สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

มานุษยวิทยา

สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวิชามานุษยวิทยามีเป้าหมายหลักตามประเด็นต่างๆที่กล่าวไปแล้วข้างต้นเพื่อให้ครอบคลุมสำหรับการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกแง่มุมของชีวิตในสังคม ในทุกกาลเวลาและทุกสถานที่ในโลก จึงต้องแบ่งมานุษยวิทยาออกเป็น 4 สาขาย่อย ดังนี้
1) มานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology)
2) โบราณคดี (Archaeology)
3) มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ (Anthropological Linguistics)
4) มานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology)

มานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology) :

สาขาวิชานี้ให้ความสนใจมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอินทรีย์ชีวะ (Biological organisms) วัตถุประสงค์ของมานุษยวิทยากายภาพ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวะ สรีระ และลักษณะทางพันธุศาสตร์ของประชากรมนุษย์ทั้งโบราณและสมัยใหม่ โดยการศึกษามนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นักมานุษยวิทยากายภาพสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง การเติบโตและสรีระศาสตร์ของร่างกายมนุษย์ในรายละเอียดได้ (Hoebel and Weaver 1979 : 10)

มานุษยวิทยากายภาพเป็นการศึกษาที่เน้นหนักในด้านลักษณะทางชีวภาพหรือลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ เริ่มทำการศึกษาตั้งแต่พัฒนาการทางกายภาพของมนุษย์ในอดีตเรื่อยมาจนปัจจุบัน สามารถแบ่งลักษณะการศึกษาของนักมานุษยวิทยากายภาพออกเป็นแนวทางที่หลากหลายได้แก่ (1) นักมานุษยวิทยาที่สนใจการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกรรมพันธุ์ของประชากรมนุษย์สมัยปัจจุบันทั่วโลก รวมทั้งค้นหากลไกต่างๆที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางชีวะของมนุษย์ในสังคมต่างๆ และ (2) นักมานุษยวิทยากายภาพที่มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวของประชากรมนุษย์ในส่วนต่างๆของโลกปัจจุบันว่า ได้ปรับตัวเข้าสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมอย่างไรบ้าง (3) ในขณะที่นักมานุษยวิทยากายภาพบางกลุ่มเน้นศึกษาเรื่องเชื้อชาติ และ (4) กลุ่มที่เน้นศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางชีวะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมของมนุษย์

โบราณคดี (Archaeology) :

นั่นคือนักโบราณคดีสนใจกิจกรรมต่างๆของมนุษย์โดยผ่านการศึกษาจากหลักฐาน ร่องรอยต่างๆที่มนุษย์ในอดีตเหลือทิ้งไว้ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องมือหินหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ขวานหิน หรือ ขวานฟ้า” ภาชนะดินเผา งาและเขาสัตว์ กระดูกคนและสัตว์ ถ้ำหรือเพิงผาที่นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การทับถมของชั้นดินและศิลปะประเภทต่างๆ เช่นภาพเขียน รูปแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ รูปคน (เทพเจ้า?) ผ่านพิธีกรรมปลงศพ เป็นต้น นักโบราณคดีสามารถวาดภาพชีวิตของมนุษย์ในอดีตได้จากการสันนิษฐานจากกซาก (ฟอสซิล) และหลักฐานต่างๆ

สาขาย่อยของวิชาโบราณคดีมีดังนี้ โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistory) โบราณคดีสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Proto-history) โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ (History) ดึกดำบรรพ์วิทยา (Paleontology) ธรณีวิทยา (Geology) พฤกษศาสตร์ดึกดำบรรพ์ (Paleobotany) อียิปป์ศึกษา (Egyptology) โบราณคดีใต้น้ำ (Marine Archaeology) เป็นต้น

นักโบราณคดีศึกษาหลักฐานเหล่านี้เพื่อสร้างประวัติความเป็นมาและชีวิตความเป็นอยู่ หรือวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่ศึกษา เช่น นักโบราณคดีไทยศึกษาหลักฐานต่างๆที่มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเหลือทิ้งไว้ทำให้เราทราบได้ว่า ในสมัยหินกลางในประเทศไทยมีพิธีกรรมการฝังศพอย่างเป็นทางการและอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดใหม่ในโลกหน้าด้วย และที่ถ้ำผีจังหวัดแม่ฮ่องสอน นักโบราณคดีพบหลักฐานว่าถ้ำผีเป็นแหล่งปลูกข้าวที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากนั้นจึงแพร่ขยายออกไปยังดินแดนใกล้เคียงอื่นๆ เช่นจีนและอินเดีย นอกจากนั้นที่ถ้ำผียังพบหลักฐานของพืชพันธุ์ต่างๆอีกมากมายหลายชนิด ที่สามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวนั้นพบว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำผีได้เริ่มทำการเพาะปลูกพืชมากว่า 9,000 ปีมาแล้ว (สุรพล นาพินธุ 2543) จะเห็นว่าการศึกษาของนักโบราณคดีทำให้เราทราบชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอดีตได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังทราบความเป็นมาของวัฒนธรรมของมนุษยชาติอีกด้วย

มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ (Linguistics Anthropology) :

เป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาษาในลักษณะที่เป็นมุมมองทางวิทยาศาสตร์ การบรรยาย และการเปรียบเทียบโครงสร้างของภาษาต่างๆ การศึกษาของนักมานุษยวิทยามีความแตกต่างจากการศึกษาของนักภาษาศาสตร์โดยสิ้นเชิง กล่าวคือนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์คือนักมานุษยวิทยาที่มุ่งเน้นประเด็นการศึกษาไปที่ภาษาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ส่วนมากนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ให้ความสนใจไปที่ภาษาของสังคมที่ยังไม่มีตัวอักษรใช้ เพื่อมุ่งศึกษาหาต้นตอแหล่งกำเนิดของภาษานั้นๆ รวมไปถึงศึกษาพัฒนาการของภาษานั้นๆ โดยศึกษาว่าภาษาของมนุษย์เริ่มมีขึ้นเมื่อใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากนั้นนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ยังศึกษาวิวัฒนาการของภาษาต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วสืบย้อนกลับไปยังต้นตอของภาษาเหล่านั้น โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำให้สามารถทราบว่าภาษาใดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแล้วนำผลการศึกษาเหล่านั้นมาตีความอดีตของเจ้าของภาษาว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์รากศัพท์ในภาษาต่างๆ ทำให้ทราบต่อไปถึงประวัติความเป็นมาและการอพยพของมนุษย์ในสังคมต่างๆได้

ในปัจจุบันนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ สนใจที่จะศึกษาสิ่งที่มีอยู่ร่วมกันเป็นสากลของภาษาต่างๆทั่วโลก รวมทั้งศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมด้านอื่นๆ สนใจศึกษาโลกทัศน์ของมนุษย์ในสังคมต่างๆ นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ส่วนมากจะศึกษาภาษาใดภาษาหนึ่งในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างของภาษานั้นๆ นอกจากนั้นยังทำการศึกษาภาษาในฐานะเป็นระบบสื่อสารสำคัญที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสัมพันธ์กัน เพราะเชื่อว่าการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมช่วยทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้

ตัวอย่างงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์

การวิจัยเรื่อง “คำเมือง” กับอัตลักษณ์ของคนเมือง (สุเทพ สุนทรเภสัช 2543) ภาษาถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ชาวไทยเหนือใช้กำหนดกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง “คนเมือง” ถือว่ามีภาษาพูดของตัวเอง เรียกว่า “คำเมือง” และมี “ตัวเมือง” ใช้เป็นภาษาเขียน ที่ทำให้แตกต่างจากคนไทยที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆของประเทศ เช่น ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

เกี่ยวกับประเด็นในเรื่องภาษา ริดชาร์ด เดวิส นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลียผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่เคยเข้ามาศึกษาตำนานและพิธีกรรมของเมืองน่านได้อ้าง ราอูล นาโรล (Raoul Naroll, อ้างถึงในสุเทพ สุนทรเภสัช 2543 : 14) นักมานุษยวิทยาผู้เสนอว่า “ในการที่จะตัดสินว่าภาษาใดเป็นภาษาอิสระ (Language) หรือเป็นเพียงภาษาถิ่นหรือภาษาพูด (Dialect) ของอีกภาษาหนึ่งอาจทำได้โดยเลือกคำในภาษาพูดจากภาษาที่ต้องการจะศึกษาเปรียบเทียบมา 200 คำ ตามเกณฑ์มาตรฐานสวาเดสช์ (Standard Swadesh 200 word List) ถ้าคำพ้องของภาษาพูดที่นำมาเปรียบเทียบอย่างน้อย 80% ออกเสียงคล้ายกันก็อาจถือได้ว่าภาษาทั้งสองเป็นภาษาเดียวกัน” ในการศึกษาจึงได้เลือกคำจากภาษาพูดของภาษาไทยกลางและคำที่ใช้พูดในเมืองน่านปัจจุบัน ไปเปรียบเทียบตามเกณฑ์มาตราฐานสวาเดสช์ (Standard Swadesh 200 word List) ริดชาร์ด เดวิส ได้พบคำที่มีเสียงพ้องกันอยู่เพียง 66.5% และยิ่งถ้าจะเอาคำที่คนเฒ่าคนแก่พูดกันอยู่หรือคำที่ใช้อยู่ในคัมภีร์โบราณมาเปรียบเทียบด้วยแล้ว คำที่มีเสียงพ้องกันจะเหลือเพียง 61% ดังนั้น ริดชาร์ด เดวิส จึงสรุปว่าภาษาเหนือหรือ “คำเมือง” เป็นภาษาอิสระจากภาษาไทยกลาง หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า “คนเมือง” มีภาษาเป็นของตัวเอง

การศึกษาภาษาเพื่อบ่งบอกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน (อ้างจากสุเทพ สุนทรเภสัช 2543) เป็นการศึกษาในชนต่างกลุ่มที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันอาจจะมีภาษาแตกต่างกัน แต่ในส่วนรวมก็อาจถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันได้ ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของอี.อาร์.ลีช นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษที่เข้าไปศึกษาในบริเวณที่สูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าที่เขาเรียกกันว่า “บริเวณภูเขาของชนเผ่าคฉิ่น” (Kachin Hills Area) ลีชได้พบว่ากลุ่มชนต่างๆที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวมีภาษาพูดหรือภาษาถิ่น (Dialects) ของตัวเองเป็นจำนวนมาก นักภาษาศาสตร์ได้จัดแบ่งกลุ่มภาษาที่ใช้อยู่ในบริเวณนี้ (นอกจากกลุ่มที่ใช้ภาษาไทยแล้ว) ออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. จิงปอ (Jingphaw) คนที่อยู่ในกลุ่มภาษานี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆได้อีก 6 กลุ่ม โดยที่แต่ละกลุ่มต่างมีภาษาที่สามารถพูดจาเข้าใจกันได้กับกลุ่มอื่นๆ
  2. มารู (Maru) เป็นภาษาที่ใกล้กับภาษาพม่ามากกว่าภาษาจิงปอ ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก 5 กลุ่มและมีหลายพวกในกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถพูดจาเข้าใจกันและกันได้
  3. นุง (Nung) แบ่งออกเป็นหลายภาษาที่แตกต่างกันและไม่สามารถเข้าใจกันได้เลย ภาษานุงใกล้กับภาษาธิเบตมากกว่าภาษาจิงปอ
  4. ลีซู (Lisu) แบ่งเป็นกลุ่มภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันจำนวนมาก ภาษาลีซูแตกต่างอย่างมากกับภาษาจิงปอและมารู อีกทั้งยังใช้หลักไวยากรณ์แบบพม่า กลุ่มที่พูดภาษาลีซูถือว่าเป็นกลุ่มชายขอบ

ลีชได้พบว่าในบริเวณภูเขาของชนเผ่าคฉิ่น ทั้งๆที่ในบริเวณนี้มีการแบ่งออกไปเป็นกลุ่มที่หลากหลาย และในแต่ละกลุ่มต่างก็มีภาษาพูดของตัวเอง แต่กลุ่มชนต่างๆยังถือตนว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ “คฉิ่น” เดียวกัน

จากกรณีศึกษาของลีชได้ชี้ให้เห็นว่าภาษามิใช่อัตลักษณ์ที่สำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะใช้ในการกำหนดลักษณะทางชาติพันธุ์ยังจะต้องมีอย่างอื่นด้วย และคนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันก็อาจถือว่าเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันได้

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยก็เช่นกัน เดวิด แบรดลีย์ (อ้างถึงในสุเทพ สุนทรเภสัช 2543) นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ ได้พบว่าในบริเวณที่สูงภาคเหนือของประเทศไทย เราจะพบกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆรวมกันอยู่โดยมีกลุ่มที่มีอิทธิพลครอบงำ ทางภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่ง (อาจจะเป็นกลุ่มไทยเหนือหรือไทยกลาง) เป็นศูนย์กลาง ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มย่อยก็จะมีการกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเอง และภายในแต่ละกลุ่มย่อยก็จะมีการแบ่งบูรณาการทางสังคมออกเป็นระดับต่างๆ เช่น สกุล (Lineage) สกุลวงศ์ (Clans) ชาติสกุล (Tribes) และหน่วยที่อยู่เหนือขึ้นไป อย่างเช่นประชาชาติ (Nation) เป็นต้น ดังนั้น ปุถุชนคนหนึ่งก็อาจจะเป็นสมาชิกในแต่ละระดับของระบบลำดับชั้นสังคมที่ซับซ้อน (Complex Hierarchy) นั้น กล่าวคือ คนๆหนึ่งอาจจะเป็นสมาชิกของแซ่หรือสกุลหรือสกุลวงศ์หรือชาติกุลหรือแม้แต่ประชาชาติหนึ่งได้ในระยะเวลาและด้วยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

มานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology):

สาขาวิชานี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์ หรือกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ได้รับการเรียนรู้ เพราะสำหรับมนุษย์แล้ว พฤติกรรมทั้งปวงเป็นผลผลิตในทางวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมให้ความสนใจวัฒนธรรมในสังคมต่างๆทั้งสังคมของผู้คนที่อยู่ห่างไกล ไม่รู้หนังสือ จนกระทั่งถึงสังคมที่มีความเจริญมาก อย่างเช่นกรณีศึกษาพฤติกรรมของผู้คนในนิวยอร์ค วัตถุประสงค์ในการศึกษาวัฒนธรรมในสังคมต่างๆก็คือ ต้องการหาความเหมือนกันและความแตกต่างของวัฒนธรรมเหล่านั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม (Spradley and McCurdy 1980 : 1)

ศึกษาพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้และผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของมนุษย์ หรือศึกษาวัฒนธรรมของสังคมต่างๆทั่วโลก โดยทั่วไปมานุษยวิทยาวัฒนธรรมแบ่งกลุ่มการศึกกษาย่อยออกได้เป็น 3 สาขา คือ ชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) มานุษยวิทยาภาคสังคม (Social Anthropology) และชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology)

» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา

» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา

» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

» ชาติพันธุ์วรรณา

» มานุษยวิทยาภาคสังคม

» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง

» ประโยชน์ของวิชามานุษยวิทยา

» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา

» การเปลี่ยนแปลงของแนวทฤษฎีที่ศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวมฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย