ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

รพินทรนาถ ฐากูร

1

             วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ประกาศจากกรุง สต๊อกโฮล์มว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปีคือ ระพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง คีตาญชลี
                      นักเขียนภาพล้อเลียนประจำหนังสืงพิมพ์เยอรมัน ใช้พู่กันตวัดวาดออกมาเป็นรูปชาวฮินดู ตัวดำปิ๊ดปี๋ เปลือยกายท่อนบน โพกหัวใหญ่โต กำลังปีนต้นมะพร้าว ชูอวดประกาศนียบัตรรางวัลโนเบล ด้วยอาการเร่อร่าราวกับคางคกขึ้นวอ
                     ข่าวคราวยังคงสับสนต่อไปอีก หนังสือ Daily Citizen ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2475 รายงานว่า ชื่อเสียงและเกียรติคุณของ ระพินทรนาถ ฐากูร กวีชาวอินเดียกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่าน แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัด ห้องสมุดประจำกรุงลอนดอน แห่งหนึ่งได้รับคำขอร้องจากสมาชิกเนืองๆ
                    จดหมายฉบับหนึ่งแสดงความประสงค์ว่า " โปรดส่งหนังสือ คีตญชลี ของนักเขียนชาวยิว ซึ่งดูเหมือนว่าจะชื่อ ฐากูร มาให้ข้าพเจ้าด้วย "
                     ยังมีอีกฉบับหนึ่งถามมาว่า " คุณมีหนังสือของ ฐากูร ชาวรัสเซียบ้างไหม "
                     ส่วนอีกฉบับหนึ่งปรารภว่า " ข้าพเจ้าใคร่ขอยืม ชุมนุมบทเพลงชุดใหม่ ประพันธ์โดยกวีอาหรับ "
                     ตอนท้ายของรายงานชิ้นนี้สรุปว่า หาก ฐากูร ได้ยินคำขอร้องเหล่านี้ คงจะหัวเราะเป็นแน่แท้ เพราะเขาเป็นผู้มากไปด้วยอารมณ์ขัน อารมณ์ซึ่งแทบไม่มีใครจะคิดถึงกันแล้ว....
                     " คีตญชลี " อันมีความหมายว่า การบูชาด้วยเพลง แม้จะเป็นกวีที่ระเกะระกะไปด้วย คำว่าพระเจ้าก็จริง แต่พระเจ้าองค์นี้ไม่เอาแต่สถิตอยู่บนแท่นเฉยๆ รพินทรนาถ ได้แสดงความคิดเห็นใหม่ๆออกมา ดังในบทที่ 11ความว่า

                    " หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน ลืมตาขึ้นแล้วมองดู พระเจ้ามิได้ประทับอยู่เบื้องหน้าท่านเลย
                  พระองค์สถิตอยู่ ณ ที่ซึ่งชาวนากำลังไถท้องทุ่งอันแข็งกระด้าง และคนทำถนนกำลังระดมแรงทุบก้อนหินให้แตก พระองค์ทรงอยู่กับพวกเขาท่านกลางเปลวแดดและสายฝน เส้นผมที่เต็มไปด้วยคราบฝุ่น จงถอดอาภรณ์ที่แสนสะอาดของท่านออก แล้วก้าวลงไปยังแผ่นดิน ที่คละคลุ้งไปด้วยละอองธุลีบ้าง
                   ความหลุดพ้นนะหรือ ความหลุดพ้นจะหาได้จากที่ใด พระผู้เป็นเจ้าของเราผูกพันอยู่กับ นิรมิตกรรม ด้วยความเปรมปราโมทย์ พระองค์ใกล้ชิดสนิทแนบ กับพวกเราชั่วนิรันดร์
                   จงพักการเพ่งภาวนาของท่านไว้เพียงนี้ ทิ้งดอกไม้ธูปเทียนไว้ก่อน จะเป็นไรหรือ หากเครื่องแต่งกายของท่านขาดและเปอะเปื้อนบ้าง ออกไปพบและทำงานด้วยหยาดเหงื่อร่วมกับพระเจ้าของพวกท่านเถิด"

 

               ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาผู้มีศรัทธาในผลงาน ของฐากูร ไมตรี เทวี   ซักไซ้ ถึงความเป็น คีตญชลี แล้วบันทึกลงในหนังสือ ฐากูรข้างกองไฟ ( Tagore By Friend ) ตอนหนึ่งท่านกวี ฐากูร เล่าว่า
                   " เมื่อแรกแปลออกเป็นภาษาอังกฤษ ฉันไม่นึกว่ามันจะน่าอ่าน ซ้ำยังมีหลายคนกล่าวหาว่า ชาลส์ เฟรีย แอนดรูส์ เป็นคนทำให้ ตอนที่ วิลเลี่ยม บัตเลอร์ ยีตส์ จินตกวีไอร์แลนด์ จัดชุมนุมปัญญาชน ที่บ้านของวิลเลี่ยม โรเธนสไตน์ ฉันบอกไม่ถูกว่ายุ่งยากใจเพียงใด แต่ยีตส์ไม่ฟังเสียง อ่านคีตญชลีให้ฟังจนได้ ผู้ฟังเดินเข้ามานั่งลงเงียบๆ ฟังเงียบๆ แล้วก็กลัยไปแบบเงียบๆ ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีเสียงชื่นชมหรือตำหนิติเตียน ฉันแสนที่จะอดสู อยากให้ธรณีแยกแล้วสูบฉันลงไปเสีย จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป ทำไมหนอฉันจึงได้หลงเชื่อยีตส์ขนาดนั้น.... แต่วันรุ่งขึ้น ได้รับจดหมายไม่รู้กี่ฉบับ ผู้ฟังรับว่ารู้สึกประทับใจจริงๆ จนกระทั่งพูดไม่ออก ชาวอังกฤษมีนิสัยสำรวมเช่นนี้เอง ยีตส์รู้เข้าถึงกับตื่นเต้นใหญ่เชียว...."

rapin02.gif (16883 bytes)

นั่นเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนการตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

               รพินทรนาถสารภาพว่า ไม่อาจจับหลักภาษาอังกฤษได้ พูดง่ายๆคือขาดกุญแจ จึงต้องเขียนแบบกระโดข้ามรั้ว มันเป็นกายกรรมไม่ใช่การเดินตามธรรมชาติ
                   ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษเขาส่งเรื่องสั้นมายัง รามนันท์ จัฏเฏอร์จี และกำชับว่า "กรุณาตรวจทานภาษาอังกฤษให้ด้วย เพราะฉันเขียนตามความเคยชิน อาศัยเพียงการสัมผัสทางเสียงเท่านั้นเอง"
                  แม้กระนั้น ผู้คงแก่เรียนซึ่งมีภาษาอังกฤษเป็นการพูด ต่างยืนยันว่าถ้อยคำของเขานั้นคล่องแคล่ว และเป็นอิสระดุจที่ใช้กันในออกซฟอร์ดที่เดียว บทกวีของรพินทรนาถในพากย์ภาษาอังกฤษ ไม่เป็นเพียงงานแปลธรรมดาๆชิ้นหนึ่ง เท่านั้น แท้จริงต้องถือว่าเป็นงานซึ่งให้กำเนิดภาษาใหม่ขึ้นในภาษาอังกฤษ ด้วยพลังที่ริเริ่มและแกร่งกล้า
                หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแสดงความเห็นว่า "บุคคลผู้นี้ควรได้รับรางวัลโนเบล ไม่ใช่แค่รางวัลเดียวเท่านั้น แต่เป็นหลายๆรางวัลเสียด้วย..." ปานนั้นเชียวแหละท่านทั้งหลาย.....

อ่านหน้า2

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย