ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ทฤษฎีการแปล

ทฤษฎีการแปลที่พูดกันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปลจริงๆ เสียทีเดียว เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแปลว่าการแปลควรจะเป็นยังไง ซึ่งทฤษฎีการแปลจะมีการแบ่งยุค แต่การแบ่งยุคมันก็ไม่ได้แบ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือว่าถ้าบอกว่ายุคนี้ แล้วหมายความว่ามันจบแค่ยุคนั้น ที่ทำแล้วมันไม่มีต่อมาถึงคนอื่น ก็ไม่ใช่ ก็มีการเหลื่อมล้ำกัน อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปลที่ทำจริงๆ เท่าไหร่ แต่มันเป็นแนวคิดของนักคิดหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการแปล เขาแบ่งยุคทฤษฎีการแปลออกเป็น ๔ ยุคด้วยกัน

ยุคแรก

ยุคเริ่มต้นเป็นยุคที่ยาวนานมาก คือ เริ่มมาจากซิเซโร ตั้งกฎที่มีชื่อเสียงอันหนึ่ง คือพูดว่า "จงอย่าแปลคำต่อคำ" หลังจากนั้น ๒๐ ปีต่อมา ฮอเรสซึ่งก็เป็นนักคิดโรมัน เขาก็พูดคล้ายๆ กัน ยุคนี้ยาวนานมากที่มีทฤษฎีการแปลว่า จงอย่าแปลคำต่อคำ คนที่ดังมากที่เขียนเรื่องนี้เกี่ยวกับทฤษฎีการแปลว่าจงอย่าแปลคำต่อคำคือ จอห์น ไดเดน

ไดเดนเป็นกวีชาวอังกฤษเป็นนักแปลด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะแปลงานของฮอเรส ลักษณะของทฤษฎีการแปลในยุคนี้เขาจะบอกว่า "อย่าแปลคำต่อคำ" แต่ให้"แปลโดยการถ่ายทอดความหมาย" ลักษณะเด่นก็คือว่า มันเป็นทฤษฎีการแปลที่เกิดมาจากคนที่ทำงานแปลจริงๆ เอาประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมาพูด คำพูดที่ดังมากของไดเดนก็คือคำพูดที่ว่า คนเราควรจะแปล, สมมติแปลฮอเรสก็ควรจะแปลให้เปรียบเสมือนฮอเรสพูดภาษาอังกฤษในยุคสมัยนี้ ส่วนใหญ่ไดเดนไม่ได้เขียนบทความแต่จะเขียนคำนำ ในคำนำเขาจะเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการแปลเอาไว้ เขาบอกว่าในการแปลมันมี ๓ อย่าง คือ

     ๑. แปลคำต่อคำ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการแปลที่แย่มาก

     ๒. การแปลง มีการแปลอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า "การแปลง" การแปลงคือ คล้ายๆ การเขียนเลียนแบบขึ้นมาใหม่ เช่นที่เราเห็นชัดที่สุดที่ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเรื่อง"ไผ่แดง" กับเรื่อง"กาเหว่าที่บางเพลง" เป็นการแปลง โดยทั่วไปการแปลง ประเทศที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการแปลง คือฝรั่งเศส

การแปลงนั้นไดเดนบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่เสียหายในยุคหนึ่ง การแปลงมีประโยชน์มากถ้าหากว่าเป็นยุคที่สองชนชาติเพิ่งติดต่อกันใหม่ๆ แล้วในชนชาติที่จะแปลไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม หรือความคิดประเพณีของอีกชนชาติเลย การแปลตรงๆ มันจะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ยกตัวอย่าง สมมติว่าย้อนไป ๒๐๐ ปี เราจะแปลนิยายของตะวันตกมาเป็นไทยแล้วเราแปลตรงๆ เช่น ฝรั่งทักทายกันด้วยการจูบ ถ้าเราแปลตรงๆ นักอ่านไทยในยุคโบราณไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมประเภทนี้ได้ว่า เอ๊ะ ทำไมนางเอกในเรื่องนี้ไปจูบกับตัวร้าย แปลว่าอะไร? ความเข้าใจมันจะไม่เกิด ในยุคแบบนี้ การเขียนแปลงขึ้นมาใหม่อาจจะเป็นประโยชน์เพื่อเป็นการเตรียมให้คนในชนชาติ เริ่มทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมหรือประเพณีที่แตกต่างออกไป แต่ว่าการแปลงประเภทนี้ เมื่อชนชาตินั้นๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอีกชนชาติหนึ่งมากพอแล้ว การแปลงเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำอีก ไดเดนให้เหตุผลว่ามันไม่มีรสนิยม ไม่สมควรทำ คือ มันควรจะก้าวไปอีกขั้น คือมีการแปลที่แท้จริง

     ๓. การแปลที่แท้จริง คือการแปลแบบที่รักษาต้นฉบับเอาไว้ ไดเดนเขาเปรียบเปรยว่า การแปลคำต่อคำ (เขาใช้คำเปรียบเทียบ ไดเดนเขาจะภาษาสวยมาก ดิฉันแปลมาอาจจะไม่สวยเหมือนเขา) เขาเปรียบเทียบว่า "การแปลคำต่อคำ เปรียบเสมือนการเต้นรำ บนเส้นเชือก ด้วยขาที่ผูกมัดไว้ นักเต้นรำ อาจประคองตัวไม่ให้ตกลงไปด้วยความระมัดระวัง แต่อย่างคาดหวังเลยว่า จะมีความสง่างามของท่วงท่า และหากจะกล่าวถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นภารกิจที่โง่เขลา เพราะไม่มีคนสติดีคนไหน จะเสี่ยงชีวิตเพียงเพื่อเสียงปรบมือ ที่ปรบมือให้เขาเพราะเขาเอาตัวรอดได้ โดยที่เขาไม่ตกลงมาคอหักตาย" นี่คือเขาวิจารณ์การแปลคำต่อคำอย่างแบบว่าเถรตรง ในขณะที่ไดเดนบอกว่าการแปลที่ดี คือ"การแปลอย่างอิสระในขอบเขตจำกัด" โดยที่นักแปลต้องคำนึงถึงผู้ประพันธ์อยู่เสมอคือ เหมือนกับว่าแปลไป ตามองผู้ประพันธ์อย่างไม่ให้คลาดสายตา กล่าวคือ นักแปลไม่ได้แปลจากถ้อยคำแบบตายตัว แต่แปลตามความหมายมากกว่า และความหมายนั้นอาจจะมีการขยายความได้บ้าง แต่ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ. แล้วเขาก็สรุปว่า อย่างที่เขาแปล"เวอร์จิน" ตัวไดเดนบอกว่า "ผมพยายามทำให้เวอร์จิน พูดภาษาอังกฤษอย่างที่เวอร์จินน่าจะพูด หากว่าเขาเกิดในอังกฤษและอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็คือในสมัยของไดเดนเอง" นี่เป็นวิธีคิดของทฤษฎีการแปลในยุคนี้ ในภาษาไทย วิธีคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการแปลแบบนี้มีเป็นภาษาไทยออกมา เป็นของอาจารย์นพพร ประชากุล เล่มบางๆ ขายอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นชื่อ"ทฤษฎีการแปล" อาจารย์นพพรแปลมาจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เป็นทฤษฎีในยุคปัจจุบัน เป็นลักษณะแนวคิดเดียวกับไดเดน ในยุคแรก

ยุคที่สอง

ขึ้นมายุคนี้จะเกี่ยวข้องกับยุคทฤษฎีความหมายของการแปล เริ่มต้นมาในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ โดยเฉพาะบทความที่สำคัญมาก และก็คนได้อ้างถึงเกี่ยวกับทฤษฎีการแปลนี้ก็คือ บทความของชไลเออร์มาเคอร์ ที่จริงเขาเป็นนักชีววิทยาชาวเยอรมัน เป็นนักคิดทางด้านการตีความ เขาเขียนบทความนี้ ถ้าเราไปอ่านทฤษฎีการแปลต่างประเทศ เกือบทุกเล่มยังไงๆ ก็ต้องพูดถึง ชไลเออร์มาเคอร์ ในยุคนี้มีนักคิดอยู่หลายคน นอกจากชไลเออร์มาเคอร์ ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็จะมี เกอเต้, โชเปนฮาวเออร์, วอเตอร์ เบนจามิน…

แต่ชไลเออร์มาเคอร์มีคนอ้างถึงมากที่สุด เนื่องจากว่ายุคนี้มีการศึกษาค้นคว้า มีแนวคิดทฤษฎีทางด้านปรัชญาและภาษาศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ทฤษฎีการแปลก็ได้รับอิทธิพลมาจากทางด้านปรัชญาและภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะทฤษฎีความหมายหรือการตีความ สมัยก่อนในยุคแรก ทฤษฎีการแปลจะเกิดมาจากนักแปลจริงๆ พูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง แต่พอมาถึงยุคนี้ทฤษฎีการแปล บางทีไม่ได้เกี่ยวกับการแปลจริงๆ จะเป็นนักคิดหรือนักปรัชญามองเรื่องการแปลโดยเชื่อมโยงเกี่ยวกับทฤษฎีทางด้านภาษา ปรัชญา และความคิดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทฤษฎีการแปล เริ่มปรับเปลี่ยนและมีระเบียบวิธีคิดเป็นของตัวเอง โดยที่อาจจะไม่ขึ้นอยู่กับการแปลจริงๆ หรือว่าต้นฉบับเฉพาะชิ้นไหนหรือว่านักแปลคนไหน แต่ว่าส่วนใหญ่ทฤษฎีการแปลในยุคนี้ จะเกี่ยวกับการทำความเข้าใจว่า คำว่าเข้าใจหมายถึงอะไร มันทำให้การแปลมีแง่มุมทางปรัชญาขึ้นมามาก

ชาวเยอรมันถือว่ามีบทบาทมากในเรื่องทฤษฎีการแปล กล่าวกันว่าชาวเยอรมันให้ความสนใจมากกับเรื่องการแปล ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า "การแปลเป็นชะตากรรมของภาษาเยอรมัน" วิวัฒนาการของภาษาเยอรมันสมัยใหม่ มีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับการแปล โดยเฉพาะการแปลที่ลูเธอร์แปลพระคัมภีร์ไบเบิล แล้วก็มีการแปลงานของโฮเมอร์ และเชคสเปียร์ มาเป็นภาษาเยอรมัน ทำให้ภาษาเยอรมันเกิดวิวัฒนาการ และกลายมาเป็นภาษาเยอรมันในปัจจุบัน ทำให้นักคิดทางด้านเยอรมันสนใจทฤษฎีการแปลมากพอสมควร คือชไลเออร์มาเคอร์ ในบทความนี้ถ้าจะพูดถึงก็คือ พูดแบบสรุปๆ เลยคือวา การแปลมี ๒ วิธี คือ

๑. ดึงผู้อ่านไปหานักเขียน
๒. ดึงนักเขียนไปหาผู้อ่าน

วิธีหลังที่ว่าดึงนักเขียนไปหาผู้อ่านคือ หมายถึงว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่านได้อ่านงานของนักเขียนคนนั้นอย่างราบรื่น ไม่รู้สึกติดขัด ไม่รู้สึกว่าแปลกแยกจากงานแปล เหมือนวิธีการที่ไดเดนพูดในตอนแรกว่า เหมือนทำให้เวอร์จินพูดภาษาอังกฤษในยุคนั้นๆ แต่ ชไลเออร์มาเคอร์บอกว่า การคิดแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าภาษาความคิด หรือความหมายทุกอย่างในโลกมันก่อรูปในภาษาและผ่านภาษา แล้วในเมื่อภาษามันมีประวัติศาสตร์ มีรากศัพท์ มีวัฒนธรรม มีบริบทที่แตกต่างกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไปถอดงานเขียนชิ้นหนึ่ง ออกจากภาษาดั้งเดิม แล้วเอาแต่ความหมายแก่นแท้ที่เป็นสากล แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยที่เหมือนกับจับแต่งตัวเข้าไปใหม่ เขาบอกว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมันเท่ากับว่า (โดยที่เขาเชื่อว่า) ความคิดที่เป็นแก่นแท้ที่ไม่ผูกติดอยู่กับภาษาเลย มันไม่มี เพราะความคิดทุกอย่างมันก่อรูปในภาษา เพราะฉะนั้นเขาเลยมองว่า อันนั้นไม่ใช่การแปลที่แท้จริง

การแปลที่แท้จริงในความคิดชไลเออร์มาเคอร์ก็คือว่า คุณจะต้องดึงผู้อ่านเข้าไปหาผู้เขียน พูดง่ายๆ ก็คือว่าทำให้ภาษาในการแปลที่ดี มันอาจจะไม่ได้ราบรื่นหรือว่า เป็นเสมือนภาษาต้นฉบับ คือไม่มีความสละสลวย ความสละสลวยอาจจะหายไป แต่ในขณะเดียวกันมันจะรักษาความคิดที่แตกต่างกันของคนละวัฒนธรรมเอาไว้ได้ คือนักแปลอาจจะต้องทำในที่สิ่งที่ผู้อ่านไม่พอใจหรือไม่ยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความซื่อสัตย์ต่อความหมายดั้งเดิมที่แปลกแยกออกไปจากสังคมของตัวเองมากกว่า

ยุคที่สาม

หลังยุคที่ ๒ เข้าสู่ยุคที่ ๓ นับเป็นยุคที่มีเวลาอยู่สั้นมากเลย มันเป็นยุคที่เกิดมาจากอิทธิพลแนวคิดที่เขาเรียกว่า "formalism" ของพวกรัสเซียและเชค ที่เขาเรียกว่าพวกโครงสร้างนิยม การเกิดขึ้นของทฤษฎีภาษาศาสตร์แบบพฤติกรรมศาสตร์และความเฟื่องฟูของแนวคิดทางด้านสถิติ นักคิดคนสำคัญของกลุ่มนี้ที่เขียนทฤษฎีการแปลที่คนจะอ้างถึงมากมาย คือ โรมัน ยาคอร์ปสัน จริงๆ พยายามแปลยาคอร์ปสัน แล้วแต่ติดปัญหาเรื่องภาษาศาสตร์ เขาจะใช้ศัพท์ภาษาศาสตร์มาก เราไม่แม่นก็เลยหยุดไปไม่ได้แปลต่อ ยุคนี้มีเวลาค่อนข้างสั้นมาก เขามองว่ายุคนี้มันมาจากแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วยคือ มีความเชื่อว่า มันน่าจะมีการทำตารางแผนผังของการเทียบเคียงของภาษา ๒ ภาษาได้ โดยที่เขาจะพยายามใช้ศัพท์วิทยาสัญลักษณ์เข้ามาเปรียบเทียบกับการถอดความหมายทางด้านภาษาศาสตร์ พยายามใช้ความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง กับทฤษฎีข้อมูลมาใช้ในการแปลระหว่างภาษา

อิทธิพลที่ยุคนี้ทำให้เกิดวารสารทางวิชาการเกี่ยวกับนักแปลอาชีพ และการแปลเป็นประเด็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นวารสารโดยเฉพาะในทางวิชาการขึ้นมา แต่ว่ายุคนี้มันอยู่ได้ไม่นาน เพราะว่าส่วนหนึ่งมันถูกล้มไป เพระว่าแนวคิดภาษาศาสตร์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์มันล้มไป เพราะการเกิดขึ้นของภาษาศาสตร์สำนักนอม ชอมสกี้

ภาษาศาสตร์ในพฤติกรรมศาสตร์ เขาจะมองว่าคนเหมือนผ้า ความรู้ทางภาษาเกิดจากการสอนแต่ชอมสกี้ เขาปฏิวัติแนวความคิดของภาษาศาสตร์ของพวกพฤติกรรมศาสตร์ โดยเขาเขาเรียกว่า "generative grammar" เขาบอกว่า ในมนุษย์ทุกคนมันจะต้องมีกลไกอันหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถที่จะเรียนรู้ภาษในตัวเองอยู่แล้ว อันนี้ชอมสกี้สังเกตจากเด็ก ดูถึงเรื่องของการเรียนรู้ทางภาษาของเด็กซึ่งสามารถก้าวกระโดดไปได้ และจากการสอนภาษา ถ้ามนุษย์มีลักษณะเป็นเด็กแบบที่พฤติกรรมศาสตร์พูดว่าเป็นเหมือนผ้าขาว แล้วทุกอย่างเกิดจากการสอน เหตุใด? ทำไม? ความรู้ที่จำกัดในเรื่องไวยากรณ์ของมนุษย์ แต่ทำไมทำให้มนุษย์ใช้ไวยากรณ์ที่จำกัด สามารถสร้างการแสดงออกของภาษาได้อย่างไม่จำกัด จริงๆ ชอมสกี้มองและ มีทฤษฎีว่า มันจะต้องมีอะไรบางอย่างในตัวมนุษย์ที่พูดง่ายๆ ว่า ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด ไม่ได้เกิดจากการสอน เขาบอกว่าเด็กไปอยู่ในสังคมไหนๆ ก็สามารถเรียนรู้ภาษาได้ทันที แสดงว่ามันจะต้องมีอะไรบางอย่างในตัวเด็กที่พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว แนวคิดแบบนี้มันทำให้วิธีคิดแบบกลไกในเรื่องภาษาศาสตร์ตกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทฤษฎีการแปลในยุคนี้ มันอยู่ได้ไม่นานและหมดไป คือไม่มีอิทธิพลต่อมาอีก

ยุคที่สี่

ปัจจุบันนี้คือ ต้องเรียกว่าเป็นยุคของสัญญวิทยา คนที่มีอิทธิพลในทฤษฎีการแปลยุคนี้ ก็คือ อูมเบอร์โต้ เอโก้ เขาเขียนหนังสือเป็นทฤษฎีการแปลเล่มหนึ่งชื่อ "mouse or rat" และคนที่เขียนที่เป็นพวก postmodern ส่วนใหญ่แนวคิดในด้านทฤษฎีการแปลของกลุ่มนี้ ก็คือ เน้นไปทางด้านสหสัมพันธบท (intertextuality) ความหมายขึ้นอยู่กับบริบทที่แวดล้อม แล้วก็เอโก้เขียนหนังสือทฤษฎีการแปลเล่มหนึ่งพูดว่า " การแปลคือการต่อรอง" การต่อรองระหว่างนักแปลกับต้นฉบับ มันจะเป็นการต่อรองประโยคต่อประโยคและคำต่อคำ หรือความหมายต่อความหมาย แต่ว่าโดยส่วนตัว คิดว่ามีคนหนึ่งที่นิยามเรื่องการแปลได้ดีคือวิกเก็นสไตล์ เป็นนักปรัชญา เขาบอกว่า การแปลเป็นเสมือนปัญหาทางคณิตศาสตร์ มันแก้ได้ แต่มันไม่มีระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการแก้ นี่เป็นคำพูดของวิกเก็นสไตล์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย