ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย
หนังสือไทยโบราณทั้งหลาย เช่น หนังสือพงศาวดาร ประกาศกฏหมายเก่า หรือ ตำราต่างๆ ฯลฯ มักลงศักราช ไว้ต่างๆ กัน สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อจะลงศักราชบอกเวลาเป็นปี นิยมใช้ "จุลศักราช" หนังสือที่ตึพิมพ์ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๑ หรือในตอนกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หนังสือราชการ ตำราและ แบบเรียน ฯลฯ ใช้ " รัตนโกสินทรศก " แทน "จุลศักราช" ทั้งสิ้น แต่การลงศักราชเป็น"รัตนโกสินทรศก" นั้น กระทำอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะปรากฏว่าตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๕ เป็นต้นมา หนังสือราชการและสิ่งพิมพ์ต่างๆ หันมาใช้ "พุทธศักราช" แทน "รัตนโกสินทรศก" ตราบจนทุกวันนี้ ประโยชน์ของการเปรียบเทียบศักราชเป็นสิ่งควรจำสำหรับใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าตำราเก่า
ศักราชเท่าที่ปรากฏในหนังสือไทยโบราณ มีด้วยกัน ๕ ชนิดคือ
๑. มหาศักราช
๒. จุลศักราช
๓. ศักราชจุฬามณี (ศักราชกฏหมาย)
๔. รัตนโกสินทรศก
๕. พุทธศักราช
มหาศักราช มีกำหนดแรกบัญญัติ นับแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ๖๒๑ ปี เป็นศักราชที่แพร่หลายเข้ามาใช้ในเมืองไทยก่อนศักราชอื่น ประมาณว่าตั้งแต่เริ่มมีการจารึกหนังสือไทย ใช้มหาศักราชเป็นส่วนใหญ่
จุลศักราช เป็นศักราชที่ตั้งขึ้น และใช้ในเมืองพม่ามาแต่ก่อน ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาใช้ในราชการตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา (๒๑๑๒- ๒๑๓๓) ซึ่งขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาติดต่อเกี่ยวกับเมืองหงสาวดีในฐานะเป็นเมืองประเทศราชอยู่ถึง ๑๕ ปีเนื่องจากเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรก
ความเป็นมาของ จุลศักราช มีว่า "สังฆราชบุตุโสระหัน" เมื่อสึกจากสมณเพศได้ชิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๑๙ ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ในประเทศพุกาม ได้บัญญัติจุลศักราชขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๑๘๒ (กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๑๑๘๑ ปี) และต่อมาก็เลิกใช้ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจุลศักราช ๑๒๕๐ ได้มี "ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่" ว่า :
" มีพะบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับวัน เดือน ที่ใช้กันอยู่ในสยามมณฑล และที่ใช้ในประเทศน้อยใหญ่เป็นอันมากในโลกนี้ เป็นวิธีต่างกันอยู่มากคือกล่าวโดยย่อก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์ว่าวิธีนับวัน เดือน ปี อย่างดีที่สุดนั้น ควรจะประกอบด้วยเหตุอันควร ๓ ประการคือ (๑) ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล (๒) ให้มีประมาณอันเสมอไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันนัก กับ (๓) ให้คนทั้งปวงรู้ง่ายทั่วไปดีกว่าอย่างอื่น ทั้ง ๓ ประการนี้ จึงจะสมควรที่จะใช้ในประชุมชนทั้งปวง …." ผลการประกาศฉบับนี้ ศักราชที่เคยใช้มาก่อนทั้งมวลเป็นอันงดใช้และให้ใช้" รัตนโกสินทรศก" เว้นแต่ในทางพระพุทธศาสนา คงใช้พุทธศักราชเท่านั้น
" รัตนโกสินทรศก" เป็นศักราชที่ใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่ปีที่ตั้งกรุงเทพพระมหานครเป็นทางราชการ คือ ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ เพราะฉะนั้น รัตนโกสินทรศก ๑ ก็คือปีพุทธศักราชล่วงมาแล้ว ๒๓๒๔ ปีแต่รัตนโกสินทรศก ใช้กันอยู่ไม่นานนักก็เป็นอันเลิกใช้ใน ร.ศ.๑๓๑ เป็นต้นมา สิ่งพิมพ์ต่างๆ และหนังสือราชการก็หันมาลงศักราช เป็น"พุทธศักราช" ในมาตรฐานเดียวกัน
" พุทธศักราช " ซึ่งทางราชการไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีคติตั้งแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน โดยไทยถือตามมติของลังกาคือถือว่า ทรงปรินิพพาน๕๔๓ ปีก่อนคริสต์ศักราช แม้ว่าเราจะใช้พุทธศักราชกันมานานแล้ว แต่ทางราชการเพิ่งจะบังคับใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรมประกาศลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ ความว่า" ……ทรงพระราขดำริห์ว่าพระพุทธศักราชนั้นได้เคยใช้ในราชการทั่วไปไม่ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราชแทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเป็นการสะดวกแก่การอดีตในพงศาวดารของกรุงสยามมากยิ่งขึ้นฯลฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระพุทธศักราชในราชการทั้งปวงทั่วไป ฯลฯ " หลังประกาศฉบับนี้ หนังสือไทยทุกประเภทจึงลงศักราช เป็นพุทธศักราชมาจนทุกวันนี้
" ศักราชจุฬามณี" เป็นคำระบุศักราชที่พบในตำราหนังสือไทยเก่าๆ ยังไม่มีผู้ใดสืบหลักฐานที่มาได้ เพียงแต่สอบได้ความว่าถ้าปรากฏศักราชชนิดนี้ในบานแผนกกฎหมายต้องใช้เกณฑ์เลข ๒๕๘ ลบ ผลลัพธ์ เป็นจุลศักราช
" คริสตศักราช " เป็นศักราชที่มีต้นกำเนิดและใช้ในหนังสือต่างประเทศ หนังสือไทยโบราณทุกสมัยก่อนๆ ไม่ปรากฏว่าได้เคยใช้ศักราชแบบนี้เลย
เกณฑ์ตัวเลขสำหรับการเปรียบเทียบศักราช เพื่อเป็นพุทธศักราช
๑. ถ้าพบว่าเป็น "มหาศักราช" ให้เอา ๖๒๑ บวก
๒. ถ้าพบว่าเป็น "จุลศักราช" ให้เอา ๑๑๘๑ บวก
๓. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชรัตนโกสินทร์" ให้เอา ๒๓๒๔ บวก
๔. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชจุฬามณี" หรือ " ศักราชกฏหมาย" ให้เอา ๒๕๘ ลบ
ผลลัพธ์เป็นจุลศักราช แล้วจึงเปลี่ยน "จุลศักราช" เป็น พุทธศักราช
๕. ถ้าพบว่าเป็น " คริสตศักราช" ให้เอา ๕๔๓ บวก