สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

มานุษยวิทยา

        มานุษยวิทยา (Anthropology) เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสปีซีส์หรือวงวารของมนุษย์โดยเฉพาะ วิชามานุษยวิทยาเปรียบเสมือนกระจกเงาที่ส่องให้เราเห็นมนุษยชาติทั่วโลก ทำให้มองตัวเองในแง่มุมต่างๆได้ นอกจากนั้นมานุษยวิทยายังเป็นวิชาที่เน้นศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างของมนุษยชาติในทุกรูปแบบ ไม่ว่าในแง่จิตวิทยา แง่ชีววิทยาหรือในแง่วัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาศึกษามนุษยชาติทุกหนทุกแห่งทั้งอดีตและปัจจุบัน วิชามานุษยวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ทั่วโลก

คำถามสำคัญของวิชานี้คือ : อะไรทำให้เราเป็นมนุษย์ การเป็นมนุษย์หมายความว่าอย่างไร มนุษย์มีวิวัฒนาการทางกายภาพและวัฒนธรรมมาอย่างไร ทำไมคนจึงมีพฤติกรรมเหมือนที่พวกเขากำลังกระทำอยู่ และอะไรทำให้เราแตกต่างไปจากมนุษย์ในสังคมอื่นๆที่มีระบบความเชื่อต่างกันไป เป็นต้น

นักมานุษยวิทยาใช้แนวทาง “ภาพรวม” หรือ “ทุกแง่มุม” (Holistic Approach) เพื่อศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ พวกเขาจึงสนใจในกิจกรรมของมนุษย์ในทุกแง่มุมของชีวิต เช่น ศึกษาชีวิตประจำวันและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ศึกษาวิธีการต่างๆที่มีมารดาเลี้ยงดูทารก การที่บิดามารดาอบรมเลี้ยงดูลูกๆของเขา

นักมานุษยวิทยาไม่สนใจแต่เพียงว่ามนุษย์ในสังคมต่างๆมีวิธีทำมาหากินอย่างไรบ้าง แต่ยังค้นหาถึงกฎเกณฑ์ต่างๆในการบริโภคสิ่งต่างๆด้วย พวกเขาสนใจว่ามนุษย์ในสังคมต่างๆ คิดถึงกาลเวลาและพื้นที่อย่างไรบ้าง สนในในสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาลในรูปแบบต่างๆกันไป สนใจร่างกายมนุษย์และปัจจัยทางวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ สนใจเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศและการแต่งงาน การให้กำเนิดทารกและความตาย สนใจนิทานชาวบ้านและนิยายปรัมปรา การหาเสียงทางการเมือง การสนทนาประจำวัน พิธีกรรมต่างๆ และแม้แต่การทักทายกันโดยทั่วไป นักมานุษยวิทยาถือว่าพฤติกรรมทุกด้านของมนุษย์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะใช้ความเข้าใจชีวิตของมนุษยชาติทั่วโลกได้

อาจารย์ศรีศักดิ์ วิลลิโภดม (2545 : 24 – 25) กล่าวถึงวิชามานุษยวิทยาว่าเป็นวิชาที่คนตะวันตกสร้างขึ้นเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของความเป็นมนุษย์ โดยหวังว่าเมื่อรู้จักและเข้าใจแล้วก็จะ ทำให้มนุษย์ในโลก ที่มีความเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่แตกต่างกันในถิ่นกำเนิด ถิ่นที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น และสันติ นับเป็นวิชาที่เกิดจากประสบการณ์ของคนตะวันตกโดยแท้ เพราะความก้าวหน้าแบบล้ำยุคทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้คนตะวันตกสามารถเดินทางไปพบดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆของโลก ได้แลเห็นความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากพวกตนทั้งในด้านความรู้สึกนึกคิด ชีวิตความเป็นอยู่และรูปร่างหน้าตา

ในระยะแรกๆของการรับรู้และพบเห็นมนุษย์ในดินแดนและถิ่นอื่นที่แตกต่างไปจากตนนั้น คนตะวันตกมักคิดว่าตนมีเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่เลิศเลอกว่าชนชาติอื่นๆ ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าพวกตนคือผู้นำความเจริญของโลกจึงเกิดคนหลายกลุ่ม หลายเหล่า หลายชาติทางตะวันตกที่สำคัญตนผิดทั้งในด้านดีและชั่วในเวลาเดียวกัน

ด้านดี คือ พวกที่ไปเที่ยวสอนศาสนาซึ่งอาจมีทั้งบังคับและแนะนำให้คนอื่นเลิกเชื่อถือศาสนาเดิมของตนหันมานับถือพระเจ้าของตนตะวันตก ก็นับเป็นเจตนาดีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดการทำลายและความเสียหายก็มาก ส่วนที่ชั่วก็คือคนตะวันตกที่แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า เศรษฐกิจ และการเมืองที่เข้าไปยึดครองดินแดนและผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ ในยุคล่าอาณานิคมจะสร้างความเจ็บปวดให้แก่มนุษย์ส่วนใหญ่ของโลกก็ว่าได้

แต่จากความชั่วร้ายที่คนตะวันตกพวกหนึ่งสร้างเคราะห์กรรมให้กับมนุษย์ด้วยกันในภูมิภาค อื่นๆของโลกนั้น คนตะวันตกที่มีความคิดดี มีมนุษยธรรมก็ตระหนักถึงความชั่วร้ายของพวกตน จึงเกิดการเคลื่อนไหวทางมนุษยธรรมที่ต่อต้าน ทั้งในด้านการดำเนินการทางองค์กรและการกุศลที่เป็นส่วนตัว เกิดกระบวนการศึกษาเพื่อความเข้าใจในเรื่องความเป็นมนุษย์ขึ้นมา และวิชามานุษยวิทยาก็ถือผลิตผลของกระบวนการเคลื่อนไหวและเรียนรู้เหล่านี้ด้วยเช่นกัน

หัวใจของวิชามานุษยวิทยาอยู่ที่การเห็นมนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกันหมด ส่วนที่ใครจะเก่งกว่าใคร ดีเลิศกว่าใครนั้น เป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อม โอกาส ความชอบ ความถนัด โดยเฉพาะการมองว่าใครเป็น ‘อัจฉริยะ’ นั้นก็ดูเป็นเรื่องของการใช้ค่านิยมของปัจเจกบุคคลหรือของคนบางกลุ่มมาตัดสิน เพราะคนบางกลุ่มอาจจะเห็นว่าผู้ที่เป็น ‘อัจฉริยะ’ นั้นเป็นคนบ้าหรือปัญญาอ่อนได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น สังคมไทยมักจะยกย่องว่าคนที่เรียนเก่งทางวิทยาศาสตร์คือ พวกที่เป็นอัจฉริยะ จึงให้การสนับสนุนส่งเสริมในการเรียนรู้ เพื่อการค้นพบและการสร้างสรรค์การประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมาทั้งๆที่เทคโนโลยีหลายอย่างที่สร้างมานั้น คือสิ่งที่ทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นเครื่องมือและความรู้ของคนที่ชั่วร้ายในสังคมนำไปใช้เพื่อเอาเปรียบคนอื่นๆที่ด้อยโอกาสกว่า

ซึ่งแต่ก่อนแล้วถ้าเป็นคนตะวันตกก็จะต้องออกมาศึกษากลุ่มคนต่างวัฒนธรรม ต่างเผ่า ต่างพันธุ์ นอกประเทศที่ตนอยู่ แล้วนำเอาเรื่องที่ตนเห็นตนได้ศึกษาวิเคราะห์ มาเขียนเป็นผลงานการวิจัยหรือการค้นคว้าให้เป็นความรู้แก่ผู้อื่น นักศึกษาทางมานุษยวิยาก็จะเรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์ในสังคมอื่นและวัฒนธรรมอื่น จากผลงานเหล่านี้ซึ่งอาจมีทั้งแนวคิดทฤษฎีและเนื้อหา แต่เท่านี้ยังพบว่าไม่พอเพียงต้องออกไปมีประสบการณ์ทางภาคสนามด้วย การเรียนหรือรับฟังเรื่องราวจากเอกสาร หรือสิ่งที่ผู้อื่นเขียนไปอ่านนั้นไม่มีทางที่จะเข้าใจในเรื่องความเป็นมนุษย์ได้ หากต้องเรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะที่รู้จักตนเองท่ามกลางการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นสำคัญ

» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา

» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา

» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

» ชาติพันธุ์วรรณา

» มานุษยวิทยาภาคสังคม

» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง

» ประโยชน์ของวิชามานุษยวิทยา

» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา

» การเปลี่ยนแปลงของแนวทฤษฎีที่ศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวมฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย