สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้
การปฐมพยาบาลผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมี
สารเคมีมีอยู่ทั่วไปรอบๆ
ตัวเรา หลายท่านทราบว่าบางชนิดไม่มีอันตราย (มีอันตรายน้อย)
บางชนิดก็มีอันตรายสูงแม้สัมผัสเพียงเล็กน้อยก็เป็นอันตรายได้แล้ว
ดังนั้นการที่รอบๆ ตัวของเราเต็มไปด้วยสารเคมี
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจำเป็นต้องทราบวิธีการปฐมพยาบาลเกี่ยวกับสารเคมีที่ถูกต้องเพื่อช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ
สารเคมีหกรดผิวหนัง
- พิจารณาว่าสารเกิดปฏิกิริยาเคมีกับน้ำหรือไม่
- กรณีที่สารเกิดปฏิกิริยาเคมีกับน้ำ (เช่น โลหะโซเดียม โลหะโพแทสเซียม กรดกำมะถันเข้มข้น)ใช้ผ้าที่สะอาดเช็ดสารออกจากบริเวณผิวหนัง แล้วรีบล้างออกด้วยน้ำทันที อย่างน้อย 15 นาที
- กรณีที่สารไม่เกิดปฏิกิริยาเคมีกับน้ำ ให้รีบล้างออกด้วยน้ำทันทีอย่างน้อย 15 นาที - กรณีสารหกรดร่างกายบริเวณที่มีเสื้อผ้าปกคลุมให้รีบถอดเสื้อผ้าออก แล้วรีบล้างออก หรืออาบน้ำแล้วแต่ปริมาณสารที่หกรด
- เมื่อล้างออกด้วยน้ำแล้ว
- หากเป็นแผลที่เกิดจากด่างหกรด ให้ใช้สารละลายกรดน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 1% (1% acetic acid) ชุบสำลีทำความสะอาดแผลอีกครั้ง
- หากเป็นแผลที่เกิดจากกรดหกรด ให้ใช้สารละลายโซเดียมคาร์บอเนตเจือจาง ชุบสำลีทำความสะอาดแผลอีกครั้ง - หลังจากทำความสะอาดแผลแล้ว
- กรณีทั่วไปให้ทาแผลด้วย magnesia-glycerol paste (แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide) 200 กรัม ผสมกับกลีเซอรีน (glycerine) 240 ลูกบาศก์เซนติเมตร)
- กรณีถูกกรดไฮโดรฟลูออริค (hydrofluoric acid) ให้ทาแผลด้วย magnesium oxide 90 กรัม ผสมกับ heavy mineral oil 120 ลูกบาศก์เซนติเมตร และวาสลีนขาว (white Vaseline) 330 ลูกบาศก์เซนติเมตร
- กรณีถูกฟีนอล (phenol) ให้ทาแผลด้วยกลีเซอรีน (glycerine) อิ่มตัวด้วยโบรมีน (bromine)
- กรณีถูกฟอสฟอรัสให้ใช้สำลีชุบสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต (copper sulfate) ความเข้มข้น 3% ปิดแผลไว้ประมาณ 5 นาที แล้วล้างด้วยน้ำ
คำแนะนำในการป้องกันอันตราย
การแก้ไขเมื่อสารหกรดแล้วอาจสายเกินแก้
วิธีป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า สิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี
และผู้ดูแลสถานที่คนควรปฏิบัติมีดังนี้
- จัดหาฝักบัวนิรภัย (safety shower) ไว้ประจำห้องหรืออาคารที่มีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทสารเคมี
- หยุดปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อสารหกรดทันทีเมื่อน้ำประปาไม่ไหล
- สวมเสื้อกาวน์ทับเสื้อผ้าที่สวมใส่ปกติทุกครั้งที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี (เสื้อกาวน์ควรออกแบบให้ถอดทิ้งได้ง่ายเมื่อมีอุบัติเหตุ เช่น ใช้กระดุมน้อยเม็ด และ ใช้กระดุมเม็ดใหญ่ เป็นต้น
สารเคมีเข้าตา
รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด โดยพยายามลืมตาในน้ำและเปิดเปลือกตาออก
อย่างน้อย 15 นาที เพื่อล้างสารเคมีที่ค้างอยู่ใต้เปลือกตาออกให้หมด
จากนั้นจึงไปพบแพทย์
คำแนะนำในการป้องกันอันตราย
การแก้ไขเมื่อสารเข้าตาแล้วอาจสายเกินแก้
วิธีป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
สิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกคนควรปฏิบัติมีดังนี้
- ผู้ที่สายตาสั้นหรือยาว ไม่ควรใช้ contact lens ขณะปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี
- ควรสามแว่นป้องกันตาขณะปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี
- ปฏิกิริยาเคมีที่รุนแรงควรทำในตู้ดูดควัน และต้องสังเกตปฏิกิริยาผ่านกระจกนิรภัย
การสูดแก๊สหรือไอพิษ
- หากรู้สึกผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายในขณะปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ แสบตา แสบจมูก หรือได้กลิ่นผิดปกติ เป็นต้น ให้รีบหนีออกจากบริเวณนั้นไปสูดอากาศในที่โล่ง
- ควรเปิดประตูหน้าต่างเพื่อทำให้ความเข้มข้นของแก๊สเจือจางลง หากแก๊สที่รั่วไหลเป็นแก๊สไวไฟ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิด ประกายไฟ เช่น ปิดสวิทช์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
- การช่วยเหลือผู้ป่วยหมดสติ ผู้ช่วยเหลือควรสวมหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ หรือสวมเครื่องช่วยหายใจ จากนั้นจึงรีบนำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่งแจ้ง
- แก๊สบางชนิดสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (carbon monoxide), ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide), ไนตริกออกไซด์ (nitric oxide), ฟอสจีน (phosgene) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulfur dioxide) เป็นต้น การเข้าไปในบริเวณที่มีแก๊สเหล่านี้นอกจากต้องสวมหน้ากากและเครื่องช่วยหายใจแล้ว จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิดด้วย
- ผู้ป่วยที่ได้รับพิษไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) อาจช่วยเหลือโดยให้ดมเอมิลไนไตร (amyl nitrite) หรือแอมโมเนีย (ammonia) ทุก 5 นาที ติดต่อประมาณ 20 นาที หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้รีบผายปอด
การกลืนกินสารเคมี
อุบัติเหตุจากการกลืนกินสารเคมีไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
หากผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม เช่น
ไม่ดูดไปเปตด้วยปาก ไม่ดูดท่อหรือสายยางด้วยปาก
เมื่อต้องการถ่ายเทสารเคมีด้วยวิธีกาลักน้ำ (syphon) เป็นต้น
หลักในการปฐมพยาบาลโดยทั่วไปมีดังนี้
- พยายามทำให้อาเจียนโดยการใช้นิ้วหรือวัสดุไม่มีคมกดโคนลิ้น ยกเว้นการกลืนสารกัดกร่อนรุนแรงห้ามทำให้เกิดการอาเจียนโดยเด็ดขาด
- หากผู้ป่วยหมดสติ การทำให้อาเจียนจะต้องให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ศีรษะต่ำกว่าสะโพกเพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอด
- พยายามดื่มน้ำมากๆ
- ดื่มยาแก้พิษ ยาแก้พิษที่ใช้ได้ทั่วไปประกอบด้วยถ่านกำมัน (activated charcoal) 2 ส่วน ผสมกับแมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide) 1 ส่วน และกรดแทนนิค (tannic acid) 1 ส่วน ละลายส่วนผสมนี้ 15 กรัมในน้ำ 125 มิลลิลิตร
โดยสรุปคือหากในหน่วยงานของท่านจำเป็นต้องใช้สารเคมีอันตรายชนิดนั้นๆ
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของพื้นที่และ/หรืออุปกรณ์ต่างๆ (เช่น
การติดตั้งตู้ดูดควัน การทำ Secondary containment การติดตั้งเครื่องจับแก๊สรั่ว
เป็นต้น) แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของท่านจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์
และ/หรือเวชภัณฑ์ยาฉุกเฉินสำหรับใช้ปฐมพยาบาลให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีในพื้นที่ที่มีสารเคมีใช้งานด้วย
เช่น ชุดปฐมพยาบาล (first aid kids) ฝักบัวและอ่างล้างตาฉุกเฉิน (safety shower and
eye wash)
ขั้นตอนปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสารเคมี โดยชนิดของอุปกรณ์
และ/หรือเวชภัณฑ์ยาที่กล่าวมานี้นั้น
ผู้จัดเตรียมควรศึกษาคำแนะนำด้านเวชภัณฑ์ที่ให้ไว้ในเอกสาร
ข้อมูลเคมีภัณฑ์เพื่อความปลอดภัย (หรือเรียกสั้นๆ ว่า MSDS)
ก่อนสั่งซื้อเข้ามาใช้ด้วย รวมถึงเอกสาร MSDS
ดังกล่าวก็ควรมีไว้ประจำห้องปฐมพยาบาลด้วย นอกจากนี้
ควรจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีด้วย
ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดความรุนแรงให้ผู้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บให้ได้รับอันตรายน้อยที่สุดจากสารเคมีที่มีใช้อยู่ภายในหน่วยงานได้
สวัสดีค่ะ.
ที่มา : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์