สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
มานุษยวิทยา
ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
(ในอเมริกาคำว่า Ethnology และ Cultural anthropology สามารถใช้แทนกันได้)
เป็นการศึกษาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกันของวัฒนธรรมต่างๆที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน
โดยมีมโนภาพ วัฒนธรรม เป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญ
มานุษยวิทยาวัฒนธรรมเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม
นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมมีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบและอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในทุกแง่มุมของชีวิตทางสังคม
ทั้งนี้เพื่อวางกฏเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมานุษย์วิทยาวัฒนธรรม
คือนักมานุษยวิทยาจะศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในทุกแง่มุมของชีวิตในสังคมต่าง
เช่นการศึกษาของมาลิเนาสกี้ (Mailnowski)
ที่ทำการศึกษาพิธีกรรมการค้าขายพบว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่าสองชิ้นของสังคมโทรเบรียนนั้นเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวเกาะทำคือเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ
สถานภาพทางสังคม เกียรติคุณ ความเชื่อและการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา
รวมทั้งค่านิยมและทัศนคติด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าแม้มานุษยวิทยาจะเป็นวิชาที่มีขอบข่ายที่กว้างขวางมาก
แต่ในความเป็นจริงนักมานุษยวิทยาแต่ละคนศึกษาแต่ปัญหาแคบๆเท่านั้น
ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมานุษยวิทยาวัฒนธรรมคือการใช้
ระเบียบวิธีการเปรียบเทียบ (Comparative Method) เพื่อเสาะแสวงหาความสม่ำเสมอ
หากระบวนการที่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปหรือกระบวนการที่ต่อเนื่องของวัฒนธรรมในทุกสังคมทุกเวลาและทุกสถานที่ในโลกนี้
ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการเปรียบเทียบวัฒนธรรมต่างๆทำให้วิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมมีขอบเขตเนี้อหาสาระที่กว้างขวางที่สุดในหมวดสังคมศาสตร์
เพราะมีลักษณะเป็นการศึกษาข้ามวัฒนธรรม มานุษยวิทยาวัฒนธรรมให้ทัศนคติในการมองโลก
(World View) ที่ให้ความหมายแก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เห็นและทำ
ความหมายของมานุษยวิทยาจะช่วยให้มนุษย์มีความสำเร็จในวิชาชีพ
ที่สำคัญที่สุดคือการมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
มานุษยวิทยาให้ความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับโลกที่เราอยู่อาศัย
และเพื่อนมนุษย์ที่อาศัยในสังคมต่างๆในโลกนี้
แต่ก่อนการศึกษาของนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
เน้นศึกษาสังคมดั้งเดิมหรือสังคมที่ยังไม่รู้หนังสือ
ในขณะที่ปัจจุบันนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมหันกลับมาให้ความสนใจศึกษาสังคมทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับดั้งเดิม
สังคมเกษตรกรรมหรือสังคมอุตสาหกรรมตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
นอกจากนี้มานุษยวิทยาวัฒนธรรมยังประกอบไปด้วยสาขาย่อยๆอีกหลายสาขา
โดยที่นักมานุษยวิทยาแต่ละคนจะเลือกศึกษาวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะที่ตัวสนใจเท่านั้น
มานุษยวิทยาวัฒนธรรมจึงแบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้
- มานุษยวิทยาการเมืองปกครอง (Political Anthropology) นักมานุษยวิทยาประเภทนี้ เน้นศึกษาระบบการเมืองหรือศึกษาเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจในสังคมหรือชุมชนนั้นๆ
- มานุษยวิทยาศาสนา (Anthropology of Religion) เน้นศึกษาระบบความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งการปฏิบัติในทางศาสนาหรือพิธีกรรมต่างๆ ด้วย
- มานุษยวิทยาเศรษฐกิจ (Economic Anthropology) เน้นศึกษาระบบเศรษฐกิจหรือวิธีทำมาหากินของมนุษย์ในสังคมต่างๆ
- การศึกษาระบบเครือญาติและการจัดระเบียบทางสังคม (Kinship and Social Organization) เน้นศึกษาระบบครอบครัวและเครือญาติในสังคมต่างๆ
- มานุษยวิทยาเชิงจิตวิทยา (Psychological Anthropology) เน้นศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในระดับบุคคล เช่นเดียวกันกับจิตวิทยาสังคม
- ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture) เน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม กับวัฒนธรรมด้านอื่นๆ
- มานุษยวิทยานคร (Urban Anthropology) เน้นศึกษาชุมชนเมืองในสังคมกำลังพัฒนาและสังคมที่พัฒนาแล้ว
- นิเวศน์วิทยาวัฒนธรรม (Cultural Ecology) เน้นศึกษาการปรับตัวของมนุษย์เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม
- มานุษยวิทยาการแพทย์ (Medical Anthropology) เน้นศึกษาการแพทย์แผนโบราณ การสาธารณสุข การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยในสังคมกำลังพัฒนาและที่พัฒนาแล้ว
- การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (Culture Change) เน้นศึกษาถึงปัจจัย หรือกระบวนการต่างๆที่ทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคมหรือชุมชนด้วย
ตัวอย่างงานวิจัยของนักชาติพันธุ์วิทยา (Ethnologist)
การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการสูญเสียวัฒนธรรม (Deculturation)
และการผสมผสานทางวัฒนธรรม(Assimilation) ของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้แก่
ระบบเศรษฐกิจที่อาจจะถูกบูรณาการเข้ากับระบบเศรษฐกิจของศูนย์กลาง
ลำดับชั้นทางการเมืองตามประเพณี อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก
ลัทธิความเชื่อทางศาสนา ได้แก่การถือผีบรรพบุรุษและผีต่างๆ
ก็จะถูกศาสนาของศูนย์กลาง (คือศาสนาพุทธ) เข้ามาแทนที่
โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม เช่นการแต่งงาน การเลือกที่อยู่หลังการแต่งงาน
ก็จะถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของแบบแผนทางวัฒนธรรมของศูนย์กลาง
เช่นเดียวกับภาษาก็ย่อมจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศูนย์กลางเช่นเดียวกัน
เฟรดริก บาธ
ได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าเราจะถือกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหน่วยที่ยึดถือวัฒนธรรม
(Culture-bearing Unit) จะทำให้เรากำหนดและแยกความแตกต่างทางชาติพันธุ์
โดยอาศัยรูปลักษณ์ภายนอก (Morphological Characteristics) ของวัฒนธรรม
ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก
ถ้าเราไปเน้นความสำคัญของหน่วยที่ยึดถือวัฒนธรรมจะทำให้การจำแนกประเภทบุคคลเหรือกลุ่มท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ต้องอาศัยลักษณาการทางวัฒนธรรม
(Cultural Traits) ที่ปรากฏให้เห็นจากการสังเกตการณ์ของนักมานุษยวิทยา
ในอาณาเขตทางวัฒนธรรมหนึ่งโดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะ
ประเภทและความรู้สึกนึกคิดของคนภายในกลุ่ม
เมื่อเป็นดังนั้นความแตกต่างระหว่างกลุ่มก็จะกลายเป็นรายการลักษณะความแตกต่าง
(trait inventories) และการวิเคราะห์เองก็จะกลายเป็นการวิเคราะห์วัฒนธรรม (Ethnic
Organization)
นอกจากนี้ความสันพันธ์ในลักษณะพลวัตรระหว่างกลุ่มก็จะได้รับการพิจารณาในลักษณะที่เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม
(Acculturation)
ซึ่งเป็นแนวการศึกษาที่นักมานุษยวิทยาในสมัยอาณานิคมเคยใช้ศึกษาอิทธิพลของการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างชาวตะวันตกกับกลุ่มชนพื้นเมืองซึ่งในปัจจุบันเป็นแนวการศึกษาที่พ้นสมัยไปแล้ว
ประการที่สอง รูปลักษณ์วัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นภายนอกอาจถือได้ว่า
เป็นผลของการปรับตัวทางนิเวศน์วิทยา (Ecological Effects)
ของกลุ่มต่อสภาพแวดล้อมภายนอก อย่างเช่น
ในเรื่องอาหารการกินของชนกลุ่มหนึ่งก็อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงพืชพันธ์ธัญญาหาร
ตลอดจนสัตว์สิ่งที่มีชีวิตที่ปลูกหรือเลี้ยงหรือสามารถจะหาได้ในบริเวณที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มนั้น
อย่างปัจจุบันในภาคเหนือพืชเมืองหนาวจำพวกกะหล่ำปลี แครอต มันฝรั่งและอื่นๆ
ได้รับการแนะนำเข้าไปและปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งที่อยู่บริเวณพื้นราบและบนภูเขา
วัสดุที่ใช้ในการปรุงอาหาร ตลอดจนรูปแบบของอาหารการกินก็เปลี่ยนไป
อาหารประเภทโปรตีนอย่างเช่นเนื้อ
นมและปลาก็มีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมโปรตีนที่เคยได้รับจากพืชผักเป็นส่วนใหญ่
การปลูกบ้านเรือนก็เช่นเดียวกัน วัสดุที่ใช้แต่เดิมก็เป็นสิ่งที่หาได้ในบริเวณนั้น
เช่น บ้านของชาวเขาในบางจังหวัดของภาคเหนือ
สมัยหนึ่งอาจจะใช้ไม้จริงและไม้ไผ่เป็นวัสดุและส่วนประกอบที่สำคัญของบ้านเรือน
แต่ต่อมาเมื่อต้นไม้ใหญ่และป่าไผ่หมดไป
ประกอบกับการได้เรียนรู้เทคนิคในการทำผนังบ้านด้วยดิน จากชนกลุ่มอื่น
(เช่นจากชาวยูนาน ที่อพยพจากดินแดนตอนใต้ของจีน)
ชาวเขาในบริเวณจังหวัดเชียงรายก็เริ่มหันมาสร้างกำแพงบ้านด้วยดิน
หรือใช้วัสดุก่อสร้างที่หาซื้อได้จากในเมือง เช่น ซีเมนต์บล็อกและกระเบื้อง
และใช้สังกะสีมุงหลังคา รูปลักษณ์ของบ้านเรือนตามประเพณีดั้งเดิม
จากบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงหรือปลูกติดกับดินก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นบ้านสองชั้น
เช่นเดียวกับชาวไทยที่อยู่บนพื้นราบหรือในเมือง
เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็เช่นเดียวกัน
ด้ายหรือไหมที่ใช้ทอผ้าที่เคยผลิตเองจากฝ้ายหรือปอที่ปลูกในไร่
ก็สามารถซื้อหามาได้จากตลาดรวมทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบคนเมือง
เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเสื้อผ้าและการแต่งกายของชาวเขาได้เปลี่ยนรูปแบบและมีความแตกต่าง
จากที่เคยเป็นอยู่เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตความเป็นอยู่
ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอื่นๆก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ยึดถือวัฒนธรรมหนึ่งมีระบบค่านิยมและความคิดต่างๆเหมือนกัน
อาจจะมีวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมที่ยอมรับเป็นสถาบันแตกต่างกัน
ถ้าต้องเผชิญกับโอกาสที่เปิดให้ ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
และในทำนองเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ที่แพร่หลายกระจายอยู่ในอาณาบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์วิทยาต่างกัน
อาจจะมีรูปแบบพฤติกรรมที่เป็นสถาบันที่ไม่แตกต่างกันก็ได้
ดังนั้นจึงไม่เป็นการเพียงพอที่เราจะยึดถือรูปลักษณ์ภายนอกว่าเป็นส่วนประกอบของลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรมในระยะเวลาหนึ่ง
ในการกำหนดอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกต่างๆดังกล่าวเป็นผลของการปรับตัวทางนิเวศน์วิทยาเท่าๆกับเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม
ขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าความแตกต่างที่ปรากฎอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง
จะเป็นตัวกำหนดในขั้นแรกที่จะก่อให้เกิดการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย
หรือการขยายกลุ่มเพิ่มขึ้น
เพราะจากหลักฐานที่มีอยู่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีระดับองค์กรทางเศรษฐกิจง่ายๆที่มีอยู่ในบริเวณนิเวศน์วิทยาที่แตกต่างจำนวนหนึ่ง
จะสามารถดำรงความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมไว้ได้ตลอดระยะเวลายาวนานระยะหนึ่ง
นั่นคือเฟรดริก บาธ
ได้ชี้ให้เห็นว่าในการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางด้านสภาพแวดล้อมนิเวศน์วิทยาที่มีต่อพฤติกรรมและผลกระทบที่เกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีทางวัฒนธรรม
ในการศึกษาวิเคราะห์และกำหนดความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์
จำเป็นต้องแยกปัจจัยสองประเภทออกจากกันและทำการวิเคราะห์องค์กรทางสังคม
แทนที่จะเป็นลักษณะภายนอกอันเป็นผลการปรับตัวของสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์
งานศึกษาเกี่ยวกับหน่วยและพรมแดนทางชาติพันธุ์ (สุเทพ สุนทรเภสัช 2543)
การกำหนดขอบเขตของหน่วยชาติพันธุ์ (ethnic unit)
และการที่จะอธิบายว่าหน่วยชาติพันธุ์หนึ่งสามารถจะดำรงอยู่ได้อย่างไร
เป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญในหมู่นักมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์อื่นๆ
แม้กระนั้นก็ยังไม่มีความเห็นลงรอยกันเกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้กำหนดหน่วยชาติพันธุ์
ปัญหาและความสับสนที่เกิดขึ้นในความพยายามดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่นักมานุษยวิทยา
ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆที่จะใช้เป็นตัวกำหนดตัวตนทางสังคม
เป็นต้นว่ากลุ่มชน (Peoples) เผ่าพันธุ์ (Tribes) สังคม (Society) และวัฒนธรรม
(Culture)
ราอูล นาโรลล์
นักมานุษยวิทยาจึงได้ทำการศึกษาและเสนอเกณฑ์ที่จะใช้กำหนดหน่วยทางชาติพันธุ์ที่สำคัญ
6 ประการ ได้แก่
- การกระจายตัวของลักษณะสำคัญ (TRAITS DISTRIBUTION)
- ความใกล้ชิดทางอาณาเขต (TERRITORIAL CONTIGUITY)
- องค์กรทางการเมือง (POLITICAL ORGANIZATION)
- ภาษา (LANGUAGE)
- การปรับตัวทางนิเวศน์ (ECOLOGICAL ADJUSTMENT)
- โครงสร้างชุมชนท้องถิ่น (LOCAL COMMUNITY STRUCTURE)
ในขณะเดียวกันไมเคิล มอร์มัน นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เคยเข้ามาศึกษาหมู่บ้านชาวไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กลับโต้แย้งว่าเกณฑ์ต่างๆที่นาโรล เสนอนั้นก็คือเกณฑ์ที่ใช้กำหนดหน่วยทางชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นหน่วยยึดถือวัฒนธรรมที่เขาเห็นว่ามีข้อจำกัดสำคัญ 3 ประการ คือ
- เนื่องจากตัวกำหนด เช่นภาษา วัฒนธรรมและองค์กรทางการเมือง
ขาดสหสัมพันธ์ต่อกันอย่างสมบูรณ์
หน่วยต่างๆที่กำหนดโดยเกณฑ์อย่างหนึ่งอาจจะไม่สอดรับกับหน่วยที่ใช้เกณฑ์อีกอย่างหนึ่งกำหนด
- ถ้าคำว่า วัฒนธรรม ถูกใช้โดยต้องการจะให้หมายถึงแบบแผน
แผนการหรือโครงร่างของการดำเนินชีวิตแล้ว
หน่วยที่เกิดอันเป็นผลมาจากผลรวมของตัวกำหนดดังกล่าวรวมทั้งตัวกำหนดอื่นๆที่นาโรลล์เสนอก็อาจถือได้ว่า
เป็นหน่วยยึดถือวัฒนธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในสภาวการณ์และระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
- เป็นการยากที่ใช้ภาษา วัฒนธรรม องค์กรทางการเมือง สังคมหรือระบบเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนดขอบเขตตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจนด้วยเหตุผลต่างๆดังกล่าว ดังนั้น มอร์มัน จึงมีความเห็นว่าการกำหนดหน่วยชาติพันธุ์ เป็นปัญหาในทุกภูมิภาคของโลกโดยที่เราไม่สามารถใช้ลักษณะวัตถุวิสัยหรือที่เป็นรูปธรรม (Objective Characteristics) อย่างเช่นภาษาและแบบแผนการดำเนินชีวิต ในการกำหนดหน่วยชาติพันธุ์หนึ่งว่าเริ่มต้นตรงไหนและสิ้นสุดตรงไหนได้
ด้วยความยากลำบากในการที่จะแบ่งกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมนี้เอง
นักวิชาการบางคนจึงต้องอาศัยลักษณะสำคัญ (Traits)
และสถาบันต่างๆจำนวนหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีความสำคัญ
ไม่ว่าในทางทฤษฎีหรือที่สถาบันในสังคมต้องพึ่งพาอาศัย
หรือไม่ก็อาจจะเป็นลักษณะสำคัญที่หน่วยวัฒนธรรมนั้นใช้กำหนดตนเอง
หรือถูกกำหนดโดยกลุ่มเพื่อนบ้าน เป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
ในปัจจุบันการศึกษาวิเคราะห์ต่างวัฒนธรรม
หน่วยที่ใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบมักจะเป็นหน่วยสังคม (Society) มากกว่าวัฒนธรรม
นักมานุษยวิทยา อาจจะใช้เกณฑ์ต่างๆเช่น การสิ้นสุดของการพึ่งพาอาศัยกัน
(Discontinuities Of Dependency) เป็นเครื่องช่วยในการแบ่งหน่วยสังคม
แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความยุ่งยากลดน้อยลง ในการที่จะกำหนดว่าระดับการเมือง
เขตแดน วัฒนธรรมและภาษา ของหน่วยๆหนึ่งสิ้นสุดลงและเริ่มต้นใหม่ที่ตรงไหน
นอกจากนี้เราจะไม่พบตัวตนทางสังคมใดที่ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตัวเอง
จากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาในบริเวณแผ่นดินใหญ่ของเอเชียอาคเนย์
ซึ่งเป็นบริบทของดินแดนในภาคเหนือของประเทศไทย
พบว่ากลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมหลากหลายอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์
ทั้งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างมาก
ต่างก็มีรูปแบบการพึ่งพาอาศัยกันและกันในลักษณะที่ไม่สามารถจะแยกเป็นอิสระจากกันได้อย่างชัดเจน
จากความเป็นจริงดังกล่าว การศึกษาชาวไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ของไมเคิล มอร์มันได้พบว่า
การที่จะกำหนดอัตลักษณ์ของความเป็นไทลื้อหรือการที่จะกล่าวว่าชาวไทลื้อ
มีตัวตนและการที่จะเข้าว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ
สามารถดำรงอยู่ได้อย่างไรในประเทศไทยปัจจุบันจะไม่สามารถทำได้โดยการแยกพิจารณาชาวไทลื้อว่าเป็นเผ่าพันธุ์อิสระจากชาวไทยเหนือและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งความเป็นชาวไทลื้อจะต้องพิจารณาในบริบทของสังคมในส่วนรวม
(Larger Social System) ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆรวมอยู่ด้วย
มอร์มันได้อ้างคำกล่าวของอาร์.เอฟ.เมอร์ฟี ที่ว่า
ความเป็นสมาชิกภาพในกลุ่มความร่วมมือขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่จะใช้กำหนดผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม
(The Excluded) คือความรู้สึกในความเป็นคนอื่น (Otherness) เป็นสิ่งสำคัญ
ในการที่จะนิยามหน่วยสังคม กำหนดและธำรงไว้ซึ่งพรมแดนของหน่วยสังคม
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
ปุถุชนคนหนึ่งจะถือว่าเป็นสมาชิกของสังคมหนึ่งก็โดยที่เขาไม่ได้เป็นสมาชิกของสังคมอื่นใดในการกำหนดตัวตนทางชาติพันธุ์นั้น
ปุถุชนจะกำหนดว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร
ใครบ้างที่ถือว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มและใครบ้างที่ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม
ซึ่งก็เท่ากับเป็นการกำหนดพรมแดนทางชาติพันธุ์ (Ethnic Boundaries)
ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วมีนักมานุษยวิทยาบางท่าน
ได้แบ่งสาขามานุษยวิทยาออกเป็นเพียง 2 สาขาใหญ่เท่านั้น
โดยใช้เกณฑ์ตามเนื้อหาสาระของวิชาคือเป็นสาขามานุษยวิทยากายภาพ
และสาขามนุษยวิทยาวัฒนธรรม โดยรวมสาขาย่อยอีก 3 สาขาไว้ด้วยคือ โบราณคดี
มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยา
แต่กระนั้นเนื้อหาสาระในแต่ละสาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาทั้งสองกลุ่มยังคงเน้นการศึกษาในแบบเดียวกันอยู่นั่นเอง ความแตกต่างดังกล่าวเนื่องมาจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา
» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา
» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง
» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา