สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับความไม่เป็นระเบียบทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น โดยทั่วไปแล้วจะเปลี่ยนไปใน 2 ด้าน คือ
เปลี่ยนแปลงในด้านที่ส่งเสริมสวัสดิภาพของสังคมเพื่อให้บรรลุอุดมคติหรือชีวิตที่
ดีกว่าเดิม (Progressive social charge) และการเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่ง คือ
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประชาชนหันมารับเอาวิธีการแบบเก่าหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้คนมีความเป็นอยู่เลวกว่าเดิม
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน
ผลของการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจของสมาชิกในสังคมก็ได้
โดยทั่วไปมนุษย์จึงพยายามรักษาสภาพเดิมไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าการ
เปลี่ยนแปลงจะเกิดผลดีหรือผลร้ายแก่ตน แต่มนุษย์ก็มิอาจทำได้ตลอดไป เนื่องจาก
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ต้องเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
ไม่ว่าสมาชิกของสังคมจะต้องการหรือไม่ ในทางสังคมวิทยาจึงให้ความสนใจในเรื่องนี้
และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องปกติ
สังคมใดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ อย่างไรก็ดี
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอน
อาจจะทำให้เกิดการขัดแย้งหรือทำให้ความขัดแย้งหมดไปก็ได้
ก่อให้เกิดความตึงเครียดหรือลดความ ตึงเครียดก็ได้ นอกจากนี้
การเปลี่ยนแปลงในส่วนหนึ่งของสังคม อาจส่งผลกระทบ ไปยังส่วนอื่นด้วย เช่น
การที่สตรีออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้รายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น
แต่เด็กอาจขาดการเลี้ยงดูที่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาเด็กเกเรตามมา
นักสังคมวิทยาได้เน้นให้เห็นถึงความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการจัดระเบียบสังคม
ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของสังคม
การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นกับโครงสร้างหลักของสังคม
ทำให้ความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงของคนจากเด็กเป็นหนุ่ม
จากหนุ่มเป็นคนแก่นั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป เพราะวัยต่าง ๆ
ของคนทำให้สถานภาพและบทบาทของคนเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ความไม่เป็นระเบียบทางสังคมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังคมพิการ นั้น
หมายถึง การสูญเสียความเป็นระเบียบของสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน
ไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณี
ทำให้ความสัมพันธ์ของคนเกิดความแปรปรวน
ความเป็นระเบียบและความไม่เป็นระเบียบเป็นของคู่กันเสมอ กล่าวได้ว่า
ทุกสังคมจะมีสองลักษณะในขณะเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า
ไม่มีสังคมใดมีความเป็นระเบียบของสังคมโดยสมบูรณ์
และในขณะเดียวกันก็ไม่มีสังคมใดปราศจากเสียงซึ่งความเป็นระเบียบทางสังคมโดยสิ้นเชิง
สาเหตุที่ทำให้สังคมไม่เป็นระเบียบนั้นมีอยู่มากมาย เช่น
เกิดจากการแย่งงานกันทำมากเกินไป ซึ่งทำคนขาดความผูกพันกันทางใจ
เกิดจากการควบคุมความประพฤติของคนไม่ได้ผล แต่ที่นับว่าสำคัญ คือ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่สอดคล้องต้องกัน คือ ส่วนประกอบต่าง ๆ
ของวัฒนธรรมขัดแย้งกัน ผสมผสานกันไม่ทัน
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบทางสังคมและกล่าวได้ว่า
ความไม่เป็นระเบียบทางสังคมก็เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เหมือนกัน
<<< สารบัญ >>>