สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
ลักษณะของสังคมวิทยา
ทฤษฎีหลักของสังคมวิทยา
มีอยู่มากมาย แต่ในที่นี้จะขอนำแนวคิดของปราชญ์ทางสังคม คือ ออกัสต์ คอง (Auguste
Comte) ชาวฝรั่งเศส ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการความรู้ของมนุษย์ เรียกว่า
กฎแห่งขั้นสามขั้น (The Laws of Three Stages) และเฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert
Spencer) ชาวอังกฤษ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับกฎวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์
กฎแห่งขั้นสามขั้น (The Laws of Three Stages)
ปรัชญาทางสังคมของคองขึ้นอยู่กับแนวความคิดเกี่ยวกับขั้นสามขั้น เขามีความคิดว่า
ความรู้ของมนุษย์ผ่านขั้น 3 ขั้น คือ
1) ขั้นเทววิทยาหรือขั้นนิยาย (Theological or Fictitious Stage)
2) ขั้นปรัชญาหรือขั้นแห่งเหตุผล (Metaphysical or Abstract Stage)
3) ขั้นวิทยาศาสตร์ (Positive Stage)
คองมีความคิดว่า
เมื่อเราศึกษาวิวัฒนาการแห่งความคิดหรือสติปัญญาของมนุษย์ในสังคมต่าง ๆ
ทุกยุคทุกสมัย เราจะพบกับกฎขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นข้อแนะให้รู้
การพัฒนาจิตใจและสติปัญญาของมนุษย์
เราสามารถจะพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในทางประวัติศาสตร์และในองค์การของเรา
อีกนัยหนึ่งมันหมายถึงว่า
แนวความคิดของเราทั้งหมดได้ผ่านขั้นทั้งสามดังกล่าวข้างต้นนี้
ในที่นี้สมควรจะกล่าวถึงขั้นทั้งสามเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1) ขั้นเทววิทยาหรือขั้นเกี่ยวกับนิยาย
คองคิดว่าในระหว่างขั้นเทววิทยานี้
ความคิดส่วนใหญ่ของมนุษย์เป็นแบบนิยายและเกี่ยวข้องกับโลกอื่น เขากล่าวต่อไปว่า
มนุษย์เมื่อมีความต้องการที่จะศึกษาวิวัฒนาการแห่งความคิด
และเมื่อทำความพยายามที่จะสืบสาววิวัฒนาการของโลกและปัจจัยต่าง ๆ รอบ ๆ โลก
จะได้รับอิทธิพลจากความคิดของตนว่า
ปัจจัยทางวิญญาณและเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติมีอิทธิพลกำหนดกิจกรรมของเขา
ในสมัยโบราณนั้น มนุษย์คิดว่า
กิจกรรมทั้งหมดของเขาล้วนแต่ถูกสิงอยู่โดยปัจจัยที่อยู่เหนือธรรมชาติ
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์ไม่ทราบกฎที่ควบคุมการปฏิบัติงานของสิ่งต่าง ๆ ในขั้น
แรกเริ่มแบบบุพกาลนี้ มนุษย์เชื่อว่า มีโลกอื่นนอกจากโลกนี้
ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของ สิ่งเหนือธรรมชาติ ผู้มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ในโลก
เหตุการณ์เหล่านี้แสดงถึงความสุขและความไม่สบายใจของภาวะที่มีอำนาจสูงสุด
มนุษย์ไม่อาจจะคิดถึงสิ่งอื่นที่เหมาะสมกว่าความคิดทำนองนี้
เนื่องจากความเชื่อดังกล่าว
มนุษย์ในสมัยก่อนจึงเชื่อในมายาศาสตร์และเครื่องลางของขลัง เขาเชื่อว่า
ในทุกวัตถุจะมีเทพเจ้าหรือวิญญาณหรือพลังอย่างใด อย่างหนึ่งสิงอยู่
เพราะความคิดเช่นนี้ จึงมีการพัฒนาความเชื่อในเทพเจ้าจำนวนมาก
เมื่อเทพเจ้ามีจำนวนมากขึ้นเช่นนี้ จะมีการจัดลำดับตามความสำคัญ
เทพเจ้าที่สำคัญที่สุด จะถูกจัดไว้เป็นอันดับแรก
จากนี้จะเริ่มมีการพัฒนาความเชื่อในเทพเจ้าองค์เดียว คองกล่าวว่า
การนับถือเทพเจ้าองค์เดียวเป็นขั้นสุดท้ายในขั้นเทววิทยานี้
ขั้นเทววิทยามี 3 ขั้น คือ
1. ความเชื่อในวิญญาณ (Fetichism)
2. ความเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism)
3. ความเชื่อในเทพเจ้าองค์เดียว (Monotheism)
ความเชื่อในวิญญาณ ในขั้นนี้
มนุษย์ยอมรับการกระทำทุกอย่างและพฤติกรรมทุกแบบด้วยความคิดว่ามีพลังสนับสนุนเบื้องหลัง
และเชื่อว่าธรรมชาติ ทุกชนิดล้วนมีชีวิตอีกนัยหนึ่ง ขั้นนี้
มนุษย์ยอมรับการมีอยู่ของวิญญาณ
ความเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์
เนื่องจากเชื่อว่าเทพเจ้ามีจำนวนมาก มนุษย์จึงตกเป็นเหยื่อของมายาศาสตร์ทุกแบบ
รวมทั้งความเชื่อในมนต์พ่อมดหมอผี มนุษย์มักจะได้รับอิทธิพลจากความเชื่อผิด ๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ มนุษย์ที่มีความคิดจะรู้สึกตื่นตัวและแทนที่จะยอมรับว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังเหมือนธรรมชาติหรือพลังมานะ (Mana)
ก็จะเปลี่ยนรูปความเชื่อเป็นว่า ในทุกวัตถุนั้นจะมีพระเป็นเจ้าหรือเทพเจ้า
เฉพาะองค์อาศัยอยู่ มนุษย์จึงทำการบูชาเทพเจ้าจำนวนมาก ขั้นนี้จึงเรียกว่า
ขั้นความเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์
ความเชื่อในเทพเจ้าองค์เดียว
ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายแห่งเทววิทยา
ในขั้นนี้ความคิดของมนุษย์มีสาระและสุขุมรอบคอบมากขึ้น มนุษย์มีเหตุผลมากขึ้น
และมีการยอมรับว่า
มีศูนย์กลางแห่งอำนาจทั้งหมดอยู่แห่งเดียวที่ควบคุมและชี้ทางกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกนี้
2) ขั้นปรัชญาหรือขั้นแห่งเหตุผล
ความคิดของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ขั้นสุดท้ายแห่งเทววิทยา คือ
ขั้นความเชื่อในเทพเจ้าองค์เดียว มนุษย์ยังคงพัฒนาความคิดต่อไป
ผลแห่งการพัฒนาความคิด ก็คือ การรู้จักใช้เหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยกล่าวว่า
มีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ควบคุมและแนะนำการปฏิบัติงานทั้งหมดในโลกมนุษย์
มนุษย์หยุดคิดว่า กิจกรรมในโลกนี้ ถูกควบคุมโดยภาวะเหนือธรรมชาติ
และความที่คิดเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ลึกซึ้งมากขึ้น
มีการให้เหตุผลสำหรับกิจกรรมของมนุษย์แต่ละประเภทและมีการค้นหาเหตุผลสำหรับการอุบัติขึ้นมากของชีวิต
รวมทั้งอุบัติการณ์ของสรรพสิ่ง
มนุษย์ในยุคนี้รู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับสาเหตุของปรากฏการณ์ในโลกและปัญหาที่น่าพิศวงหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า
คองกล่าวว่า ในขั้นนี้ ความคิดของมนุษย์นั้นมีการปรับปรุงดีขึ้นกว่าในขั้นเทววิทยา
3) ขั้นวิทยาศาสตร์
ในขั้นนี้ ความคิดของมนุษย์พัฒนาขึ้นมาก
ซึ่งเกิดจากการรู้จักให้ เหตุผลอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ
ในขั้นที่แล้ว ขั้นวิทยาศาสตร์เป็น ขั้นสุดท้ายสำหรับความคิดของมนุษย์ ในขั้นนี้
มนุษย์รู้จักตั้งทฤษฎีและหลักการต่าง ๆ แทนที่จะใช้จินตนาการ มนุษย์รู้จักสังเกต
การให้เหตุผล การพิจารณาสอบสวน และ การพิสูจน์ทดลอง
เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับขั้นแห่งความคิดนี้ คองกล่าวว่า ในขั้นวิทยาศาสตร์นี้
มนุษย์มีการศึกษากฎเกณฑ์ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทุกชนิด
การให้เหตุผลและการสังเกตที่รวมกันอย่างเหมาะสมเป็นสื่อให้เกิดความรู้
สิ่งที่เป็นความรู้จะหาข้อโต้แย้งไม่ได้ เพราะได้รับการพิสูจน์ทดลองแล้ว
ขั้นนี้เป็นความเจริญขั้นสูงสุดแห่งความคิดของมนุษย์
กฎเกี่ยวกับขั้นทั้งสามขั้นนี้
สามารถใช้อธิบายวิวัฒนาการของศาสตร์และองค์การทางสังคมได้เช่นกัน
พัฒนาการของศาสตร์ คองกล่าวว่า
ศาสตร์ทุกศาสตร์จะต้องผ่านทั้งสามขั้นนี้ ในขั้นเทววิทยาและขั้นปรัชญานั้น
ความรู้ในวิชาการต่าง ๆ ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยข้อสงสัย
ความรู้อาจจะเป็นจริงก็ได้หรืออาจจะเป็นเพียงจินตนาการก็ได้
เพราะไม่มีการพิสูจน์อย่างแท้จริง ดังนั้น
จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจเหตุการณ์ในโลกโดยอาศัยการสังเกต การแยกประเภท
และการพิจารณาสอบสวนอย่างแท้จริง เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกเกิดมาเพราะสาเหตุ
การจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้ง เราจะต้องค้นหาสาเหตุของมัน
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ทุกแขนงแห่งความรู้จะต้องผ่านการทดลองเสียก่อนตามขั้นต่าง ๆ
แห่งวิทยาศาสตร์ คองต้องการให้สังคมวิทยาพัฒนาขึ้นมาตามขั้นตอนแห่งวิทยาศาสตร์
พัฒนาการองค์การทางการเมืองและสังคม คองมีความคิดว่า
ในขั้นแรกของการพัฒนาองค์การทางสังคมและการเมืองนั้น กฎต่าง ๆ คลุมเครือมาก
ในทางการเมืองจะมีการให้อำนาจเด็ดขาด (Absolute power) โดยผู้นำหรือผู้ปกครอง
ลักษณะ การปกครองเป็นแบบเผด็จการทหาร คองได้กล่าวตัวอย่างการปกครองในขั้นเทววิทยา
ซึ่งได้แก่ อาณาจักรโรมันและอาณาจักรยิวโบราณ ในสังคมแบบเทววิทยานี้
มีการยกย่องว่ามีสิทธิ์ปฏิบัติการได้ในนามของเทพเจ้า ดังนั้น
ไม่มีใครล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ที่เขา ได้วางไว้
ในขั้นที่สองของการพัฒนาองค์การทางสังคมนั้น คองกล่าวว่า มีการใช้
หลักการเกี่ยวกับสิทธิอันลุ่มลึก (Doctrine of Abstract Right)
ในสังคมอย่างแพร่หลาย ในขั้นนี้
สิทธิพิเศษตามอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติจะถูกแทนที่โดยสิทธิตามธรรมชาติมนุษย์
ขั้นนี้ เป็นขั้นที่ปรับปรุงจากขั้นที่แล้ว และบางทีก็เรียกว่า ขั้นการใช้กฎหมาย
(Legalistic)
ขั้นที่สามหรือขั้นวิทยาศาสตร์ สำหรับสังคมนั้น
เป็นขั้นแห่งการสังเกตและทดลอง ในสองขั้นแรกนั้น
ระเบียบและองค์การทางสังคมไม่มีความมั่นคงและหาเหตุผลไม่ได้ แต่ในขั้นนี้
องค์การทางสังคมเกิดขึ้น เพราะมีวัตถุประสงค์และมีการให้เหตุผล อย่างชัดเจน
ขั้นนี้ไม่เน้นความเชื่อทางเทววิทยาที่ว่า ทุกอย่างล้วนแต่มาจากเทพเจ้าสูงสุด
และไม่ได้เน้นเรื่องสิทธิอันสลับซับซ้อนแบบธรรมชาติหรือเป็นเพียงเนื้อหา
แต่เน้นการปฏิบัติจริง และขั้นนี้ความเจริญทางอุตสาหกรรมมีสูงมาก
กฎเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคม
สเปนเซอร์ ได้ประยุกต์เอากฎวิวัฒนาการมาใช้กับสังคม
เขากล่าวว่า หลายสังคมเจริญขึ้นมาแล้วก็สูญหายไป การเกิดขึ้นและการดับไปนี้
ควบคุมโดยกระบวนการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม
เผ่าพันธุ์ที่สามารถจะปรับตัวได้จะเป็นผู้ชนะในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
เผ่าพันธุ์ที่ไม่สามารถจะปรับตัวได้จะถูกทำลาย สังคมมนุษย์ก็เช่นกัน
ตามกระบวนการนี้ สเปนเซอร์ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการสังคมจากแบบง่าย ๆ
มาสู่แบบสลับซับซ้อน
แบบอย่างและโครงสร้างสังคมที่เราเห็นปัจจุบันนี้ไม่เหมือนกับตอนแรกที่มีกำเนิดมา
ในตอนแรก สังคมมนุษย์เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและมี
โครงสร้างไม่เป็นระเบียบ ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
มนุษย์เกี่ยวข้องอยู่เพียงกับการหาอาหาร สร้างบ้านเรือนและหาเครื่องนุ่งห่ม
มนุษย์ไม่มีความรู้สึกทางสังคม ไม่มีความสนใจ ต่อกันไม่ว่าใครจะเกิดหรือตาย
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การสร้างคุณค่าทำให้มีการ เปลี่ยนแปลง
มนุษย์เริ่มคิดถึงวัฒนธรรมและอารยธรรม มนุษย์มีการรวมตัวกันและ
ได้รับวัฒนธรรมกับอารยธรรม เมื่อมีการสร้างคุณค่าก็มีการแบ่งงานในสังคม
มนุษย์มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ทฤษฎีองค์การทางสังคม ทฤษฎีนี้ เป็นทฤษฎีที่สำคัญอย่างหนึ่งของ
สเปนเซอร์ เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดการให้สังคมเหมือนกับอินทรีย์ (ซึ่งจะได้กล่าว
ต่อไป) เขากล่าวว่า สังคมไม่ใช่เป็นเพียงการรวมบุคคลไว้ด้วยกันเท่านั้น
มันยิ่งกว่านั้น คือ เหมือนกับอินทรีย์อย่างหนึ่ง
การเปรียบเทียบระหว่างอินทรีย์กับสังคม
สเปนเซอร์ เปรียบเทียบชีวิตในสังคมกับอินทรีย์ เขากล่าวว่า
ระบบสังคมเหมือนกับระบบชีววิทยา ซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า
เหมือนกับอินทรีย์สังคมตกอยู่ในอำนาจการค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากลักษณะแบบง่าย ๆ
สู่แบบสลับซับซ้อน ความคล้ายคลึงกันระหว่างสังคมกับอินทรีย์
สามารถจะศึกษาได้จากหัวข้อดังต่อไปนี้
1. จากลักษณะง่าย ๆ สู่ลักษณะสลับซับซ้อน
2. พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
3. มีศูนย์กลางการควบคุม
4. ความสำคัญของส่วนรวมทั้งหมด
5. มีการสืบต่อเนื่องโดยไม่ขาดสาย
6. เป็นโครงสร้างของหน่วยย่อย
จากลักษณะง่าย ๆ ไปสู่ลักษณะสลับซับซ้อน
สังคมกับอินทรีย์แตกต่างจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ในตอนแรก
ทั้งสองระบบเป็นแบบง่าย ๆ และมีขนาดเล็ก
แต่ครั้นเมื่อเติบโตขึ้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและสลับ ซับซ้อนมากขึ้น
เมื่อเด็กเกิดขึ้นมา ร่างกายของเด็กมีขนาดเล็กและสังเกตเห็นได้ชัด เมื่อโตขึ้น
ร่างกายเด็กก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น โครงสร้างทางสังคมก็เช่นกัน
ในตอนแรกมนุษย์มีชุมชนขนาดเล็กแล้วขยายตัวเป็นเมืองขนาดใหญ่ รัฐเล็ก ๆ
กลายเป็นอาณาจักร อันยิ่งใหญ่
การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ทุกอวัยวะในร่างกายต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ตัวอย่างเช่น
ถ้าเราใช้มือหยิบอาหารใส่ปาก ปากก็ต้องเคี้ยวกัดอาหาร
ต่อมาก็ขยายการพึ่งพาอาศัยไปยังระบบ
การย่อยแล้วกลายเป็นเลือดเนื้อเพื่อดำรงร่างกายไว้ สังคมมนุษย์ก็เช่นกัน อวัยวะต่าง
ๆ ในสังคมต่างก็พึ่งพาอาศัยส่วนอื่น ๆ เช่น
คนงานพึ่งนายจ้างและนายจ้างก็ต้องพึ่งลูกจ้าง เป็นต้น
มีศูนย์กลางการควบคุม
ในร่างกายมีสมองเป็นศูนย์บัญชาการ
ซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ส่วนในสังคมมีรัฐบาลเป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศชาติและปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสังคม
กลุ่มต่าง ๆ ก็รับเอาคำสั่งจากรัฐบาลแล้วดำเนินตามคำสั่ง นั้น ๆ
ความสำคัญของส่วนทั้งหมด
ในอินทรีย์ของมนุษย์นั้น อวัยวะส่วนหนึ่ง ๆ อาจจะสำคัญพอ ๆ
กัน และ ทั้งหมดรวมกันมีความสำคัญยิ่ง แต่ถ้าเรามองดูอินทรีย์แบบรวม ๆ ทั้งหมด
เราอาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของอวัยวะแต่ละส่วน ในสังคมก็เช่นกัน
สังคมทั้งหมดมีความสำคัญต่อส่วนต่าง ๆ แน่ละแต่ละส่วนถ้ามองผิวเผิน
อาจจะไม่เห็นความสำคัญ แต่ถ้ามองรวม ๆ ไปทั้งหมดในโครงสร้างสังคม เราพบว่า
ความสำคัญของส่วนรวมมากกว่า แต่ละส่วน
มีการสืบต่อเนื่องกัน
ในร่างกาย ส่วนเก่า ๆ ถูกทำลายหมดไป ส่วนใหม่ ๆ
เกิดขึ้นมาแทนที่ สังคมมนุษย์ก็มีการสืบต่อเนื่องในทำนองคล้ายกัน เช่น หลักการต่าง
ๆ ในสังคม หมดสมัย ถูกละทิ้งและหน่วยย่อยเก่า ๆ ถูกกำจัดหมดไป
และแล้วก็ถูกแทนที่โดย หลักการและส่วนประกอบใหม่ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้
กระบวนการสืบต่อเนื่องก็ยังคงดำเนินการต่อไป
มีโครงสร้างของหน่วยย่อย
ในร่างการของมนุษย์หรือในอินทรีย์ของสิ่งมีชีวิต
มีเซลล์ต่าง ๆ สังคมก็ประกอบด้วยหน่วยย่อย คือ เซลล์ต่าง ๆ เช่นกัน เซลล์ของสังคม
หมายถึง องค์การต่าง ๆ เช่น องค์การทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การศึกษา ครอบครัว
และการศาสนา เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างสังคมกับอินทรีย์
นอกจากความคล้ายคลึงกันระหว่างอินทรีย์กับสังคมแล้ว
สเปนเซอร์ได้พูดถึงความแตกต่างระหว่างระบบทั้งสอง ความแตกต่างอาจจะสรุปได้ดังนี้
1. อวัยวะต่าง ๆ ของสังคมไม่ได้ติดกัน
2. ทุก ๆ อวัยวะของสังคมมีจิตสำนึกแยกออกไปต่างหาก
3. ไม่มีจุดศูนย์รวมสำหรับจิตสำนึก
4. เซลล์ต่าง ๆ ของสังคมหาได้มุ่งหมายเพื่อสวัสดิการของทุกสิ่งทุกอย่างไม่
อินทรีย์ต่าง ๆ ของสังคมไม่ได้ติดกัน
ในอินทรีย์ที่มีชีวิตนั้น อวัยวะต่าง ๆ ติดกัน
ร่างกายเป็นอวัยวะที่รวมเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน
แต่ในสังคมหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หน่วยต่าง ๆ ของสังคม ไม่ติดกัน
ต่างก็เป็นอิสระในข้อนี้ เราสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างสังคมกับ อินทรีย์
ทุกอวัยวะของสังคมมีจิตสำนึกแยกออกไป
ในอินทรีย์ที่มีชีวิต จิตสำนึกถูกรวมอยู่ในจุดศูนย์กลาง
ไม่มีจิตสำนึกที่แยกออกไปในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนในสังคมนั้น
แต่ละส่วนประกอบ (อวัยวะ) มีจิตสำนึกแยกออกไป
ไม่มีจิตสำนึกที่รวมอยู่เป็นจุดศูนย์กลาง
ไม่มีการรวมจิตสำนึกไว้ในจุดศูนย์กลาง
เหมือนอย่างที่กล่าวไว้แล้ว
อินทรีย์ที่มีชีวิตมีจิตสำนึกที่เป็นศูนย์กลางอวัยวะต่าง ๆ
หาได้มีจิตสำนึกแยกออกไปไม่ แต่ในสังคมนั้น ไม่มีจิตสำนึกที่เป็น จุดศูนย์กลาง
จิตสำนึกกระจายอยู่ในสมาชิกทุก ๆ คน
เซลล์ต่าง ๆ
ของสังคมไม่ได้มุ่งหมายเพื่อสวัสดิการของส่วนรวมทั้งหมด
เซลล์ต่าง ๆ
ของร่างกายมีอยู่เพื่อประโยชน์ของอินทรีย์ทั้งหมด ส่วนสังคม สถานการณ์ตรงกันข้าม
สังคมทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อสวัสดิการของหน่วยย่อย ซึ่งข้อนี้ตรงกันข้ามกับอินทรีย์
สเปนเซอร์เชื่อในอิสระภาพของบุคคลแต่ละคนของสังคม โดยการศึกษา
ข้อแตกต่างระหว่างอินทรีย์ที่มีชีวิตกับสังคม เขาจึงสรุปว่า
สวัสดิการของบุคคลไม่ได้เกี่ยวโยงกับสังคมถึงแม้ว่าบุคคลจะเป็นหน่วยขั้นพื้นฐานของสังคมก็ตาม
เขามีความคิดว่า จิตสำนึกของบุคคลมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคลนั่นเอง
ไม่ใช่อยู่ในสังคม บุคคลย่อม เข้าใจสวัสดิการของตน ดังนั้น สเปนเซอร์จึงกล่าวว่า
รัฐควรปล่อยให้บุคคลมีอิสระที่จะนำสวัสดิการมาสู่ตัวเขาเอง
เมื่อมีอิสระภาพเช่นนี้ก็เป็นการง่ายที่บุคคลจะทำการพัฒนาตัวเขาเอง ดังนั้น
เขาจึงสนับสนุนให้มีการใช้อิสระภาพสำหรับบุคคลเอง เมื่อบุคคลเจริญแล้ว
สังคมก็จะเจริญตาม การควบคุมโดยรัฐมีแต่จะเป็นอุปสรรคต่อสวัสดิการของสังคม
<<< สารบัญ >>>