สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
มานุษยวิทยา
แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา
ในบทก่อนหน้าผู้เรียบเรียงได้กล่าวถึงลักษณะของวิชามานุษยวิทยาว่าเป็นแขนงวิชาที่มีการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาสาระกว้างมากสำหรับอีกสาขาหนึ่งของการศึกษาในหมวดสังคมศาสตร์
ในส่วนนี้ผู้เรียบเรียงจะนำเสนอต่อไปถึงทฤษฏีแนวคิดทางมานุษยวิทยาที่สำคัญสำหรับใช้เป็นแนวทางในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาได้มากมาย
แต่ในที่นี้จะนำเสนอเพียง 8 ทฤษฎีสำคัญเท่านั้น ได้แก่
ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural Functional Theory)
นักมานุษยวิทยาที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ เอ.อาร์ แรดคลิฟฟ์
บราวน์ (A.R. Radcliffe-Brown) นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ และ โบรนิสลอร์ มาลิเนาสกี
(Bronislaw Malinowski) ให้ความเห็นว่า
การจะเข้าใจระบบเศรษฐกิจนั้นจะต้องเข้าใจถึงโครงสร้างสังคมก่อนและระบบเศรษฐกิจเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างสังคม
แนวคิดนี้เชื่อว่า สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและก้าวหน้าขึ้น
การศึกษาสังคมตามแนวคิดนี้มักจะให้ภาพนิ่งมากกว่าภาพที่เคลื่อนไหว
สำหรับในเรื่องความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (Social Solidarity)
จะทำให้มองภาพความขัดแย้งหรือเสียระเบียบทางสังคมว่าเป็นพยาธิสภาพทางสังคม (Social
Pathological) และจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้สังคมมีความเป็นระเบียบมากขึ้น
เนื่องจากนักทฤษฎีในแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก เอมีล เดอร์คามส์ (Emile
Durkheim) ผู้ซึ่งเน้นงานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศาสนา
ให้ความสำคัญกับจิตใจเหนือวัตถุ (มนตรี กรรพุมมาลย์ 2539) งานส่วนใหญ่ของบราวน์
และนักคิดคนอื่นๆในสายเดียวกันจะเน้นศึกษาระบบเครือญาติโดยใช้ข้อมูลชาติพันธุ์วรรณา
(Ethnography)
แสดงความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างคนที่มีความผูกพันทางสังคมแต่ขัดแย้งกันในความสัมพันธ์
มีการยอมรับความขัดแย้งและจัดการอย่างเป็นทางการจนทำให้ช่วยลดความขัดแย้งได้และสังคมก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้ในที่สุด
โดยสรุปแล้วทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ สนใจความต้องการของปัจเจกบุคคล
(ผู้กระทำ) และโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น สถาบัน สังคม
ค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้
รวมทั้งเน้นความสัมพันธ์ทางสังคมโดยเฉพาะกลไกเพื่อขจัดการความขัดแย้งในความสัมพันธ์ดังกล่าว
ทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ (Culture and Personality Theory)
นักคิดที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict)
และมาร์การ์เรต มี้ด (Margaret Mead) งานศึกษาชิ้นสำคัญของเบเนดิกต์ ชื่อ Patterns
of Culture (1934) ศึกษาสังคมอเมริกัน-อินเดียน
เน้นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมและการปรับตัวของปัจเจกบุคคล
และได้เสนอความคิดเกี่ยวกับรูปลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Configuration)
ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถือว่าส่วนประกอบต่างๆของวัฒนธรรมมีลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
และรวมเป็นหนึ่งเดียว เบเนดิกต์เชื่อว่า
ปัจเจกบุคคลและกระบวนการทางจิตวิทยาของปัจเจกบุคคลมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมด้วย
ทฤษฎีนี้ใช้ได้ในการศึกษาสังคมสมัยใหม่ โดยศึกษาลักษณะประจำชาติ
(National Character) ของสังคมต่างๆ เช่น อเมริกา ไทย ญี่ปุ่น
ประเด็นที่พบจากการศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ
บุคลิกภาพที่มีคุณค่าในสังคมหนึ่งอาจกลายเป็นความผิดปกติทางจิตหรือเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนในอีกสังคมหนึ่งก็ได้
เอดเกอตัน (Edgerton) ได้ศึกษาชนเผ่าต่างๆ 4 เผ่าในแอฟริกาตะวันออก
โดยแบ่งแต่ละเผ่าออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ (1) กลุ่มเกษตรกร (2) กลุ่มเลี้ยงสัตว์
โดยพบว่า ชนเผ่าทั้ง 4 ต่างมีความแตกต่างในบุคลิกภาพ
และพบอีกว่ากลุ่มทั้งสองประเภทจากเผ่าเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย เช่น
กลุ่มเลี้ยงสัตว์เป็นปัจเจกบุคคลมากกว่ากลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
มี้ด ได้เขียนหนังสือชื่อ Coming of Age in Samon (1928)
โดยชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะที่สำคัญของวัฒนธรรมส่วนรวมของชาวเกาะซามัวที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบ
(Formalism) หรือการกำหนดพฤติกรรมอย่างเคร่งครัดแน่นอนตายตัว
ทำให้ปัจเจกบุคคลมีทางเลือกน้อยลง
โดยสรุปแล้วเนื้อหาสาระของทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับบุคลิกภาพ
เพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมจะเป็นเครื่องมือช่วยในการปรับตัวของปัจเจกบุคคล
ขณะเดียวกันบุคลิกภาพก็อาจเป็นเครื่องช่วยให้วัฒนธรรมและสังคมดำรงอยู่ได้
ทฤษฎีนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรม (Cultural Ecology Theory)
นักมานุษยวิทยากลุ่มนี้ที่สำคัญได้แก่จูเลียน เอช สจ็วต
(Julian H. Steward), แดรี่ ฟอร์ด(Daryl! Forde), คลิฟฟอร์ด กีทซ์ (Clifford Geetz)
และมาร์วิน แฮร์รีส (Marvin Harris)
สจ็วต ให้ความหมายนิเวศน์วิทยาว่า
คือการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม นิเวศน์วิทยาทางวัฒนธรรม
จึงหมายถึงวิธีการศึกษาหาข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม
ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อม (ของมนุษย์แต่ละสังคม)
นิเวศน์วิทยาวัฒนธรรมจึงแตกต่างไปจากนิเวศน์วิทยาสังคม (Social Ecology)
เพราะนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรมมุ่งแสวงหากฎเกณฑ์เพื่ออธิบายที่มาของลักษณะและแบบแผนวัฒนธรรมบางประการที่มีอยู่ในแต่ละสภาวะแวดล้อม
มากกว่ามุ่งแสวงหาหลักการทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม
สิ่งที่สำคัญที่สุดในแนวคิดนี้คือ แก่นวัฒนธรรม (Cultural Core) ซึ่งหมายถึง
กลุ่มของลักษณะหรือแบบแผนวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากที่สุดกับกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพและการจัดการทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้จะมุ่งสนใจการนำวัฒนธรรมทางวัตถุ
(ระบบเทคนิควิทยาที่ใช้หรือเครื่องมือเทคโนโลยี)
มาใช้แตกต่างกันอย่างไรและก่อให้เกิดการจัดการทางด้านสังคมที่แตกต่างกันอย่างไรในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน
เพราะสภาวะแวดล้อมแต่ละแห่งอาจเป็นตัวช่วยหรือข้อจำกัดใช้เทคนิควิทยาเหล่านี้ก็ได้
ในขณะที่แฮร์รีส ศึกษาการทำสงครามของชนบรรพกาล (Primitive Warfare)
โดยอธิบายว่า
สงครามเป็นกลไกอันหนึ่งในการปรับจำนวนประชากรให้เหลือพอที่จะสามารถอาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์หนึ่งได้อย่างเหมาะสม
ส่วนกรีทซ์
ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแบบแผนการเกษตรในอินโดนีเซีย ได้เขียนหนังสือ
Agricultural Involution (1963)
ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบนิเวศน์ที่มีต่อโครงสร้างสังคม
หัวใจที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ การรวมเอาระบบสังคม
วัฒนธรรมและสภาวะทางชีววิทยาเข้าด้วยกันในการศึกษาการพัฒนาของสังคม
ทฤษฎีนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรมเน้นว่า
ความเชื่อและการปฏิบัติต่างๆตามระบบวัฒนธรรมที่ดูเหมือนไร้สาระ ไม่มีเหตุผล
แต่อาจมีผลในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลก็ได้
โดยคำนึงถึงระดับของเทคโนโลยีที่ใช้เฉพาะสถานที่ด้วย เช่น
การกินเนื้อวัวเป็นของต้องห้ามของชาวฮินดูทั้งที่ความอดอยากยากจนมีไปทั่วอินเดียนั้น
แฮร์รีสอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่า การห้ามกินเนื้อวัวมีความหมายว่าวัวมีไว้ใช้ลากคันไถ
หากไม่มีวัวก็จะไม่อาจทำการเกษตรได้
ดังนั้นข้อห้ามทางศาสนาจึงเป็นการเพิ่มความสามารถของสังคมเกษตรกรรมในระยะยาว
โดยสรุปแล้วทฤษฎีนิเวศน์วิทยาวัฒนธรรมนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชากร
สิ่งแวดล้อมทางสังคมและลักษณะทางกายภาพในสังคมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion Theory)
ทฤษฎีนี้จะเน้นถึงกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
เรียกว่า ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ (Historical Particularism)
นักมานุษยวิทยาในแนวความคิดนี้คือ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas)
เป็นนักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันทำงานในตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นว่า
การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมหนึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง
โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่
นอกจากนั้นยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดแนวคิดที่เชื่อว่า วัฒนธรรมสามารถวัดได้
โดยนำวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันและพิจารณาคุณลักษณะที่สูงกว่าหรือด้อยกว่าของแต่ละวัฒนธรรม
แต่ยังคงเชื่อว่าวัฒนธรรมนั้นไม่มีวัฒนธรรมใดที่ดีกว่าหรือเลวกว่ากัน
เอช.จี. บาร์เนท (H.G. Barnett)
นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้ซึ่งสนใจศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับนวัตกรรม
(Innovation) ที่ถือว่าเป็นตัวแทนจากวัฒนธรรมหนึ่งและมีการถ่ายทอดไปยังวัฒนธรรม
อื่น ในงานเขียนชื่อ Innovation : The Basis of Cultural Change (1953)
กล่าวไว้ว่านวัตกรรมก็คือ ความคิดหรือพฤติกรรมหรือสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นของใหม่
เพราะมันแตกต่างทางด้านคุณภาพไปจากรูปแบบที่มีอยู่ บาร์เนทเชื่อว่า
วัฒนธรรมเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรม
แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมอาจเป็นตัวถ่วงหรือไม่สนับสนุนให้เกิดมีนวัตกรรมก็ได้
ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีวิธีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในสังคมหรือวัฒนธรรม
เอฟเวอเรท เอ็ม. โรเจอร์ (Everett M. Rogers) ผู้เขียนงานชื่อ
Diffusion of Innovations ได้เน้นว่า
การเปลี่ยนแปลงสังคมส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามามากกว่าเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นภายในสังคม
และนวัตกรรม (Innovation) ที่ถ่ายทอดกันนั้นอาจเป็นความคิด (Idea)
ซึ่งรับมาในรูปสัญลักษณ์ (Symbolic Adoption) ถ่ายทอดได้ยาก หรืออาจเป็นวัตถุ
(Object) ที่รับมาในรูปการกระทำ (Action Adoption) ซึ่งจะเห็นได้ง่ายกว่า โรเจอร์
ยังได้กล่าวอีกว่า นวัตกรรมที่จะยอมรับกันได้ง่าย ต้องมีลักษณะ 5 ประการ ได้แก่
(1) มีประโยชน์มากกว่าของเดิม (Relative Advantage) (2)
สอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคมที่รับ (Compatibility) (3) ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก
(Less Complexity) (4) สามารถแบ่งทดลองรับมาปฏิบัติเป็นครั้งคราวได้ (Divisibility)
และ (5) สามารถมองเห็นเข้าใจง่าย (Visibility)
นอกจากนั้นโรเจอร์ยังได้นำเสนอขั้นตอนการตัดสินใจรับเอานวัตกรรมใหม่อีก 5
ขั้นตอนได้แก่ (1) ขั้นตอนในการรับรู้นวัตกรรม (Awareness) (2)
เกิดความสนใจในนวัตกรรมนั้นๆ (Interest) (3) ประเมินค่านวัตกรรม (Evaluation) (4)
ทดลองใช้นวัตกรรม (Trial) และ (5) การรับหรือไม่รับเอานวัตกรรม (Adoption or
Refection) โดยผู้รับนวัตกรรมอาจมีทั้งผู้รับเร็วหรือช้าแตกต่างกันไป
โดยสรุปทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมนี้จะช่วยอธิบายวิธีการ/ขั้นตอน
ของการเผยแพร่วัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง
ซึ่งจะต้องคำนึงถึงข้อเหมือนและข้อต่างของวัฒนธรรมทั้งสองเป็นสำคัญ
นอกจากทฤษฎีมานุษยวิทยา 4 สายหลักๆข้างต้นแล้ว
ยังมีแนวคิดทางมานุษยวิทยาอื่นๆที่เกี่ยวข้องและสามารถนำมาปรับใช้ได้ดีในงานพัฒนาชุมชน
ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆได้ดังนี้
ทฤษฎีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม (Cultural Progress)
นักมานุษยวิทยาในกลุ่มนี้ เช่น เลสลี่ เอ. ไวท์ (Leslie A.
White) ชาวอเมริกัน ผู้เสนอกฎพื้นฐานของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมตามสูตร E x T = C
โดยที่
E คือ ปริมาณพลังงานที่แต่ละคนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในแต่ละปี (Energy)
T คือ ประสิทธิภาพของเครื่องมือทางเทคนิควิทยาในการนำพลังงานมาใช้ (Technology or
Efficiency of Tools)
C คือ ระดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม (Degree of
Cultural Development)
แนวคิดความล้าหลังทางวัฒนธรรม (Cultural Lag)
นักคิดในกลุ่มนี้ เช่น วิลเลียม อ็อก-เบอร์น (william Ogburn)
นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันมองว่า
การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะก่อให้เกิดภาวะการปรับตัวไม่ทันขึ้นเสมอ
ทำให้เกิดความเฉื่อยหรือความล้าหลังทางวัฒนธรรมขึ้น เช่น
วัฒนธรรมทางวัตถุทำให้สังคมเจริญแล้ว เช่นการมีรถยนต์ขับ แต่วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ
อันได้แก่ ค่านิยม ประเพณียังไม่ปรับตัวกลมกลืนกับวัฒนธรรมทางวัตถุ
เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรม ขาดการศึกษา
แม้จะมีรถยนต์แต่การปฏิบัติตามกฏจราจรยังเกิดไม่เท่ากับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น
แนวคิดมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ (Economic Anthropology)
เป็นแนวคิดที่นำความรู้ด้านเศรษฐกิจมาผสมผสานกับวิธีการทางการศึกษามานุษยวิทยา
เพื่อใช้ศึกษาลักษณะเศรษฐกิจของสังคม
ซึ่งช่วยก่อให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมของคนในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
จึงสนใจในการใช้แบบแผนทางวัฒนธรรมในเรื่องกรรมสิทธิ์ของปัจจัยการผลิต วิธีการผลิต
(เทคโนโลยีที่ใช้) และการกระจายผลผลิตที่ได้จากผลิต (ระบบตลาด)
มาเป็นกรอบในการพิจารณา
» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา
» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา
» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง
» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา