สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
การจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม (Social Stratification)
เกณฑ์ในการจัดชนชั้นทางสังคม
ในการแบ่งชนชั้นทางสังคม นักสังคมวิทยาได้ให้เกณฑ์ในการจัดลำดับชนชั้น ไว้ดังนี้
คือ
1) ครอบครัวหรือตระกูล คนเราไม่สามารถจะเลือกเกิดได้
เมื่อเกิดมาอยู่ใน ครอบครัวใดหรือวงศ์ตระกูลใด
ก็ต้องรับสถานภาพนั้นไปโดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้
ครอบครัวใดเป็นครอบครัวเก่าแก่ มีตำแหน่งฐานะทางสังคม
มีคุณงามความดีต่อชาติบ้านเมืองและสังคม ตระกูลเจ้าตระกูลขุนนางเหล่านี้
ย่อมได้รับเกียรติได้รับการยกย่องจากสังคมและถูกจัดอยู่ในชนชั้นสูง
สังคมก็จะกล่าวขวัญถึงแต่ในทางที่ดีงามและเป็นมงคลแก่ตระกูลอยู่เสมอ
ส่วนครอบครัวหรือตระกูลที่ไม่เก่าแก่ บรรพบุรุษไม่ได้สร้าง
ชื่อเสียงให้แก่สังคมก็จะอยู่ในชนชั้นที่รองลงไป
2) ทรัพย์สมบัติและรายได้ ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
สามารถเรียกร้องสิ่งของต่าง ๆ ได้ตามที่เจ้าของทรัพย์ต้องการ
แม้ราคาจะแพงและเป็นของที่หายากก็ไม่เกินความสามารถของคนที่มีทรัพย์จะซื้อหามาได้
ในทางสังคมได้ยอมรับและยกย่องผู้มีทรัพย์มีรายได้มากเป็นคนชั้นสูง
ส่วนคนที่มีฐานะพอมีพอกินไม่ฝืดเคืองนัก แต่ก็ไม่ร่ำรวยจนเกินไปนั้น เป็นชนชั้นกลาง
ส่วนกลุ่มชนที่หาเช้ากินค่ำ อัตคัดขัดสน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย จัดอยู่ในชนชั้นต่ำ
ซึ่งสังคมจะให้ความสนใจน้อยไม่ค่อยได้รับการยกย่องและให้เกียรติเท่าคนที่อยู่ในชนชั้นสูง
อย่างไรก็ตาม สังคมก็มิได้ยกย่องเฉพาะการมีเงินมีทรัพย์สมบัติมากเท่านั้น
แต่จะยกย่องเมื่อบุคคลนั้นมีตำแหน่งทางสังคมอีกด้วย
3) ภูมิลำเนา ภูมิลำเนาหรือที่อยู่อาศัยของคนในสังคมนั้น
จะถือเป็นเกณฑ์ในการแบ่งชนชั้นยังไม่เด่นชัดนัก
เพราะยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าคนในเมืองจัดอยู่ในชนชั้นที่สูงกว่าคนในชนบทหรือคนในกรุงเทพจะอยู่ในชนชั้นที่สูงกว่าคนในต่างจังหวัดเสมอไป
จะต้องอาศัยปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบอีกด้วย เช่น เกียรติคุณ ชื่อเสียง ตำแหน่ง
หน้าที่ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจ
เพราะในแต่ละสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมส่วนภูมิภาคหรือในเมืองหลวงย่อมมีคนหลายระดับหลายชนชั้นปะปนกันไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในสังคมหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ๆ
ยังพอมีตัวอย่างให้เห็นได้บ้างว่าพอกล่าวถึงที่อยู่อาศัยก็จะตอบได้ทันทีว่านั่นเป็นแหล่งชนชั้นสูง
นี่เป็นแหล่งชนชั้นต่ำ เป็นต้น
4) ระยะเวลาที่พำนักอาศัยอยู่ การอยู่ในท้องถิ่นใดนาน ๆ
ความรู้สึกเป็น พวกพ้องเดียวกันของคนในท้องถิ่นนั้นจะเกิดขึ้น
มีการยอมรับนับถือกันว่าเป็นคนเก่าแก่ของท้องถิ่น ซึ่งย่อมได้รับความนับถือสูง
ผู้ที่อพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่ใหม่ยังไม่ได้รับ
การยอมรับให้เข้าพวกเดียวกันหรือชนชั้นเดียวกัน แม้จะอยู่ในถิ่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ
ก็ตาม เช่น ชาวต่างจังหวัดอพยพเข้าไปในเมืองหลวง คนเมืองหลวงยังถือว่าคนนั้น
เป็นคนต่างจังหวัดหรือเป็นคนถิ่นที่มิใช่พวกเดียวกัน คนอยู่ไปนานเข้ามีลูกหลานเกิด
ในถิ่นนั้นเองที่จะถือได้ว่าเป็นคนเมืองหลวง เป็นคนท้องถิ่นนั้น ส่วนบรรพบุรุษยัง
ไม่กล้ารับว่าตนเป็นคนเมืองหลวง
5) อาชีพ อาชีพต่าง ๆ ในสังคมนั้น
ได้รับการยอมรับยกย่องนับถือไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติ
ความเชื่อของคนในสังคมนั้นเป็นสำคัญ อาชีพใดที่มีคน
ยกย่องให้เกียรติและเป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการก็ถูกจัดอยู่ในลำดับชั้นสูง
อาชีพใดที่มีคนต้องการน้อย ก็อยู่ในลำดับชนชั้นที่ลดหลั่นลงไป เช่น สังคมทั่ว ๆ ไป
ยกย่องคนที่มีตำแหน่งสูง ๆ ในทางราชการยกย่องแพทย์ ครู ทหาร ตำรวจ
การยึดอาชีพเป็นเครื่องจัดลำดับชนชั้นทางสังคมนั้น ไม่ได้คำนึงถึงครอบครัว
ชาติตระกูล และรายได้ของบุคคลนั้น
การจัดลำดับชนชั้นโดยอาศัยอาชีพนี้ แต่ละสังคมก็แตกต่างกันไปบ้าง เช่น
คนไทยนิยมอาชีพราชการ อาชีพที่มีรายได้สูง ๆ ซึ่งแตกต่างจากสังคมอเมริกัน
ซึ่งไม่ได้ยกย่องอาชีพราชการ
6) การศึกษา
การศึกษาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการจัดลำดับชนชั้นในสังคม
ผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าย่อมถูกจัดไว้ในชนชั้นสูงกว่าคนที่ได้รับการศึกษาน้อย
ถือว่าคนที่ได้รับการศึกษาสูงเป็นชนชั้นปัญญาชน พูดอะไร คิดอะไร ก็มีคนฟัง
มีคนเชื่อ และ มีความศรัทธายิ่งกว่าคนได้รับการศึกษาน้อยกว่า
แม้ว่าจะได้รับการศึกษาในระดับเดียวกัน
แต่คนละสถาบันหรือจบการศึกษาภายในประเทศก็ยังได้รับการยกย่องไม่เท่ากันกับผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศที่
เจริญกว่า โดยวัดกันที่สถานศึกษานั้น ๆ ว่ามีความเก่าแก่เพียงใด มีชื่อเสียงอยู่ใน
ระดับไหน
เมื่อสำเร็จมาจากสถาบันเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงก็จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ที่มี
การศึกษาสูงและจัดอยู่ในชนชั้นสูง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการศึกษานำไปสู่การมีอาชีพที่ดีมีรายได้สูงเป็นทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตด้วย
จึงทำให้สังคมนั้นยอมรับผู้มีการศึกษาสูงและจัดอยู่ในชนชั้นสูง
7) ศาสนา
เรื่องของศาสนาจะเข้ามามีส่วนในการจัดลำดับชนชั้นทางสังคมนั้น
ยังมองไม่เห็นเด่นชัดนัก โดยเฉพาะพุทธศาสนาด้วยแล้วไม่สามารถจะแบ่งได้
ส่วนสังคมที่ศาสนามีการแบ่งแยกออกเป็นหลายลัทธินั้นก็อาจจะถือเอาเป็นเครื่องแบ่งได้บ้าง
โดยถือจำนวนคนนับถือและตำแหน่งฐานะของคนที่นับถือ เป็นต้น
ศาสนาคริสต์แบ่งออกเป็นหลายนิกาย มีทั้งกรีก นิกายโปรแตสแตนท์ นิกายโรมันคาทอลิก
ถ้านิกายโปรแตสแตนท์มีคนนับถือมากและผู้นับถือก็ล้วนแต่มีฐานะและตำแหน่งสูง ๆ
ในสังคม
ก็อาจจะถือว่านิกายโปรแตสแตนท์เป็นนิกายของสังคมชั้นสูงหรือใครอยู่ในนิกายนี้
ก็ถูกเหมาเอาว่าเป็นชนชั้นสูงก็ได้
เกณฑ์ในการแบ่งชนชั้นทางสังคมดังที่กล่าวข้างต้นนั้น
มิใช่เป็นเกณฑ์ตายตัวที่ทุกสังคมใช้แบ่งชนชั้น สังคมหนึ่งอาจจะยึดถือเพียงฐานะ
อาชีพ การศึกษาเป็นเกณฑ์การแบ่ง แต่ในอีกสังคมหนึ่งอาจจะใช้ภูมิลำเนา ครอบครัว
และศาสนา เป็นเครื่องแบ่ง ก็ได้ ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมนั้น ๆ
เป็นสำคัญ
<<< สารบัญ >>>