สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
สังคมไทยสมัยใหม่
ความเจริญทางด้านการค้า
การเห็นคุณค่าของการศึกษาหาความรู้และความสนใจรับวิทยาการจากตะวันตกของชนชั้นนำและสามัญชนในกรุงเทพฯ
และตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นศูนย์กลางการค้า มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย
ได้มีการพัฒนาด้านสังคมและประเพณี
เพื่อความทันสมัยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและปฏิรูปสังคมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยการเลิกระบบไพร่และการยกเลิกระบบทาส
การเลิกระบบไพร่ ไพร่มีความสำคัญทางสังคม
เศรษฐกิจและการเมืองการปกครองของไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้วยการดึงการควบคุมกำลังจากขุนนางเจ้านายมาสู่พระมหากษัตริย์โดยให้มีการจัดทำสำมะโนครัวแทนการสักข้อมือ
พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ.116 (พ.ศ.2441)
ซึ่งลดเงินค่าราชการที่เก็บจากไพร่จากปีละ 18 บาท ให้เป็นปีละ 6 บาท
และเปลี่ยนการควบคุมไพร่จากมูลนายมาให้ท้องที่ที่ไพร่อาศัยอยู่เป็นผู้ดูแลแทน
พระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ.119 (พ.ศ.2444) เป็นการทำลายลักษณะของระบบไพร่ คือ
ให้เลิกการเกณฑ์แรงงาน
ไพร่เป็นอิสระในการประกอบอาชีพและเลือกที่อยู่อาศัยซึ่งนับว่าเป็นการคลี่คลายวิธีการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่
และสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราซึ่งกำลังขยายเข้ามาในประเทศไทย
และพระราชบัญญัติเก็บค่าราชการ ร.ศ.120 (พ.ศ.2445)
กำหนดให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเสียเงินค่าราชการคนละ 6 บาท
เป็นอย่างสูงทั่วราชอาณาจักร นับว่าเป็นการทำลายระบบมูลนาย
ใน พ.ศ. 2448 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124
โดยกำหนดให้ชายฉกรรจ์ที่ได้รับเลือกและมีอายุ 18-20 ปี เป็นทหารประจำการอยู่ 2 ปี
แล้วปลดเป็นกองหนุนมีภาระหน้าที่ฝึกซ้อมทุกปีเป็นเวลา 15 ปี
แล้วปลดพ้นจากการเสียเงินค่าราชการตลอดชีวิต
ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกต้องเสียเงินค่าราชการตามอัตราที่กำหนดของท้องถิ่นตน
พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ทยอยประกาศใช้ทีมณฑลจนครบทั่วราชอาณาจักรในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นการยุดติพันธะสังคมตามระบบไพร่ในสังคมไทยโดยปริยายและเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สมัยใหม่
สามัญชนซึ่งเคยอยู่ในฐานะไพร่และทาสหันไปประกอบอาชีพชาวนา ชาวไร่ กรรมการ ช่างฝีมือ
ลูกจ้าง เสมียน เป็นต้น
การเลิกระบบทาสได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำเป็นขั้นตอนอย่างละมุนละม่อม
ตั้งแต่ทรงออกพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท พ.ศ.2417
กำหนดให้ลูกทาสที่เกิดใน พ.ศ.2411 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์
เกษียณอายุเป็นไท เมื่ออายุ 21 ปี ห้ามขายตัวเป็นทาสอีก
ทรงปลูกฝังค่านิยมในการบริจาคเงินไถ่ทาสให้เป็นอิสระ
ขยายการศึกษาและอาชีพโดยตั้งโรงเรียนให้ลูกทาสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะสมัครใจเข้าเรียนและจะปล่อยให้เป็นไท
ประกาศพระราชบัญญัติเลิกทาสในมณฑลพายัพ พ.ศ.2443 พระราชบัญญัติเลิกทาสในมณฑลบูรพา
พ.ศ.2447 และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448
ได้ประกาศพระราชบัญญัติเลิกทาสทั่วราชอาณาจักร
พวกที่ซื้อขายทาสจะถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2451
การเลิกทาสและไพร่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปลดปล่อยให้พันจากพันธะทางสังคมในรูปแบบ
ศักดินา เพื่อเป็นการพัฒนารองรับการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยแบบตะวันตก
ในด้านการศึกษา
การที่วัฒนธรรมและวิทยาการตะวันตกได้หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยพร้อมกับการเข้ามาของชาวตะวันตกได้ถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง
ๆ
ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความสนใจในการเรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตกเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาแบบเดิมซึ่งอิงอยู่กับวัด
วัง และบ้าน ขุนนางเจ้านายมาเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนตามแบบแผนตะวันตก
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรทั่วไป
และขยายไปทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
มีการตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเพื่อฝึกหัดข้าราชการ
ซึ่งต่อสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนราชแพทยาลัย
ซึ่งต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ โรงเรียนกฎหมาย ฯลฯ
ล้วนเป็นการพัฒนาคุณภาพของคนทั้งสิ้น
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง