สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
สังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์
สังคมไทย คือ กลุ่มคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินต่อเนื่องกันมา
ในพื้นที่ที่มีขอบเขตจำนวนหนึ่ง บุคคลที่อยู่ในสังคมหนึ่งล้วนต้องพึ่งอาศัย
และมีภาระหน้าที่ที่เป็นภาระส่วนตัว ครอบครัว และภาระหน้าที่ต่อชุมชน เช่น
การปกป้องรักษาความสงบเรียบร้อยให้ชุมชน การปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมสถาบันต่างๆ
เช่น สถาบันศาสนา เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้สงบ
ด้วยเหตุที่สังคมต้องการความมั่นคงปลอดภัยเป็นพื้นฐาน
ชุมชนแต่ละแห่งจึงต้องมีความสามัคคีกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน
อันเนื่องมาจากพัฒนาการของแต่ละชุมชนในด้านต่างๆ ไม่เท่ากัน นักสังคมวิทยา
จึงแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ชนิด คือ ชุมชนแบบชนบท และชุมชนแบบเมืองหรือนคร
สังคมชนบท
คำว่า ชนบท ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง
บ้านนอก และคำว่า บ้านนอก หมายถึง เขตแดนที่ห่างจากตัวเมืองออกไป
คำจำกัดความดังกล่าวเป็นเพียงการบอกปริมณฑลของสองชุมชุนเท่านั้น
นักสังคมวิทยาได้เสนอรายละเอียดที่เป็นลักษณะบางอย่างของชนบท ดังนี้
- อาชีพชนบท มักประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- ขนาดของชุมชนมีขนาดเล็ก จึงทำให้คนในชุมชนรู้จักมักคุ้นกัน รับรู้เรื่องทุกข์สุขของ ครอบครัวเพื่อนบ้าน และพึ่งพาอาศัยกันได้พอสมควร
- การพึ่งพาธรรมชาติสูง โดยเฉพาะอาชีพทางการเกษตรกรรม ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักทำให้วิถีชีวิตผูกพันกับประเพณี ความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติสูงกว่าคน เมือง ซึ่งอาจดำรงชีวิตต่าง จากชีวิตเกษตรกร
- ค่าครองชีพต่ำ คือสามารถอยู่หากินได้ดีกว่าชุมชนเมือง ยังสามารถพึ่งอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ท้องนา ผืนป่า แหล่งน้ำ เป็นแหล่งหาอาหารหรือผลิตอาหารได้
- ไม่เคร่งเครียดกับการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด เท่าวิถีชีวิตของชาวเมือง ซึ่งผูกพันกับค่า จ้าง ค่าแรงรายวัน การทำงานตามเวลาที่กำหนด การนัดหมายจึงเป็นเรื่องที่ชาว ชนบทรับรู้ เมื่อเข้ามาทำงานในเมือง
- ความเจริญและเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะระบบการสื่อสารยุคใหม่ โทรสาร โรงแรม ร้านค้า ที่ทันสมัยมีน้อย ดังนั้นความเจริญของชนบทจึงล่าช้ากว่าชุมชนเมือง
- การรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมผลประโยชน์ มีการรวมตัวกันง่ายกว่าชุมชนเมือง ซึ่งมีกลุ่มอาชีพผลประโยชน์แตกต่างกัน
วิถีชีวิตของคนไทยที่อาศัยอยู่ในชนบท เป็นคนกลุ่มใหญ่
มีจำนวนมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง หากจะนับถอยหลังไปในอดีต
ทั้งชุมชนในชนบทและชุมชนเมืองก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกันมากนัก
เพียงแต่เมื่อมีการตั้งเมืองหลวงขึ้นเป็นศูนย์กลางอาณาจักร
ชุมชนนั้นก็ใหญ่โตด้วยผู้คนภายในพระราชวังและบริเวณรอบๆ เขตเมืองหลวงเท่านั้น
จนเมื่อความเจริญจากตะวันตกเริ่มเข้ามรในคริสต์ศตวรรษที่ 19
หรือนับแต่สยามทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษ ใน ค.ศ. 1855 และชาติตะวันตกอื่นๆ
ในเวลาต่อมา ความแตกต่างในด้านความเจริญทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในราชธานี
ก็เริ่มแตกต่างจากชนบท แต่ชุมชนอื่นๆ ทั่วไปก็ยังเป็นชุมชนแบบชนบท
การเริ่มเป็นชุมชนเมืองและชนบทจึงมีวิวัฒนาการที่เห็นชัดเจนในยุคอุตสาหกรรม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตคนไทยมิใช่จะเหมือนกันทั้งประเทศ
ด้วยสาเหตุที่แต่ละภูมิภาคมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ
ตลอดจนการเคลื่อนย้ายของประชากร กลุ่มเผ่าพันธุ์ อันเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม ตลอดเวลา จึงทำให้สังคมในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันออกไป
เพื่อความเข้าใจลักษณะของสังคมไทยในภาพรวม จึงขอนำเสนอภาพรวมของแต่ละภาค
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง