สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
สถาบันทางสังคม
ความหมายของสถาบันทางสังคม
คำว่า Institution ซึ่งแปลว่า สถาบัน นั้น มีความหมายจำแนกออกได้เป็น 2 นัย
ได้แก่
1) แบบอย่างพฤติกรรที่มีระเบียบแบบแผนและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นที่
ยอมรับกันทั่วไป เรียกว่า สถาบัน การกระทำบางอย่างลำพังแต่ปฏิบัติโดยไม่มีระเบียบ
ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะกระทำกันทั่วไปและยอมรับกันทั่วไป
ก็หาเรียกว่าเป็นสถาบันไม่ เช่น การสอนให้เด็กทำอะไรจะเป็นการพูดก็ดี
การรับประทานอาหารก็ดี การอ่านหนังสือก็ดี แต่การสอนดังกล่าวนี้
ไม่เฉพาะในสังคมบางแห่งเท่านั้น จึงนับว่าเป็นสถาบัน ซึ่งได้แก่ โรงเรียน
การสอนการเรียนที่บ้านหรือนอกห้องเรียนที่มิได้จัดตั้งขึ้นเป็นแบบแผน เป็นทางการ
ไม่เรียกว่าเป็นสถาบัน
2) องค์การที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งอาจเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล ทีมฟุตบอล วัด
บริษัท ห้างร้าน กระทรวง ทบวง กรม สถาบันในแง่นี้ ก็คือ องค์การ นั่นเอง
ซึ่งจะต้องมีการ จัดตั้งขึ้น ถ้าไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์การขึ้นก่อน
สถาบันก็เกิดขึ้นไม่ได้หรือสถาบันจะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีองค์การรับรอง เช่น
สถาบันการศึกษาจะมีไม่ได้ หากไม่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย บริษัทห้างร้านต่าง ๆ
จะมีไม่ได้ หากไม่มีการประกอบธุรกิจการค้า เป็นต้น สถาบัน
ในความหมายทางสังคมวิทยา มุ่งเน้นถึงสถาบันที่เป็นนามธรรม คือ
ระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมาจนชาชินและเป็นที่ยอมรับกันทางสังคม
ลักษณะทั่วไปของสถาบันนอกจากจะเป็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะอีก 4
ประการ คือ
1) สถาบันมีชีวิตยืนยาวไม่มีที่สิ้นสุด องค์การอาจแตกสลายได้ แต่สถาบัน
อันเป็นแนวทางปฏิบัติจะมีความยั่งยืน เพราะสถาบันค่อย ๆ
เจริญตัวและปลูกฝังลงในอุปนิสัย จนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
2) การปฏิบัติอยู่ในวงกว้างไม่ใช่เฉพาะกลุ่มสถาบันนั้น
มีอาณาเขตเป็นสากลปรากฏอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เช่น การศึกษา การศาสนา การเศรษฐกิจ
การปกครอง ทุกสังคมจะมีสถาบันดังกล่าว
3) ดำรงอยู่และถือปฏิบัติในทุกชั้นวรรณะไม่ว่าคนยากดีมีจน คนฉลาดคนโง่
ทุกคนจะต้องปฏิบัติตนตามสถาบันนั้น ๆ เสมอเหมือนกัน จะลดหย่อนกว่ากันก็น้อย ที่สุด
ระบบการทั้งหลายของสถาบันย่อมให้ผลต่อชนทุกชั้นทั่วถึงกันและทุกระยะแห่งชีวิตของมนุษย์
4) มีความสัมพันธ์กันระหว่างสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา
การเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง
ตลอดจนสถาบันครอบครัวจะมีความสัมพันธ์และเกื้อกูลซึ่งกันและกันและมีผลต่อบุคคลทุกคนและส่วนรวมด้วยเสมอ
ตามความเห็นของ ดร. สนอง บุณโยทยาน กล่าวไว้ว่า สถาบันทางสังคม หมายถึง
ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม สังเกตเห็นได้และที่เป็นนามธรรม มองเห็นไม่ได้
แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ รูปธรรม เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การสมรส
การดำเนินในด้านการปกครองและการเมือง (การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การเปลี่ยนรัฐบาล
และอื่น ๆ) ส่วนในด้านที่เป็นนามธรรมนั้น ก็คือ สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานสังคมต่าง ๆ
ซึ่งมนุษย์รู้อยู่แน่นอนว่ามีอยู่ แม้จะมิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม
สถาบันในวิชา สังคมวิทยา หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีลักษณะแสดงให้เห็นว่า
พฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นเป็นไปในแบบของการร่วมมือกัน
โดยการร่วมมือกันอย่างถาวรและเป็นการร่วมมือภายใต้กฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่ง นอกจากนั้น
การที่พฤติกรรมชุดใดชุดหนึ่งของมนุษย์ จะเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า สถาบันได้
พฤติกรรมนั้นจะต้องมีลักษณะ เฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงยาก
มนุษย์ที่จะประพฤติปฏิบัติร่วมมือกันโดยมีกฎเกณฑ์และเป็นระยะเวลานานนี้
ต้องประพฤติร่วมกันโดยรู้ตัว
ถึงแม้ว่าจะประพฤติปฏิบัติในสังคมที่จะเป็นสถาบันได้ต้องเป็นไปอย่างเป็นกิจลักษณะ
ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติอย่างกันเอง
ตามความเห็นของ ประสาท หลักศิลา สถาบัน หมายถึง ระบบทางสังคม อย่างหนึ่ง
หมายถึง ความสัมพันธ์ของพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มาประกอบเป็นสถาบันนั้น ๆ
และคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ ยอมปฏิบัติกันเช่นนั้น
จากการอธิบายข้างต้น พอสรุปได้ว่า สถาบันทางสังคม หมายถึง แนวทาง
การปฏิบัติอย่างมีระเบียบและระบบ ซึ่งบุคคลส่วนใหญ่ในสังคมนั้นยอมรับปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในสังคม
<<< สารบัญ >>>