สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สังคมวิทยา
<<< สารบัญ >>>
ลักษณะของสังคมวิทยา
สังคมวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคนในฐานะที่ไม่อยู่โดดเดี่ยวแต่อยู่รวมกับผู้อื่น
สังคมวิทยาจะศึกษาเกี่ยวกับสภาพเงื่อนไขของสังคม
ซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คนและปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ที่คนทำให้เกิดขึ้น
สังคมวิทยาเป็นการศึกษาเพื่อหา คำอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นว่า
ทำไมจึงเกิดขึ้นหรือเป็นเช่นนั้น อย่างเช่น เมื่อเราเห็นผู้อพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง
ก็หาคำตอบและตั้งทฤษฎีว่า ทำไมคนจึงอพยพเข้าสู่เมือง ดังนี้เป็นต้น
ลักษณะของสังคมวิทยาโดยทั่วไป มีดังนี้
1) สังคมวิทยาเป็นศาสตร์ว่าด้วยสังคม (Social Sciences)
ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural sciences) จึงแตกต่างจากดาราศาสตร์ ฟิสิกส์
เคมี และวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ สังคมวิทยาก็เป็นวิทยาศาสตร์
เพราะเป็นวิชาความรู้ที่ได้จากสังเกตพิจารณา (Empiricism)
หรือการทดลองอย่างมีระเบียบและระบบอย่างมีเหตุผล (Rationalism) มีการวิเคราะห์
(Analysis) การตีความ (Interpretation) หรือการทวนสอบ (Verification)
จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นความจริงและใคร ๆ
ก็สามารถเรียนรู้หรือเข้าใจได้ตรงกัน
2) สังคมวิทยาเป็นวิชาที่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ เช่น
ศึกษาหาสาเหตุว่า ทำไมคนงานจึงนัดหยุดงานหรือเดินขบวน
หรือทำไมจึงเกิดการอพยพของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำไมคนจึงฆ่าตัวตาย ฯลฯ 3)
สังคมวิทยาเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
โดยอธิบายให้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่ควรจะเป็น (What actually is, not what
ought to be) สังคมวิทยาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดี เลว ผิดหรือถูก หรือสิ่งอื่น ๆ
ที่ เกี่ยวกับคุณธรรมของชีวิต สังคมวิทยาจะแสดงให้เห็นว่า ในระยะหนึ่ง สถานที่นั้น
กลุ่มชนนั้น มีความเชื่อมั่นในคุณค่าทางสังคมอย่างไร สังคมวิทยาจะไม่ตัดสินชี้ขาด
ลงไปว่า ความเชื่อนั้นดีหรือเลว หรือควรยึดมั่นคุณค่านั้น เพราะดีกว่าของกลุ่มอื่น
แต่จะศึกษาในรูปของปรากฏการณ์ทางสังคม
4) สังคมวิทยาเป็นวิชาที่มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมทุกอย่างที่ปรากฏ
ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งหมด โดยพยายามที่จะหากฎหรือหลักเกณฑ์กว้าง ๆ
เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้น ๆ เช่น
สังคมวิทยาจะไม่สนใจกับการสงครามหรือการปฏิวัติเฉพาะครั้งใดครั้งหนึ่ง
ที่ใดที่หนึ่ง แต่จะสนใจในลักษณะที่ปรากฏการณ์ทางสังคม ทั่ว ๆ ไป
<<< สารบัญ >>>