ศิลปะ
หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ
บัว
คติความเชื่อเรื่องบัว
รูปแบบบัว
การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหาร
บัวองค์ประกอบเจดีย์ และพระปรางค์
คติความเชื่อเรื่องบัว
คติความเชื่อเรื่องบัวในศาสนาพุทธลัทธิมหายานลัทธิหินยาน มีคติความเชื่อและเรื่องราวของดอกบัวและสระบัวปรากฏอยู่มากมายใน พุทธประวัติ ชาดก พระสูตร และตำนานต่างๆ และมีความหมายตามนัยยะต่างๆดังนี้
- ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นนิมิตหมายที่บอกให้รู้ถึงผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกัลป์หนึ่งๆ
- ดอกบัว เป็นทิพยปทุมชาติที่มีปาฏิหาริย์ เป็นเครื่องรองรับมหาบุรุษ หรือผู้มีบุญญาธิการอันสูงส่ง
- ดอกบัว เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา
- ดอกบัว เป็นนิมิตที่บังเกิดในวาระสำคัญ คือเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกจนเข้าสู่พระนิพพาน
- ดอกบัว เป็นดอกไม้สำหรับบุคคลผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
คติความเชื่อเรื่องบัวในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน
ในลัทธิมหายานมีความเชื่อว่า
จำนวนดอกบัวซึ่งเบ่งบานขึ้นบนสวรรค์จะเป็นเครื่องบอกถึงการสร้างบุญบารมี
ของผู้ที่จะขึ้นมาจุติบนสวรรค์ว่า เป็นผู้สำเร็จญาณในขั้นใด
- สระบัวในดินแดนสุขาวดีมีดอกบัวขนาดใหญ่ที่มีพระธยานิพุทธเจ้าประทับอยู่
- ดอกบัวเป็นที่กำเนิดของอัจฉริยะบุคคลผู้วิเศษและสำคัญทางศาสนา
- ดอกบัวเป็นดอกไม้พุทธบูชา
- ดอกบัวเป็นอาสนะและเป็นเครื่องอุปโภคของพระโพธิสัตว์ต่างๆรวมทั้งนางศักติ
คติความเชื่อเรื่องบัวในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูให้ความสำคัญกับดอกบัวเป็นอย่างมาก ถือว่าดอกบัวเป็นโลกจักรวาล
และดอกบัวมีกำเนิดอันเป็นทิพย์ ดังนี้
- ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดของเทพเจ้าทั้งหลาย
- ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์และเป็นเครื่องอุปโภคที่สำคัญของเทพเจ้า
- ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
- ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ และความบริสุทธิ์
คติความเชื่อดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดรูปแบบงานศิลปกรรมมากมาย
ที่ช่างได้จินตนาการสร้างสรรค์จากคติความเชื่อที่เป็นนามธรรม
ให้ออกมาเป็นรูปธรรมโดยมีบัวเป็นองค์ประกอบในรูปแบบของงานศิลปกรรมด้านต่างๆ
มากมายทั้งที่เป็นรูปแบบของดอกบัว
และแบบที่ไม่เป็นรูปแบบของดอกบัวเป็นแต่เพียงนำเอาส่วนโค้งส่วนเว้าของดอกบัวที่เรียกว่า
ลวดบัว มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมหลายแขนง เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม
และประณีตศิลป์ ฯลฯ อันเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในโบราณวัตถุ และโบราณสถาน
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จากการที่ไทยรับเอาคติความเชื่อทางศาสนาที่มีทั้งพุทธหินยาน พุทธมหายาน
และพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาเป็นหลักยึดถือตั้งแต่ศาสนาดังกล่าวแพร่มาสู่ดินแดนแถบนี้
เนื่องจากลัทธิศาสนาดังกล่าว
จะผันแปรไปตามยุคสมัยที่ผู้นำประเทศนำมาเป็นเครื่องยึดถือปฏิบัติ
หรือการแผ่ขยายอำนาจของประเทศข้างเคียงที่นับถือศาสนานั้นๆนำเข้ามา
ตามความเชื่อถือของแต่ละคน
ด้วยเหตุนี้คติความเชื่อต่างศาสนาที่รับเข้ามาเป็นเวลานาน
จึงถูกนำมาผสมผสานกลมกลืนกับพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักจนแยกกันไม่ออกว่า
ดังจะเห็นได้จากคติการสร้างวัดทางพุทธศาสนา
แต่ผสมผสานคติความเชื่อทางมหายานด้วยการสร้างรูปทรงอาคาร หรือฐานอาคารของพระอุโบสถ
วิหาร ให้มีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนเรือสำเภา
ด้วยคติความเชื่อที่ว่าเรือสำเภาจะเป็นพาหนะที่พาสัตว์โลกข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากที่สุด
อันเป็นปณิธานของพระโพธิสัตว์ ในลัทธิมหายาน หรือ การตกแต่งหน้าบันอาคารทางศาสนา
ด้วยลวดลายปูนปั้น เช่นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พระนารายณ์ทรงสุบรรณ พระอินทร์ทรงช้าง
หรือพระอาทิตย์ทรงรถม้า เป็นต้น ซึ่งเทพดังกล่าวล้วนเป็นเทพที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์
ฮินดู ทั้งนี้เพราะคติเทวราชา หรือสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ในคติของพราหมณ์
เป็นคติความเชื่อที่อยู่กับคนไทยมานาน รวมทั้งประเพณี
พิธีกรรมต่างๆของพระมหากษัตริย์ล้วนมีทั้งพราหมณ์และพุทธปะปนกันไป
ซึ่งคติความเชื่อดังกล่าวก่อให้เกิดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบต่างๆ
และมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย