สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
(พุทธศตวรรษที่ 24-25)
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงกอบกู้เอกราชและสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรีเป็นเวลา
15 ปี ใน พ.ศ. 2325
ได้สถาปนาราชธานีกรุงเทพฯหรือที่เรียกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวง
โดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นปฐมกษัตริย์
โดยย้ายศูนย์กลางมาอยู่ฝั่งตรงข้ามและได้สร้างวัดใหม่ขึ้นในฐานะศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์
คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในช่วงนี้บ้านเมืองยังคงวุ่นวายกับการพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่ เช่น
การขุดคลองรอบกรุง การจัดระเบียบชุมชน สร้างป้อมและกำแพงเมือง
นอกจากนั้นยังมีการฟื้นฟูวรรณคดี
และได้รวบรวมกฎหมายที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยามาชำระใหม่เพราะยังมีความคลาดเคลื่อนและไม่ยุติธรรมอยู่
จึงเกิดเป็นกฎหมายตราสามดวงขึ้น และจารึกไว้ 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์
และบัวแก้ว
สภาพสังคมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
มีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งขุนนางเป็นจำนวนมาก
เพราะขุนนางเสียชีวิตในคราวสงครามกับพม่าปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแสมัยกรุงธนบุรีตลอดจนการจลาจลปลายสมัยกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก
ได้มีการแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าราชการโดยยกเลิกกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าเป็นขุนนาง
เปิดโอกาสให้สามัญชนซึ่งมีความรู้ ความประพฤติดีเข้าเป็นขุนนางได้
- พระมหากษัตริย์
ในสมัยนี้มีความใกล้ชิดกับขุนนางด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับบรรดาขุนนางตระกูลสำคัญ
ๆ เพื่อเพิ่มความจงรักภักดีในหมู่ขุนนางให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
เป็นการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของราชบัลลังก์
นอกจากนี้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในการค้าขายต่างประเทศให้พระบรมวงศ์ศานุวงศ์และขุนนางมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและอุปถัมภ์อย่างใกล้ชิด
ทำให้สามารถแสวงหารายได้ผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
มีอำนาจทางเศรษฐกิจ มีอำนาจทางการเมือง
มีการประสานประโยชน์ระหว่างพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง
การเลื่อนฐานะของพวกเจ้านายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีลักษณะเป็นก้าวกระโดด เพราะเป็นช่วงตั้งเมืองหลวงและราชวงศ์ใหม่ การเลื่อนชั้นทางสังคมจึงเลื่อนจากสามัญชนในสกุลขุนนางซึ่งสนับสนุนพระองค์ในการปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นเป็นชนชั้นเจ้า การแต่งตั้งเจ้าให้ทรงกรมขึ้นอยู่กับความเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และมีความสามารถช่วยเหลือในการบริหารบ้านเมือง อำนาจของเจ้านายแต่ละพระองค์ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งทางราชการกำลังไพร่ในสังกัดและตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์ อนึ่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจเจ้านายในเรื่องไพร่สมในสังกัด ซึ่งเป็นปัญหาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเจ้าทรงมีอำนาจและเป็นผู้คุกคามที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือมีการส่งข้าราชการชั้นสูงจากเมืองหลวงไปทำการสักไพร่ทั่วราชอาณาจักรทุกต้นรัชกาลใหม่ โดยสักชื่อมูลนายและชื่อเมืองที่สังกัดที่ข้อมือไพร่เป็นมาตรการจำกัดกำลังเจ้านายอีกประการหนึ่ง คือ ไพร่สมจะโอนเป็นไพร่หลวงเมื่อเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่ถึงแก่อนิจกรม เจ้านายมีสิทธิพิเศษตามกฎหมาย คือ จะพิจารณาคดีเจ้านายในศาลกรมวังเท่านั้น และจะนำเจ้านายไปขายเป็นทาสมิได้ - พระมหาอุปราช เป็นเจ้าวังหน้าตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
และมักจะสถาปนาพระอนุชาให้ดำรงตำแหน่ง นอกจากนั้นยังมีอัครเสนาบดี
และเสนาบดีจตุสดมภ์ คือ กรวมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา
ตำแหน่งเหล่านี้ถ้าเกิดมาเหตุสงครามก็ต้องไปเป็นแม่ทัพ
- ไพร่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ได้รับการผ่อนปรนเรื่องการเกณฑ์แรงงานจากปีละ 6 เดือน (เข้าเดือนออกเดือน)
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เหลือปีละ 4 เดือน (เข้าเดือนออก 2 เดือน)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (กฎหมายตราสามดวง. 2506 :
205-207) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยลดเหลือปีละ 3 เดือน
(เข้าเดือนออก 3 เดือน) อัตราการเกณฑ์แรงงานปีละ 3
เดือนนี้ใช้ไปจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร
อย่างไรก็ดีระบบไพร่ทำให้ขัดขวางความชำนาญในการทำอาชีพของคนไทย
จึงทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนเข้าควบคุมกิจการด้านเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด
- ทาส ทาสในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ยังคงมีสภาพเช่นเดียวกับทาสสมัยกรุงศรีอยุธยา ทาสในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
มักจะเป็นทาสสินไถ่ ซึ่งสามารถไถ่ตัวให้พ้นจากการเป็นทาสได้
ทาสเชลยไม่มีค่าตัวต้องเป็นเชลยไปตลอดชีวิตจนกระทั่ง พ.ศ.2348
จึงมีกฎหมายระบุให้ทาสเชลยมีค่าตัว และไถ่ตัวเองได้
ส่วนทาสในเรือนเบี้ยหรือลูกทาสต้องเป็นทาสตลอดชีวิต ไม่มีสิทธิไถ่ตัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระราชบัญญัติ
เกษียณอายุลูกทาสลูกไท พ.ศ.2417
ประกาศให้ลูกทาสที่เกิดตั้งแต่ปีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.2411)
เป็นอิสระเมื่อมีอายุบรรลุนิติภาวะ และขายตัวเป็นทาสอีกไม่ได้
- ชาวต่างชาติ ชาวจีนเป็นผู้มีบทบาทและความสำคัญต่อสังคมไทยด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก เป็นพวกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้นสูงในสังคมไทยและมีการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นหนทางในการเลื่อนฐานะทางสังคมและก้าวขึ้นสู่ชนชั้นขุนนางด้วยการให้ผลประโยชน์แก่เจ้านายและขุนนางไทยออกไปค้าขายยังประเทศจีน ดังจะเห็นได้จากการที่หัวหน้าชาวจีนได้เข้าสู่ชนชั้นขุนนางโดยการเป็นเจ้าภาษีนายอากร มียศหรือบรรดาศักดิ์ เป็นพระ ขุน หมื่น มีศักดินา 400 ขึ้นไป พ่อค้าหรือเจ้าภาษี ชาวจีนในหัวเมืองหลายคนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง คนเหล่านี้มีฐานะมั่งคั่ง บางครอบครัวมีความสัมพันธ์โดยการแต่งงานกับชนชั้นเจ้านาย ขุนนาง หรือถวายตัวต่อพระมหากษัตริย์ ชาวจีนประเภทที่สอง คือ พวกที่รับจ้างเป็นกรรมกรเพื่อทำงานสาธารณูปโภค ต่าง ๆ แทนแรงงานไพร่ ทำงานในเหมืองแร่ดีบุก ช่างปูน ช่างต่อเรือ กรรมการในโรงงานน้ำตาลทราย ทำไร่อ้อย พริกไทย ยาสูบ และค้าขายแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง หรือหัวเมืองชายทะเลตะวันออกและภาคใต้ของไทย
พ่อค้าชาวจีนได้รับอภิสิทธิ์หลายประการ เช่น
เดินทางและตั้งถิ่นฐานได้ทั่วราชอาณาจักร
ไม่ต้องเกณฑ์แรงงานแต่เสียเงินค่าผูกปี้ข้อมือเป็นเงิน 1.50 บาทต่อทุกสามปี
ต่อมาในมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัฐบาลประกาศเลิกวิธีผูกปี้ข้อมือชาวจีนมาเป็นการเก็บเงินค่าราชการปีละ 6 บาท
การที่การค้าของไทยทั้งการค้าต่างประเทศและการค้าภายในประเทศช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าจีน
พ่อค้าเจ้าภาษีนายอากรชาวจีน
มีฐานะมั่งคั่งเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในสังคมชั้นเดียวกับชนชั้นสูงของไทยได้อาศัยระบบศักดินาและการอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงเหล่านี้ดำเนินการธุรกิจจนกลายเป็นผู้มีฐานะร่ำรวย
กลายเป็นค่านิยมที่เห็นความสำคัญของทรัพย์สมบัติหรือฐานะทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับค่านิยมการสะสมไพร่บริวาร
สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงต้นจึงเป็นลักษณะแบบเลี้ยงตัวเอง
พลเมืองมีอาชีพเกษตรเป็นหลัก ผลผลิตสำคัญคือข้าว ฝ้าย อ้อย ยาสูบ เป็นต้น
รัฐบาลมีรายได้หลายทาง เช่น จังกอบ อากรฤชา ส่วย และรายได้จากการค้าต่างประเทศ
การค้าสำเภา และการค้าแบบผูกขาด
ภาษีส่วนใหญ่รัฐบาลมอบให้พ่อค้าจีนผูกขาดเก็บภาษีแทนรัฐบาล
และจะมีการเดินสวนใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัชกาลเพื่อวัดที่ดินแล้วเก็บเงินตามโฉนดนั้น
ความสัมพันธ์กับต่างชาติอันดับแรกนั้นคือชาติจีนโดยมีการติดต่อค้าขายมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้วโดยทางเรือสำเภา
พอมาในสมัยรัตนโกสินทร์ชาวจีนก็ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
และส่วนใหญ่การค้าขายมักจะเป็นไปในลักษณะเกื้อกูลกัน
ส่วนชาติตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทคือ
โปรตุเกสเพราะได้มีการส่งสาสน์ในการขอให้เรือของตนเข้ามาค้าขายได้อย่างสะดวก
และทางไทยกำลังต้องการซื้อปืนมาใช้รักษาพระนคร
อย่างไรก็ดีการติดต่อกับโปรตุเกสทำให้ไทยได้เรียนรู้วิทยาการต่างๆมากมาย เช่น
การทำปืนไฟ ขนม ตำรายา เป็นต้น
ซึ่งผิดกับการเข้ามาของชาวอังกฤษที่เริ่มในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การเมืองและการค้า โดยมีครอเฟริ์ด
เป็นผู้ที่เข้าเจรจาทางการค้ากับไทยคนแรกๆ โดยไทยยังคงได้ผลประโยชน์อยู่บ้าง
แต่ต่อมาเฮนรี เบอร์นี
ซึ่งเป็นทูตคนทีสองได้เข้ามาได้ตกลงทำสัญญาค้าขายให้อังกฤษเข้ามาทำการค้าได้โดยเสรี
ส่วนอเมริกานั้นก็เข้ามาในประเทศไทยด้วยเช่นกันและก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาไว้มาก
แต่อย่างไรก็ดีจุดประสงค์หลักคือการได้เข้ามาข้าขายในประเทศไทยได้อย่างเสรี
» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้
» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง