ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธศาสนากับวัฒนธรรม

วัฒนธรรมไทยด้านภาษา

คนไทยคุ้ยเคยกับภาษาสันสกฤตก่อนภาษาบาลี ทั้งนี้เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่สังคมของ คนไทยพร้อมพุทธศาสนามหายาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรน่านเจ้า ราว พ.ศ. 600 (ศ.ดร.สิทธา พินิจภูวดล. 2537 : 130) ครั้น พ.ศ. 1782 คนไทยยึดสุโขทัยได้ และเกิดความเลื่อมใสในศาสนาพุทธฝ่ายหินยานซึ่งใช้ภาษาบาลี ดังนั้นภาษาบาลีจึงแพร่หลายเข้ามาในสังคมและขยายกว้างยิ่งกว่าภาษาสันสกฤต อย่างไรก็ตามคนไทยก็ยกย่องว่า ทั้งภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเป็นภาษาชั้นสูง มีความศักดิ์สิทธิ์ สมบูรณ์แบบและแสดงภูมิปัญญาอันสูงส่ง เพราะเป็นภาษาของพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงได้มีอิทธิพลในภาษาไทยในเวลาต่อมาและจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ มีการยืมภาษาบาลี – สันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย จากหลักฐานทางข้อเขียนในศิลาจารึกและวรรณคดีเก่า ๆ ของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายพบว่า การยืมคำบาลี – สันสกฤตเป็นไปอย่างไม่เคร่งครัด ทั้งนี้เพราะมีการเขียนรูปคำลักลั่นกันจะเป็นรูปบาลีก็ไม่ใช่ รูปสันสกฤตก็ไม่เชิง คำลักลั่นเช่นนี้พบจำนวนมากในการยืมคำสมัยเก่าก่อนของคนไทย เช่น ไตรภูมิกถา (ที่ถูกควรใช้เตภูมิกถา) สาคมิตร (ที่ถูกคือ สาขามิค, สาขา = กิ่งไม้ + มิค =กวาง, เนื้อ = กวางบนกิ่งไม้ คือ ลิง) สุชัมบดี (ที่ถูกคือสุชาดาบดี = สามีของนางสุชาดา คือ พระอินทร์) เป็นต้น



ดังกล่าวข้างต้นว่า ภาษาบาลี – สันสกฤต เป็นภาษาที่บันทึกจารึกคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จึงทำให้มีอิทธิพลต่อภาษาไทยอย่างมากมาย จะเห็นได้ในหลาย ๆ แห่งที่ภาษาบาลี – สันสกฤต ปะปนอยู่ในภาษาไทยทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด ซึ่งจะแทรกอยู่ในทั่ว ๆ ไป เช่น คำศัพท์ที่ออกเสียงง่าย ๆ สะดวก ๆ เช่น ขันติ ชิวหา ศิลป เกษียณ แพทย์ สิงขร มารดา สีกา เคารพ ฯลฯ โดยเฉพาะชื่อของคนไทยนิยมใช้ภาษาบาลี เช่น เชษฐา วิทยา เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยด้านภาษาอย่างยิ่งอีกด้านหนึ่ง

วัฒนธรรมไทยด้านการเมือง
วัฒนธรรมไทยด้านประเพณี
วัฒนธรรมไทยด้านจิตใจ
วัฒนธรรมไทยด้านภาษา
วัฒนธรรมไทยด้านการศึกษา
วัฒนธรรมไทยด้านสถาปัตยกรรม
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย