สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

พัฒนาการสังคมไทย
ดุจฤดี คงสุวรรณ์

สมัยล้านนา

(พุทธศตวรรษที่ 18-23)

ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 มีหัวหน้าเผ่าหนึ่งชื่อ ลวจักราช ปกครองดินแดนภาคเหนือตอนบนบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศไทย จีน พม่า และลาวในปัจจุบัน เผ่านี้สืบราชวงศ์ลงมาจนถึงพระเจ้ามังราย และเคยครองเมืองเงินยาง (เชียงแสน) มาก่อนที่จะลงมายึดเมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ.1836 พระองค์ประทับอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะไปสร้างเวียงกุมกาม แล้วจึงมาสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 โดยมีชื่อเรียกว่า “พิงครัฐ” มีอาณาเขตอยู่ภาคเหนือตอนบน บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต้นน้ำจากดอยไหลล้อมรอบตัวเมืองก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง และเคยมีอาณาเขตลงมาถึงเมือง น่าน เมืองแพร่ และศรีสัชนาลัยไว้ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วย การสร้างเมืองครั้งนี้มีผู้ร่วมปรึกษาด้วยคือ พ่อขุนรามคำแหงแห่งเมืองสุโขทัย และพระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยา โดยมีชาวเผ่าลื้อ ลัวะ ลาว ไต ม่านเม็ง เป็นกลุ่มชนที่รวมตัวกันอยู่ภายในอาณาจักรล้านนาขณะนั้น

ในแต่ละเมืองมีการปกครองกันเองและมีความสัมพันธ์ระหว่างเมือง ทั้งนี้อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันโดยมีผู้ปกครองช่วยเหลือเกื้อกูลในระบบเครือญาติโดยการแต่งงานหรือยอมรับไมตรี เช่น การแต่งงานกับเมืองใกล้เคียง ในแต่ละสังคมประกอบด้วยผู้คน 3 กลุ่ม คือ ผู้ปกครอง พระสงฆ์ และพลเมือง

  1. ผู้ปกครอง มีเจ้าเมืองที่ปกรองเองโดยอิสระ โดยจะมีขุนหรืออำมาตย์ช่วยในการปกครอง โดยจะช่วยทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี ตัดสินคดีความ ดูและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งการช่วยเหลือการศึกสงคราม
  2. พระสงฆ์ เนื่องจากศาสนาพุทธมีบทบาทมาก พระสงฆ์จึงเป็นเสมือนตัวแทนของพุทธศาสนา และเป็นที่พึ่งทางใจให้กับประชาชน รวมทั้งทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับเหล่าขุนนาง และประชาชนในล้านนาด้วย
  3. พลเมือง ส่วนใหญ่คือไพร่ ซึ่งเป็นสามัญชนโดยอาจจะเป็นคนพื้นเมืองหรืออพยพมาจากที่อื่น ในเวลาปกติจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย แต่ต้องส่งส่วยให้กับขุนนางหรือพระยา ในบางครั้งอาจจะถูกเกณฑ์แรงงานให้ช่วยสร้างสาธารณะประโยชน์ของเมือง เช่น คูเมือง กำแพงเมือง วัด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ ทาส คือกลุ่มที่เป็นบริวารรับใช้ให้กับชนชั้นสูง และเป็นเสมือนทรัพย์สิน สามารถซื้อขายหรือเป็นมรดกได้

กรุงศรีอยุธยาที่ก่อตั้งอาณาจักรบริเวณภาคกลางมีอำนาจขึ้นมาอย่างรวดเร็วต่อมาไม่นานในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อยุธยายึดสุโขทัยเอาไว้ได้ จึงได้เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหน้าด่านโดยมีพระบรมไตรโลกนาถเป็นเจ้าเมือง ดังนั้นอำนาจของกรุงศรีอยุธยาจึงขึ้นมาเผชิญหน้ากับอำนาจของล้านนาในสมัยของพระเจ้าติโลกราช

อำนาจทางการทหารเริ่มลดถอยลงจึงทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าในรัชกาลของ พระเจ้าเมกุฏิ ในราว พ.ศ.2101 และต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 200 ปี ในช่วงนี้เองที่ทำให้ล้านนาต้องรับเอาศิลปวัฒนธรรมของพม่ามาผสมผสาน พม่าปกครองล้านนาด้วยการส่งขุนนางพม่าหรือแต่งตั้งเจ้านายล้านนาขึ้นปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยมีนโยบายคือสนับสนุนให้หัวเมืองล้านนาปกครองกันเองแต่จะอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ให้หัวเมืองเหล่านั้นรวมตัวกันได้ โดยใช้ล้านนาเป็นแหล่งเสบียง

พม่าใช้ล้านนาเพื่อเป็นทางผ่านไปยึดอยุธยา ในที่สุดอยุธยาก็เสียให้แก่พม่า ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นมายึดเมืองเชียงใหม่คืนได้ใน พ.ศ.2317 โดยมีพระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นให้ความช่วยเหลือ และบูรณะบ้านเมืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนใน พ.ศ.2475 เมืองเชียงใหม่จึงเป็นจังหวัดหนึ่งในระบอบการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย

ในช่วงรัชกาลพระเจ้ากือนา (พ.ศ.1898-1928) มีบทบาทสำคัญในการรับพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากสุโขทัยมายังล้านนา คือได้ทูลขอต่อพระยาลิไทแห่งอาณาจักรสุโขทัยเพื่ออนุญาตให้พระสุมรเถรขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของงานศิลปกรรมล้านนาอย่างมาก กล่าวคือศิลปะสุโขทัยทุกด้านจะปนกลิ่นอายความเป็นสุโขทัยอยู่ด้วย ต่อมาในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1990) พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้มีลัทธิใหม่เกิดขึ้น คือนิกายวัดป่าแดง และมีการสนับสนุนในรัชสมัยของพระเจาติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองของล้านนา หลังจากนั้นในสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2039-2069) ได้ทรงรวบรวมพุทธศาสนาทั้ง 3 นิกายเข้าด้วยกัน คือนิกายที่มีมาแต่เดิมเมื่อครั้งสมัยหริภุญไชย นิกายวัดสวนดอก และนิกายวัดป่าแดง

» วิวัฒนาการทางสังคมไทย

» สมัยทวารวดี

» สมัยศรีวิชัย

» สมัยลพบุรี

» สมัยหริภุญไชย

» สมัยล้านนา

» สมัยสุโขทัย

» สมัยกรุงศรีอยุธยา

» สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

» สังคมไทยสมัยใหม่

» การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

» สังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์

» สังคมไทยในภาคเหนือ

» สังคมไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

» สังคมไทยในภาคกลาง

» สังคมไทยในภาคใต้

» สังคมเมือง

» การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมเมืองและสังคมชนบท

» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคเหนือ

» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคใต้

» การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชนบทในภาคกลาง

» ปัญหาสังคมและแนวทางแก้ไข

» ลักษณะของปัญหาสังคม

» สาเหตุของการเกิดปัญหาสังคม

» แนวทางในการศึกษาปัญหาสังคม

» ปัญหายาเสพติด

» ปัญหาคอร์รัปชั่น

» ปัญหาความยากจน

» ปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์

» ด้านการศึกษาและสังคม

» ปัญหาเด็กและเยาวชน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย