลงปล่อยออกมา ได้แก่ แมลงกระแท้ มวนเขียวแมลงสาบ และเรือด เป็นต้น
  4. โดยการขับถ่ายของแมลงทำให้เกิดสกปรก เลอะเทอะ พบตามอาหาร ผลไม้ และภาชนะต่างๆ ตัวอย่างเช่น เพลี้ยหนอน และเพลี้ยแป้ง ทำให้ผลไม้ที่อยู่ในต้นสกปรก และแมลงสาบตามบ้านเรือน
  5. ทำให้รู้สึกขยะแขยง เมื่อแมลงไต่ตอมตามผิวหนัง ได้แก่ หนอนผีเสื้อที่อยู่ตามต้นไม้ หมัดที่ดูดกินเลือดคนและสัตว์เลี้ยงต่างๆ
  6. โดยการกัดแทะตามผิวหนัง ได้แก่ ไรนก และไรไก่ ที่พบตามขนหนังของสัตว์ปีกทำให้สัตว์เกิดความรำคาญ
  7. โดยเหตุบังเอิญแมลงอาจเข้าตา หู จมูก หรือเข้าคอ เกิดอาการอักเสบที่ส่วนนั้น ได้แก่ แมลงวันตอมตา และแมลงที่บินเข้าหาแสงไฟยามค่ำคืน อาจเป็นเหตุให้เกิดโรค มายเอียซีส (Myiasis) ในกรณีที่บังเอิญตัวหนอนแมลงนั้นเข้าไปยังส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
  8. โดยการวางไข่ตามผิวหนัง ผมหรือขน ได้แก่ เหาต่างๆ ในต่างประเทศ แมลงวันหนอนเจาะสัตว์วางไข่ตามตัวสัตว์ทำให้สัตว์แตกตื่นไม่กินอาหารตามปกติ ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจการเลี้ยงโคเนื้อมากทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือเสียโลหิต
  9. มีพิษเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ เมื่อโดนกัดหรือต่อย เช่น ต่อ แตน และมดตะนอย
  10. โดยใช้ปากทิ่มแทง ได้แก่ ยุง ริ้น เหลือบ และแมลงดานา
  11. โดยขนละเอียดทิ่มแทง ได้แก่ ขนของผีเสื้อต่างๆ
  12. โดยการปล่อยสารพิษลงบนผิวหนังเมื่อมันตกใจ หรือไปโดนมันเข้า ได้แก่ แมลงตดสามารถปล่อยก๊าซพิษซึ่งเป็นกรดไนตริก ทำให้ผิวหนังพุพองได้ ด้วงก้นกระดก Paederus fuscipes เมื่อทำให้มันแตกบนผิวหนัง จะเกิดอาการบวมเป็นผื่นเนื่องจากสารเพเดอริน (Paederin) เป็นต้น
  13. ด้านอันตรายจากการนำมาบริโภคพบว่าแมลงบางชนิดไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาด ได้แก่ ด้วงน้ำมัน เนื่องจากในตัวมีสารเรียกว่า Cantharidin ถ้ารับประทานเข้าไปในจำนวนมากจะทำให้ผู้บริโภคมีอันตรายถึงชีวิตได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย