ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ซิมโปเซียม
ซิมโปเซียม เป็นเรื่องราวปรัชญาแห่งความรักที่เกิดขึ้นในสมัยที่สามของเพลโต้เป็นสมัยที่มีงานเขียนปรัชญาชั้นสมบูรณ์แบบ ลักษณะการเขียนเป็นการผสมผสาน ระหว่างสมัยที่หนึ่งและสมัยที่สอง เพราะฉะนั้น ปรัชญาของเพลโต้สมัยนี้จึงแจ่มแจ้งชัดเจน ง่ายและงดงามทาง วรรณศิลป์คล้ายสมัยแรกแต่ก็ลึกซึ้งเหมือนสมัยที่สอง ปรัชญาสมัยนี้เป็นเพียงขยายหรือนำทฤษฎีแห่งมโนภาพไปใช้อย่างมีระบบ โดยนำความรู้สึกเกี่ยวกับความงามของคนไปสัมพันธ์กับความรู้ทางปัญญาตามทฤษฎีแห่งมโนภาพไปใช้ในด้านจริยศาสตร์ ฟิสิกส์ อุตมรัฐ การเมือง ซึ่งจะกล่าวเรื่องของซิมโปเซียมต่อไปนี้
(symposium)
อะพอลโลรัส ถูกขอร้องให้เล่าการสนทนาเรื่องความรัก ในงานเลี้ยงฉลองชัยชนะเนื่องในการประกวดบทละครโศกนาฏกรรมของอะกาธอน อะริสโตเตมัสไปร่วมงานและเล่าให้อะพอลโลรัสฟัง อะพอลโลรัสจึงได้เล่าตามคำบอกของอะริสโตเตมัสอีกทอดหนึ่ง เนื้อความย่อในการสนทนานั้นมี ดังต่อไปนี้
เฟดรุส
ความรักเป็นเทพเจ้าที่มีอานุภาพมากที่สุด ประเสริฐที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ความรักเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมในชาตินี้และความสุขในชาตินี้ เช่น ความรักจะทำให้คนที่กำลังมีความรักไม่ว่า หญิงหรือชายกล้าที่จะตายเพื่อคนที่ตนรัก ความรักสามารถทำให้คนกล้าฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างที่ขวางหน้า ความรักมีอำนาจทำให้คนขลาดเป็นคนกล้าทั้งทำให้คนกล้าเป็นคนขลาดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น คนที่กำลังมีความรัก สามารถทำได้ทุกอย่างทั้งดีทั้งชั่วเพื่อให้คนรักพอใจเป็นสำคัญ
พอไซเนียส
ความรักมี 2 ประเภท คือ ประเภทธรรมดาและประเภทสูงส่ง ความรักประเภท ธรรมดามีทั้งในคนและสัตว์ เป็นความรักที่มีจุดหมายที่ร่างกายเป็นสำคัญ เมื่อความรักประเภทนี้ เกิดแก่ใคร ต่างก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ครอบครองเชยชมคนรักให้ได้ ไม่ว่าจะได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตาม คนที่กำลังตกอยู่ในอำนาจความรักประเภทนี้อาจทำดีทำชั่วได้ทั้งนั้น
ส่วนความรักประเภทสูงส่ง เป็นความรักมุ่งความงามทางจิตใจ ความรักประเภทนี้มุ่งไปสู่ชายหนุ่มที่กล้าหาญฉลาดและมีคุณธรรม ไม่ได้มุ่งอำนาจทรัพย์สินหรืออื่นใด จึงเป็นความรักที่ถาวร
อะริซีมากัส
เขาเห็นด้วยกับพอไซเนียสว่าความรักมีทั้ง 2 ประเภท และมีความเห็นว่า ความรักทั้ง 2 ประเภทนี้ นอกจากจะมีในคนและสัตว์แล้ว ยังมีอยู่ในทุกๆสิ่งด้วย เช่น มนุษย์มีความรักอยู่ทั้ง 2 ประเภท ซึ่งมีสภาพแตกต่างกันอยู่ในตัวจึงมีความต้องการต่างกัน คือต้องการที่จะให้ร่างกายแข็งแรงกับต้องการสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย
มนุษย์จึงควรรู้เท่าทันความจริงแล้วพยายามเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีให้กลายเป็นดีให้ได้ เป็นการทำให้ธาตุซึ่งขัดแย้งกันเข้ากันได้อย่างเหมาะสม ดุจเสียงพิณที่ไพเราะเกิดจากการประสานกันของส่วนต่างๆ ของพิณ ฉันนั้น หรือเมื่อความร้อนและความเย็น ชื้นและแห้ง มารวมกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน ก็จะนำความแข็งแรงและความปลอดภัยมาให้ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์หรือต้นไม้
มนุษย์หากปล่อยให้ความรักประเภทธรรมดาเข้าครอบงำ ก็จะเป็นโทษทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น ตรงกันข้าม ถ้ามนุษย์ยึดมั่นอยู่ในความรักประเภทสูงส่ง ก็จะมีความสุขและความราบรื่นในชีวิต
อาริสโตเฟนีส
ความรักไม่ได้มี 2 ประเภทอย่างที่พอไซเนียสหรืออะริซีมากัสกล่าวไว้ ความรักเป็นความเรียกร้องของหัวใจที่จะได้สิ่งที่เคยมีกลับมาตามเดิมอีก
กล่าวคือ ในสมัยดั้งเดิม มนุษย์มีรูปร่างกลม มีพลังและสีข้างเป็นวงกลม มี 4 มือ 4 เท้าคล้ายนักกายกรรมซึ่งหกคะเมนตีลังกาอยู่ตลอดเวลา เจ้ามนุษย์แปลกประหลาดนี้สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วมากด้วยการกลิ้งตัว ทั้งมีกำลังมหาศาลจนขึ้นไปท้าเทพเจ้า
ร้อนถึงซีอุสซึ่งเป็นจอมแห่งเทพเจ้าต้องเรียกประชุมเทพเจ้าว่าจะจัดการกับมนุษย์ประหลาดอย่างไรดี เพราะหากปล่อยไว้ก็จะทำให้มนุษย์ได้ใจโอหังมากขึ้นทุกที จะทำลายเผ่าพันธุ์เสียเลยด้วยสายฟ้า ก็เกรงว่าจะไม่มีใครคอยทำพิธีบวงสรวงบูชาเทพเจ้าอีกต่อไป
ในที่สุด เทพซีอุสจึงตรัสว่าพระองค์คิดออกแล้วที่จะทำให้มนุษย์หายโอหังและมีความประพฤติดีขึ้น นั่นคือผ่าร่างกายออกเป็น 2 ซีก ดุจแบ่งไข่ต้มด้วยเส้นด้าย โดยวิธีนี้จะทำให้พลังในตัวมนุษย์ลดลงอย่างมาก ทั้งเป็นการทำให้มนุษย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย จะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เทพเจ้ามากขึ้น
มนุษย์เมื่อถูกผ่าแล้ว จะเดินตัวตรงบนขาทั้ง 2 และถ้ายังโอหังอีก ก็จะตัดให้เหลือเพียงขาเดียวจะไม่มีเรี่ยวแรงโอหังอีกต่อไปอีก แม้จะไปไหนก็จะต้องเดินเขย่งเสียแล้ว
เมื่อซีอุสแบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ภาคแล้ว ก็มีเทวโองการให้อะพอลโลบันดาลให้มนุษย์เอี้ยวคอได้เพื่อจะได้เห็นสารรูปของตน จะได้สำนึกไม่ยโสต่อไปอีก
มนุษย์เมื่อถูกผ่าเป็น 2 ส่วนแล้ว แต่ละส่วนต่างก็พยายามดิ้นรนโหยหาอีกส่วนหนึ่งซึ่งขาดไปและเมื่อมาพบกันก็จะพยายามเข้าสู่อ้อมกอดของกันและกัน เพื่อต้องการที่จะกลายเป็นส่วนเดียวกันเหมือนอย่างเดิม ดังนั้น มนุษย์ตั้งแต่ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนแล้ว ก็ไม่มีเวลาที่จะขึ้นไปต่อกรกับเทพเจ้าอีก เพราะมัวแต่เรียกร้องโหยหาถึงอีกส่วนหนึ่งซึ่งขาดไป เรื่องนี้เป็นเหตุที่ทำให้มนุษย์แต่งงานกัน
อะกาธอน
ความรักเป็นเทพเจ้าที่น่าบูชา สง่างามและดีที่สุด กล่าวคือทรงเป็นเทพที่สง่างาม ทรงเป็นหนุ่มอยู่เสมอไม่เคยชรา ความรักเกลียดชรามากและไม่ยอมเข้าใกล้ แต่ชอบติดตามวัยหนุ่มสาว ชอบประทับอยู่ในที่อ่อนนุ่มที่สุด เช่น ในหัวใจและดอกไม้หอม เป็นต้น
ทรงยุติธรรมที่สุด เพราะที่ใดมีการตกลงด้วยความสมัครใจ กฎหมายก็บอกว่ามีความยุติธรรมเกิดขึ้นที่นั่น
ทรงกล้าหาญที่สุด แม้แต่เทพเจ้าแห่งสงครามยังยอมแพ้ กล่าวคือเทพเจ้าแห่งสงครามก็ยังเป็นเชลยแห่งความรัก
ทรงเป็นกวี จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการประพันธ์ขี้น ผู้ใดได้รับความดลใจจากพระองค์ ผู้นั้นก็จะกลายเป็นกวี แม้เขาจะไม่มีพรสวรรค์มาก่อนก็ตาม
ทรงเป็นศิลปิน เพราะความรักเป็นแรงบันดาลใจให้คนผลิตผลงานทางศิลปะขึ้นมา แม้แต่เทพอะพอลโลทรงค้นพบศิลปะการรักษา ศิลปะการยิงธนู และศิลปะการติดต่อกับเทพเจ้า ก็เพราะได้รับคำแนะนำจากความรัก บทเพลงของพวกมิวส์ เทพธิดาประจำศาสตร์ต่าง ๆ และศิลปะการหลอมโลหะของเทพเฮฟีตุส ตลอดถึงศิลปะการทอผ้าของเทพธิดาเอเธนา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นผลงานของความรักทั้งหมด
ทรงเป็นเทพที่นำความเกลียดชังออกจากมนุษย์แล้วเติมความรักลงไปแทน เหตุนี้ มนุษย์จึงมีการพบปะในงานเลี้ยงต่าง ๆ เช่น การบวงสรวงเทพเจ้า การฉลองชัยชนะ การเต้นรำ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เทพเจ้าแห่งความรักจึงมีแต่ความกรุณาปรานีไม่เคยหยิบยื่นความโหดร้ายให้ใครเลย ทรงเป็นสหายของความดี ทรงเป็นความพิศวงของคนฉลาด ทรงเป็นความสวยงามของเทพเจ้า
ทรงเป็นบิดาแห่งสุนทรียภาพของความหรูหรา ความปรารถนา ความเอ็นดู ความอ่อนโยน ความสง่างาม ความใฝ่ดี เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เทพเจ้าแห่งความรัก จึงเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่สวยงามที่สุดและดีที่สุดในทุกอย่าง แม้ในภาษาที่เราใช้พูดกันก็มีคำอยู่ไม่น้อยที่เชื่อมโยงไปถึงความรักทั้งสิ้น เช่นคำว่าผู้ช่วยชีวิต ผู้นำทาง สหาย ผู้ช่วยเหลือ เป็นต้น
โซเครตีส
ความรักไม่ใช่เทพเจ้าที่งดงามหรือดี แต่ความรักก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดหรือชั่วช้า เพราะสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังจะต้องไม่สวยงามเสมอไปก็หาไม่ คนไม่ฉลาดจำต้องเป็นคนโง่เสมอไปก็หาไม่ ความรักอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 อย่าง เช่น ระหว่างความโง่เขลาและความฉลาด ความรักไม่ใช่เทพเจ้าเพราะเทพเจ้าท่านสมบูรณ์ดีแล้วทั้งความสุขและความสวยงาม แต่ความรัก เป็นความขาดหรือความพร่อง จึงต้องแสวงหาสิ่งที่ขาดที่พร่องนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นความรักจึงไม่ใช่เทพเจ้า ความรักไม่ใช่สิ่งที่เป็นอมตะและก็ไม่ใช่สิ่งมตะ แต่ความรักเป็นภูต อยู่ระหว่างเทพกับมนุษย์ ความรักเป็นผู้เชื่อมมนุษย์กับเทพเจ้าเข้าด้วยกัน เป็นสื่อกลางระหว่างเทพกับมนุษย์ นำการสวดอ้อนวอนและการบวงสรวงของมนุษย์ไปสู่เทพเจ้าและนำเทวโองการและคำตอบของเทพเจ้ามาให้มนุษย์ได้ทราบ
ความรักมีสภาวะที่ขัดกัน เช่น ความรักมีชีวิตชีวาและเบิกบานชั่วขณะหนึ่งแล้วก็เหงาไปอีกขณะหนึ่งและแล้วก็กลับคืนมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก ความรักเป็นกระแสที่ไหลเข้าไหลออกตลอดเวลา ดังนั้น ความรักจึงไม่เคยขัดสน แต่ก็ไม่เคยร่ำรวย
ความรักมีหลายประเภทหรือหลายระดับ จากหยาบ ประณีต จากรูปธรรม นามธรรมหรือจากต่ำ สูง ความรักประเภทแรกยังติดอยู่ในรูปร่างภายนอก ประเภทถัดไปเป็นความรักในเกียรติยศ ชื่อเสียง และประเภทสูงสุด คือรักในความรู้และความงามที่แท้จริง ความงามที่แท้จะไม่มีการเปลี่ยนแปรใด ๆ ทั้งยังมีเอกภาพและมีความคงทนถาวร ไม่มีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างใดทั้งสิ้น
การที่คนตลอดถึงสัตว์ทั้งหลายต้องการความรัก ก็เพราะเห็นว่า ตัวเองบกพร่องไม่สมบูรณ์ เป็นมตะ จึงปรารถนาที่จะได้ครอบครองสิ่งที่ดีงามไว้ชั่วนิรันดร จึงได้ปฏิบัติการเพื่อให้ได้สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นอมตะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น แสดงออกทางการสืบพันธุ์ เพราะการสืบพันธุ์สามารถนำชีวิตใหม่มาแทนชีวิตเก่าหรือได้ลูกมาแทนตัว ในชั้นสูงขึ้นมา คนจะแสดงออกมาด้วยการทิ้งผลงานทางเกียรติยศชื่อเสียงของตนไว้ให้ผู้อื่นคอยจดจำและขั้นสูงสุดคือการได้เข้าไปร่วมกับสิ่งที่เป็นอมตะคือความงามที่แท้จริง จึงพลอยเป็นอมตะตามไปด้วย