สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
กลุ่มสังคม (Social Groups)
แบบของกลุ่มคน
กลุ่มคนย่อมมีคุณสมบัติแบบฉบับและด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เอง
ช่วยให้เข้าใจถึงรากฐานของทฤษฎีของกลุ่มตามความหมายของสังคมวิทยาเป็น 2
พวกหรือคู่กันดังจะได้อธิบายต่อไปนี้
1) แบบกลุ่มปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Primary Groups and Secondary Groups)
กลุ่มปฐมภูมิ ได้แก่
กลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและมีความรู้สึกเป็น พวกเรา
มีการติดต่อกันอยู่เสมอและเป็นเวลาอันยาวนาน
ซึ่งจะพอสรุปลักษณะของกลุ่มปฐมภูมิได้ดังนี้
1. เป็นกลุ่มขนาดเล็ก
2. มีการติดต่อใกล้ชิดกันและเป็นไปโดยตรง
3. มีความสนิทสนมใกล้ชิดเป็นการส่วนตัว
4. มีการติดต่อกันเป็นระยะยาว
5. กระทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ช่วยเหลือกัน
6. การตัดสินใจของกลุ่มใช้ความรู้สึก อารมณ์มากกว่าเหตุผล
กลุ่มปฐมภูมิมีประโยชน์ในการช่วยให้สมาชิกได้เรียนรู้ระเบียบของสังคมอย่างใกล้ชิด
มีความเมตตาธรรมรักใคร่กันอย่างพี่น้องเพื่อนฝูงโดยไม่มีอะไรแอบแฝง
ข้อเสียของกลุ่มปฐมภูมิมีอยู่บ้าง คือ
สมาชิกกลุ่มรักพวกรักพ้องจนอาจทำให้เสียความยุติธรรมหรือบางกรณีและบางเหตุการณ์
สมาชิกจะรู้สึกขาดความเป็นตัวของตัวเอง เพราะเอาใจสมาชิกกลุ่มมากเกินไป
กลุ่มทุติยภูมิ สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันมิใช่เป็นการส่วนตัว
มีความสัมพันธ์กันเป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์มีแบบแผน
ซึ่งพอสรุปลักษณะของกลุ่มทุติยภูมิดังนี้
1. มีการแบ่งงานกันทำตามความสามารถเฉพาะสาขาเพื่อประสิทธิภาพ ของงาน
2. มีการมอบหมายอำนาจ
3. มีสายการติดต่องานเป็นไปตามลำดับขั้นตอนไม่ก้าวก่ายข้ามหน้า ข้ามตากัน
4. มีการประสานงานเพื่อผลงานมีประสิทธิภาพ
กลุ่มทุติยภูมิมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม
เพราะสมาชิกจะได้ทราบถึงสิทธิหน้าที่อย่างแจ้งชัด
การปฏิบัติงานของสมาชิกเป็นไปอย่างมีระเบียบและระบบ
โดยไม่นำเรื่องส่วนตัวเข้ามาปะปน
ทำให้เกิดความยุติธรรมและความเป็นระเบียบเสมอหน้ากัน นอกจากนั้น
การวางตัวในหมู่สมาชิกก็กระทำได้ง่าย กล่าวคือ เมื่อหมดหน้าที่แล้ว
ต่างคนต่างมีอิสระไม่ต้องคอยระมัดระวังในเรื่องส่วนตัว
ข้อเสียของกลุ่มทุติยภูมิก็มีอยู่เช่นเดียวกัน คือ สมาชิกของกลุ่มขาดความ
อบอุ่น เพราะทุกคนมุ่งแต่งานและระเบียบ เมื่อเกิดการผิดพลาดในการงาน บุคคล
ผู้กระทำผิดย่อมได้รับการตำหนิหรือลงโทษทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนขาดที่พึ่งพาอาศัยและไม่มีใครเห็นอกเห็นใจหรือยอมเข้าใจรับรู้ข้อเท็จจริงในข้อผิดพลาดดังกล่าว
ดังนั้น สมาชิกของกลุ่มทุติยภูมิจึงได้หาทางออกโดยการสร้างกลุ่มปฐมภูมิขึ้น เช่น
นัดพบปะเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดและที่มีความเห็นอกเห็นใจ
นัดสังสรรค์ระหว่างเพื่อนโรงเรียนเก่า
หรือนัดสังสรรค์ระหว่างกลุ่มบุคคลที่มาจากจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น ทั้งนี้
เพื่อเป็นการทดแทนความต้องการทางจิตใจ
2) กลุ่มพวกเราและกลุ่มพวกเขา (In Group and Out Group or We
Group and They Group)
กลุ่มพวกเรา หมายถึง บุคคลที่เราใช้สรรพนาม เรา คำว่า เรา อาจหมายถึง
กลุ่มบุคคลขนาดเล็ก เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือกลุ่มบุคคลขนาดใหญ่ เช่น
ทุกคนในโลกนี้ก็ได้ ลักษณะของกลุ่มพวกเรา จึงหมายถึง ความเป็นพวกเดียวกัน
ส่วนกลุ่มพวกเขา หมายถึง กลุ่มไหนที่มิใช่พวกเรา คือ เป็นพวกเขา
อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มพวกเราและกลุ่มพวกเขานั้น มิใช่เป็นกลุ่มจริง
เป็นเรื่องของการสร้างขึ้นด้วยการใช้สรรพนาม เรา และ เขา เท่านั้นเอง
และความแตกต่างระหว่างกลุ่มทั้งสองข้างต้นอยู่ที่การสร้างหลักความสัมพันธ์ทางสังคม
2 ประการด้วยกัน
1. หลักประการแรก
สมาชิกของกลุ่มพวกเราโน้มเอียงที่จะประเมินค่าของพวกเดียวกับตนเป็นรายบุคคลและจะประเมินค่าของบุคคลกลุ่มอื่นรวม
ๆ กัน เช่น ชาวอาเซียนเห็นชาวยุโรปและชาวอเมริกันรวม ๆ กันว่า ฝรั่ง
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ชาวยุโรปกับชาวอเมริกันมีความแตกต่างกันหลายประการ เช่น
ชาวอังกฤษเป็นคนเงียบ ฝรั่งเศสนิยมดื่มเหล้าองุ่น เยอรมันนิยมดื่มเบียร์
และคนอเมริกันนิยมดื่มกาแฟ เหล่านี้เป็นต้น คือ
พิจารณาโดยถือลักษณะโดยรวมอันเป็นลักษณะที่แปลกไปจาก ชาวอาเซียน หรือ พวกเรา
2. หลักประการที่สอง
ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างกลุ่มพวกเราและกลุ่มพวกเขา ก็คือ
การคุกคามใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโกหกหรือ เรื่อง จริง ๆ
ซึ่งเกิดจากกลุ่มพวกเขาย่อมก่อให้เกิดสามัคคีธรรมหรือความเป็นน้ำหนึ่ง
ใจเดียวกันภายในกลุ่มพวกเรา เช่น ครอบครัวหนึ่งญาติพี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกันนัวเนีย
แต่เมื่อคนภายนอก หรือกลุ่มพวกเขา ไปวิพากษ์วิจารณ์เข้า
ประดาญาติพี่น้องที่ทะเลาะกันอุตลุดจะหยุดทันทีและจะหันหน้าคืนดีกันเพื่อต่อต้านบุคคลภายนอกหรือกลุ่ม
พวกเขา จึงเป็นอุทาหรณ์ว่า ผัวเมียทะเลาะกัน
บุคคลอื่นอย่าเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นอันขาด
3) ชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อย (Majority Group and Minority Group)
ในแต่ละกลุ่มนั้นอาจมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกสองกลุ่ม กลุ่มใหญ่ เราก็เรียกว่า
ชนกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็กกว่า เราก็เรียกว่า ชนกลุ่มน้อย
การแบ่งกลุ่มคนออกเป็นสองกลุ่มดังกล่าวนั้น
ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนแต่ประการใด เช่น
คนสองคนเป็นคนกลุ่มใหญ่ในเมื่อคนกลุ่มนั้นทั้งหมดมีสามคน นอกจากนั้น
ภายในกลุ่มเดียวกัน ชนกลุ่มใหญ่อาจจะมีอำนาจมากหรือน้อยก็ได้ เช่น กลุ่มคนจำนวน 100
คน ชนกลุ่มใหญ่อาจจะมีจำนวนตั้งแต่ 51 คน ถึง 90 คน ก็ได้
คุณสมบัติของชนกลุ่มใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยย่อมส่งผลกระทบถึงชีวิตในสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง
ความตึงเครียดหรือการขัดกันของกลุ่มคนของเชื้อชาติย่อมจะมีน้อย
ในเมื่อชนกลุ่มใหญ่มีจำนวนมากกว่าชนกลุ่มน้อยอย่างมากมาย แต่ในทางตรงกันข้าม
ความตึงเครียดหรือการขัดกันจะมีมากขึ้น ในเมื่อชนกลุ่มน้อยมีจำนวนมากขึ้น
4) กลุ่มสมัครใจและกลุ่มไม่สมัครใจ (Voluntary Group and Involuntary
Group) กลุ่มสมัครใจ หมายถึง สมาชิกของกลุ่มเข้ามารวมกันโดยความสมัครใจ เช่น
กลุ่มอาชีพเดียวกัน กลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มที่มีความสนใจ ร่วมมือกัน
เช่น สมาคมพ่อค้า สมาคมผู้ปกครองนักเรียน สมาคมกล้วยไม้ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มไม่สมัครใจ หมายถึง สมาชิกของกลุ่มเข้ามารวมกันโดยไม่มี
ทางเลือกเป็นอย่างอื่น เช่น กลุ่มเพศชาย กลุ่มเพศหญิง กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มศาสนา
เป็นต้น
อนึ่ง
ความแตกต่างระหว่างกลุ่มสมัครใจและกลุ่มไม่สมัครใจนี้จะพิจารณาได้จากสถานภาพ
กล่าวคือ สถานภาพโดยการกระทำย่อมเกิดขึ้นในกลุ่มสมัครใจ
ส่วนกลุ่มไม่สมัครใจจะเป็นสถานภาพโดยกำเนิด
5) กลุ่มระดับเดียวกันและกลุ่มหลายระดับ (Horizontal Group and Vertical
Group) กลุ่มบางกลุ่มรับสมาชิกเฉพาะบางลำดับ คือ
เลือกจากในลำดับเดียวกันเป็นสมาชิกของกลุ่ม เช่น สมาคมแพทย์
ก็รับเฉพาะผู้มีอาชีพเป็นแพทย์ สมาชิกสมาคมทหารผ่านศึก เป็นต้น กลุ่มดังกล่าวนี้
เรียกว่า กลุ่มระดับเดียวกัน
ส่วนกลุ่มหลายระดับนั้น ประกอบด้วย คนจากทุกระดับชั้น เช่น
พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งรับสมาชิกทุกชนชั้น
6) กลุ่มที่มีการจัดระเบียบและกลุ่มที่มิได้มีการจัดระเบียบ (Organize
Group and Unorganized Group)
กลุ่มบางกลุ่มที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการจัดระเบียบ เช่น กลุ่มทางสถิติ
กลุ่มพวกเดียวกัน และกลุ่มทางสังคม
ล้วนเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีการจัดระเบียบ
แต่กลุ่มบางกลุ่มจะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีการจัดระเบียบ เช่น
กลุ่มสมาคมหรือองค์การ เป็นกลุ่มที่มีการจัดระเบียบ คือ มีสำนักงาน
มีระเบียบกฎเกณฑ์กำหนดถึงหน้าที่และสิทธิของสมาชิก
กลุ่มที่มีการจัดระเบียบนี้ถือได้ว่า
เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญยิ่งในการจัดรูปความสัมพันธ์และการติดต่อของสมาชิกของสังคม
อันทำให้เกิดการกำหนด ในเรื่องอำนาจและสิทธิว่า
ใครควรจะปฏิบัติหรืองดเง้นการปฏิบัติในการมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น
กลุ่มที่มีการจัดระเบียบจึงเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมเชิงซ้อน
เพราะจะช่วยให้การดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ
ของสังคมดำเนินไปได้อย่างมีระเบียบแบบแผนและกฎเกณฑ์ตามสถานภาพ
<<< สารบัญ >>>