สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
มานุษยวิทยา
ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา
เนื่องจากมนุษย์ในสังคมต่างมีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา
แหล่งกำเนิดของตน และประเพณีที่แตกต่างกันไปในสังคมต่างๆ ประจวบกับความคิดของมนุษย์
ชุมชนหรือสังคมต่างๆมักมีเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา
บ้างเป็นเรื่องเร้าใจที่ปรากฏอยู่ในนิยายปรัมปรา
บ้างเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดและอธิบายความแตกต่างในประเพณีต่างๆของมนุษย์
เช่นชนบางกลุ่มเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน
ในขณะที่นักมานุษยวิทยาพยายามจะบอกว่ามนุษยชาติมีพัฒนาการมาจากสัตว์เซลล์เดียวและมีวิวัฒนาการความเป็นมาอันยาวนานหลายล้านปี
แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในสมัยกรีกและโรมันยังมีความรู้ที่เป็นระบบเกี่ยวกับมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์แต่เพียงเล็กน้อย
เช่น Linnaeur เป็นนักธรรมชาติวิทยาในศตวรรษที่ 18
แต่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนาคริสต์
ได้รวมเอามนุษย์ป่าในนิยามปรัมปรากับมนุษย์ปัจจุบันเข้าไว้ในประเภทเดียวกัน
เขาแยกแยะจัดประเภทสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดที่จัดอยู่ในอาณาจักรสัตว์
แต่นักปรัชญาบางคนในสมัยอารยธรรมโบราณกลับมีความคิดบางอย่างที่เหมือนกับความคิดของนักมานุษยวิทยาในสมัยปัจจุบัน
นั่นคือ นักเขียนชาวกรีกบางคนได้เขียนหนังสือประเภทชาติพันธุ์วรรณาไว้อย่างดี
โดยนำเสนอเกี่ยวกับชนกลุ่มต่างๆที่รู้จักกันในสมัยนั้น เช่น Herdotus
ได้พรรณนาและเปรียบเทียบในวัฒนธรรมอียิปต์ เปอร์เซียและกลุ่มอื่นๆ
กับวัฒนธรรมของชาวกรีก, Strabo เขียนพรรณนาเกี่ยวกับผู้นำของอินเดีย
ระบบวรรณะและชีวิตด้านอื่นๆของสังคมอินเดีย
นอกจากนั่นยังมีนักเขียนชาวกรีกโบราณบางคนที่ชอบเขียนพรรณนาและเปรียบเทียบวัฒนธรรมของสังคมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมของตัวเอง
เช่นเดียวกับที่นักปรัชญาสังคม เช่น Locke, Rousseau เป็นต้น
ชาวกรีกเชื่อตามตำนานว่า พระเจ้าหรือเทพเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยมาตามยุคสมัยดังนี้
ยุคทอง ยุคเงิน ยุคบูชาบรรพบุรุษและยุคเหล็ก
แต่นักปรัชญาสมัยโบราณบางคนที่ค่อนข้างเป็นนักวิทยาศาสตร์กลับมีความเห็นตรงกันข้าม
เช่น Plato, Aritotle ที่สามารถจับแนวคิดสำคัญของนักมานุษยวิทยาสมัยปัจจุบันได้
โดยมองว่ามนุษย์สมัยแรกๆอาศัยอยู่ในป่า
ต่อมาทีละน้อยได้สร้างส่วนต่างๆของอายธรรมขึ้น Aristotle
เขียนในหนังสือมีชื่อของของเขาคือ Politics
ว่ามนุษย์ในตอนแรกอยู่กันเป็นกลุ่มเครือญาติกลุ่มเล็กๆ
แล้วต่อมาจึงอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง
เขาได้พรรณนาไว้อย่างดียิ่งถือเป็นการพรรณนาข้ามวัฒนธรรมในรุ่นแรกๆเลยทีเดียว
นักปรัชญาชาวกรีกโบราณสนใจ ค่านิยม อย่างมาก บางคนได้วิเคราะห์
ความดีความสวยความงาม ไว้
นับเป็นการเริ่มต้นศึกษาถึงปัญหาหลายอย่างที่นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมสมัยปัจจุบันกำลังสนใจ
คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ
ทางด้านตะวันออกมีนักปราชญ์โบราณของจีนสมัยคลาสสิกคือ ขงจื้อ
ได้วิเคราะห์ประเพณีจีนและสร้างภาพของสังคมในอุดมคติไว้ แต่นักคิดอีกคนคือ Moh
Tih และพวกไม่เห็นด้วยกับความคิดขงจื้อ
พวกเขาเห็นว่าประเพณีเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งและความหมายของมันจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อมันสนองความต้องการจำเป็นของมนุษย์
ความคิดดังกล่าวคล้ายกับแนวคิดของทฤษฎี การหน้าที่นิยม (Functionalism)
ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ นอกจากนี้ Moh Tih ยังพูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์อีกว่า
เริ่มจากสัตว์เซลล์เดียวในทะเลต่อมาพัฒนาเป็นสัตว์บกและเป็นมนุษย์ในที่สุด
แนวความคิดดับกล่าวคล้ายกับหลักการของ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
อาณาจักรโรมันซึ่งเจริญมากทางด้านการปกครองและกฎหมาย
แต่กลับมีนักปรัชญาน้อย นักคิดชาวโรมันผู้หนึ่งชื่อ Lucretius เขียนหนังสือชื่อ De
Rerum Natura พรรณนาเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ว่า เมื่อแรกนั้นมนุษย์อยู่ในป่า
แล้วต่อมาพัฒนาเป็นชาวเมืองที่เจริญ
เขามองมนุษย์ว่าผ่านจากขั้นตอนที่มีเทคโนโลยีทำด้วยหินมาเป็นทำด้วยโลหะ
และให้คำอธิบายถึงแหล่งกำเนิดของการใช้ไฟ การทำเสื้อผ้า
การเกิดขึ้นของความเชื่อทางศาสนาและส่วนอื่น ๆ ของวัฒนธรรม
นับว่ามีแนวคิดหลายอย่างคล้ายความคิดของนักมานุษยวิทยาในสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้
เราอาจพบความคิดต่างๆที่เป็นปัญหาทางมานุษยวิทยาในสมัยปัจจุบันได้จากงานเขียนของนักปรัชญาสมัยคลาสสิก
จากนิยามปรัมปราของเมโสโปเตเมีย อียิปต์หรือจากคัมภีร์พระเวทย์ของอินเดีย
แต่น่าเสียดายที่นักคิดสมัยนั้นไม่สามารถหลุดพ้นไปจากนิยายปรัมปราหรือไสยศาสตร์ไปได้
การศึกษามนุษย์อย่างเป็นอัตวิสัย
ดูจะทำได้ง่ายกว่าการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
แต่แล้วความคิดต่างๆเกี่ยวกับมนุษย์ก็หยุดชะงักเป็นเวลาหลายศตวรรษ
เพราะปัญหาการเมืองและการทหาร และอีกส่วนหนึ่งเพราะการเข้าครอบงำของศาสนา
ทำให้ความรู้ต่างๆชะงักงันไปในยุโรป
แหล่งความรู้ในขณะนั้นมีอยู่ที่อาณาจักรไบแซนติน เปอร์เซีย
อารเบียและอาณาจักรของพวกอาหรับอีกหลายแห่ง
เมื่อพวกมองโกลถูกขับออกจากเอเซียกลางในศตวรรษที่ 13
ชาวยุโรปที่มีมากกว่าก็สืบทอดมรดกทางความคิดเชิงวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่อไป
ต่อมาในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา
ซึ่งเป็นยุควิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์สมัยใหม่ ได้มีการฟื้นฟูการศึกษาเกี่ยวกับสมัย
คลาสสิค อีกครั้ง สมัยนี้มีนักวิชาการมากขึ้น
ต่างคนต่างพยายามเพิ่มพูนความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น Copericus และ Galileo
ค้นหาดวงดาว Leonardo da Vinci และคนอื่นๆสนใจปัญหาเทคโนโลยี
และบางคนได้ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่พ้น เช่น Vesalins ผ่าตัดร่างกายคน
Harvey ศึกษาการหมุนเวียนของกลุ่มเลือด
นักวิชาการบางคนของสมัยนี้สร้างวัฒนธรรมและสังคมในอุดมคติขึ้น
ขณะเดียวกันการฟื้นฟูการศึกษาแบบคลาสสิกโดยผสมผสานเข้ากับความเชื่อของศาสนาคริสต์
ทำให้มีการศึกษาเน้นไปทางมนุษยศาสตร์มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดความสนใจในวิชามานุษยวิทยาเป็นครั้งแรก คือ
การสำรวจทางทะเล
ทั้งนี้เพราะปวงชนที่มีความแตกต่างกันทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรมถูกค้นพบในเวลาเดียวกัน
ในทวีป เอเชีย แอฟริกาและที่อื่นๆ
แต่นิยามปรัมปราที่พึงเกิดขึ้นหรือเรื่องเล่าของนักผจญภัยเกี่ยวกับดินแดนอันลึกลับและการพรรณนาเกี่ยวกับชนที่ยังล้าหลังว่ามีรูปร่างหน้าตาอันแปลกประหลาดต่างๆนั้นไม่เป็นที่ยอมรับกันต่อไป
ในขณะเดียวกันได้มีความพยายามจะศึกษาพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นในยุคนี้
จากการศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมทำให้ชาวตะวันตกหันไปสนใจศึกษาวิถีชีวิตและความคิดของพวกตนเอง
ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของอินเดียนแดงเผ่าต่างๆเกือบสมบูรณ์นั้น
มีผลทำให้เกิดความเจริญทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
เป็นการแผ้วทางไปสู่การศึกษาปรากฏการณ์ชีวิตอย่างมีระบบที่รวมเอาการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ไว้ด้วย
ในศตวรรษที่ 18
มีการรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับชนดั้งเดิมมากขึ้นโดยพวกหมอสอนศาสนา
พวกนี้เขียนบันทึกเกี่ยวกับเผ่าอินเดียนแดงในอเมริการเหนือไว้ในศตวรรษที่ 17
นักวิชาการชาวตะวันตกเริ่มจัดข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นระบบ
การทำเช่นนั้นนำไปสู่การเปรียบเทียบประเพณีที่ต่างกัน
และเริ่มสนใจในแหล่งกำเนิดและพัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมต่างๆ
งานส่วนมากมักทำโดยนักปรัชญาสังคม เช่น Hobbes, Locke และ Rousseau ในช่วงต้นๆ
ของศตวรรษที่ 19
ได้มีการจัดตั้งสถาบันทางวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาขึ้นในยุโรปและอเมริกา
และเริ่มมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นตามประเทศต่างๆ
มีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และวัฒนธรรมด้านต่างๆขึ้นในพิพิธภัณฑ์
ทำให้ความสนใจในวิชามานุษยวิทยากระจายไปเกือบทุกประเทศในโลกโดยหน่วยของรัฐบาล
สถาบันต่างๆ พิพิธภัณฑ์ นักวิชาการรวมไปถึงนักวิชาการประเภทสมัครเล่นด้วย
กลางศตวรรษที่ 18
เริ่มมีการตีพิมพ์วารสารสาขามานุษยวิทยาขึ้น โดยแบ่งประเด็นออกดังนี้คือ
เป็นมานุษยวิทยากายภาพ
ชาติพันธุ์วิทยาสำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับประเพณีที่ต่างกันในสังคมต่างๆ
ในส่วนนี้ยังแยกเป็นประเด็นย่อยๆอีก เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง
การจัดระเบียบสังคมและครอบครัว ส่วนอีกสองประเด็นใหญ่คือมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์
และโบราณคดี
เนื่องจากเพิ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าโลกมนุษย์มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานราว ค.ศ.
1840 กว่าๆ หลังจากนั้นจึงมีการค้นพบทางโบราณคดีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น
พบอนุสาวรีย์หินและเครื่องมือหินหยาบๆ
สิ่งของเหล่านี้มักถูกใช้ในการกำหนดอายุของโลกที่ค่อนข้างสั้นมาก Dr. John
Lightfoot แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge) ได้ประกาศในปี ค.ศ. 1654 ว่า
โลกกำเนิดขั้นในวันที่ 23 ตุลาคม 4004 ปีก่อนคริสตกาล เวลาประมาณ 9 นาฬิกา
ความคิดนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในสมัยนั้น
แต่ปัจจุบันนักธรณีวิทยาและผู้อื่นระลึกได้แล้วว่าโลกเก่าแก่กว่านั้นมาก
ต่อรัฐบาลเดนมาร์กได้สนับสนุนให้มีการขุดค้นในปี ค.ศ. 1836
และได้แบ่งของที่ขุดค้นได้ออกเป็น 3 ยุคหรือสมัย คือยุดหิน ยุคโลหะ และยุคเหล็ก
ความแห้งแล้งระว่าง ค.ศ. 1853-1854
ทำให้น้ำในทะเลสาบประเทศสวิสเซอร์แลนด์ลดลงจนกระทั่งเผยให้เห็นร่องรอยของหมู่บ้านทะเลสาปสมัยหินใหม่
เมื่อนักมานุษยวิทยาตรวจสอบเครื่องมือสมัยหินเก่าและซากเหลือของพืชและสัตว์
ทำให้นักมานุษยวิทยากล้าที่จะประกาศว่าโลกและมนุษย์กำเนิดมากกว่าล้านหรือสองล้านปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
ต่อมาในศตวรรษที่ 19
นักวิชาการที่ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมเริ่มให้ความสนใจในทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีวะของสิ่งมีชีวิต
จึงนำมาประยุกต์ใช้ศึกษาวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม
นักวิชาการเหล่านี้สร้างทฤษฎีจากความคิดที่มีมาก่อนโดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับชนดั้งเดิม
เพื่ออธิบายความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
จากสภาพที่ล้าหลังป่าเถื่อนกลายมาเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีชาวยุโรป
โดยมีข้อสมมติฐานว่าพฤติกรรมของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 19
เป็นตัวแทนพัฒนาการสูงสุดของมนุษย์
ดังนั้นประเพณีที่ต่างไปจากชาวยุโรปจึงกลายเป็นตัวแทนของสิ่งที่เหลืออยู่จากสมัยก่อนคือของสังคมอนารยธรรม
(Barbarism) และถ้าไกลไปจากพวกนี้จะเป็นพวกสังคมนรปศุธรรม (Savagery)
ความพยายามที่จะเปรียบเทียบวัฒนธรรมในระดับต่างๆกัน
และการใช้เรื่องราวของความก้าวหน้าและความแตกต่างกันของวัฒนธรรมทั่วโลก
ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงโดยนักมานุษยวิทยาของศตวรรษที่ 20
อย่างไรก็ตามยังคงมีนักวิชาการบางคนยังใช้แนวคิดนี้อยู่บ้างในปัจจุบัน
วิชามานุษยวิทยาพัฒนามากที่สุดในประเทศอเมริกาในปัจจุบัน
โดยเฉพาะสาขาย่อยที่เรียกว่า มานุษยวิทยาประยุกต์
ได้มีการนำเอาความรู้ทางมานุษยวิทยาไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ
เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในอเมริกาดีขึ้น
โดยเฉพาะพวกชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆในอเมริกา
เป็นที่น่าเสียดายว่าวิชามานุษยวิทยาในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเช่นกรณีของประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง
ฉะนั้นการจะนำความรู้ทางมานุษยวิทยาไปประยุกต์ใช้ต้องอาศัยกาลเวลาเข้าไปช่วยอย่างมาก
» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา
» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา
» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง
» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา