ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลองสำหรับสัตวแพทย์
สัตวแพทย์ทุกท่านต้องเคยเรียนรู้
และผ่านการมีประสบการณ์ในการใช้สัตว์ทดลองเพื่อการวิจัยในช่วงที่เป็นนิสิตสัตวแพทย์มาบ้าง
ภายหลังจบเป็นบัณฑิต
บางท่านอาจมีความเกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ทดลองโดยตรงหรือโดยอ้อมตามภาระหน้าที่ที่มีอยู่
เช่นการเรียนการสอน งานวิจัย เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้สัตว์ทดลองคือ
การทดลองเพื่อให้ได้ผลการทดลองที่แม่นยำ เพราะหากการวิจัยใดๆ ก็ตาม
แม้จะสำเร็จและได้ผลการทดลองมาแล้ว ทว่าหากขาดความแม่นยำ การลงทุนลงแรง
และใช้ชีวิตสัตว์ทดลองก็ล้วนแต่ไร้ค่า
ผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับผู้ใช้งานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
เช่นการตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารต่างๆ
ซึ่งหลักสำคัญในการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองที่นักวิจัยควรยึดถือคือการเลี้ยงให้สัตว์อยู่ดี
กินดี มีสุขภาพดี ไม่เครียด และไม่ติดเชื้อ อีกทั้ง ต้องมีวัสดุอุปกรณ์
และสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความชำนาญ
ตลอดจนถึงการกระทำอย่างมีจรรยาบรรณต่อสัตว์
และการป้องกันการแพร่เชื้อหรือสารพิษที่นำมาใช้งาน ซึ่งหากทำได้อย่างนี้
การเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองก็จะได้มาตรฐานสากล
"จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง"
ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติสำหรับผู้ใช้สัตว์
ผู้เลี้ยงสัตว์เพื่องานวิจัย งานทดสอบ งานสอน และงานผลิตชีววัตถุ
ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสาขา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม คุณธรรม มนุษยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม
อันจะทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปสัตว์หลายชนิดจำนวนมากได้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัย
งานทดสอบ และงานสอนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์
เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์
ความจำเป็นที่จะต้องใช้สัตว์เพื่อการนี้ยังมีอยู่ต่อไป เนื่องจากในหลายๆ
กรณียังไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะนำมาใช้ทดแทนได้ดีกว่าหรือดีเท่า
อย่างไรก็ตามผู้ใช้สัตว์จำนวนไม่น้อยละเลยคุณธรรมที่พึงมีต่อสัตว์
ไม่คำนึงถึงชีวิตสัตว์ที่จะต้องสูญเสียไปในการทดลองแต่ละครั้ง
ไม่คำนึงว่าวิธีการที่นำมาใช้จะทำให้เกิดความทรมานและสร้างความเจ็บปวดแก่สัตว์หรือไม่
ไม่คำนึงถึงความกดดันที่สัตว์ได้รับเนื่องจากถูกกักขังสูญเสียอิสรภาพ
และไม่คำนึงถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ถูกนำออกจากป่ามาใช้โดยไม่มีการเพาะขยายพันธุ์เพิ่ม
กลุ่มผู้ใช้สัตว์และผู้รักษากฎหมายจึงกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
รวมทั้งออกฎหมายบังคับใช้ เช่น ประเทศอังกฤษ
เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2419
และปรับปรุงให้รัดกุมยิ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2529
จนเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีการควบคุมการใช้สัตว์ในงานวิจัยที่เข้มงวดที่สุด
การใช้สัตว์ทดลองในการวิจัยควรพิจารณาองค์ประกอบของ 3 R ด้วยได้แก่ การทดแทน
(Replacement) การลดการใช้ (Reduction) และ
ความละเอียดรอบคอบเมื่อต้องใช้งานสัตว์ทดลอง (Refinement) องค์กรระหว่างประเทศคือ
สภาองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Council for International
Organization of Medical Science หรือ CIOMS)
ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างผู้ใช้สัตว์ทดลอง และกลุ่มผู้คัดค้านจากทั่วโลก
ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ.2528
และได้จัดทำข้อสรุปเป็นแนวทางการปฏิบัติในการใช้สัตว์เพื่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์
(International Guiding Principles for Biomedical Research Involving Animals)
ซึ่งหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย
ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดจรรยาบรรณควบคุมการใช้สัตว์ทดลองในประเทศของตนอย่างได้ผล
จรรยาบรรณดังกล่าวได้นำไปสู่มาตรฐานต่างๆ เช่น
การพัฒนาพันธุกรรมของสัตว์ขึ้นอย่างหลากหลาย
และนำไปสู่การใช้พันธุวิศวกรรมในการผลิตสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคต่างๆที่ยังไม่มีสัตว์เป็นตัวแบบ
นอกจากนั้น
จรรยาบรรณนี้ยังได้นำไปสู่การเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระบบและได้พัฒนาเทคนิคในการปฏิบัติต่อสัตว์แต่ละชนิดโดยเฉพาะเพื่อลดความทรมานสัตว์ลง
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะนำวิธีการทางด้านคณิตศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ และ In
vitro biological system มาใช้แทนการใช้สัตว์ เพื่อลดจำนวนการใช้สัตว์ลง
แต่วิธีการเหล่านี้ได้ผลเฉพาะบางกรณีเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ทดแทนได้ทุกกรณี
นักวิชาการที่ใช้สัตว์ในการทดลองต่างตระหนักดีว่า พันธุกรรมของสัตว์
สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู และเทคนิคที่ใช้ปฏิบัติต่อสัตว์
เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อผลการทดลอง คณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง
(International Committee on Laboratory Animal Science, ICLAS)
ได้แนะนำให้นักวิจัยรายงานปัจจัยทั้งสามอย่างละเอียดในการรายงานผลการวิจัย
และได้เรียกร้องให้วารสารที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิชาการตีพิมพ์เฉพาะผลงานที่เสนอรายละเอียดอย่างสมบูรณ์ในการใช้สัตว์เท่านั้น
รวมทั้งเสนอให้แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัยยกเลิกการให้ทุน
ในกรณีที่ผู้ได้รับทุนวิจัยปฏิบัติผิดแผนงานการใช้สัตว์ที่ได้เสนอไว้
ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทั้งจากวารสารและแหล่งทุนอุดหนุนการวิจัยเป็นอย่างดี
ในปัจจุบัน วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง
มีผู้ใช้สัตว์ในงานวิจัย งานทดสอบ งานสอน และงานผลิตชีววัตถุเป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวของประเทศไทย
มีมาตรฐานในระดับสากล สภาวิจัยแห่งชาติ จึงเห็นควรกำหนด "จรรยาบรรณการใช้สัตว์"
ขึ้น เพื่อให้นักวิจัยและนักวิชาการ
ได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการใช้สัตว์อย่างถูกต้อง เหมาะสม
และเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ อย่างแท้จริงต่อไป
แนวทางการปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์ทดลองที่ถูกต้อง
มีคุณภาพและไม่ขัดต่อจรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง
สัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวดและมีความรู้สึกตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับมนุษย์
จึงต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอนดังนี้
- การขนส่งสัตว์ การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จะต้องให้สัตว์ได้รับความปลอด ภัยมากที่สุด โดยมีการควบคุมอุณหภูมิ ระบบระบายอากาศ ระบบป้องการติดเชื้อ ภาชนะที่แข็งแรง มั่นคง ป้องกันสัตว์หลบหนีได้มีพื้นที่สำหรับให้สัตว์เคลื่อนไหวหรือวิ่งเล่นได้ตามมาตรฐานสากล
- การจัดสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยงสัตว์ ระบบระบายอากาศ อุณหภูมิ แสง เสียง ความหนาแน่นและอื่นๆ
- วัสดุอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ กรง หรือคอกเลี้ยงสัตว์ ต้องแข็งแรง ป้องกันสัตว์หลบหนีได้ วัสดุรองนอน ต้องเหมาะสม ไม่มีพิษ เชื้อโรค และไม่เปื่อยยุ่ย ส่วนอาหารและน้ำต้องเพียงพอ มีสารอาหารแร่ธาตุครบถ้วน ตามแต่ละชนิดสัตว์ และปราศจากเชื้อโรค เชื้อราที่มากับอาหารที่เกิดจากความชื้น อาหารสัตว์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีอายุแค่ 3 เดือน ซึ่งถ้าพ้นวันหมดอายุแล้ว อาจเกิดเชื้อราขึ้นและเป็นอันตรายต่อสัตว์ซึ่งมีผลต่องานวิจัยทำให้ผิดพลาดได้
- การจัดการ ต้องมีสัตวแพทย์ หรือนักวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านสัตว์ทดลอง และมีพนักงานเลี้ยงสัตว์ทดลองที่ผ่านการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน มีข้อมูลแหล่งที่มาของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ การป้องกันสัตว์ติดเชื้อ พร้อมทั้งอุปกรณ์สำรอง การซ่อมบำรุง โดยได้รับงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ต้องมีการเรียนรู้เทคนิคในการจับบังคับสัตว์ การทำเครื่องหมายบนตัวสัตว์ การแยกเพศ การเก็บตัวอย่างเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ ชิ้นเนื้อ การทำให้สัตว์สงบ การทำให้สัตว์ตายอย่างสงบ ตามมาตรฐานสากล ต้องมีมาตรการกำจัดซากสัตว์ทุกชนิดด้วยวิธีการเผาเท่านั้นและต้องกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ผู้ใช้สัตว์ ควรใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นสูงสุด
หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมเท่านั้น
ไม่ใช้สัตว์อย่างพร่ำเพรื่อ
ทั้งนี้ผู้ใช้สัตว์ต้องยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์และศีลธรรมตามหลักศาสนา
ก่อนการใช้สัตว์
ผู้ใช้สัตว์ต้องศึกษาข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นอย่างถี่ถ้วนและนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาพิจารณาประกอบการศึกษาทดลอง
เพื่อให้การใช้สัตว์มีประสิทธิภาพสูงสุด
ควรตระหนักถึงความแม่นยำของผลงานโดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด
ผู้ใช้สัตว์ต้องนำเสนอโครงการที่แสดงถึงแผนงานและขั้นตอนการใช้
พร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะมีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์หรือสัตว์
และ/หรือความก้าวหน้าทางวิชาการและข้อมูล หลักฐาน หรือเหตุผล
ที่แสดงว่าไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ทดแทนได้ในสภาวการณ์ขณะนั้น
กรณีที่ผู้ใช้สัตว์ต้องการให้สัตว์มีชีวิตอยู่ต่อไป
ผู้ใช้สัตว์ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูสัตว์เอง โดยไม่ใช้สถานที่และทรัพย์สินขององค์กร
และหากมีการปล่อยสัตว์กับคืนสู่ธรรมชาติ หรือมีการเลี้ยงดูสัตว์ต่อไป
ต้องพิจารณาถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การแพร่กระจายขยายพันธุ์ การแพร่กระจายโรค
และการขาดประสบการณ์ที่จะอยู่รอดตามธรรมชาติของสัตว์
ผู้ใช้สัตว์
ควรศึกษาและพิจารณาข้อมูลด้านพันธุกรรมและระบบการเลี้ยงที่มีอยู่ในแหล่งเพาะขยายพันธุ์อย่างรอบคอบก่อนการใช้สัตว์
ควรเลือกใช้ชนิด
และสายพันธุ์ของสัตว์ที่มีคุณสมบัติทางพันธุกรรมตรงกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงานวิจัย
และใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุดที่จะให้ผลงานถูกต้อง แม่นยำ และเป็นที่ยอมรับ
ผู้ใช้สัตว์
ควรเลือกใช้สัตว์จากแหล่งเพาะขยายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติทางพันธุกรรมคงที่
มีข้อมูลทางด้านพันธุกรรมและระบบการเลี้ยง
และพร้อมที่จะให้บริการได้ทุกรูปแบบของชนิดสายพันธุ์ เพศ อายุ น้ำหนัก
และจำนวนสัตว์ ควรเลือกใช้สัตว์จากแหล่งที่มีการเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบใดระบบหนึ่ง
ดังต่อไปนี้ Strict Hygienic Conventional Specified Pathogen Free หรือ Germ Free
การนำสัตว์ป่ามาใช้ ควรกระทำเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นต่อการศึกษาวิจัย
โดยไม่สามารถใช้สัตว์ประเภทอื่นทดแทนได้
และการใช้สัตว์ป่านั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า