สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
การจัดระเบียบทางสังคม (Social Organization)
การกระทำทางสังคมและกระบวนการทางสังคม
(Social Action and Social Process)
โดยปกติ การกระทำของมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
จะมีพฤติกรรมที่เรียกว่าเป็นการกระทำทางสังคม ซึ่งหมายถึง
การกระทำที่บุคคลแสดงออกมาโดยที่การกระทำนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนอื่น
มีบางครั้งเหมือนกันที่พฤติกรรมของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องสังสรรค์กับคนอื่น
แต่เป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เช่น การนอนหลับ ตามปกติแล้ว
บุคคลมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะอยู่โดยไม่สังสรรค์กับคนอื่นเลย
การเกี่ยวข้องกับผู้อื่นเห็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง คือ
การเกี่ยวข้องระหว่างสองฝ่ายที่ติดต่อโดยตรง เช่น การพูดคุย การโทรทัศน์
หรือทางอ้อมโดยเรานั่งอยู่
คนเดียวใช้ความนึกคิดถึงบุคคลอื่นหรือมักจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อผู้อื่น ทั้งนี้
เพราะเราได้รับการกระตุ้นจากผู้อื่น เช่น อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์
ดูภาพยนตร์ ในกรณีที่นักเรียนคนหนึ่งต้องดูหนังสือทั้งที่อยากไปเที่ยวกับเพื่อน
ก็หมายความว่า นักเรียนผู้นี้มีแผนการแล้วว่าจะดูหนังสือเพื่อสอบ
เขาถูกกระตุ้นจากครูหรือได้รับ การคาดหวังจากพ่อแม่ว่าต้องเรียนหนังสือให้เก่ง
เป็นต้น
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการกระทำทางสังคม (Element of Social Action)
มีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ
1) ตัวผู้กระทำ (actor)
2) เป้าหมาย (goal or end)
3) เงื่อนไข (condition)
4) วิธีการ (means)
1) ตัวผู้กระทำ
ตัวผู้กระทำขึ้นซึ่งพิจารณาจากสภาพร่างกายและสภาพจิตใจควบคู่กัน
โดยอาศัยพื้นความรู้ทางจิตวิทยาที่ว่า พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกมานั้น
มีจิตเป็นพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิด นั่นก็คือ แรงจูงใจ
ซึ่งได้มาจากหลายทางด้วยกัน เช่น มาจากแรงขับภายใน ได้แก่ ความหิว ความกระหาย
ความต้องการทางเพศ เป็นต้น หรือมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น สภาพภูมิศาสตร์
ดินฟ้าอากาศ สภาพสังคม รอบตัว
ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมแตกต่างกัน เช่น
คนชนบทกับคนในเมืองนั้น มีความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ การกระทำที่แตกต่างกันอย่างมาก
2) เป้าหมาย การกระทำทางสังคมจะต้องมีเป้าหมายมิใช่เป็นการกระทำลอย ๆ
ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็น end-pursuing animal ซึ่งหมายความว่า การกระทำ
ของมนุษย์ต้องมีจุดมุ่งหมายมิใช่กระทำไปโดยอัตโนมัติด้วยสัญชาตญาณอย่างสัตว์
และเป้าหมายที่มนุษย์มีนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่มนุษย์ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาในรูปแบบลักษณะใด
ๆ
3) เงื่อนไข หมายถึง สิ่งต่าง ๆ
ที่เป็นเครื่องขัดขวางหรือสนับสนุนให้บุคคลไปสู่เป้าหมาย เงื่อนไขอาจมาจากสิ่งต่าง
ๆ หลายทางด้วยกัน เช่น สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของบุคคล
อาจเป็นฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวหรืออาจเป็นเพราะ บุคลิกภาพเฉพาะตัว
ความสามารถส่วนบุคคลทั้งสภาพร่างกายและสติปัญญา เป็นต้นว่า
บางคนอยากเป็นแพทย์แต่สอบตกประจำ บางคนอยากเป็นนายทหารแต่กลัวเสียงปืน
บางคนอยากเป็นนายตำรวจแต่ตาบอดสี มนุษย์ที่อยู่ในสังคมจะพบว่า
มีเงื่อนไขทางสังคมกำหนดไว้มากมาย ถ้าคนในสังคมใหญ่ยอมรับว่าถูกต้อง
แต่บุคคลไม่ยอมรับ เงื่อนไขนั้นก็มีอุปสรรค เช่น อยากร่ำรวยมีเงินมาก ๆ ถ้าไปปล้น
จี้ ลักขโมยจากผู้อื่น ก็เป็นการผิดเงื่อนไขทางสังคม เพราะคนอื่นเขาไม่ยอมรับ
เงื่อนไขบางอย่างมาจาก ธรรมชาติ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อยากไปจังหวัดเชียงใหม่
จะหลับตาเนรมิตให้ไป อึดใจไม่ได้ จำต้องเดินทางผ่านจุดต่าง ๆ
4) วิธีการ ผู้กระทำนั้นต้องมีวิธีการเลือกกระทำได้หลายทาง
เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ตนต้องการได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่ตนมีอยู่
ก. การกระทำระหว่างกันทางสังคมหรือการปะทะสังสรรค์ทางสังคม (Social
Interaction)
การกระทำระหว่างกันทางสังคม
เป็นการกระทำระหว่างบุคคลในกลุ่มหรือกลุ่มต่อกลุ่ม
มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันด้วยเจตนาและมีความหมายที่เข้าใจกัน
นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาพิจารณาการกระทำระหว่างกันทางสังคมของมนุษย์ในลักษณะที่เป็น
symbolic interaction ซึ่งหมายถึงการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างมีสัญลักษณ์ ได้แก่
ความสัมพันธ์กันในทางลายลักษณ์อักษร เช่น การเขียน จดหมายติดต่อถึงกันและกัน
การกระทำทางสังคมจึงขึ้นอยู่กับการติดต่อสื่อสาร (communication)
โดยปกติกลุ่มคนหรือสังคมไม่ได้อยู่นิ่งเฉยกับที่
แต่จะมีการกระทำระหว่างกันทางสังคมอยู่ตลอดเวลา แม้แต่บุคคลที่อยู่ร่วมกันเพียง 2
คน เช่น ในกรณี นาย ก กับนาย ข เป็นเพื่อนกัน คุยกันซึ่งเขียนออกมาได้ดังนี้
การกระทำระหว่างกันและกันของ นาย ก กับนาย ข นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
เราอาจอธิบายได้โดยนำแนวความคิดในเรื่อง ความคาดหวังในบทบาท
(role-expectation) ซึ่งเป็นบทบาทที่บุคคลคาดคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะแสดงพฤติกรรม
ออกมาอย่างไร กลไกที่ทำให้เราคิดได้ คือ เครื่องมือทางสังคม ได้แก่
บรรทัดฐานและสถานภาพ บรรทัดฐานนั้น
บุคคลจะได้รับการอบรมทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตั้งแต่เยาว์วัยและมากขึ้นตามลำดับจากสังคมที่เขาเป็นสมาชิกอยู่
สำหรับสถานภาพนั้น
บุคคลเดาหรือคิดให้ถูกต้องว่าคนอื่นที่กำลังจะมีบทบาทติดต่อกับเรานั้นมีสถานภาพอย่างไร
โดยดูได้จากสัญลักษณ์ทางสถานภาพ (status symbol) เช่น ดูได้จากการแต่งกาย น้ำเสียง
คำพูด ซึ่งบุคคลจะเดาได้โดยขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และประสบการณ์ของบุคคล
หลังจากนั้น บุคคลก็เลือกดูว่าในสถานภาพนั้นมีบรรทัดฐานกำหนดให้ปฏิบัติอย่างไร
นี่คือ ความคาดหวังในบทบาทของบุคคลซึ่งต้องมีทุกคน ตัวอย่างเช่น
ความสัมพันธ์ของครูและนักเรียน
นักเรียนก็มีวิจารณญาณว่าตนจะมีปฏิกิริยาต่อครูอย่างไร
เมื่อพวกเขามีความสัมพันธ์กับครู เช่นเดียวกัน
ครูก็สามารถทราบได้ล่วงหน้าว่าตนจะทำอย่างไร กับนักเรียน
มีบางครั้งซึ่งอาจเกิดปัญหาเนื่องจากความคาดหวังในบทบาทของบุคคลผิดไป
ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในสิ่งที่สังคมไม่ต้องการ อาจเกิดความขัดแย้ง
ไม่พอใจหรือสร้างความเกลียดชังขึ้นมา ดังนั้น
สังคมจึงพยายามแก้ไขในสิ่งนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ซึ่งออกมาในแบบพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป
โดยสรุป
การกระทำระหว่างกันทางสังคมเป็นพฤติกรรมที่มนุษย์กระทำเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ
และเพื่อดิ้นรนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ โดยมีการติดต่อกัน
แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจมีความต้องการคุณค่าหรือสิ่งจูงใจเหมือนกันหรือต่างกัน
ข. กระบวนการทางสังคม (Social Process)
กระบวนการทางสังคมเกิดจากการกระทำระหว่างกันทางสังคม (social interaction)
ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีแบบต่าง ๆ กัน อาจเป็นไปในรูปของการ ขัดแย้ง
การแข่งขัน การร่วมมือ ความเห็นพ้องต้องกันหรือการกลืนกลาย
กระบวนการทางสังคมมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ต้องมีการติดต่อทางสังคม (social contact) คือ บุคคลนับตั้งแต่ 2
คนขึ้นไปมีความสัมพันธ์ติดต่อซึ่งกันและกัน
2. มีการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดระหว่างบุคคลที่ติดต่อโดยการใช้สัญลักษณ์
ซึ่งอาจเป็นภาษาเขียน ภาษาพูด หรือกิริยาท่าทางก็ได้
3. มีสิ่งเร้า (stimulation) และมีการตอบสนอง (response) จากลักษณะข้อ 1
และ 2 ทำให้เกิดพฤติกรรมตามมา
ประเภทหรือรูปแบบของกระบวนการทางสังคม
รูปแบบของกระบวนการทางสังคมที่ปรากฏในสังคมมีอยู่ 6 ลักษณะ คือ
1) การแข่งขัน (competition)
2) ความขัดแย้ง (conflict)
3) การสมานลักษณ์ (accommodation)
4) การกลืนกลาย (assimilation)
5) การร่วมมือ (co-operation)
6) ความเห็นพ้องต้องกัน (consensus)
1) การแข่งขัน
หมายความถึงการที่บุคคลสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น ดิ้นรนสู่เป้าหมายเดียวกัน
โดยแต่ละฝ่ายไม่คาดคิดที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือผู้อื่นได้ส่วนแบ่งในสิ่งนั้น ๆ ด้วย
สาเหตุที่สำคัญ คือ สิ่งที่จะสนองความต้องการมีอยู่จำกัด
การแข่งขันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอ
ความสัมพันธ์ของการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ทางตรง
และอาจไม่เป็นการกระทำระหว่างกันทางสังคมแบบตัวต่อตัว บุคคลต่อบุคคล กล่าวคือ
อาจแข่งขันโดยไม่รู้สึกตัว เช่น การสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งหนึ่ง อาจมี
ผู้สมัครหลายคน แต่ต่างคนอาจไม่รู้ว่าตนมีคู่แข่งถ้าผู้รับสมัครไม่บอกให้ทราบ
เมื่อใดที่คู่แข่งขันต่างฝ่ายต่างทราบว่า ตนมีคู่แข่ง
ลักษณะความสัมพันธ์ก็มักจะเปลี่ยนไป คือ จะมีการชิงกันเอาชนะกัน นั่นก็คือ
แบบของการแข่งขันที่บุคคล รู้สึกตัว (aware) ระหว่างกลุ่มเฉพาะ เช่น
การแข่งขันสมัครรับเลือกตั้งระหว่าง พรรคการเมือง
การแข่งขันขายสินค้าระหว่างบริษัทที่ผลิตสินค้าอย่างเดียวกัน
การแข่งขันในลักษณะนี้คู่แข่งขันจะเข้ามาเผชิญหน้ากันโดยตรง
ต่างฝ่ายจะพยายามหากลวิธีใช้เล่ห์เหลี่ยม (tactic) ต่าง ๆ เพื่อให้ชนะอีกฝ่ายหนึ่ง
ตามปกติการแข่งขันมักจะเป็นไปตามหลักกติกาหรือบรรทัดฐานกำหนด แต่หลายโอกาส
ผู้แข่งขันก็มักจะละเมิดกติกาและก็จะถูกลงโทษตามที่กติการะบุไว้
แนวความคิดของการแข่งขันนี้มักก่อให้เกิดแนวความคิด เทคนิค
และสิ่งประดิษฐ์แบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ
การแข่งขัน ถ้าเป็นการแข่งขันระหว่างสังคม จากประวัติศาสตร์ในอดีต
ได้ศึกษาการสงครามระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป โดยเฉลี่ยแล้ว พบว่า
มีการทำสงครามปีเว้นปี
2) ความขัดแย้ง เมื่อการแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น
ผลประโยชน์ก็ขัดกันมาก เพราะต่างก็มุ่งสู่เป้าหมายอันเดียวกัน
อาจจะถึงขั้นต่างฝ่ายต่างมุ่งทำลายล้างกัน หรือทำลายล้างกันจนถึงตาย
หรือต้องการกำจัดคู่แข่งขันให้สิ้นไป หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียหาย
เป็นลักษณะของความขัดแย้งซึ่งเป็นการติดต่อกันทางตรง บุคคลจะมีความรู้สึกรุนแรง
อารมณ์จะถูกเร้าถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้น
จนอาจถึงกับละเมิดกฎเกณฑ์หรือกติกาที่ตั้งไว้และใช้กำลังเข้าทำลายกันในที่สุด
การแบ่งแยกให้เห็นชัดตายตัวลงไประหว่างการแข่งขันกับความขัดแย้งนี้
เป็นสิ่งกระทำได้ยาก ในบางกรณี ไม่อาจชี้ให้แน่นอนและชัดเจนได้ว่า เป็นเรื่องใดแน่
เช่น กรณีรักสามเส้า ธุรกิจบางอย่าง หรือการเล่นการเมือง
การแก่งแย่งเอาชนะการขัดแย้ง เป็นแบบของความสัมพันธ์ทางลบ
ซึ่งทำให้กลุ่มแยกออกจากกันแทนที่จะเข้าหากัน
แต่การแข่งขันชิงชนะไม่ทำให้คู่แข่งขันต้องแยกออกจากกัน เช่น การแข่งขันกีฬา
คู่แข่งต้องการรับกติกากัน
ส่วนความขัดแย้งต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับปฏิบัติตามกฎหรือกติกา
และแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกัน
ก็จะทำให้เกิดการรวมอย่างแน่นแฟ้นในพวกเดียวกันและสกัดกั้น
การติดต่อหรือทำความเข้าใจกับฝ่ายตรงข้าม มองอีกแง่หนึ่ง การขัดแย้งอาจเกิดขึ้น
เพราะขาดการติดต่อกัน สาเหตุจากการขาดการติดต่อซึ่งกันและกันก็ย่อมก่อให้เกิด
ความไม่เข้าใจกันได้ ดังนั้น อาจมีวิธีขจัดหรือลดความขัดแย้ง
โดยการเพิ่มการติดต่อระหว่างกัน อย่างไรก็ดี
การติดต่อระหว่างกันยิ่งมีมากขึ้นก็อาจจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งขึ้นได้อีกเช่นกัน
ถ้ากลุ่มเหล่านั้นมีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ อย่างเด่นชัด
อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มที่ด้อยกว่า จนกลายเป็นความขัดแย้งตามมาภายหลัง เช่น
ชาวชนบทที่ได้พบได้เห็นความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมืองและต้องการแบบชีวิตใหม่อย่างนั้นบ้าง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นักวิชาการเรียกว่า the rising of expectation คือ
การเกิดความมุ่งหวังที่จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้าหากไม่สมปรารถนา
ก็จะเกิดความไม่พอใจจนถึงกับเป็นความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างคนเมืองหรือรัฐบาลกับคนชนบท
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มมีผลทำให้เสียเอกภาพของกลุ่ม (unity)
แต่ถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มก็ทำให้เกิดพลังภายในกลุ่ม
แต่ต้องหวังชนะกันระหว่างกลุ่ม
3) การสมานลักษณ์ เป็นกระบวนการที่บุคคล
แม้จะมีความแตกต่างกันในทัศนคติ ความเชื่อ ประเพณี หรือผลประโยชน์
มาประนีประนอมปรับตัวเข้าหากัน กระบวนการทางสังคมแบบนี้
อาจเกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง
ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ถูกทำลายย่อยยับไปหมดสิ้นแล้ว
ทั้งสองกลุ่มจะต้องหาทางมาประนีประนอมกัน
เพื่อระงับยับยั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาช้านานไว้ชั่วคราว ในกระบวนการนี้
ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอาจยังคงอยู่และอาจจะขัดแย้งกันอีก ในเวลาต่อไปก็ได้
การประนีประนอมจึงเป็นกระบวนการทางสังคมที่กลุ่มแต่ละกลุ่มต่างปรับตัวเข้าหากัน
โดยที่ต่างฝ่ายต่างยังคงรักษาเอกลักษณ์ (identity) และ ผลประโยชน์ของตนไว้
การที่กลุ่มต้องประนีประนอมกัน เพราะต้องการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
หรือเพื่อเผชิญกับความจริงซึ่งต้องยอมรับ เช่น
ประเทศที่มีกำลังด้อยกว่าต้องยอมแพ้หรือยอมสงบศึก
เมื่อยอมรับสภาพที่เป็นจริงว่าสู้เขาไม่ได้ ทั้งนี้
เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตนสามารถอยู่ต่อไป แม้ว่าจะต้องเสียผลประโยชน์บางอย่าง
4) การกลืนกลาย
เป็นกระบวนการที่ผสมปสานกลมกลืนของบุคคลและกลุ่มในเรื่องทัศนคติ ความทรงจำ
ความรู้สึก ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม
โดยมีประสบการณ์ร่วมกันเป็นระยะเวลาอันยาวนานในชีวิตทางวัฒนธรรม (cultural life)
อันเดียวกัน ในสภาพเช่นนี้ บุคคลในสังคมย่อมมีการผสมผสานและทำความเข้าใจ
ซึ่งกันและกันอย่างกว้างขวางลึกซึ้งระหว่างกลุ่ม จนรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน
และมีลักษณะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มร่วมกัน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ชาวอเมริกันอพยพมาจากประเทศต่าง ๆ ของโลกมาอยู่ร่วมกัน ใช้ชีวิตแบบอเมริกัน
เกี่ยวข้องกันชั่วอายุคน บุคคลต่างเชื้อชาติต่าง ๆ
ก็มีความรู้สึกว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็น คนอเมริกันโดยสมบูรณ์
ในสังคมไทยเราพบชาวจีนเป็นชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก
แต่คนจีนส่วนใหญ่ก็มีความสำนึกว่าพวกเขาคือ คนไทย ทั้งในด้านความรู้สึกนึกคิด
ระบบคุณค่า ฯลฯ
การกลืนกลายจะเกิดขึ้นได้
จำเป็นต้องขจัดอุปสรรคที่ทำให้การติดต่อระหว่างกันดำเนินไปไม่ได้ เช่น
กลุ่มที่มีภาษาต่างกันจะต้องพยายามให้ใช้ภาษาร่วมกัน
การศึกษาในโรงเรียนเป็นวิธีการและเครื่องมือที่ช่วยให้การกลืนกลายดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
5) การร่วมมือ
เป็นกระบวนการทางสังคมที่กลุ่มตกลงที่จะกระทำกิจกรรมร่วมกัน การตกลงนี้
อาจเกิดจากการที่กลุ่มมีความมุ่งหวังหรือผลประโยชน์สอดคล้องกันหรือเหมือนกัน เช่น
นายจ้างกับลูกจ้างตกลงทำงานร่วมกันโดยต่างฝ่ายต่างมี ผลประโยชน์สอดคล้องกัน คือ
เงินตอบแทนเป็นกำไรและค่าจ้าง หรือกลุ่มอาจร่วมมือกันเพราะต่างก็มีศัตรูร่วม เช่น
บรรดาประเทศกลุ่มอาหรับในเอเชียตะวันออกกลางที่
รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับประเทศอิสราเอล หรือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
บรรดาประเทศต่าง ๆ หันมาร่วมมือกันเป็นสัมพันธมิตรรบกับประเทศเยอรมนี
การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ร่วมมือกันจะมีมากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นฐานของ การร่วมมือนั้น
กลุ่มที่ร่วมมือกันโดยมีความผูกพันหรือมีความจงรักภักดีต่อสิ่งเดียวกัน
ย่อมมีการติดต่อกันมากกว่ากลุ่มที่ร่วมมือกันเพราะผลประโยชน์บางอย่างหรือ
เพื่อต่อต้านภัยอันตรายบางอย่างที่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราว
กลุ่มย่อยได้รับผลประโยชน์จากการมาตกลงร่วมมือกัน
แต่การร่วมมืออาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน เป็นต้นว่า
ความเป็นอิสระของกลุ่มอาจจะถูกกระทบกระเทือน
เพราะเมื่อคนต่างกลุ่มมีการติดต่อกันมากขึ้น
ก็ย่อมเกิดการผสมผสานกันจนเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มไม่อาจแยกออกจากกันได้ชัดเจน
และกลุ่มที่อ่อนแอกว่าอาจถูกครอบงำโดยกลุ่มที่มีอิทธิพลเหนือกว่า
ถึงแม้ว่าการร่วมมือจะเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้ง
กลุ่มอาจไม่พร้อมหรือไม่เต็มใจที่จะร่วมมือกับกลุ่มอื่น ดังนั้น
ก่อนที่จะร่วมมือกันระหว่างกลุ่ม ผู้นำของกลุ่มจะต้องคำนึงว่า
จะร่วมมือกันเพื่ออะไร กับใคร และมีส่วน ได้เสียอย่างไรบ้าง
การร่วมมือกันอาจแบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ
1. การร่วมมือแบบปฐมภูมิ (primary cooperation)
2. การร่วมมือแบบทุติยภูมิ (secondary cooperation)
3. การร่วมมือแบบตติยภูมิ (tertiary cooperation)
1. การร่วมมือแบบปฐมภูมิ
ได้แก่ ความร่วมมือของกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์แบบปฐมภูมิ
เป็นความร่วมมือที่กระทำร่วมกันในทุก ๆ ด้าน โดยใช้
วิธีการและมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน แต่อาจแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ และแบ่งความ
รับผิดชอบกันไปในระบบเดียวกัน เช่น ชีวิตภายในวัด ในครอบครัว ในชุมชนเล็ก ๆ
และในสังคมที่มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ทั้งหลาย
2. การร่วมมือแบบทุติยภูมิ เป็นการร่วมมือที่บุคคลกระทำเพื่อ
ผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะต่าง ๆ กัน โดยมีวัตถุประสงค์บางประการร่วมกัน
และการที่จะได้มาซึ่งความพอใจของแต่ละฝ่ายนั้น ต้องอาศัยการปฏิบัติร่วมกันทุกฝ่าย
เช่น การร่วมมือของบุคคลในสำนักงานธุรกิจหรือในโรงงาน
3. การร่วมมือแบบตติยภูมิ เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันทั้ง ๆ ที่มี
ทัศนคติต่างกัน ความร่วมมือประเภทนี้ใช้วิธีการเดียวกันแต่วัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น
การที่เจ้าหน้าที่รับสินบนจากพ่อค้า ต่างก็มีผลประโยชน์ในระยะสั้นกันคนละอย่าง คือ
พ่อค้าก็ได้สิทธิพิเศษในการค้าและเจ้าหน้าที่ก็ได้เงินมาใช้เป็นพิเศษ เป็นต้น
6) ความเห็นพ้องต้องกัน เป็นกระบวนการทางสังคมที่คล้ายคลึงกับ
การร่วมมือ หมายความถึง การตกลงเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์
เกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญกับการขัดแย้งและต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้อย่างถาวร
ความเห็นชอบพร้อมกันมักจะเกิดขึ้นในเมื่อความคิดเห็นอันหนึ่ง
ได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางและพบอยู่ในบรรดากลุ่มต่าง ๆ ทั้งหมดในสังคม ตัวอย่างเช่น
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดความเห็นพ้องต้องกันที่รัฐบาลควรจะให้มีโครงการสวัสดิภาพสังคมขึ้น
(ซึ่งแสดงให้เห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน
คุณธรรมและทัศนคติเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลนิยมและความรับผิดชอบทางสังคม)
เมื่อมีความเห็นพ้องต้องกันเกิดขึ้นในเรื่องใด ๆ
เรื่องนั้นก็จะพ้นจากการแข่งขันและการแบ่งแยกที่เคยเกิดมาก่อนหน้านั้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องความเห็นพ้องต้องกัน คือ
ลักษณะของการเกี้ยวพาราสี (courtship) และการเป็นพันธมิตรระหว่างชาติ
(international alliance)
<<< สารบัญ >>>