สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
การจัดระเบียบทางสังคม (Social Organization)
การอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคม (Socialization)
ความหมาย
ตามความหมายของ Bogadus
การอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคมเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกันหรือเป็นกระบวนการกลุ่มที่พัฒนาความรับผิดชอบ
ให้กับคนในสังคม เพื่อความอยู่รอดในการดำเนินชีวิต
ประสาท หลักศิลา ได้อธิบายไว้ว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้คนซึ่งใน
ตอนแรกมีสภาพเป็นอินทรีย์ทางชีววิทยาเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนซึ่งมีความรู้สึกในเรื่องพวกเดียวกัน
มีความสามารถในการอยู่เป็นระเบียบ มีคุณธรรมต่าง ๆ และมีความทะเยอทะยาน
เมื่อมองในแง่ของสังคมแล้ว การอบรมให้เรียนรู้ระเบียบสังคม ก็คือ
การถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมและการทำให้ปัจเจกชน
สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมในสังคมที่ได้มีการจัดระเบียบอย่างดีแล้ว
การอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคมเป็นกระบวนการที่จะต้องกระทำตลอดอายุขัยของชีวิตมนุษย์เลยทีเดียว
คือ เริ่มตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ นอกจากนั้น
ในขณะที่ปัจเจกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปของสังคมใหม่และสถาบันใหม่
เขาก็จะต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์ใหม่และยอมรับค่านิยมใหม่และในขณะเดียวกับที่พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำคัญในการเลี้ยงดูเด็ก
ตัวพ่อแม่เองก็ต้องได้รับการเรียนรู้ในบทบาทของพ่อแม่และคุณค่าของความเป็นพ่อแม่อีกด้วย
จุดมุ่งหมายของการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคม
1)
เพื่อให้มวลสมาชิกได้รู้จักปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานและตระหนักถึงสถานภาพและบทบาทอย่างถูกต้อง
เพื่อจะได้ปฏิบัติตนในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม
2) เพื่อปลูกฝังทักษะที่จะร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นในสังคม เช่น การมี
มนุษยสัมพันธ์
3) เพื่อปลูกฝังระเบียบวินัยหรือพฤติกรรมที่จำกัดความพอในปัจจุบัน
เพื่อการยอมรับของสังคม เช่น วิธีการรับประทานอาหาร นิสัยการอาบน้ำชำระร่างกาย
4) ปลูกฝังความมุ่งหวังและค่านิยมแก่สมาชิกในสังคม เช่น
แรงจูงใจในความสำเร็จในการประกอบอาชีพ
ซึ่งจะทำให้บุคคลยอมรับที่จะดำเนินชีวิตตามกติกาและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของสังคมที่ได้วางไว้
5.3 องค์กรที่อบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม
1) ครอบครัว
ครอบครัวจัดเป็นองค์กรในการให้การอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคมที่สำคัญ
ทั้งนี้เพราะมีความใกล้ชิดกับเด็กและสมาชิกของครอบครัวและอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน
จึงทำหน้าที่อบรมสั่งสอนได้ตลอดเวลา ประกอบกับ
ครอบครัวมีหน้าที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็กอยู่ด้วยและวัยเด็กเป็นวัยที่มีผลมาก
ต่อการสร้างบุคลิกภาพรวมทั้งอารมณ์และจิตใจของเด็ก
ครอบครัวจะเป็นแหล่งอบรมสั่งสอนถ่ายทอดวัฒนธรรม ค่านิยม ทัศนคติ
และหลักการดำเนินชีวิตเบื้องต้น
2) กลุ่มเพื่อน เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะเข้าร่วมสังคมกับเพื่อน ๆ เช่น
กับเพื่อนบ้าน เพื่อนที่สนามเด็กเล่น เพื่อนที่โรงเรียน
กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมของเด็กเช่นกัน เด็กอาจเรียนแบบอย่างเพื่อน
ดังนั้น ถ้าเด็กได้คบกับเพื่อนดีจะได้รับ แบบอย่างที่ดี ในทางตรงกันข้าม
หากคบเพื่อนไม่ดีย่อมมีพฤติกรรมไม่ดีด้วย
กลุ่มเพื่อนจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
ที่อาจไม่ได้รับจากครอบครัวหรือผู้ใหญ่ เช่น เพศศึกษา ความเสมอภาค
ความเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นผู้นำ ซึ่งเด็กอาจนำเอาพฤติกรรมต่าง ๆ
ของเพื่อนมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของตนเอง
3) โรงเรียน
โรงเรียนเป็นหน่วยอบรมสั่งสอนระเบียบแบบแผนของสังคมอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันโรงเรียนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กมาก
เพราะเด็กในปัจจุบันนี้มีชีวิตอยู่ในโรงเรียนเป็นเวลานาน วันละหลาย ๆ
ชั่วโมงและหลายปี
เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของโรงเรียนโดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนจะทำหน้าที่สำคัญ
2 ประการด้วยกัน คือ
1. สอนให้มีความรู้และทักษะในการดำรงชีพ
2. อบรมสั่งสอนเพื่อให้เป็นพลเมืองดี มีความจงรักภักดีต่อชาติ
มีจรรยามรรยาทอันดีงาม นอกจากนั้น
โรงเรียนยังเปิดโอกาสให้เด็กได้ใกล้ชิดสังสรรค์กับเพื่อน ๆ
เป็นระยะเวลานานทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม ได้มากขึ้น
4) สื่อสารมวลชน ได้แก่ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ สิ่งตีพิมพ์ ต่าง ๆ
วิทยุ และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสื่อนำให้เกิดค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ และ
ได้เรียนรู้พฤติกรรมแบบอย่างต่าง ๆ แล้วนำประพฤติปฏิบัติในสังคม ดังจะพบเห็น
ได้ง่าย ๆ ในหมู่เด็กที่ชมภาพยนต์แล้วนำเอาพฤติกรรมการแสดงของผู้แสดงมาปฏิบัติ
สื่อสารมวลชนนับว่ามีอิทธิพลและมีบทบาทต่อการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคมมากเช่นกัน
5) สถาบันทางสังคมและองค์กรอื่น ๆ เช่น สถาบันทางศาสนา สมาคม มูลนิธิ
เป็นต้น สถาบันทางศาสนามีบทบาทสำคัญต่อการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบ
แบบแผนของสังคมโดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า
วัดเป็นหน่วยทางสังคมที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ชาวบ้านอาศัยเป็นแหล่งอบรมทางจิตใจ
แหล่งการศึกษาหาความรู้ เป็นแหล่งให้การอบรมลูกหลาน
จึงจัดเป็นหน่วยนำทางระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ นอกจากนั้น
ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยในการอบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม เช่น
ยุวพุทธิกสมาคม ศูนย์พัฒนาเยาวชน
บุคคลที่จะต้องอบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม
บุคคลที่ควรจะได้รับการอบรม ซึ่งพอจะแบ่งตามเกณฑ์อายุดังต่อไปนี้
1) ในวัยเด็ก ระยะแรก ๆ จะเน้นในด้านการตอบสนองความต้องการของทารก เช่น
การให้อาหาร การให้ความอบอุ่น เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเริ่มสอนคลาน นั่ง ยืน เดิน พูด
ในช่วงระยะนี้ จะเริ่มอบรมให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก
ถ้าผิดพ่อแม่ก็จะแสดงอาการดุหรือส่งเสียงว่ากล่าว
เด็กจะเรียนรู้กิริยาอาการพอใจหรือไม่พอใจของผู้ใหญ่และจะจดจำ
เพื่อว่าเมื่อเห็นลักษณะอาการเช่นนั้นอีกจะได้ไม่ทำเช่นนั้น นั่นคือ เด็กจะเริ่ม
รู้จักควบคุมความต้องการและความประพฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ
2) ในวัยหนุ่มสาว การอบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม
ส่วนใหญ่จะได้จากกลุ่มเพื่อนเล่นในโรงเรียน วัยนี้มักจะเอาอย่างเลียนแบบผู้อื่น
3) วัยผู้ใหญ่ การอบรมผู้ใหญ่ให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม
ก็มีความจำเป็นอยู่บ้าง แม้จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจาก
บางโอกาสต้องประสบกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ในสังคม เช่น เป็นข้าราชการใหม่หรือ
ข้าราชการย้ายจากงานลักษณะหนึ่งไปทำงานในอีกลักษณะหนึ่ง จำเป็นต้องเข้ารับการ
อบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของงานใหม่
หรือการที่คนเราย้ายจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง
ย่อมมีความจำเป็นในการศึกษาเกี่ยวกับสังคมใหม่ที่ตนเข้าไปร่วมด้วย
สรุป
ความเป็นระเบียบของสังคมจะเกิดขึ้นได้จำต้องอาศัยบรรทัดฐานของสังคม
อันเป็นแนวทางกำกับครรลองพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม
ซึ่งมันมีความเกี่ยวพันไปถึงตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลด้วย นอกจากนั้น
ยังจะต้องมีการควบคุมทางสังคมอีกด้วย
ตลอดถึงการจัดให้มีการอบรมเรียนรู้ระเบียบของสังคมด้วย
เพื่อที่สังคมจะได้เป็นระเบียบเรียบร้อยและนำสันติสุขมาสู่สังคมโดยส่วนรวม
<<< สารบัญ >>>