ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ตำราพิชัยสงคราม ซุนวู

อธิคม สวัสดิญาณ และ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม แปล

ปฏิบัติการทางทหาร

 บทที่ ๗ การสัประยุทธ์

อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น แม่ทัพรับโองการจากประมุข ระดมไพร่รวบรวมพล ตั้งทัพเผชิญข้าศึก ที่ยากคือการชิงชัย ความยากของการชิงชัยอยู่ที่แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์

ฉะนั้นจึงพึงเดินทางอ้อม แล้วล่อด้วยประโยชน์ เคลื่อนพลทีหลัง ถึงที่หมายก่อน นี้คือผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรง ฉะนั้น การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย ยกทัพทั้งกองไปชิงประโยชน์ จักไม่ทันกาล ทิ้งยุทโธปกรณ์ไปชิงประโยชน์ จักสูญเสียสัมภาระ

เหตุนี้ แม้นเก็บเสื้อเกราะเร่งเดินทัพ ไม่หยุดทั้งกลางวันกลางคืน รีบรุดเป็นทวีคูณ เพื่อไปชิงประโยชน์ในร้อยลี้ แม่ทัพทั้งสามจักเป็นเชลย เพราะผู้แข๋งแรงจะขึ้นหน้า ผู้เหนื่อยล้าจะตกหลัง การนี้จะมีทหารถึงที่หมายเพียงครึ่งเดียว แม้นเพื่อชิงประโยชน์ในสามสิบลี้ ก็จะมีทหารถึงที่หมายเพียงสองในสาม

เหตุนี้ กองทัพที่ขาดยุทธสัมภาระจักล่ม ขาดเสบียงอาหารจักล่ม ขาดคลังสำรองจักล่ม

ฉะนั้น มิรู้เจตจำนงเหล่าเจ้าครองแคว้น ก็มิพึงคบหามิรู้ลักษณะป่าเขา ที่คับขันอันตราย ห้วยหนองคลองบึง ก็มิอาจเดิมทัพ ไม่ใช้มัคคุเทศน์พื้นเมือง ก็มิได้ประโยชน์จากภูมิประเทศ

ฉะนั้น การศึกจึงกำหนดด้วยเล่ห์ เคลื่อนทัพด้วยประโยชน์ กระจายหรือรวมพลตามศึก

ฉะนั้น จึงรวดเร็วดังหนึ่งพายุ เชื่องช้าดังหนึ่งไม้ลู่ รุกไล่ดังหนึ่งเพลิงผลาญ ตั้งมั่นดังหนึ่งภูผา รู้ยากดังหนึ่งความมืด เคลื่อนทัพดังหนึ่งฟ้าคำรณ ได้บ้านให้แบ่งสินศึก ได้เมืองให้ปูนบำเหน็จประมาณการแล้วจึงเคลื่อน ผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรงก่อนจักชนะ นี้คือหลังแห่งการสัประยุทธ์

"ตำราการทหาร" กล่าวว่า "ส่งเสียงไม่ได้ยิน จึงใช้ฆ้องกลอง แลมองมิได้เห็น จึงใช้ธงทิว" อันฆ้องกลองและธงทิวนั้นเพื่อให้หูตาไพร่พลเป็นหนึ่งเดียว เมื่อไพร่พลเป็นหนึ่งเดียว ผู้กล้าหาญก็ไม่บุกแต่ลำพัง ผู้ขลาดกัวก็ไม่ถอยแต่คนเดียว นี้คือหลักแห่งการบัญชาไพร่พล ฉะนั้น รบกลางคืนจึงมากด้วยแสงไฟเสียงกลอง รบกลางวันจึงมากด้วยธงธวัชสะบัดโบก ดังนี้ จึงเปลี่ยนแปลงหูตาไพร่พลได้

ฉะนั้น สามทัพอาจเสียขวัญ แม่ทัพอาจท้อแท้ โดยเหตุที่ยามเช้ามักฮึกเหิม ยากสายจักอิดโรย ยามเย็นก็สิ้นแรง ฉะนั้นผู้สันทัดการบัญชาทัพ พึงเลี่ยงความฮึกเหิม เข้าตีเมื่ออิดโรย นี้คือคุมขวัญ เอาสงบรอปั่นป่วน เอาเงียบรอโกลาหล นี้คือคุมจิต เอาใกล้รอไกล เอาสบายรอเหนื่อย เอาอิ่มรอหิว นี้คือคุมพลัง อย่าตีสกัลทัพซึ่งธงทิวปลิวไสว อย่าโจมตีทัพซึ่งตั้งอยู่อย่างผ่าเผย นี้คือคุมเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น หลักแห่งการบัญชาทัพ ที่สูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก แสร้งถอยอย่าไล่ แกร่งกล้าอย่าตี อ่อยเหยื่ออย่ากิน คินถิ่นอย่าขวาง ล้อมพึงเปิดช่อง จนตรอกอย่าเค้น นี้คือหลักแห่งการสัประยุทธ์

ภาคปฏิบัติ

 "ความยากของการชิงชัย อยู่ที่แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์ เคลื่อนพลทีหลังถึงที่หมายก่อน"
"การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย"
 "สามทัพอาจเสียขวัญ แม่ทัพอาจท้อแท้"
"ยามเข้ามักฮึกเหิม ยามสายจักอิดโรย ยามเย็นก็สิ้นแรง"
 "ที่สูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก"
"แสร้งถอยอย่าไล่ อ่อยเหยื่ออย่ากิน"
"คืนถิ่นอย่าขวาง"
"ล้อมพึงเปิดช่อง จนตรอกอย่าเค้น"

 

การวางแผน
การทำสงคราม
ยุทโธบายเชิงรุก
ลักษณะการยุทธนุภาพ
ยุทธานุภาพ
จริงลวง
การสัประยุทธ์
ความผันแปร 9 ประการ
การเดินทัพ
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่เก้าลักษณะ
โจมตีด้วยไฟ
การใช้จารชน

ปฏิบัติการทางทหาร

ประเมินศึก
การทำศึก
กลวิธีรุก
รูปลักษณ์การรบ
พลานุภาพ
ตื้นลึกหนาบาง
การสัประยุทธ์
เก้าลักษณะ
การเดินทัพ
ภูมิประเทศ
เก้ายุทธภูมิ
โจมตีด้วยเพลิง
การใช้จารชน
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย