ปรัชญา
อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์
จิตวิทยาพัฒนาการ
จิตวิทยาพัฒนาการมนุษย์
จิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น (Adolescence)
จิตวิทยาการบริหาร (Management Psychology)
จิตวิทยาพื้นฐาน
จิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น
จิตวิทยาพัฒนาการมนุษย์
จิตวิทยาพัฒนาการวัยเด็กตอนต้น
(Early Childhood)
วัยเด็กตอนต้น (early childhood) หรือวัยก่อนเรียน (pre-school age)
เป็นวัยที่มีอายุอยู่ในช่วง 2-6 ปี วัยนี้พัฒนามาจากวัยทารก เด็กเริ่มรู้จักบุคคล
สิ่งแวดล้อม สิ่งของ สามารถใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้หลากหลาย
เริ่มเข้าใจลักษณะการสื่อสาร และสามารถใช้ภาษาได้มากขึ้น
จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่และการมีความสามารถดังกล่าวกระตุ้นให้เด็กต้องการแสดงความสามารถที่มีอยู่วัยนี้จึงมีลักษณะเด่นคือชอบแสดงความสามารถ
ชอบอาสาช่วยเหลือ ช่างประจบ ซุกซน อยากรู้อยากเห็น ช่างถาม
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบปฏิเสธ ค่อนข้างดื้อ ต้องการมีอิสระ
เป็นตัวของตัวเอง เริ่มรู้จักพึ่งพาตนเอง และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่
โดยเฉพาะในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การทำกิจกรรม การเรียนรู้เหตุผล สิ่งใดผิดถูก
การเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
นอกจากนี้เด็กจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนจากการพูดคุย การแสดงออก ความเฉลียวฉลาด
ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคนด้วย
ดังนั้นจึงพบว่าเด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพและมีพัฒนาการด้านจริยธรรมอย่างชัดเจน
พัฒนาการของวัยเด็กตอนต้น
พัฒนาการทางกาย
พัฒนาการทางกายของเด็กวัยนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับวัยทารก
การเจริญเติบโตจะเป็นไปในลักษณะเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ
สามารถทำงานได้เต็มที่ตามหน้าที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการเจริญเติบโตทางด้านน้ำหนักและส่วนสูง
การเพิ่มของน้ำหนักเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ
ซึ่งต่างจากวัยทารกที่การเพิ่มน้ำหนักเกิดจากเนื้อเยื่อไขมัน
ประกอบกับเด็กวัยนี้จะรับประทานอาหารได้น้อย
และเลือกรับประทานอาหารเฉพาะที่ชอบเท่านั้น
ลักษณะร่างกายและสัดส่วนของวัยนี้จะเปลี่ยนแปลงจากลักษณะทารกอย่างชัดเจน
กล่าวคือ ช่องท้องบางลง หน้าอกและไหล่กว้างและใหญ่ขึ้น แขนขายาวออกไป
ศีรษะได้ขนาดกับลำตัว มือและเท้าใหญ่ขึ้น โครงกระดูกแข็งขึ้น
กล้ามเนื้อเติบโตแข็งแรงขึ้น มีการเพิ่มความสูงอย่างสม่ำเสมอ 3 นิ้วต่อปี
และน้ำหนักเพิ่มสม่ำเสมอปีละ 1.5-2 กิโลกรัม และในช่วงปลายของวัยนี้จะมีฟันแท้ขึ้น
1-2 ซี่
เด็กวัยนี้เริ่มมีทักษะการเคลื่อนไหวและสามารถใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ
ของร่างกายได้ดีขึ้น ระบบกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ดังนั้นเด็กจะชอบช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น การป้อนข้าวเอง
แต่งตัว ใส่รองเท้า อาบน้ำ หวีผม เขียนหนังสือ การหยิบจับต่าง ๆ
ชอบเล่นกับกลุ่มเพื่อน ๆ สามารถเดิน วิ่ง กระโดด ห้อยโหนอย่างคล่องแคล่ว
และไม่รู้จักเหนื่อย เพราะการได้เล่นกับเพื่อนจะช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่น
ไม่ถูกทอดทิ้ง
พัฒนาการทางอารมณ์
เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการการแสดงออกด้านอารมณ์ที่ชัดเจน เปิดเผย อิสระ
ทั้งอารมณ์พึงพอใจและไม่พึงพอใจ มักจะเป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเอง ดื้อรั้น
หงุดหงิด โมโหร้าย ชอบปฏิเสธ อารมณ์ในทางลบที่เด็กแสดงออกจะค่อย ๆ
ลดลงเมื่อเด็กต้องเข้าสังคมในกลุ่มเพื่อน อย่างไรก็ตาม
เด็กวัยนี้สามารถสร้างความรักและความผูกพันกับบุคคลอื่นได้ เช่น เพื่อนสนิท
ผู้เลี้ยงดู เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ สำหรับลักษณะอารมณ์เด่น ๆ
ที่มักเกิดขึ้นในเด็กวัยนี้คือ
- อารมณ์โกรธ เด็กวัยนี้จะโกรธง่ายจากการต้องการเป็นตัวของตัวเอง
บางครั้งอาจโกรธตัวเองหรือโกรธบุคคลที่เกี่ยวข้อง
อารมณ์โกรธเกิดเมื่อเด็กไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ
แสดงออกโดยการร้องไห้ดิ้นกับพื้นเสียงดัง ทิ้งตัวลงนอน กรี๊ด ทุบตีสิ่งของต่าง ๆ
ทำร้ายตัวเอง เป็นต้น
- อารมณ์รัก เด็กวัยนี้จะรักบุคคลที่ให้การตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ
แสดงอารมณ์รักอย่างเปิดเผย เช่น การกอดจูบบุคคลหรือสิ่งของที่รัก
- อารมณ์กลัว อารมณ์กลัวเกิดจากการได้พบสิ่งแปลกใหม่
หรือกลัวในสิ่งที่จินตนาการไปเอง เช่น กลัวความมืด กลัวผี
และมักเลียนแบบความกลัวจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด จะแสดงออกโดยการหลบซ่อน วิ่งหนี
วิ่งเข้าหาผู้ใหญ่
และจะค่อยลดลงหากได้รับการอธิบายและให้เด็กเกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งนั้น ๆ
- อารมณ์อยากรู้อยากเห็น วัยนี้จะเป็นวัยช่างซักถาม
เด็กจะสงสัยทุกเรื่องและถามได้ตลอดเวลา ไม่สิ้นสุด จะตั้งคำถามมากจนตอบไม่หมด
หากเด็กไม่ได้รับการตอบสนองที่ถูกต้องจะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นลดลงน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- อารมณ์อิจฉาริษยา มักจะเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าตนด้อยกว่าผู้อื่น
หรือกำลังสูญเสียความสนใจที่ตนเคยได้รับถูกแบ่งปันให้บุคคลอื่น เช่น การมีน้องใหม่
อิจฉาพี่น้องคนอื่น มักแสดงออกคล้ายกับอารมณ์โกรธ
หรืออาจแสดงภาวะถดถอยกลับไปสู่ความเป็นทารกอีกครั้ง เช่น ปัสสาวะรดที่นอนบ่อย
การดูดมือ ดื้อดึง ร้องไห้ง่าย งอแง เป็นต้น
- อารมณ์ร่าเริง ดีใจหรือสนุกสนาน อารมณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเด็กได้รับการตอบสนองตามที่ตนต้องการทันเวลา สม่ำเสมอ หรือประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แสดงออกด้วยการหัวเราะ ส่งเสียงดัง ยิ้ม ปรบมือ กระโดดโลดเต้น เป็นต้น
พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่
และมีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้สึกมั่นคงของเด็กต่อไป
และความรู้สึกที่มั่นคงทางอารมณ์จะช่วยพัฒนาให้เด็กมีการพัฒนาความเจริญงอกงามด้านจิตใจ
และสามารถเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ด้วยความเต็มใจและมั่นใจยิ่งขึ้น
พัฒนาการทางสังคม
พัฒนาการทางสังคมของวัยเด็กตอนต้นจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ชัดเจน
เด็กจะชอบการเข้าสังคม การพบปะพูดคุยกับผู้คน การมีเพื่อน
การเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ
เด็กจะมีความคิดและการเล่นที่อิสระ ไม่ชอบกฎเกณฑ์
ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษากฎเกณฑ์ของกลุ่มเพื่อนได้นาน จะเป็นลักษณะต่างคนต่างเล่น
แต่จะเล่นอยู่ในบริเวณเดียวกัน ต่อมาถึงจะพัฒนาการเล่นที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน
โดยสามารถเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ
ชอบเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนบ่อยขึ้น เป็นสมาชิกในกลุ่มเพื่อนได้
โดยพยายามปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มซึ่งอาจแสดงออกโดยการแบ่งปันสิ่งของให้กับผู้อื่น
ให้ความร่วมมือ ยอมรับฟัง แสดงออกถึงความเป็นผู้นำ ชอบเล่นบทบาทสมมติ เป็นพ่อ-แม่
คุณครูนักเรียน ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างเพศ
พยายามช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลืองานบ้าน เช่น ซักผ้า เก็บของ ล้างจาน ปิด-เปิดไฟ
พัดลม โทรทัศน์ได้จากการสังเกตผู้ใหญ่และลองกระทำเอง
นอกจากนี้เด็กวัยนี้จะเรียนรู้การเข้าสังคมในกลุ่มที่มีอายุต่าง ๆ กัน
รู้จักปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งวัยเดียวกันและวัยต่างกัน
เรียนรู้มารยาทการไหว้ทักทาย การพูดคุย
เด็กจะพยายามเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ตลอดจนเรียนรู้ที่จะระมัดระวังคนแปลกหน้า อย่างไรก็ตาม
การปรับตัวของเด็กจะเป็นไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเลี้ยงดูที่เด็กได้รับจากครอบครัว
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีอิสระจะมีความเชื่อมั่นในตนเองมากกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบเข้มงวดตลอดเวลา
นอกจากนี้สัมพันธภาพในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
เด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะมีความรู้สึกกล้าและมั่นใจในการเข้าสังคมนอกบ้านมากกว่าเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่มีปัญหาด้านสัมพันธภาพ
พัฒนาการทางสติปัญญา
วัยนี้เป็นวัยที่ชอบแก้ปัญหาตามความคิดและวิธีการของตนเอง ชอบอิสระ
แสวงหาวิธีการต่าง ๆ จากการทดลองปฏิบัติผิดถูก การซักถาม การเปรียบเทียบ การคิด
การเจริญงอกงามทางสติปัญญาสามารถสังเกตได้จากลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกทางการเล่น
การสามารถจำสิ่งของหรือบุคคลต่าง ๆ อย่างถูกต้อง สามารถบอกความเหมือน ความต่าง
มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก การนำเอาสิ่งที่มีอยู่มาสัมพันธ์กัน
ประกอบกับเด็กวัยนี้สามารถใช้ภาษาได้ดีขึ้น เข้าใจภาษา ความหมายของคำใหม่ ๆ
อ่านและเขียนได้ดีขึ้น
การส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เหมาะสมจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่จะช่วยให้เด็กมีวิธีคิด
การเรียนรู้ที่เหมาะสม และก่อให้เกิดทางเลือกและวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อพัฒนาการในวัยต่อไป
สรุป
วัยเด็กตอนต้นหรือวัยก่อนเรียน เป็นวัยที่มีพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ
ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบุคลิกภาพซึ่งจะเด่นชัดที่สุด
กล่าวคือเด็กวัยนี้จะมีความต้องการเป็นตัวของตัวเองสูง
ชอบช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ขณะเดียวกันเด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้ในการมีเหตุผล
และมีความสามารถในการคิดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้น
การเลี้ยงดูที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนี้จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและมีวุฒิภาวะที่เหมาะสมต่อไป
ความหมายของพัฒนาการ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการ (Basic Forces in Human
Development)
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของมนุษย์
โครงสร้างบุคลิกภาพ (The personality structure)
ทฤษฎี Psychosocial developmental stage ของอิริคสัน
ทฤษฎีพัฒนาการทางความคิด (Cognitive Theories) ของเพียเจท์
ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก
จิตวิทยาพัฒนาการวัยก่อนคลอด (Prenatal Development)
จิตวิทยาพัฒนาการวัยทารก (Infancy and Babyhood)
จิตวิทยาพัฒนาการวัยทารกตอนปลาย
จิตวิทยาพัฒนาการวัยเด็กตอนต้น (Early Childhood)
จิตวิทยาพัฒนาการวัยเด็กตอนปลาย (Late Childhood)