ปรัชญา
อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์
จิตวิทยาพัฒนาการ
จิตวิทยาพัฒนาการมนุษย์
จิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น (Adolescence)
จิตวิทยาการบริหาร (Management Psychology)
จิตวิทยาพื้นฐาน
จิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น
จิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น (Adolescence)
จิตวิทยาพัฒนาการวัยสูงอายุ
ที่ประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ได้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นผู้สูงอายุ (Elderly) แต่ความสูงอายุหรือความชราภาพ (Aging) ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละคน โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นผู้สูงอายุไว้ใน 4 ลักษณะคือ (สุรกุล เจนอบรม, 2534 อ้างถึงในวิภาวรรณ ชะอุ่ม, 2536)
- พิจารณาจากอายุจริงที่ปรากฏ (Chrological aging) หมายถึง การสูงอายุที่เป็นไปตามอายุขัยของมนุษย์ ดูที่จำนวนปีหรืออายุที่ปรากฏจริง
- พิจารณาจากลักษณะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย (Biological aging) ดูได้จากการ เปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
- พิจารณาจากลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ (Psycho-logical aging ) นับรวมไปถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาด้วย โดยมีการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ของการรับรู้ ระบบความจำ การเรียนรู้ ความคิด ตลอดจนบุคลิกภาพต่าง ๆ เป็นต้น
- พิจารณาจากลักษณะบทบาททางสังคม ( Social aging ) จะมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ สถานภาพของบุคคลในระบบสังคม รวมไปถึงครอบครัว เพื่อนฝูง
การเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการแบบเสื่อมถอยลง แต่จะไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากสาเหตุ ซึ่งได้มีผู้อธิบายไว้ในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ หรือทฤษฎีชราภาพ (Theories of Biological Aging) เนื้อหาของทฤษฎีแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ทฤษฎีการถูกกำหนด (Programmed change theories) คือการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิตได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าในยีนส์ (gene) และทฤษฎีการถูกทำลาย (Random damage, Unprogrammed theories) คือส่วนของร่างกายค่อยๆถูกทำลายเป็นครั้งคราวจากสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีที่สำคัญ คือ ( พรรณวดี พุธวัฒนะ, 2539 ; Lefrangois, 1996 ; Kall and Cavanaugh, 1996 ) ทฤษฎีโมเลกุล ( Molecular theories ) กล่าวว่าอายุขัยของสิ่งมีชีวิตเกิดจากปฎิสัมพันธ์ระหว่างยีนส์กับสิ่งแวดล้อม สารพันธุกรรมในยีนส์ถ่ายทอดทาง RNA กำหนดการสร้างโปรตีน ได้แก่ คอลลาเจน เคอราติน หรือโปรตีนทำหน้าที่เช่น เอนไซม์ ตัวอย่างทฤษฎีในกลุ่มนี้คือ
- ทฤษฎีว่าด้วยพันธุกรรม ( Genetic Theory ) การเจริญเติบโตของเซลล์มีขีดจำกัด
เมื่อมีการเจริญเติบโตก็จะมีการฝ่อและการตาย การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ เชื่อว่า
มีความสัมพันธ์กับ พันธุกรรมของแต่ละครอบครัว เช่น
ประวัติการเป็นโรคมะเร็งของบุคคลในครอบครัว
- ทฤษฎีการกลายพันธุ์ ( Somatic mutation theory )
ในช่วงการแบ่งตัวของเซลล์อาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ DNA
จำนวนการกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นมีผลร้ายต่อยีนส์และโครโมโซม
ทำให้จำนวนยีนส์ที่ทำหน้าที่ปกติน้อยลงจนถึงจุดวิกฤต
- ทฤษฎีความผิดพลาด ( Error catatrophe)
มีการสะสมของข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการสร้างโปรตีนในเซลล์ เช่น
การส่งข่าวสารการถ่ายทอด การแปลข่าวสาร
อาจใช้กรดอะมิโนไม่ถูกต้องในการสังเคราะห์โปรตีน เกิดความผิดพลาดในการแปลรหัส (
Codon ) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงการจับตัวของโปรตีนกับ DNA คือมีการจับตัวกันแน่นขึ้นระหว่าง DNA กับ Histone จึงรบกวนการแปลรหัส มีผลต่อการสร้างโปรตีน
ทฤษฎีเซลล์ ( Cellular theories )
กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำหน้าที่ของเซลล์เมื่อเวลาผ่านไป
มีผลต่อการสร้างสารต่าง ๆ จากเซลล์ เช่น พบว่ามีรงควัตถุ ( lipofuscin, aging
pigment ) ในเซลล์
ทฤษฎีอนุมูลอิสระ ( The free rsdicals theory )
อธิบายการชราภาพโดยมุ่งเน้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์
กล่าวว่าการเผาพลาญของเซลล์ตามปกติจะเกิดสารที่เป็นอนุมูลอิสระ
คือมีอิเลคตรอนเดี่ยว มีคุณสมบัติที่มารถจับกับสารประกอบในบริเวณใกล้เคียง
เช่นไขมัน โปรตีน DNA เกิดปฏิกิริยาที่สำคัญคือ lipid peroxidation
ทำให้ร่างกายมีการทำลายเยื่อหุ้มต่าง ๆ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
กระบวนการนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ที่ว่องไวขึ้นได้มากจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
เช่น การได้รับรังสี สารเคมี อื่น ๆ หรือจากสิ่งแวดล้อมภายใน เช่น
กระบวนการทำงานตามปกติของเซลล์
การที่เซลล์เม็ดเลือดขาวทำลายแบคทีเรียหรือสิ่งแปลกปลอม
เชื่อว่าเป็นตัวการสำคัญของกระบวนการชราและการเกิดโรค เช่น มะเร็ง สมองเสื่อม
ทฤษฎีบุคคล ( Organismic and systemic theories )
กล่าวถึงกระบวนการชราว่าเป็นการเสื่อมสภาพการทำหน้าที่ของระบบที่เป็นตัวสั่งการสำคัญในร่างกาย
เช่น ระบบประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบภูมิคุ้มกัน
การเปลี่ยนแปลงของระบบหนึ่งมีผลต่อร่างกายทั้งหมด
เชื่อว่าการกำหนดในยีนส์อาจเกิดได้ตั้งแต่ปฏิสนธิและหลังจากนั้น
สิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตัวจึงสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการชราภาพได้
พัฒนาการด้านต่างๆ
พัฒนาการด้านร่างกาย
จากทฤษฎีชราภาพข้างต้น
แสดงให้เห็นว่าในวัยสูงอายุร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระบบในลักษณะเสื่อมถอย
การเปลี่ยนแปลงภายนอกคือ ผมเปลี่ยนเป็นสีขาวมากขึ้น หรือที่เรียกว่าผมหงอก
มีรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า หลังโกง กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง
การทรงตัวไม่ดี การได้ยินเสื่อมลง การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่สำคัญคือ
ความยืดหยุ่นตัวของเส้นเลือดลดลง มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต่างๆ
มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น
พัฒนาการทางด้านอารมณ์
อารมณ์ของผู้สูงอายุยังคงมีอารมณ์รัก
ในบุคคลอันเป็นที่รักโดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส บุตร หลาน
และเมื่อเกิดการสูญเสีย ผู้สูงอายุจะมีความเศร้าโศกอย่างมาก จะมีผลกระทบต่อจิตใจ
สุขภาพกาย และพฤติกรรมของผู้สูงอายุค่อนข้างมาก (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2538)
มีอารมณ์เหงา ว้าเหว่
บางรายอาจรู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลงเนื่องจากต้องพึ่งพาบุตรหลานในเรื่องการประกอบกิจวัตรประจำวัน
ค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของคนอื่น มักแสดงอาการหงุดหงิด
น้อยใจ ต่อบุตรหลาน
พัฒนาการทางด้านสังคม
ทฤษฎีพัฒนาบุคลิกภาพของอิริคสัน ผู้สูงอายุอยู่ในขั้นพัฒนาการขั้นที่ 8
คือความมั่นคงและความหมดหวัง ( integrity vs. despair ) เป็นวัยที่สุขุม รอบคอบ
ฉลาด ยอมรับความจริง ภูมิใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ให้บุตรหลาน และคนรุ่นหลัง
มีความมั่นคงในชีวิต ตรงข้ามกับผู้สูงอายุที่ล้มเหลวจะไม่พอใจในชีวิตที่ผ่านมา
ไม่ยอมรับสภาพที่เปลี่ยนไป รู้สึกคับข้องใจท้อแท้ในชีวิต (ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต,
2541)
สังคมของผู้สูงอายุคือสังคมในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมวัยแต่จากการที่กลุ่มเพื่อนมีการตายจากกัน
หรือต่างคนต่างอยู่ในครอบครัวของตน หรือจากปัญหาสุขภาพกาย
ทำให้ไม่สามารถติดต่อกันได้ กิจกรรมของผู้สูงอายุจึงมักเป็นกิจกรรมการเลี้ยงดูหลาน
ดูแลบ้านให้กับบุตรหลาน บางรายจะไปทำกิจกรรมที่วัด ทำบุญ ฟังธรรม
บางรายเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เช่น เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สมองจะฝ่อและมีน้ำหนักลดลง
เลือดมาเลี้ยงสมองได้น้อย มีภาวะความดันโลหิตสูง
เซลล์ประสาทตายเพิ่มขึ้นและจำนวนเซลล์ลดลงตามอายุ ทำให้สมองเสื่อมหรือถูกทำลายไป
โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า Gray Matter
มักพบอาการความจำเสื่อมโดยเฉพาะความจำในเหตุการณ์ปัจจุบัน (recent memory)
และความจำเฉพาะหน้า (immediate memory) แต่ความจำในอดีต (remote memory) จะไม่เสีย
(ศรีธรรม ธนะภูมิ, 2535 ; อัมพร โอตระกูล, 2538 อ้างถึงใน ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต,
2541 ; สาทิศ อินทรกำแหง, 2539)
ปัญหาในวัยสูงอายุ
ปัญหาที่พบในวัยสูงอายุที่สำคัญ คือ ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต
และปัญหาของสมาชิกในครอบครัวต่อผู้สูงอายุ
ปัญหาด้านสุขภาพกาย
วัยสูงอายุเป็นที่มีความเสื่อมถอยของร่างกายทุกระบบ
ปัญหาสุขภาพจึงเป็นปัญหาสำคัญของบุคคลในวัยสูงอายุ มักเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย
รุนแรงขึ้น มีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และกระบวนการหายหรือการฟื้นคืนสภาพค่อนข้างช้า
ปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ (พรรณวดี พุธวัฒนะ, 2539)
- อาการทางสมองแบบเฉียบพลันอาจเกิดจากสาเหตุทางกาย เช่นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย จากสาเหตุทางจิตใจ เช่น ความตื่นเต้น สับสน อาการทางสมองแบบเรื้อรัง คือหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมองแข็งตัว
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน (Atherosclersis) โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) ความดันโลหิตสูง (Hypertention)
- ความผิดปกติของทางเดินอาหาร การรับรสรับกลิ่นไม่ดี การย่อยและการดูดซึมอาหารมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้เกิดอาการไม่สุขสบาย เช่น แน่นอึดอัดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน กระเพาะอาหารฝ่อ แผลในลำไส้ เป็นต้น
- โรคของกระดูกและข้อ ที่พบบ่อยคือ โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์ กระดูกพรุน เกิดปัญหากระดูกหักง่ายตามมา
- ระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะเล็ด
- ระบบต่อมไร้ท่อ มีการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งของฮอร์โมน ฮอร์โมนบางชนิดมีการหลั่งลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ภาวะกระดูกผุ เป็นต้น
- ปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะรับความรู้สึก ที่สำคัญคือ หู มีการได้ยินลดลง เกิดตาต้อกระจก (Cataract) ปัญหาสายตายาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาของระบบผิวหนัง ระบบหายใจ และอื่นๆ ปัญหาสุขภาพและผลจากการรักษา เช่น จากยา การผ่าตัด เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาบุตรหลานหรือญาติ กลายเป็นภาระของบุตรหลานในเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวันและปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และอาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสูญเสียความมีคุณค่าของตนเอง
ปัญหาสุขภาพจิต
จากปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบทบาททางสังคม
ปัญหาค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยผลจากการรักษา
ความรู้สึกการเป็นภาระของบุตรหลาน
และปัญหาการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ดังกล่าวได้
บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า (depression) บางรายอาจมีความผิดปกติทางจิตเกิดขึ้นได้
ปัญหาสมาชิกในครอบครัวต่อผู้สูงอายุ
สังคมไทยในอดีตเป็นครอบครัวใหญ่
ผู้สูงอายุจะไม่รู้สึกเหงาเพราะได้อยู่รวมกับบุตรหลาน (สุชา จันทน์เอม, 2536)
ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากผู้สูงอายุในสังคมเมืองอาจถูกทอดทิ้งเนื่องจากบุตรหลานแยกครอบครัวออกไป
ไม่มีเวลาให้การดูแลผู้สูงอายุ
สมาชิกในครอบครัวบางคนมีความคิดว่าผู้สูงอายุเป็นภาระอย่างมาก
แสดงพฤติกรรมไม่ยอมรับผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านจิตใจ
ในครอบครัวที่ยอมรับและเคารพนับถือผู้สูงอายุจะทำให้ชีวิตของผู้สูงอายุมีความสุขอย่างมาก
อย่างไรก็ตามตัวผู้สูงอายุเองต้องมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมใหม่การเตรียมรับกับความตายศาสนาพุทธมีความเชื่อเรื่องวัฏสงสารจึงสอนให้คนเตรียมตัวตายเพื่อจะได้ไม่ตกใจกลัวในขณะที่ต้องตายจริง
ๆ มีวิธีทำจิตของตนให้สงบ ไม่เศร้าหมองขณะดับจิต เพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ในภพที่ดี
ดังนั้นในศาสนาพุทธจึงมีคำสอนวิธีปฏิบัติเพื่อฝึกจิตให้เผชิญกับความตายโดยสงบ เช่น
การระลึกถึงความตายบ่อย ๆ โดยการบริกรรมมรณานุสสติทุกวัน สอนให้หัดตายก่อนตายจริง
เช่น มีพิธีกรรมบางอย่างเพื่อผู้เจ็บหนักใกล้ตายได้มีโอกาสทำจิตให้สงบ
ให้พิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกวันเพื่อให้มีสติ (ศรีเรือน
แก้วกังวาล, 2538) วัยสูงอายุเป็นวัยสุดท้ายของชีวิตซึ่งต้องพบกับความตาย
ดังนั้นการได้เตรียมรับกับความตายจะทำให้บุคคลมีสติ มีจิตใจเข้มแข็ง
พร้อมที่จะจากโลกนี้ไปอย่างสงบ และขณะที่มีชีวิตอยู่ เป็นคนที่มีจิตใจเมตตากรุณา
มีอารมณ์เยือกเย็น และมีสติอยู่เสมอ
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
พัฒนาการทางอารมณ์
พัฒนาการทางความคิดสติปัญญา
พัฒนาการทางสังคม
จิตวิทยาพัฒนาการวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (Early adulthood)
จิตวิทยาพัฒนาการวัยกลางคน
การเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุ
จิตวิทยาพัฒนาการวัยสูงอายุ
คำแนะนำในการส่งเสริมพัฒนาการและการปรับตัว