สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
ลักษณะของปัญหาสังคม
จากความหมายข้างต้นนั้น พอสรุปลักษณะปัญหาสังคมได้ดังนี้ คือ
- เป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบถึงบุคคลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร
ตัวอย่าง เช่น ในกรณีที่วัยรุ่นซ้อมดนตรีเป็นประจำทุกวัน
ถ้าการซ้อมดนตรีนั้นกระทำในห้องที่มิดชิด ไม่มีเสียงดังออกนอกห้อง
ปัญหาสังคมยังไม่เกิด แต่ถ้าการซ้อมดนตรีนั้นกระทำกลางแจ้งในเวลากลางคืน
โดยใช้เครื่องเสียงที่ดังมาก และซ้อมกันเป็นประจำทุกคืน
จนดึกกระทั่งชาวบ้านเกิดความรำคาญนอนไม่หลับ
เด็กเล็กๆต้องผวาตื่นด้วยความกลัวเสียงที่ดังชาวบ้านทนไม่ได้มีการร้องเรียนและวิพากษ์วิจารณ์
หรือบอกผู้ปกครองของวัยรุ่นดังกล่าว ดังนี้ถือได้ว่า ปัญหาสังคม เกิดขึ้นแล้ว
- เป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ในบางสถานการณ์นั้น
การใช้แรงงานเด็กและสตรีสามารถยอมรับได้ก็ถือว่ายังไม่เกิดปัญหาสังคม
แต่ถ้าคนจำนวนมากของสังคมพิจารณาเห็นว่าการใช้สตรีที่ตั้งครรภ์ทำงานหนัก เช่น
ให้ยกของหนักเกินไป หรือแม้สตรีมีครรภ์จะขออนุญาตลาไปพบหมอก็ถูกหักเงินเดือน
หรือเมื่อเวลาลาคลอดก็ถูกหักเงินเดือนจึงมีการทักท้วงขึ้นมา หรือมีการประท้วง
หรือเรียกร้องให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวของโรงงานทุกแห่ง
ดังนี้การใช้แรงงานสตรีในลักษณะดังกล่าวก็กลายเป็น ปัญหาสังคม
- เป็นความรู้สึกว่าควรมีการแก้ไขปรับปรุงกระทำการให้ถูกต้อง ในสมัยโบราณนั้น
การที่ราษฎรประสบภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วมในบางปีทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารได้รับความเสียหาย
มักถือเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่มีใครแก้ไขได้
แต่เมื่อมนุษย์สามารถใช้สติปัญญาของตนเองแก้ไขปรับปรุงหรือควบคุมปัญหาเหล่านั้นได้
เรื่องดินฟ้าอากาศจึงกลายเป็นปัญหาสังคม
เพราะการป้องกันอุทกภัยด้วยการสร้างเขื่อน ก็เกิดปัญหาว่าจะสร้างที่ไหน
ควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง หรือสร้างแล้วใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จึงกลายเป็นปัญหาสังคม
- เป็นการกระทำร่วมกันทางสังคม เป็นสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ในสังคม มีความเกี่ยวข้องกันโดยการแสดงความคิดเห็นและมีการเสนอแนะวิธีการแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ ให้ดีขึ้น เช่น ปั๊มน้ำมันมีการโกงปริมาณน้ำมัน แค่นี้ยังไม่อาจเรียกว่าปัญหาสังคม เพราะรัฐมีหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคนส่วนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น นำเรื่องนี้ไปวิพากษ์วิจารณ์ทางวิทยุกระจายเสียง เผยแพร่ในรายการโทรทัศน์หรือเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชนต่างๆ ว่าปัญหานี้ประชาชนเดือดร้อนต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนก็กลายเป็น ปัญหาสังคม
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง