สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางสังคมในเมือง
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางสังคมในเมืองมองได้หลายแนวทางแต่ถ้าพิจารณาจากพัฒนาการของสังคมไทยในประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างจากคำว่า
นครหรือมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่เติบโตในสังคมยุคอุตสาหกรรม
พอถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
เราจะพบว่าปรากฏการณ์เมืองหรือปรากฏการณ์นครขนาดใหญ่ขยายตัวจากโลกตะวันตกไปทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่ายิ่งในเอเชีย
ในโลกตะวันออกเราจะพบว่ามันมีการเติบโตของเมืองหรือนครขนาดใหญ่
เกิดแพร่หลายทั่วไปหมด นครที่มีคนอยู่ 10
ล้านคนสมัยก่อนมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลกนี้
ปัจจุบันนี้กลับมีเพิ่มมากขึ้นในหลายต่อหลายประเทศด้วยกันในเอเชีย
ซึ่งทำให้หมดประเทศชนบทลงไป สำหรับกรณีประเทศไทยอาจช้าหน่อย
คนไทยเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้นๆ
ในอัตราที่อาจจะไม่รวดเร็วเท่าบางประเทศแต่ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนในเมืองมากว่าคนในชนบทอย่างที่เคยเป็นมา
ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนจากประเทศชนบทมาเป็นประเทศเมืองมากขึ้นตามลำดับ
ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นทั่วไปหมดในเอเชีย
การแบ่งข้อแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทโดยเด็ดขาดเป็นเรื่องยาก
ในสังคมไทยแม้แต่การให้คำจำกัดความของคำว่า ชุมชนเมือง และ ชุมชนชนบท
เพราะโดยสภาพความเป็นจริงในกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรุงเทพฯ
ก็เป็นที่รวมของคนในชนบทที่หลั่งไหลเข้ามาทำมาหากิน
และนำวัฒนธรรมเข้าไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ด้วย จึงเกิด วัฒนธรรมตกค้าง ในหลายรูปแบบ
เช่น วัฒนธรรมสลัม วัฒนธรรมของชุมชนมุสลิม หรือเผ่าพันธุ์ต่างๆ
ดังนั้นการให้ความหมายของคำว่า ชุมชน ตามแบบตะวันตกที่ว่า หมายถึง
ชุมชนที่คนมีความสัมพันธ์กันโดยตรง ตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์เดียวกัน
และมีกิจกรรมร่วมกันอย่าง ในแง่ของอุดมการณ์ คือมีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน
ในระดับหนึ่ง ลักษณะชุมชนแบบนี้จะมองไม่เห็นในกรุงเทพฯ เพราะคนใน กรุงเทพฯ
ไม่อาจเป็นอย่างคำจำกัดความดังกล่าว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเมืองหรือชนบท
ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นการกล่าวในภาพรวมๆ โดยพิจารณา
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น กับขุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ในด้านสังคมวัฒนธรรม
ซึ่งบางแห่งมีลักษณะเป็นชุมชนกึ่งเมือง มิได้เป็นสังคมเมืองอย่างตะวันตก
- การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการสังคมเมืองในภาคเหนือ
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในล้านนาเกิดขึ้นอย่างมากหลังจากที่ความเจริญทางวัตถุในทุกด้านได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สังคม ในชนบทเกิดความเปลี่ยนแปลง พื้นที่การเพราะปลูก
ได้ลดลงกลับกลายเป็นพื้นที่การอุตสาหกรรม
ที่อยู่อาศัยรวมถึงการพัฒนาที่ดินเพื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบของรีสอร์ท
และสนามกอล์ฟ รูปทรงของอาคารบ้านเรือน ที่เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของตะวันตก
ซึ่งเข้ามาพร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่อชุมชน
ก่อให้เกิดลักษณะ ความเป็นอยู่แบบชุมชนเมือง
ชาวบ้านเริ่มทิ้งเรือกสวนไร่นาเพื่อทำงานในโรงงานหรือสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งบริการ
สภาพภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์ของภาคเหนือโดยเฉพาะบนเทือกเขาสูงอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยปัญหาบุกรุกแล้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา การตักไม้ทำลายป่าของผู้มีอิทธิพล และการเข้าหักล้างถางพงแสวงหาที่ทำกินของชาวบ้านอันสืบเนื่องจากภาวการณ์ขยายตัวของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจึงเกิดสภาพเทือกเขาสูงใหญ่จำนวนมากกลายเป็นเทือกเขาหัวโล้น ป่าไม้ถูกทำลายก่อให้เกิดกระแสน้ำป่าไหลกัดเซาะ หน้าดินอันอุดมพังทลาย ก่อให้เกิดกระแสน้ำป่ากัดเซาะ หน้าดินอันอุดมพังทลาย เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และขาดแคลนน้ำในฤดูร้อน หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้แล้วความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณีย์กิจหลายประการ เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลดีต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่ติดตามเข้ามาทำงานได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย โครงการส่วนพระองค์ เพื่อแก้ปัญหานั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการหลวง โครงการพระราชดำริต่างๆ หรือโครงการเล็กๆ เช่นการให้ทุนการศึกษาแก่โรงเรียนต่างๆ ล้วนแต่เป็นโครงการที่เกิดผลต่อการพัฒนาชนบท การพัฒนาการเกษตร การประมง การเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน การพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการพัฒนาชาวเขาทั้งสิ้น - การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางสังคมเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิตและการบริโภค
การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ ป่าไม้
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านการประกอบอาชีของชาวอีสานอีกด้วย การขยายธุรกิจ
บ้านจัดสรร ทำให้มีการซื้อที่ดินอันเหมาะสมในการทำการเกษตร ไปใช้บ้านจัดสรร
มีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ขุดดินจากไร่นาซึ่งมีดินอันอุดมไปถมพื้นที่ก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร
ทำให้ดินในที่นาสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรที่เหมาะสมลดน้อยลง
- การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางสังคมเมืองในภาคใต้
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน
ซึ่งเป็นยุคสมัยของโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลกระทบไปถึงองค์ประกอบทางด้านวัฒนธรรมของสังคมนั้น
โดยเฉพาะทางด้านทัศนคติความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและการปรับตัว ชาวภาคใต้ก็เช่นกัน
ได้ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในภาคใต้ค่อยๆ
ลดลงตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ชีวิตของคนรุ่นใหม่ แตกต่างไปจากรุ่นบรรพบุรุษ
การยึดเอาการแข่งขันทางเศรษฐกิจทำให้ต้องมีการมุมานะดิ้นรนขวนขวายในการประกอบอาชีพ
การขยายฐานการผลิตทางการเกษตร การประมง และการบริการ
โดยเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อทำรายได้ให้กับครอบครัวและประเทศ
ยิ่งกลับไปมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพธรรมชาติโดยทั่วไปของภาคประกอบกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้านการผลิตมาใช้กับกิจกรรมทุกอย่าง
เช่นในการประมง การเพาะปลุก การทำสวนยาง และการทำนากุ้ง
ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อทรัพย์ยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรสัตว์น้ำ
และความผิดปกติของฤดูกาล ทั้งนี้เนื่องจากการละเลยการเอาใจใส่ ในสิ่งแวดล้อม
ขาดความอาทรต่อระบบนิเวศ หวังกอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์ขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม
ขาดวิญญาณการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะที่ประเทศกำลังประสพความสำเร็จด้านพัฒนาเศรษฐกิจและก้าวไปสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
ปิดซ่อนปัญหาสังคมไว้นานาประการ
- การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมเมืองในภาคกลาง การเปลี่ยนแปลงชุมชนเมืองทางภาคกลาง เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ทั้งนี้เพราะกรุงเทพ เป็นศูนย์กลางทางการปกครองของประเทศ เป็นชุมชนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ดังนั้น ถนนทุกสายจึงมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ การเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ จากเมืองหลวงเป็นเมืองนครกลายเป็นเมืองนครแบบตะวันตกอย่างช้าๆ เมืองกรุงเทพฯได้ปรับตัวเข้ารับวัฒนธรรมตะวันตก อย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังจะเห็นได้จากมีองค์กรบริหารรูปแบบกระทรวง ทบวง กรม แบบ ตะวันตก มีอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมบริเวณถนนราชดำเนิน และนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กรุงเทพฯ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ความเจริญแบบสมัยใหม่มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น
หากแต่ได้กระจายออกไปยังปริมณฑลโดยรอบ นนทบุรีซึ่งแต่เดิมเป็นสวนผลไม้
เริ่มเปลี่ยนเป็นอาคารบ้านเรือนชานเมือง เช่นเดียวกับนครปฐมและปทุมธานี
พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการกลายเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมของชาติ
นอกจากนี้ยังขยายแหล่งอุตสาหกรรมยังขยายตัวไปถึงชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
โดยมีจุดเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าอากาศยานในอนาคตที่หนองงูเห่า
ความเจริญที่รุกเข้าไปในพื้นที่ชนบท
ตามจังหวัดต่างๆยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากขึ้น
นับตั้งแต่การขายที่ดินที่เป็นไร่นา ให้กับนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม
กิจการหมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า
การเปลี่ยนอาชีพทำการเกษตรมาเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาชีพขายบริการต่างๆ
การใช้ชีวิตในสังคมใหม่ที่หารายได้โดยง่าย ไม่ฝืดเคืองดังเช่นการทำการเกษตรในชนบท
ทำให้คนในภูมิภาคต่างๆหลั่งไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งในฤดูแล้ง
ว่างจากการทำนาและการเป็นผู้ขายบริการ ขายแรงงานอย่างถาวร
จนกล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ
เป็นคนที่มาจากชนบทในต่างจังหวัดทั้งสิ้น
กรุงเทพฯจึงเป็นนครที่มีสภาพตกค้างทางวัฒนธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม้ได้
สภาพตกค้างทางวัฒนธรรม ทำให้กรุงเทพเกิดปัญหาต่างๆ
เช่นปัญหาการจราจรแออัดจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้
แม้จะมีการสร้างถนนเพื่อการขนส่งคลื่นมนุษย์ เช่น ทางด่วน ทางใต้ดิน รถไฟลอยฟ้า ฯลฯ
ปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย หรือแม้แต่ปัญหาขยะล้นเมือง
อันเกิดมาจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม
ปัญหาดังกล่าวบางเรื่องเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการใดๆ
ยิ่งไปกว่านั้นสังคมในนครหลวงกรุงเทพฯยังสูญเสียระบบการควบคุมทางสังคม (Social
Control) ตามจารีตประเพณีดั้งเดิมของไทย
ปัญหาที่เกิดขึ้นมีมากมายถึงขั้นไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น
อาชญากรรม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การละเมิดกฎหมาย การค้าประเวณี แก๊งขอทาน
ยาเสพติด ฯลฯ
มองอีกด้านหนึ่ง
ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนในชนบทที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ
ทำให้เกิดลักษณะที่หลากหลาย
เราจะพบวัฒนธรรมคนจนในสลัมหรือแม้แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ใต้สะพานคอนกรีต
กลุ่มชาติพันธ์ทุกเผ่าพันธุ์ของภูมิภาคต่างๆ กลุ่มวัฒนธรรมทางศาสนาและจีน มุสลิม
แขก มอญ ฯลฯ หรือวัฒนธรรมที่อยู่อาศัยแบบชุมชน เช่นวัฒนธรรมผู้อาศัยอาคารชุด
บ้านจัดสรรที่ต่างคนต่างอยู่ไม่รู่จักกันไม่ช่วยเหลือกัน
เอาตัวรอดเมื่อพบปัญหาร่วมกันเช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ โจรผู้ร้ายเข้าลักขโมยทรัพย์สิน
ลักษณะวัฒนธรรมเหล่านี้มีทั่วไปในเมืองที่เปลี่ยนรูปแบบเป็นมหานคร แม้ในเมืองใหญ่ๆ
เช่นนิวยอร์ก และเมืองต่างๆ ในสหรัฐ
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมในชนบท
การเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นเรื่องปกติ วิสัยของสรรพสิ่งที่ไม่อาจลีกเลี่ยงได้
ชุมชนในชนบทของประเทศไทยในแต่ละภาค แต่ละจังหวัดได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ
ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลาปัจจัยดังกล่าวได้แก่ปัจจัยภายนอก
เช่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจระดับโลกที่ส่งผลมาถึงประเทศไทย
นโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย
ที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละฉบับ ส่วนปัจจัยภายในได้แก่
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในกลุ่มคนของชุมชน การปรับตัวของชุมชนต่อกระแสภายนอก
รวมถึงภูมิปัญญาในท้องถิ่นซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลง
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง