สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
สังคมไทยในภาคใต้
สภาพภูมิศาสตร์
ภาคใต้เป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างคาบสมุทร มีที่ราบทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก
และด้านตะวันออก แต่ชุมชนที่เกิดขึ้นมีสภาพแตกต่างกัน ดังที่ ธิดา สาระยา
อธิบายไว้ดังนี้
ภาคใต้ เป็นบริเวณที่อยู่ในเขตคาบสมุทรคือ มีทะเลขนาบทั้งสองด้าน
ด้านตะวันออกเป็นอ่างไทย และทะเลจีน ส่วนด้านตะวันตกเป็นทะเลอันดามัน
และมหาสมุทรอินเดียว
บริเวณที่เป็นภาคใต้นี้นับเนื่องแต่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปทางใต้จดเขตประเทศมาเลเซีย
ลักษณะภูมิประเทศนอกจากจะมีทะเลขนาบทั้งสองด้านแล้ว
ยังมีเทือกเขายาวทอดลงมาแต่ภาคกลาง ทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลัง
ให้กับบริเวณคาบสมุทร เหตุนี้จึงมีบริเวณตอนกลางเป็นป่าเขา
และมีที่ทราบตามชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากการที่มีลำน้ำสายสั้น ๆ
ไหลลงจากเทือกเขาไปออกทะเล นำเอากรวดทรายและโคลนตะกอนไปทับถม
ทำให้เกิดที่ราบลุ่มและดินดอนสามเหลี่ยมตามปากแม่น้ำ
แต่ทว่าบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกที่ติดกับอ่าวไทย
จะมีคลื่นลมพัดพาเอาทรายจากท้องทะเลเข้าหาฝั่ง ทำให้เกิดเป็นสันทราย (Sand dunes)
และหาดทราย (beach) ที่งอกยื่นออกไปในท้องทะเลตลอดเวลา
เมื่อผสมผสานกับการกระทำของแม่น้ำลำคลองที่นำกรวด
และโคลนตะกอนมาทับถมแล้วก็ทำให้เกิดที่ราบชายทะเลที่กว้าง
เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
โดยเหตุนี้การตั้งแหล่งชุมชนของผู้คนแต่สมัยโบราณดึกดำบรรพ์จึงพบมากทางชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกนี้
ผลที่ตามมาก็คือ มีบ้านและเมืองหนาแน่นบนฝั่งทะเลด้านนี้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
ในขณะที่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเกิดที่ราบชายทะเลยื่นล้ำออกไป
ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกกลับอยู่ในลักษณะตรงข้าม
เพราะการกระทำของคลื่นลมที่แรงจัดนั้นทำให้เกิดการสึกกร่อน
ชายฝั่งทะเลมีลักษณะสูงและเว้าแหว่ง
น้อยแห่งที่จะมีบริเวณที่ราบและชายหาดที่ยาวเหมือนกับทางชายฝั่งด้านตะวันออก
โดยสรุปก็คือ เป็นบริเวณที่สูงและภูเขาอยู่ชิดชายฝั่งทะเล
ทำให้มีพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ได้น้อย
ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่มีอาชีพในการเกษตร
เหตุนี้แต่โบราณจึงไม่ใคร่มีผู้คนเข้าไปตั้งชุมชนบ้านเมือง กันอย่างหนาแน่น
เหมือนกับทางชายฝั่งตะวันออก
ผู้คนที่เข้ามาอยู่ในชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกนี้ตั้งแต่โบราณ คือ
พวกที่มีอาชีพจับสัตว์น้ำตามชายฝั่งทะเล มักอาศัยอยู่ตามถ้ำเขา
และเกาะแก่งที่มีอยู่มากมายกว่าทางชายฝั่งด้านตะวันออก
ทั้งนี้เพราะการกระทำของคลื่นลมทำให้เกิดการเว้าแหว่งและเป็นเกาะขึ้นเป็นจำนวนมากนั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่กลุ่มชนรุ่นแรกๆ ที่อยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านจะวันออก
ได้ปักหลักตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองขึ้นอย่างถาวรนั้น
ทางชายฝั่งด้านตะวันตกมีแต่กลุ่มชนที่อพยพร่อนเร่อาศัยอยู่ตามถ้ำเขา
และเกาะแก่งชายทะเล มีอาชีพในการจับสัตว์น้ำและหาของทะเลเป็นสำคัญ
ไม่มีการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นแต่อย่างใด
การเกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นในภาคใต้มีปัจจัยอื่น ๆ อีกนั่นคือ
บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แร่ดีบุก
ที่อาจดึงดูดคนต่างถิ่นให้เขามาตั้งรกรากขุดแร่ทำเหมืองแร่กัน
ปรากฏว่ามีหลักฐานทางด้านเอกสาร และด้านโบราณคดีว่า
เกิดชุมชนบ้านเมืองของกลุ่มชนที่เข้ามาทำเหมืองแร่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดียว
และในระยะหลังๆ คือ ชาวจีนและคนจากถิ่นอื่นๆ นอกจากการทำเหมืองแร่แล้ว
ก็เป็นการทำสวนยางพาราและการประมง ซึ่งก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง ๆ
ลงมาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการจะสรุปให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานชุมชนบ้านเมืองในภาคใต้
ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกนี้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า บรรดาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น
และสืบทอดลงมาจนกระทั่งปัจจุบัน เพิ่งมามีขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ แต่ครั้ง รัชกาลที่ 3-4 ลงมาเท่านั้นเอง
วัฒนธรรมครอบครัวและสังคม
ชาวภาคใต้ส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเกษตรกรรม ที่ต้องพึ่งพาแรงงานครอบครัวชาวใต้จึงมักเป็นครอบครัวใหญ่ มีความสัมพันธ์กันดีระหว่างผู้สูงอายุ และบุตรหลาน มีวัฒนธรรมการผูกญาติผูกมิตร รักพวกพ้องและญาติอย่างเหนียวแน่น เป็นสังคมที่อบอุ่น มีนิสัยเอื้อเฟื้อต่อกัน เนื่องจากภาคใต้เคยชินต่อการพบกับคนแปลกหน้า ซึ่งผ่านเข้ามาติดต่อค้าขาย จึงเป็นผู้มีนิสัยนักเลง กล้าได้กล้าเสีย
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง