สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
การศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของผู้คนในดินแดนต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เริ่มขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งใช้วิธีการค้นคว้า คือ เดินทางไปสำรวจด้วยตนเอง สอบสวนค้นคว้าทางภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและอื่น ๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานเขียนหรือรายงานการสำรวจ และอีกวิธีคือ สืบค้นนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานค้นคว้าของชาวต่างประเทศที่เรียบเรียงไว้ ดังนั้นวิธีการดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของคนไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายในทัศนะเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทย ตามที่กาญจนา ละอองศรี ได้นำเสนอสมมุติฐานเกี่ยวกับชนชาติไท (ไทย) ไว้ในหนังสือชื่อ กว่าจะเป็น คนไทย (2531) ดังนี้
- สมมุติฐานที่ 1 เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไท (ไทย) อยู่บริเวณมณฑลเสฉวน
ตอนกลางของประเทศจีน แล้วอพยพลงมาทางตอนใต้ เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิ
ผู้ที่มีความเชื่อในกลุ่มนี้ คือ เตเรียน เดอลาคูเปอรี สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน และหลวงวิจิตรวาทการ
- สมมุติฐานที่ 2 เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเขาอัลไต
ทางตอนเหนือของประเทศจีน อพยพลงเข้าสู่ตอนกลางของประเทศจีนและเข้าสู่สุวรรณภูมิ
ผู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ คือ หมอสอนศาสนาอเมริกันชื่อวิลเลียม คลิพตัน
ด็อดด์ ได้เดินทางไปสำรวจโดยเริ่มจากเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน
กวางสี กวางตุ้ง ผลจากการสำรวจอยู่ในงานเขียนเรื่อง เผ่าไทย: พี่ใหญ่ของจีน
(The Thai Race: The Elder Brother of Chinese)
งานเขียนนี้สรุปว่าไทยสืบเชื้อสายมาจากมองโกล
นักวิชาการไทยที่ได้สืบทอดแนวความคิดมาเขียนเพิ่มเติม คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า
กาญจนนาคพันธ์) ได้เขียนหนังสือชื่อ หลักไทย
ซึ่งเป็นวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภาในปี พ.ศ.2471
โดยสรุปว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต
แนวความคิดนี้นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันไม่ยอมรับเพราะไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน
- สมมุติฐานที่ 3
เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย ผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ คือ นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ
อาร์ชิบัล อาร์ โคลกุน (Archibal R.Colauhoun)
ได้เดินทางสำรวจจากกวางตุ้งไปยังมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือชื่อ ไครซ์
(Chryse) ได้พบว่ามีคนเชื้อชาติไทยได้อาศัยอยู่บริเวณนี้ ต่อมา อี เอช ปากเกอร์
(E.H.Parker) เขียนบทความเรื่อง น่านเจ้า สนับสนุนว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย
นักประวัติศาสตร์ไทยที่เชื่อว่าไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน คือ
ศาสตราจารย์ขจร สุขพาณิช และจิตร ภูมิศักดิ์
- สมมุติฐานที่ 4 เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คืออยู่บริเวณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหรือในอินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย โดยศึกษาทางการแพทย์ด้านความถี่ของยีน กลุ่มเลือดและฮีโมโกลบิน คือ นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบูรณ์ นายแพทย์ประเวศ วะสี และ ผศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณควบคู่ไปกับการศึกษาโดยใช้หลักพันธุศาสตร์ตรวจสอบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า บรรพบุรุษของคนไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรมกับกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้นยังพบว่าวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง
เช่นการใช้กลองมโหระทึกในพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรกรรมในกลุ่มชาวจ้วงและกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ
โบราณวัตถุที่เป็นสำริด เหล็ก ประเพณีฝังศพครั้งที่สอง
ระบบความเชื่อเกี่ยวกับขอฝนและบูชาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นกบ วัฒนธรรมหม้อสามขา
(สุจิตต์ วงศ์เทศ, 2550)
นอกจากความคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้างต้นแล้วยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับเส้นทางการเคลื่อนย้ายของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับการเคลื่อนไหวทางทะเล
ทางบก ว่าถิ่นฐานของชนชาติไท (ไทย)
กระจายอยู่ตามลุ่มน้ำสำคัญทางตอนใต้ของจีนหรือทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายไปมาผสมกลมกลืนกับกลุ่มชนพื้นเมือง
(สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2529) โดยครั้งแรกในการเคลื่อนย้ายเป็นการกระจายตามแนว ตะวันออก
ตะวันตก (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2536) เรียกว่า ไทยน้อย กับ ไทยใหญ่
โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแกนกลาง พวกไทยน้อยอยู่ทางตะวันออก ส่วนพวกไทยใหญ่อยู่ทางตะวันตก
ต่อจากนั้นจึงขยายตัวลงตามแนว เหนือ ใต้ กลายเป็นพวก ไทยสยาม
มีการผสมกลมกลืนกับบรรดาชนชาติและชนเผ่าอื่น ๆ
จนเกิดเป็นรัฐและอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลอินเดียในเวลาต่อมา
เหตุการณ์การเคลื่อนย้ายข้างต้นนั้นทั้งศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ
กล่าวไว้ว่าเกิดขึ้นประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว (ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ,
2534)
สมมุติฐานที่ 5 เชื่อว่าคนไทยอยู่ที่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน
สมมุติฐานนี้มีความต่อเนื่องจากสมมุติฐานที่ 4 ข้างต้น
กล่าวคือเป็นการศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับหลักฐานทางวัฒนธรรมอื่นๆ
นักคิดในกลุ่มนี้ได้แก่ ควอริชท์ เวลส์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน
อยู่ดี หลักฐานทางโบราณคดีที่นำมาใช้ในการศึกษาได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบ ณ
อำเภอบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
ด้วยวิธีการเปรียบเทียบกับโครงกระดูกของคนไทยในปัจจุบัน (ปี 2525)
สรุปว่ามีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันทั้งในเรื่องความสูง พยาธิสภาพ
ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งฟัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสมมุติฐานเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไท (ไทย)
ก็ยังไม่อาจสรุปได้จำต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไปทั้งนี้เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนไท
(ไทย) บนผืนแผ่นดินไทยด้วยกันเอง ทั้งนี้เป็นเพราะคำว่า ไทย
นั้นเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้เปลี่ยนชื่อ ประเทศสยาม เป็น ประเทศไทย
พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศขึ้นมาใหม่ โดยให้ความสำคัญเฉพาะ ชนชาติไทย
เป็นหลัก แต่ละเลยความสำคัญของ ดินแดน และ ผู้คน
ซึ่งประกอบด้วยชาวพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่น ๆ
ที่เข้ามาผสมกลมกลืนจนกลายเป็น ชาวสยาม หรือ คนไทย สืบมาถึงปัจจุบัน ฉะนั้น
บรรพชนของ คนไทย ทุกวันนี้คือ ชาวสยาม ที่ประกอบไปด้วยเม็ง-มอญ ขอม-เขมร
ลวะ-ละว้า ข่า-ข้อย ลาวและ แขก อย่างมาเลย์-จามรวมทั้งเจ๊ก-จีน ฯลฯ
คนพวกนี้เกือบทั้งหมดมีถิ่นฐานเป็นคนพื้นเมืองอยู่ในดินแดนประเทศไทยนี้มาแต่ดั้งเดิม
ส่วนน้อยมาจากที่อื่น แต่ก็อยู่ที่นี่มาช้านาน แล้ว
เพราะฉะนั้นบรรพชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากที่ไหนแต่อยู่ที่นี่
แม้ว่าวันนี้จะมีชนชาติไทยกระจายอยู่นอกประเทศแต่พวกนั้นก็ไม่ได้อพยพหลบหนีการรุกรานมาจากไหน
ล้วนมีถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่ดั้งเดิมอย่างน้อยเป็นเวลากว่า
3,000 ปีมาแล้ว
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง