ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ
คอนแชร์โต
(Concerto)
สำหรับคนคอดนตรีนั้น มักรับรสดนตรีด้วยอาศัยการฟังเป็นสำคัญ
เพราะดนตรีมีเสียงเป็นสื่อ แต่ก็มีดนตรีหลายประเภท
แม้แต่ที่จัดอยู่ในกลุ่มดนตรีคลาสสิก ซึ่งหากได้ทั้งตาดูและหูฟัง
ก็ดูจะได้รับรสชาติมากขึ้นอย่างปฏิเสธมิได้ หนึ่งในหลายประเภทนั้นก็คือ ดนตรีประชัน
หรือคอเพลงคลาสสิกรู้จักเรียกกันว่า คอนแชร์โต (Concerto) Concerto
เป็นภาษาอิตาเลียน
หมายถึงบทประพันธ์เพลงที่กำหนดให้มีเครื่องดนตรีเดี่ยวมีบทบาทเด่น
เล่นประชันน้ำเสียงและลีลาไปกับวงดุริยางค์ เครื่องดนตรีเดี่ยวที่ใช้นั้น
อาจกำหนดให้มีเพียงชิ้นเดียว เล่นโชว์ฝีมือเป็นตัวเอกของการแสดง เรียกกันว่า
โซโลคอนแชร์โต (Solo Concerto) หรืออาจกำหนดให้มีเครื่องเดี่ยวหลายชิ้น
โดยแต่ละเครื่องมีแนวบรรเลงเป็นของตนเอง เดี่ยวประชันน้ำเสียง ลีลา
และฝีมือของผู้เดี่ยวในกลุ่มเครื่องเดี่ยวด้วยกัน และยังประชันกับวงดุริยางค์
ที่ใช้บรรเลงสอดรับสนับสนุนโต้ตอบอีกชั้นหนึ่งด้วย
คอนแชร์โตที่มีเครื่องเดี่ยวหลายชิ้นแบบนี้เรียกกันว่า คอนแชร์โตกรอสโซ (Concerto
Grosso)
คอนแชร์โตแต่ละบทประกอบด้วยกระบวนเพลง (Movement) ย่อยอีก 3 กระบวนด้วยกัน
(คำว่ากระบวน หรือ Movement ในที่นี้ อาจเปรียบได้กับบทต่างๆของหนังสือเล่มหนึ่งๆ
แต่ละบทแต่ละกระบวนนั้น อ่านและฟังก็จบในตัวเอง
ทว่าหากบรรเลงและฟังให้ครบจบถ้วนทั้ง 3 กระบวนเป็นลำดับไป ก็จะเกิดความหลากหลาย
และได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์ ตามความต้องการของผู้ประพันธ์
เปรียบได้กับการอ่านหนังสือครบทุกบท ก็ย่อมได้ใจความของหนังสือเล่มนั้นๆ
ครบถ้วนสมบูรณ์กว่าการเลือกอ่านเพียงบางบท) สำหรับกระบวนต่างๆของคอนแชร์โตนั้น
จะมีลีลาแตกต่างกัน กล่าวคือ กระบวนแรก มีลีลาและจังหวะจะโคนรวดเร็วเร้าใจ
ติดตามมาด้วย กระบวนที่สองที่มักช้าๆอ่อนหวาน บางบทบางตอนก็ฟังดูครุ่นคิด
ราวกับผู้ประพันธ์และผู้บรรเลงตกอยู่ในภวังค์ลึก
คล้ายกับเป็นการผ่อนคลายจากความคึกคัก เร้าใจ เร้าอารมณ์ จากกระบวนแรก
จากนั้นก็จะปิดท้าย ด้วยกระบวนที่มีลีลารวดเร็วโลดโผนฉับไว เพลงคอนแชร์โต
มีกำเนิดและได้รับการพัฒนามาจนมีบุคลิกและแนวคิดเฉพาะตัว เป็นที่นิยมประพันธ์
บรรเลง และฟังกันมากตั้งแต่ในสมัยศิลปะดนตรีที่เรียกกันว่า สมัยบาโรก
สืบมาจนปัจจุบันนี้ (Baroque หมายถึงศิลปะดนตรียุโรปจากช่วงเวลาประมาณ
ค.ศ.1600-1750) สมัยบาโรกนั้นเป็นยุคสมัยของนักดนตรีและนักแต่งเพลงดังๆ อย่างเช่น
บาค(JS Bach) แฮนเดิล (GF Handel) หรือวิวัลดี (A Vivaldi) เป็นต้น
การที่ดนตรีประชันเช่นเพลงแบบคอนแชร์โต ถือกำเนิดและเติบโตจนเป็นที่นิยมกันมากในสมัยบาโรก ก็เห็นจะเป็นเพราะ ลักษณะและแนวคิดในการประชันกัน ของลีลาและน้ำเสียงของเครื่องดนตรีหลายหลากชนิดนั้น สอดคล้องกันดีกับรสนิยมอย่างหนึ่งของชาวบาโรกที่ชอบและเห็นความงามของความแตกต่างของสิ่งต่างๆที่มาวางทาบกัน และเกิดการตัดกัน (Contrast) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบโครงสร้างที่มาลงตัวที่กระบวน 3 กระบวนในลีลาช้าเร็วต่างกัน หรือน้ำเสียงและลีลาของเครื่องเดี่ยวต่างๆที่บรรเลงประชันกัน ทำให้เกิดการตัดกันขององค์ประกอบดนตรีในหลากหลายมิติ เหล่านี้ล้วนถูกคอดีกับรสนิยมทางศิลปะของชาวบาโรก นอกเหนือจากเหตุผลในเชิงสุนทรียภาพแล้ว ก็มีเหตุผลในเชิงเทคโนโลยีประกอบกันด้วย กล่าวคือ ในช่วงสมัยบาโรกนั้น ตัวเครื่องดนตรีเองก็ได้รับการพัฒนามาอย่างมาก เครื่องดนตรีหลายชนิด โดยเฉพาะซอต่างๆ ได้รับการพัฒนามาจนสมบูรณ์ มีน้ำเสียงไพเราะเฉพาะตัว มีกลไกที่สามารถให้ซุ้มเสียงที่แข็งแรงชัดเจน เหมาะแก่การนำมาบรรเลงอวดทั้งน้ำเสียง และศักยภาพในการเดี่ยวอย่างโลดโผนวิจิตร แถมยังแข็งแรงพอที่จะบรรเลงประชัน ตอบโต้กับวงดุริยางค์ทั้งวงได้ เมื่อมีเครื่องดนตรีดีๆไว้ใช้ นักดนตรีเก่งๆมากมายหลายท่าน ก็คิดค้นพัฒนาฝีมือและเทคนิคกลเม็ดเด็ดพรายต่างๆในการบรรเลงยิ่งๆขึ้นไปได้ นักประพันธ์เพลงก็เห็นถึงศักยภาพของตัวเครื่องดนตรีและฝีมือของนักเดี่ยวระดับวิจิตร จนเกิดแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงให้ประชันฝีมือ บทเพลงแบบคอนแชร์โตที่มีเครื่องเดี่ยวเป็นตัวเอก ก็สามารถได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ลงตัวได้ตามที่กล่าวมา
เครื่องดนตรีที่นิยมนำมาเป็นเครื่องเดี่ยวในบทเพลงคอนแชร์โตนั้นก็มีหลากหลายชนิด แต่โดยหลักการใหญ่ๆ ก็ต้องเป็นเครื่องที่มีน้ำเสียงชัดเจน มีช่วงเสียงกว้าง มีซุ้มเสียงไพเราะ น่าสนใจในทุกช่วง และยังตั้งเป็นเครื่องที่มีกลไกแข็งแรงพอที่จะส่งเสียงประชันกับวงดุริยางค์ทั้งวงได้อย่างไม่ลำบากนัก ที่นิยมกันมากได้แก่ ไวโอลิน เปียโน เชลโล เป็นต้น หากใช้เครื่องใดเดี่ยว ก็เรียกกันว่า คอนแชร์โตของเครื่องนั้นๆ เช่น ไวโอลินคอนแชร์โต เปียโนคอนแชร์โต เชลโลคอนแชร์โต เป็นต้น ดังได้กล่าวในตอนต้นว่า คอนแชร์โตนั้นสนุกทั้งดูและฟัง ถ้าได้ทั้งสองอย่างก็จะได้รับอรรถรสเต็มที่ การดูจะทำให้ได้เห็นว่าซุ้มเสียงที่มีลีลาวิจิตรพิสดารเป็นอัศจรรย์นั้น ได้รับการบรรเลงออกมาอย่างไร จะได้เห็นการขับเคี่ยวออกแรงออกอารมณ์ พยายามฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมายของนักแสดงเดี่ยว จะได้เห็นว่า การบรรเลงสอดรับสนับสนุนโต้ตอบกันในเชิงศิลปะของผู้บรรเลงมีลวดลายลีลาอย่างไร ประสบการณ์ในการไปดูเพลงคอนแชร์โตบางบทของศิลปินเอกๆบางท่านในบางคอนเสิร์ตนั้น สนุก ให้รสชาติราวกับดูการเล่นกีฬาเป็นทีมที่ทั้งสองฝ่ายเล่นเก่งและมีทีมเวิร์คดีๆทีเดียว