สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์

ความขัดแย้ง

         ความขัดแย้ง หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ที่มีลักษณะของความไม่เป็นมิตรหรือตรงกันข้ามหรือไม่ลงรอยกันหรือความไม่สอดคล้องกัน ลักษณะของความไม่ลงรอยกันหรือไม่สอดคล้องกันนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ หลายประเด็น เช่น เป้าหมาย ความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก ค่านิยม ความสนใจ ความสัมพันธ์ เป็นต้น

ลักษณะของความขัดแย้ง
ลักษณะของความขัดแย้ง อาจจะแสดงออกมาหรือมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. จะมีบุคคลหรือฝ่ายอย่างน้อยที่สุด 2 ฝ่าย หรือบุคคล 2 บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างต่อกัน
  2. แต่ละบุคคลหรือแต่ละฝ่าย จะมีความเชื่อและค่านิยมเฉพาะ ซึ่งแต่ละบุคคลหรือสมาชิกในแต่ละฝ่ายตระหนักและมองเห็นในความเชื่อและค่านิยมนั้น
  3. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละฝ่าย ซึ่งจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการข่มขู่ การลดพลัง การกดดันฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ
  4. แต่ละบุคคลหรือแต่ละฝ่าย เผชิญหน้ากันหรือแสดงปฏิกิริยาในลักษณะตรงข้ามกันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
  5. แต่ละบุคคลหรือแต่ละฝ่ายจะแสดงปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดความเหนือกว่าทางด้านอำนาจต่ออีกฝ่ายหนึ่ง

จากลักษณะของความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น จะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล ซึ่งนอกจากจะเกิดระหว่างบุคคลหรือกลุ่มหรือฝ่ายแล้ว ยังเกิดขึ้นในตัวบุคคลด้วย ตัวอย่างเช่น บุคคลคนหนึ่งอาจจะมีความคิดที่ขัดแย้ง เช่น นักเรียนอาจจะชอบเพื่อนในห้องชื่อเอ แต่เออาจจะรักใคร่ชอบพอสนิทสนมกับบี ซึ่งนักเรียนไม่ชอบบี ความรู้สึกขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน ความยุ่งยากในการตัดสินใจก็จะเกิดขึ้นว่าควรจะเลิกคบกับเอหรือไม่ เป็นต้น

สาเหตุหรือที่มาของความขัดแย้ง
ความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือระหว่างกลุ่มเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหรือแหล่งต่างๆ ดังนี้ มนุษย์สัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้

  1. ความไม่เข้าใจกัน
  2. ความสัมพันธ์ที่เพิกเฉยและไม่เกื้อกูลกัน
  3. ความล้มเหลวของการสื่อความหมายอย่างเปิดเผยและซื่อตรง
  4. บรรยากาศของการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความกดดัน และการแข่งขัน
  5. การับรู้ของบุคคลที่อยู่ในสภาวการณ์ของความขัดแย้งที่มีผลต่อบุคคลอื่น ในสภาวการณ์นั้น ซึ่งเป็นไปในทางส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้ง
  6. การแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลที่มีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตอบแทนอื่นๆ สถานภาพ ความรับผิดชอบ และอำนาจ
  7. องค์ประกอบส่วนบุคคล ความขัดแย้งอาจเกิดจากบุคลิกภาพส่วนบุคคล เช่น การมีสัณชาตญาณของความรุนแรง ก้าวร้าว ต้องการการกแข่งขัน ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีมากน้อยแตกต่างกัน

ผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้ง

ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับแนวคิดและความเชื่อของแต่ละบุคคล บางคนมองความขัดแย้งเป็นสิ่งไม่ดี เป็นของคู่กับความรุนแรง สำหรับกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในปัจจุบัน มีแนวความคิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ความขัดแย้งบางอย่างเป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยกระตุ้นให้คนพยายามแก้ปัญหา โดยเปลี่ยนความขัดแย้งให้มีประโยชน์และสร้างสรรค์

ในกรณีที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงระหว่างสมาชิกในกลุ่มที่มีความขัดแย้งกัน อาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต รวมไปถึงบุคคลอื่นอาจได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำนั้นๆ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มนี้แต่อย่างใด จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอาจจะขยายวงกว้างกลายเป็นความขัดแย้งของคนกลุ่มใหญ่ จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งปัญหาความรุนแรงดังกล่าวจะมีผลต่อคุณภาพการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชนกลุ่มนี้ตามไปด้วย เกิดภาพพจน์ทางด้านลบของสมาชิกในกลุ่มและของสถาบันทางการศึกษาที่กลุ่มสังกัดอยู่ รวมถึงความวิตกกังวล ความกลัวของประชาชนในสังคมที่มีต่อกลุ่มเหล่านี้

แนวทางในการแก้ปัญหาหรือลดความขัดแย้ง
การแก้ปัญหาความขัดแย้ง หมายถึง การลดหรือขจัดความขัดแย้ง เพื่อทำให้พฤติกรรมของการขัดแย้งหายไปหรือสิ้นสุดลง ซึ่งปัญหาด้านความขัดแย้งของวัยรุ่น มีแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้

  1. ให้คำแนะนำแก่วัยรุ่นที่มีปัญหา โดยหาบุคลากรที่มีประสบการณ์ เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของวัยรุ่นมาช่วยแก้ปัญหา
  2. ครู อาจารย์ และผู้ปกครองต้องเข้าใจปัญหาความขัดแย้งและหาแนวทางแก้ไข เช่น การแก้ปัญหาโดยการใช้แนวคิดเชิงบวก การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตลอดจนการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง
  3. วัยรุ่นที่มีอารมณ์รุนแรง สามารถใช้หลักธรรมเพื่อช่วยระงับอารมณ์ได้ เช่น การฝึกวิปัสสนาเจริญสติปัฏฐานหรือฝึกอานาปานสติ เป็นต้น
  4. จัดให้มีโครงการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานศึกษา
  5. มีวิธีการหรือกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งโดยใช้หลักการประนีประนอม

  ทักษะการสื่อสารกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง อาจเป็นเพราะทักษะการสื่อสารไม่ดีพอ ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

การสื่อสาร หมายถึง การนำข่าวสารส่งไปยังที่หมายโดยการพูดหรือการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นกุญแจสำคัญในความสำเร็จของความสัมพันธ์ ซึ่งการสื่อสารที่ดีจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักเรียนหรือเยาวชนในชุมชนลงได้

กระบวนการสื่อสาร
มีกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการของการสื่อสาร ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ผู้ส่งข่าวสาร สื่อที่ใช้ส่งข่าวสาร และผู้รับข่าวสาร

ทักษะการสื่อสารเพื่อลดและแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดและแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งควรเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร ดังนี้

  1. การเป็นผู้ส่งข่าวสารที่ดี ต้องเป็นผู้ที่ส่งและรับข่าวสารได้ดี มีทักษะพูดที่ดี เช่น พูดด้วยระดับน้ำเสียงที่เหมาะสม ไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป ชัดถ้อยชัดคำ พูดตรงประเด็น ขณะพูดควรหันหน้าให้ผู้ฟัง เป็นต้น
  2. การรับข่าวสารและการเป็นผู้ฟังที่ดี ควรทักษะการฟังที่ดี เช่น ฟังอย่างตั้งใจ และทบทวนสิ่งที่ฟังอย่างมีเหตุผล มีสมาธิในการฟัง เป็นต้น

อ้างอิง
พรสุข หุ่นนิรันดร์ และคณะ. (2552). หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย