สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การเมือง
คำว่า การเมือง เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก
หากตั้งคำถามแก่ผู้ศึกษารัฐศาสตร์ว่า การเมืองคืออะไร แล้ว
ดูเหมือนว่ามีเพียงไม่กี่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดแจ้ง มีความกระชับ รัดกุม
แยกแยะความแตกต่างในความหมายของคำว่า การเมือง ออกจากคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน
เช่นคำว่า รัฐบาล การปกครอง อำนาจหน้าที่หรือสิ่งที่ไม่ใช่การเมือง ฯลฯ
ให้ชัดเจนได้
หากดูนิยามของคำว่า การเมือง
จากข้อเขียนของนักรัฐศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศแล้วจะเห็นว่า
ที่ให้ความหมายไว้ตรงกันนั้นมีน้อย บางคนให้ความหมายไว้อย่างหละหลวม
จนไม่สามารถนำไปใช้กับการเมืองทุกระบบในสังคมทุกรูปแบบและในทุกกาลสมัยได้
การตีความของคำว่า การเมือง
ไปในแง่มุมที่แตกต่างกันเช่นนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ
- ประการแรก หากเราจะทำการศึกษาการเมืองอย่างจริงจังเยี่ยงศาสตร์สาขาอื่น
ก็ควรกำหนดความหมายและขอบข่ายไว้ให้ชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้น
การศึกษาก็จะเป็นไปอย่างขาดความกระชับ ปราศจากกรอบ
ขาดเป้าหมายและขอบข่ายที่แน่นอน
- ประการที่สอง
การให้ความหมายไม่ตรงกันทำให้เกิดความเข้าใจสับสนแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่เข้าใจไปคนละแง่มุมได้
ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งรองนายกรัฐมนตรีของไทยเคยกล่าวว่า
เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการค้าหมูและการโกงกินในบรัทสหสามัคคีค้าสัตว์เป็นเรื่อง
การบ้าน ไม่ใช่ การเมือง หลายคนยืนยันว่า การค้าหมูในสมัยนั้น (พ.ศ. 2512)
เป็นเรื่องการเมือง
อีกเรื่องหนึ่งหลายคนกล่าวว่าการขอสร้างจุฬาคอมเพล็กซ์ที่สี่แยกปทุมวัน
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2521 เป็นเรื่องการบ้าน แต่บางคนกล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองหรืออย่างกรณีน้ำตาลขึ้นราคาเมื่อ พ.ศ. 2523
คนที่เดิมเคยคิดว่าน้ำตาลเป็นเรื่องของการบ้านนั้นก็ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้ว
เป็นต้น เรามีเกณฑ์ที่แน่นอนอะไรที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างการเมือง
กับสิ่งที่ไม่ใช่การเมืองออกจากกัน
- ประการที่สาม หากแต่ละคนเข้าใจคำว่า การเมือง แตกต่างกัน ย่อมทำให้มีการศึกษาการเมืองในเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันออกไปตามความรู้ความเข้าใจเช่นนั้นไปด้วย ทำให้ ศาสตร์การเมือง กลายเป็นบันทึกของ สามัญสำนึก ที่ไร้แก่นสาร ทำให้รัฐศาสตร์กลายเป็นวิชาการที่ไม่มีความเป็นระเบียบ ขาดระบบและนั่นคือความอ่อนแอของรัฐศาสตร์ ในฐานะที่เป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง
นักรัฐศาสตร์ในแต่ละสมัยมองการเมืองในแง่มุมที่แตกต่างกันอยู่มากกล่าวคือ
เมื่อพูดถึงการเมือง บางคนหมายถึง ตัวสถาบันทางการเมือง เช่น คณะรัฐมนตรี
สภาผู้แทนราษฎร ศาลสถิตยุติธรรม พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ
แต่บางคนตีความหมายว่าการเมืองคือ หน้าที่ (functions) ของสถาบันต่าง ๆ เหล่านั้น
เช่น การตัดสินใจ การเลือกสรรทางการเมือง การออกกฎหมาย การประสานผลประโยชน์ เป็นต้น
นับตั้งแต่สมัย พลาโต และ อริสโตเติล
นักปรัชญาของกรีกเป็นต้นมานักวิเคราะห์การเมืองต่างมีแนวความคิดเกี่ยวกับการเมืองแตกต่างกันออกไปมากมายหลายอย่าง
แตกต่างกันออกไปตามยุคตามสมัย เป็นต้นว่า
ชาวเอเธนส์มองการเมืองในฐานะที่เป็นการแสวงหาสาธารณประโยชน์ (the persuit of public
interests) ตกมาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 นักวิชาการชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส
และอิตาลี มองรัฐในฐานะของโครงสร้างของการบริหารที่สลับซับซ้อน
และมองการเมืองในฐานที่เป็นการปฏิบัติการของรัฐ
ส่วนนักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันมองการเมืองในลักษณะที่เป็น หน้าที่ (functions)
มากกว่าทัศนะที่เป็นตัวสถาบัน (institutions)
โดยมองในแง่ที่ว่าการเมืองคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายสาธารณะและการดำเนินงานตามนโยบายสาธารณะนั้น
ๆ
หากพิจารณาดูให้ถ่องแก้แล้วจะเห็นว่า ความหมายทั้งหลายของคำว่า การเมือง
เป็นเพียงคำจำกัดความที่หลวม ๆ ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าความหมายนั้น ถูก
หรือ ผิด
คำนิยมแต่ละอย่างต่างให้ประโยชน์ในการอธิบายและทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า
การเมือง
ได้คนละแง่การเมืองไม่ใช่สิ่งที่มีตัวตนหรือเป็นมวลสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
หากแต่ว่า การเมือง
เป็นเพียงชื่อที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองตั้งขึ้นมาสำหรับกิจกรรมประเภทหนึ่ง
เท่านั้น ดังนั้น แต่ละคนจึงอาจมีทัศนะต่อกิจกรรมที่เรียกกว่า การเมือง
แตกต่างกันออกไปได้มากมาย
กล่าวอย่างกว้าง ๆ แล้ว
กิจกรรมที่เรียกว่าการเมืองจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ คือ
1. เกี่ยวข้องมหาชน มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก
2. เกี่ยวข้องกับรัฐ
3. เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ
การเมืองในฐานะการแสวงหาสาธารณประโยชน์
แนวความคิดเกี่ยวกับการเมืองมีมาตั้งแต่สมัยนักปรัชญากรีก พลาโต (427-346 ก่อน
ค.ศ.) นิยามการเมืองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับญัตติทั้งหลายที่มีผลต่อชุมชนทั้งหมด
ปราชญ์กรีกเน้นความแตกต่างของประโยชน์ สาธารณะ และประโยชน์ ส่วนบุคคล
และถือว่าสาธารณประโยชน์เป็นส่วนที่เป็นการเมือง
โดยเฉพาะในแง่ศีลธรรมแล้วสาธารณประโยชน์มีค่าสูงกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล อาริสโตเติล
กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง
และด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชน
โดยลักษณะของการอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนเท่านั้น
มนุษย์จึงจะสามารถบรรลุถึงธรรมชาติแห่งความดีสูงสุดของมนุษย์ได้
ไม่เช่นนั้นมนุษย์ก็อาจเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือไม่ก็เป็นเทวดาเท่านั้น พึงสังเกตว่า
ชุมชน หรือ polis ในภาษากรีกนั้นเป็นรากฐานของศัพท์คำอื่น ๆ อีกหลายคำ เช่น
polite (รัฐธรรมนูญ) polices (ประชาชน) และ politicos (รัฐบุรุษ) เป็นต้น
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วคนทั้งหลายเข้าใจคำว่า polis หมายถึง city-state หรือ นครรัฐ
ของกรีก แต่นัยแต่งความหมายของคำนี้ยังหมายถึงระเบียบทางการเมือง
หรือกระบวนการที่คนทั้งชุมชนกระทำเพื่อสาธารณประโยชน์หรือผลประโยชน์ของคนทั้งหมดในชุมชนอีกด้วย
ในทัศนะของอาริสโตเติลนั้น เชื่อว่า สิ่งที่มนุษย์แสวงหาที่เรียกว่า
สาธารณประโยชน์ นั้นมีอยู่แล้วในธรรมชาติในลักษณะที่เป็น รูปธรรม มิใช่
นามธรรม นักศึกษาทางรัฐศาสตร์ทั้งหลายไม่สนใจที่จะโต้แย้งความคิดข้อนี้มากนัก
หากแต่อยากถามต่อไปว่า สาธารณประโยชน์นั้นคืออะไร กล่าวคือ
ปัญหานานาประการมักจะเกิดขึ้นกับการนิยามคำนี้
ยกตัวอย่างเช่นคนในแต่ละชุมชนต่างต้องการที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ตนเองสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความปลอดถัย
ได้รับการศึกษา ได้รับบริการด้านสาธารณสุขการป้องกันอากาศเสีย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ให้ตรงกันได้อย่างไรจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องเหล่านี้
จึงจะได้มาตรฐานกัน มาตรฐานนั้นจะได้จากอะไร ใครจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน
และใครจะเป็นผู้เลือกข้อกำหนดเหล่านั้น
แนวความคิดเกี่ยวกับ สาธารณประโยชน์ มีความหมายหลายนัยเช่น
(1) ความหมายในแง่ที่เป็นเป้าหมายทางจริยธรรม
(2) ความหายในด้าน กระบวนการ ที่จะบรรลุเป้าหมาย หรือ
(3) ความหมายในด้าน ผล ที่จะได้รับหรือผลที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งบางทีก็ยากแก่การที่จะจำแนกสาธารณประโยชน์ออกจากประโยชน์ส่วนบุคคล
สร้างความลำบากต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้ตีความว่า สาธารณประโยชน์คืออะไร
คนทุกคนต้องการเช่นนั้นหรือไม่หรือว่าเป็นเพียงความต้องการของผู้นำทางการเมืองเท่านั้น
สาธารณประโยชน์ที่ว่านั้นเป็นสิ่งเดียวกับทางศาสนา (ในแง่ศีลธรรม)
ของคนในสังคมนั้นหรือไม่
(ซึ่งที่จริงมีหลายศาสนา)และยังอาจหมายถึงว่าต้องการแตกต่างกันหรือว่าเป็นเพียงของคนกลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์
จากสิ่งนั้นโดยตรงเท่านั้น
ความคลุมเครือในความหมายของคำว่าสาธารณประโยชน์เช่นนี้ยากที่จะตกลงให้เป็นที่แน่ชัด
และยากที่ทุกคนจะมีความเห็นสอดคล้องหรือตรงกันได้
การเมืองในฐานะปฏิบัติการของรัฐ ปัญหาที่ผู้มองการเมืองในฐานะ
การแสวงหาสาธารณประโยชน์ เผชิญอยู่ก็คือการตีความเกี่ยวกับ แนวทาง
ที่จะทำให้ได้มาซึ่งสาธารณประโยชน์นั้นแตกต่างกันโดยเฉพาะในทัศนะของผู้ปกครอง
เมื่อเลือกสิ่งที่คิดว่าเป็นสาธารณประโยชน์ขึ้นมา แล้วก็ถกเถียงกันต่อไปว่าเป็น
สาธารณประโยชน์ หรือเป็น ประโยชน์ส่วนบุคคล กันแน่ แมกซ์ เวบเบอร์ (1864-1920)
นักสังคมวิทยาว่าที่มีชื่อเสียงของเยอรมันตั้งคำถามว่า
รัฐ คืออะไร หากจะว่าในแบบของสังคมวิทยาแล้วเราจะถือว่าเป็น จุดหมาย
(ends) ไม่ได้ เพราะรัฐแต่ละรัฐนั้นมีกิจกรรมที่เรียกว่า การเมือง แตกต่างกัน
ในสมัยก่อนคนภายในรัฐบางรัฐไม่มีความสัมพันธ์กันในรูปของการเมืองเลย
แต่ในรัฐสมัยใหม่กิจกรรมการเมืองจะมีอยู่ในทุกรัฐ
และในลักษณะเช่นนี้รัฐจึงหมายถึงแค่ แนวทาง (means) เท่านั้น ด้วยเหตุนี้
ถ้ากล่าวตามทัศนะของ เวบเบอร์ แล้ว การเมืองก็ได้แก่ กิจกรรม ของรัฐ เวบเบอร์
อธิบายความหมายของรัฐต่อไปว่า
รัฐ คือชุมชนของมนุษย์
รัฐสามารถถือเอกสิทธืในการบังคับด้วยความชอบธรรมในอาณาเขตของรัฐได้
.
รัฐแต่ผู้เดียวที่เป็นผู้ใช้กำลังบังคับได้อย่าง ชอบธรรม ดังนั้น คำว่า
การเมือง จึงหมายถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ
เพื่อสามารถแบ่งสรรอำนาจหน้าที่ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือระหว่างส่วนย่อย ๆ
ภายในรัฐนั้น
ในทัศนะของเวบเบอร์แล้ว รัฐเป็นทั้งโครงสร้างทางการบริหารในรูป รูปธรรม
คือเป็นองค์การ (organization) และเป็น แนวทาง
ที่จะทำให้คนภายในรัฐเกิดการยอมรับและเชื่อฟัง ตามทัศนะของ เวบเบอร์ ดังกล่าว
เราพออนุมานลักษณะของรัฐได้ หลายประการ
- ประการแรก รัฐประกอบด้วยโครงสร้างของสิ่งต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ซึ่งแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะตัว เฉพาะหน้าที่ (specialized structures) เช่น
ที่ทำงาน บทบาท สถาบันต่าง ๆ เป็นต้น
โครงสร้างทางการบริหารเหล่านี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน มีลักษณะซับซ้อนเป็นทางการ
และเป็นโครงสร้างที่มีอยู่อย่างถาวร
- ประการที่สอง รัฐถือเอกสิทธิ์ หรือผูกขาดในการใช้อำนาจบังคับ
เช่นมีเอกสิทธิ์ในที่ดินทุกแห่งที่ต้องการ มีสิทธิ์
ที่จะตระเวนคือที่ดินหรือทรัพย์สินเป็นของรัฐได้
เพื่อให้สามารถบังคับได้รัฐต้องมีกำลังทหาร มีตำรวย มีเจ้าหน้าที่เรือนจำ ฯลฯ
เป็นเครื่องช่วยในการใช้อำนาจบังคับโดยรัฐ
- ประการที่สาม รัฐใช้อำนาจสูงสุดในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ
ในสังคมโดยเฉพาะอยู่ในรูปของศาล
อำนาจสูงสุดดังกล่าวอยู่ในรูปอำนาจที่ชอบธรรมคือประชาชนในรัฐยอมรับและปฏิบัติตามการตัดสินดังกล่าวคือ
- ประการที่สี่ มีการกำหนดโครงสรั้างที่จะปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกันไว้อย่างชัดแจ้งอยู่ในทุกส่วนในอาณาเขตของรัฐ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายถือว่า
รัฐศาสตร์เริ่มและสิ้นสุดลงภายในรัฐ
แต่ในปัจจุบันนี้มีนักรัฐศาสตร์น้อยคนที่ยอมรับความคิดนี้ เพราะถือว่า การเมือง
มีอยู่ในสังคมทุกรูปแบบ ทุกประเภท ดังนั้นในการศึกษารัฐศาสตร์
เราต้องการแนวความคิดที่สามารถใช้ได้กับทุกสภาพการณ์ ทุกสังคม
ทุกสถานที่และทุกกาลสมัย แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง รัฐ
ดังที่กล่าวมาข้างต้นไม่สามารถสนองความต้องการข้อนี้ได้ทั้งหมด
แท้ที่จริงแนวความคิดเกี่ยวกับ รัฐ เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง
เท่านั้น คือในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 แถบบริเวณยุโรปตะวันตก
เจ้าของแนวความคิดนี้ที่สำคัญได้แก่ มาคิอาเวลลี่ (1469-1596) ในฝรั่งเศส
ทั้งสองเขียนเน้นเรื่องกษัตริย์ซึ่งถือว่าเป็นหลักสำคัญของรัฐ
แต่เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปตะวันตกเสื่อมลง
แนวความคิดเหล่านี้ก็ด้อยความสำคัญลงไปด้วย ในปัจจุบันนี้ อำนาจ และ
อำนาจหน้าที่ ไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์อีกต่อไปแล้ว แต่กระจายออกไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ
หลายแห่งจนยากที่จะกำหนดลงไปให้แน่ชัดได้ว่า อำนาจหน้าที่สูงสุด (ultimate
authority) อยู่ที่ไหน ยกตัวอย่างเช่น
ในประเทศที่ปกครองแบบสมาพันธรัฐอย่างสหรัฐอเมริกา
จะบอกได้ยากยิ่งว่าอำนาจสูงสุดของประเทศอยู่ตรงไหน
หรือแม้แต่ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกฉบับก็มักระบุว่า
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตามความหมายาของตัวหนังสือคล้ายกับจะบอกเราว่า
อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือ
และถ้าเป็นเช่นนั้นอำนาจสูงสุดนั้นอยู่ที่ประชาชนคนไหนกลุ่มไหนบ้าง
ด้วยความยุ่งยากดังกล่าว
นักรัฐศาตร์ในปัจจุบันจึงให้ความสนใจแก่แหล่งอำนาจอธิปไตยตาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญน้อยลง
โดยหันไปสนใจเรื่องสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตทางการเมือง (political life) ของมนุษย์
ในประเทศนอกกลุ่มตะวันตก แนวความคิดเกี่ยวกับ รัฐ ดังกล่าว
ยิ่งใช้ได้อย่างจกัดลงอีกมาก นักมานุษยวิทยาการเมืองพบว่า บางชุมชนไม่มีอาณาเขต
แต่มีการแบ่งส่วนงานและมีความเสมอภาคกันสูงมาก
ลักษณะเช่นนี้อาจพบได้ในหมู่ของพวกพิกมี่ (Pygmies) บุชเมน (Bushmen ) นูเออร์
(Nuer) ทิฟ (Tiv) และอิโบ (Ibo) ในทวีปแอฟริกา หรือในชุมชนของพวกเอสกิโม (Eskimo)
และพวกอินเดียวแดงเผ่าควาคุททึล (Kwakutl Indian) ในอเมริกาเหนือ พวกอบอริจินส์
(Aborigines) ในออสเตรเลีย และพวกคาลิงกา (Aborigines) และพวกเซียน (Sian) ในเอเซีย
คนเผ่าต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ได้ด้วยระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน
กิจกรรมแห่งชีวิตในวันหนึ่ง ๆ ได้แก่ การล่าสัตว์ เก็บผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์
เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลเท่านั้น ด้วยระบบความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ แบบนี้
จะเห็นว่าชุมชนของคนพวกนี้ไม่อยู่ในขอบข่าย 4 ประการ
ตามนัยแห่งความเป็นรัฐดังที่กล่าวมาทั้งนี้เพราะ
- ประการแรก โครงสร้างเฉพาะอย่างเฉพาะหน้าที่ในชุมชนประเภทนี้ มีจำนวนน้อยมาก
ทั้งไม่ระบุไว้ชัดเจนไม่ซับซ้อน ไม่เป็นทางการ
และไม่กำหนดไว้อย่างถาวรหรือตายตัว
มีอยู่ก็เพียงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมบางอย่างเท่านั้น เช่น โคางสร้างครอบครัว
ซึ่งทำนห้าที่สารพัดอย่าง ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และสันทนาการไปในตัว
ผู้นำทางการเมืองก็ได้แก่ ผู้ที่มีวัยวุฒิในครอบครัว เป็นผู้กำหนดที่ดิน
เป็นผู้กำหนดที่ดิน เป็นผู้สั่งสอนศาสนาหรือทางศีลธรรมไปด้วย
ไม่มีการแยกบทบาทให้เป็นอย่างชัดเจนว่าใครทำหน้าที่อะไรในสังคม
นอกจากโครงสร้างทางครอบครัวแล้ว อาจมีโครงสร้างอื่น ๆ อีกเพียงไม่กี่อย่าง เช่น
กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้อาวุโสในชุมชน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมด้านต่าง ๆ ในสังคม
โดยเฉพาะในด้านศีลธรรม
แต่กลุ่มคนดังกล่าวมักเป็นแบบการจับกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก็มีลักษณะที่ไม่ถาวรตายตัวแต่อย่างใด
- ประการที่สอง การแบ่งส่วนต่าง ๆ ในสังคมดังที่กล่าวมานั้น
แต่ละส่วนไม่ได้ถือเอกสิทธิ์หรือผูกขาดในการใช้อำนาจต่าง ๆ แต่ผู้เดียว
มีการควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมเหล่านั้นจริง
แต่การควบคุมไม่อยู่ในลักษณะการใช้อำนาจในรัฐ
หากอยู่ในรูปของการบังคับด้วยศีลธรรม หรือด้วยวิธีการเชิงจิตวิทยา
ไม่มีกำลังทหารหรือตำรวจที่ใช้อำนาจหน้าที่บังคับควบคุมอย่างเป็นทางการ
ถ้าไม่ชอบที่จะอยู่ในกรอบประเพณีเช่นนั้น
คนในชุมชนมีสิทธิที่จะอพยพโยกย้ายหนีจากชุมชนได้อย่างเสรี นั่นคือ กฎเกณฑ์ต่าง
ๆ เกิดขึ้นจากความเห็นที่สอดคล้องต้องการ (consensus)
ไม่ใช่เกิดจากการใช้กำลังบังคับ
- ประการที่สาม นักมานุษยวิทยาพบว่า ในสังคมที่ไม่มีรูปแบบของรัฐเช่นนั้น
ยากที่จะกำหนดลงไปว่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่จุดใด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
สังคมเช่นนั้นไม่มีอำนาจอธิปไตย
อำนาจไม่ได้ปักหลักอยู่ที่จุดหนึ่งจุดใดของสังคมหากแต่กระจายอยู่ทั่วไป
ต่างกลุ่ม ต่างครอบครัว
ต่างสายเครือญาติต่างใช้อำนาจอธิปไตยกันไปตามลำพังตัวเอง
- ประการที่สี่ ไม่มีการกำนดอาณาเขตของชุมชนไว้อย่างชัดแจ้งอย่างที่มีอยู่ในรัฐแบบสมัยปัจจุบัน ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยควบคุมหรือป้องกันการอพยพโยกย้ายจากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง สภาพการควบคุมเช่นนี้ไม่มีในสังคมแบบเก่า บุคคลอาจอพยพไปเรื่อย ๆ ในถิ่นที่เห็นว่าอุดมสมบูรณ์กว่า หรือหากที่คนกลุ่มใดไม่พอใจข้อกำหนดของชุมชนนั้นก็อาจแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่แห่งใหม่ได้ เป็นต้น
โดยนัยดังที่กล่าวมานี้ แนวความคิดเกี่ยวกับ การเมือง ในรูปของรัฐ
จึงใช้ไม่ได้กับสังคมทุกชนิดและทุกกาลสมัย แม้แต่ในการเมืองระหว่างประเทศ
ซึ่งมีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้ควบคุม
ก็มิได้มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมประเทศทั้งหลายได้อย่างแท้จริง ประเทศต่าง ๆ
อาจปฏิเสธการตัดสินใด ๆ ของสหประชาชาติได้ ข้อพิพาทและการออมชอมของประเทศต่าง ๆ
ในโลกยังอยู่ในสภาพเดียวกับที่สังคมโบราณเป็น คือ
มีการตกลงกันเองหรืออยู่ที่ความเห็นที่สอดคล้องต้องกัน การตกลงในข้อพิพาทต่าง ๆ
ยังอยู่ในรูปแบบที่เป็นไปตามอำเภอใจของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับในสังคมแบบเก่าดังที่กล่าวมาแล้ว
แต่เราจะปฏิเสธว่าจากสภาพการณ์เช่นนั้น โลกนี้ไม่มีการเมืองกระนั้นหรือ
ทั้งสังคมแบบเก่าและสังคมระดับโลกต่างขาดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงตามนัยแห่งรัฐดังที่กล่าวมาด้วยกันทั้งนั้น
เหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะศึกษา การเมือง ตามนัยของความเป็น รัฐ
การเมืองในฐานะการกำหนและการดำเนินงานนโยบายสาธารณะ
แทนที่จะมุ่งไปที่ตัวสถาบันหรือที่รัฐว่าเป็นศูนย์แห่งกิจกรรมการเมืองนักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันมองการเมืองในทัศนะที่เป็นหน้าที่
(function) โดยมองว่า การเมือง
คือกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะและการดำเนินงานตามนโยบายเหล่านั้นให้สำเร็จ
การเมืองเกิดขึ้นใน ระบบ (System) เมื่อกล่าวถึงคำว่า ระบบ
นักรัฐศาสตร์หมายถึงส่วนต่าง ๆ หลายอย่างที่แตกต่างกัน (โครงสร้างและหน้าที่)
แต่ขึ้นต่อกันและกันอย่างเป็นระเบียบ การดำเนินงานของแต่ละส่วนมีผลต่อส่วนอื่น ๆ
และต่อส่วนใหญ่ทั้งหมด (a whole)
ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนก็คือความสัมพันธ์ต่อส่วนรวมทั้งหมดการเปลี่ยนแปลงใด
ๆ ในส่วนหนึ่ง จะมีผลผลักดันให้ส่วนอื่น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบโดยส่วนรวม
ด้วยเหตุนี้ แนวความคิดเกี่ยวกับ ระบบ จึงมีความหมายรวมไปถึง ปฏิสัมพันธ์
(interaction) ความสัมพันธ์ระหว่างกัน (interrelations) และการขึ้นต่อกันและกัน
(interdependence) ของแต่ละส่วนด้วย
หากจะถามว่า อะไรคือส่วนประกอบของระบบการเมือง เราอาจตอบได้ว่า
ระบบการเมืองประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ อย่างน้อย 5 ส่วน คือ ค่านิยมทางวัฒนธรรม
(cultural values) ระเบียบกฎเกณฑ์ (rules) โครงสร้าง (structures) ตัวกระทำการ
(actors) และนโยบาย (policies)
ค่านิยมทางวัฒนธรรม ในที่นี้หมายถึงแนวคิดทั่วไปทั้งหลายที่คนในระบบปรารถนา
เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค ภารดรภาพ ปัจเจกนิยม (individualism) และประชาธิปไตย
ค่านิยมที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ อาจถูกยอมรับในรูปของระเบียบกฎเกณฑ์
ซึ่งมีทั้งที่เป็นทางการ (formal) เช่น รัฐธรรมนูญ หรือที่ไม่ค่อยเป็นทางการ (more
informal) เช่น ประเพณีที่ไม่ได้เขียนไว้
กฏเกณฑ์เหล่านี้จะควบคุมการดำเนินงานของสถาบันการเมืองต่าง ๆ ในระบบ
โครงสร้าง หมายถึง รูปแบบ (patterns)
ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
นักสังคมศาสตร์มักจะจำแนกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโครงสร้าง รูปธรรม
และโครงสร้าง เชิงวิเคราะห์ (analytic structures)
โครงสร้างรูปธรรมนั้นสามารถแยกออกจากกันได้ในทางกายภาพ
ทุกสังคมจะมีโครงสร้างประเภทนี้อยู่มากมาย เป็นต้นว่า
เราสามารถกำหนดความแตกต่างระหว่างพ่อกับลูกได้ แยกสภาผู้แทนราษฎรออกจากวุฒิสภาได้
แยกคณะรัฐมนตรีออกจากผู้พิพากษาศาลฏีกาได้ เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม โครงสร้างเชิงวิเคราะห์ นั้น
ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในทางภายภาพ บทบาท (roles)
เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนแต่ละบุคคลอาจมีหลายบทบาท เช่น ในฐานะเป็นผู้ชาย
เป็นสามี เป็นนายพลเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ
มีอยู่ในตัวบุคคลคนเดียวที่ชื่อเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในปี พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตาม
เราสามารถวิเคราะห์บทบาทเช่นนั้นได้ เพราะแต่ละบทบาทมีสิทธิ (right)
และมีความผูกพัน (obligation) เฉพาะหน้าที่อยู่ในตัวของตัวเอง แต่เราจะแยกตัว
(ทางกายภาพ) ของเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ออกจากกันไม่ได้
การศึกษาบทบาทจึงอยู่ในรูปของการศึกษาสังเกตรูปแบบพฤติกรรมของบุคคลที่มีบทบาทที่ต้องการศึกษา
กล่าวอีกนัยหนึ่ง โครงสร้างรูปธรรมหมายถึงสิ่งของต่าง ๆ (things)
โครงสร้างเชิงวิเคราะห์หมายถึงทัศนะหรือแง่มุม (aspects) ที่เกี่ยวกับสิ่งนั้น
เมื่อพิจารณาถึงค่านิยมที่เป็นนามธรรม
ระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
และโครงสร้างทั้งแบบรูปธรรมและเชิงวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับผู้กระทำการทางการเมือง
(political actors) นักรัฐศาสตร์มักจะแบ่งผู้กระทำการออกเป็น 2 พวก คือ ผู้นำ และ
ประชาชน ผู้นำใช้อำนาจในการสร้างนโยบาย ตัดสินใจเลือกนโยบาย
และดำเนินการตามข้อตัดสินใจเหล่านั้น กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของไทย
หรือโปลิตบิวโรของรุสเซีย หรือหัวหน้าชาวป่าในอินโดนีเซีย ก็เช่นกัน
ต่างเป็นผู้ใช้อำนาจในการสร้างนโยบาย ตัดสินใจเลือกนโยบาย
และดำเนินงานตามนโยบายทั้งสิ้น ส่วน ประชาชน
ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจสำคัญที่เกี่ยวกับนโยบาย หากเข้าเกี่ยวข้องก็ในแง่เรียกร้อง
(demands) หรือให้การสนับสนุน (support)
ต่อผู้นำทางการเมืองในการเลือกและดำเนินงานนโยบายเช่นว่านั้น
นโยบายและการตัดสินใจทั้งหลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบการเมือง คำว่า
นโยบาย หมายถึงชุดของการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของผู้นำ
การยอมรับนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ในระบอบการเมืองด้วย ค่านิยม
ระเบียบกฎเกณฑ์ โครงสร้าง
และปัจจัยส่วนบุคคลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเลือกเอานโยบายแต่ละอย่างมาใช้
กล่าวได้ว่าในการตัดสินใจ
ผู้นำทางการเมืองจะได้รับอิทธิพลจากเงื่อนไขของค่านิยมระเบียบกฎเกณฑ์
และรูปแบบของโครงสร้างในระบบนั้นด้วย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น
เป้าหมายส่วนตัว แรงจูงใจ การสำเหนียกและทัศนคติของผู้นำที่มีต่อสิ่งนั้นอีกด้วย
กล่าวอย่างสั้น ๆ แล้ว กระบวนการทางเมืองเกี่ยวข้องกับ
พฤติกรรมการเลือก (choice behavior)
ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจเลือกข้อเลือกของผู้นำทางการเมืองนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่นการขอตั้งธนาคารพาณิชย์ของไทย ในปี พ.ศ. 2521
ประกอบด้วยผู้ขอตั้งเป็นจำนวนมาก
คนไทยทั้งหลายต่างมีความเห็นทั้งอยากให้ตั้งและไม่อยากให้ตั้ง
การตัดสินใจว่าจะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำ
เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกระเทือนไปทั้งระบบ สภาพ การเมือง
จึงเกิดขึ้นจากการตัดสินใจและการดำเนินการดังกล่าวนั้น
นอกจากการกำหนดนโยบายและดำเนินงานตามนโยบายแล้ว
นักรัฐศาสตร์ยังให้ความสนใจถึงผลของนโยบายที่มีต่อบุคคล กลุ่มบุคคล
หรือต่อระบบโดยส่วนรวมอีกด้วย อย่างกรณีการขอตั้งธนาคารพาณิชย์
นักรัฐศาสตร์อาจสนใจศึกษาผลกระทบที่มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของชาติ
ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ เป็นต้น
ในกรณีที่นักรัฐศาสตร์มอง การเมือง ในทัศนะของกระบวนการและระบบนั้น
มีความหมายโดยนัยอยู่หลายประการ เช่น
1. การเมืองเป็นแนวความคิดเชิงวิเคราะห์
2. การเมืองคือตัวนโยบายและการตัดสินใจ
3. การเมืองเป็นกระบวนในการตัดสินใจ
และการดำเนินการตามข้อตัดสินใจซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง (change)
ความขัดแย้ง และการร่วมมือ (cooperation)
4. การเมืองคือสิ่งที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม
โดยนัยประการแรก การตีความหมายการเมืองในทัศนะของการวิเคราะห์ระบบและ
กระบวนการ หมายความว่า การวิเคราะห์การเมืองในแต่ละสังคมนั้น
ต้องแยกแยะหรือวิเคราะห์ที่พฤติกรรมของการปฏิบัติการตามข้อตัดสินใจที่มีผลต่อสังคมทั้งหมด
โดยแยกออกจากโครงสร้าง แต่ทำการวิเคราะห์ภายในกรอบของโครงสร้างนั้น
ประการที่สอง การเมืองเกี่ยวข้องกับนโยบายซึ่งผูกพันอยู่กับการตัดสินใจ
อย่างกรณีการขอตั้งธนาคารพาณิชย์ นโยบายคือโปรแกรมของการปฏิบัติการ
ทำขึ้นมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สิ่งผูกพันที่ตามมากับการตัดสินใจนั้น ๆ
คือความรู้สึกของประชาชนว่าจะยอมรับนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ทำไมคนจึงยอมรับ
อาจเป็นเพราะไม่มีอำนาจที่จะไปต่อรองกับรัฐบาล
เพราะรัฐบาลกุมอำนาจในการใช้กำลังปราบปราม ดังที่กล่าวมาแล้วก็ได้
หรืออาจเป็นเพราะมองเห็นว่านโยบายเช่นนั้นจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ซึ่งโดยทางอ้อมหมายถึงผลประโยชน์ต่อตนเองเช่นนี้ก็ได้
ประการที่สาม
ความผูกพันกับข้อตัดสินใจไม่ได้หมายถึงว่าการเมืองเป็นเรื่องคงที่ (static)
กระบวนการตัดสินใจ และการปฏิบัติตามข้อตัดสินใจมีการเปลี่ยนแปลง
มีความขัดแย้งและมีการร่วมมือซึ่งนับได้ว่าเป็นแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเคลื่อนไหว
(dynamic process) กล่าวคือ เมื่อบุคคลสร้างนโยบาย จะต้องมีปฏิสัมพันธ์
จากการเปลี่ยนข้อเรียกร้องให้เข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่
เมื่อดำเนินงานตามนโยบายอาจมีบุคคลหลายกลุ่มให้ความร่วมมือเพราะเห็นว่าเข้ากับข้อเรียกร้อง
(demands) ของตน ทำให้ผู้นำได้ พันธมิตร ในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มอื่น ๆ
ที่มีความเห็นว่า นโยบายนั้น ไม่สนองความต้องการของตนเลย
ซึ่งต้องมีการต่อรองและเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานตามนโยบายนั้น ๆ ในบางส่วน
อีกประการหนึ่ง
ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมักจะไม่สามารถสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มได้
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการต่อรองให้มีการยอมรับนโยบายในแง่ของศีลธรรม
ด้วยแนวความคิดดังกล่าวนี้ ทำให้นักรัฐศาสตร์บางคนถึงกับนิยม การเมือง
ว่าเป็นการศึกษาถึง ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร
ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อให้เข้ากับความต้องการ ของคนกลุ่มต่าง ๆ นี้
ผู้นำทางการเมืองมักจะใช้กลวิธีหลายแบบ เช่น การเปลี่ยนตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ให้รัฐบาลลาออก หรือแม้แต่การทำรัฐประหาร
ในกรณีที่ประชาชนกลุ่มที่ว่าไม่ยอมก็ใช้กำลังเข้าบังคับก็มี
การกระทำทั้งหลายเหล่านี้
หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองหรือมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองทั้งระบบ
ประการที่สี่
การเมืองเป็นกระบวนการสร้างนโยบายและการดำเนินงานตามนโยบายเพื่อสังคมส่วนรวม
ทัศนะดังกล่าวเป็นความคิดเห็นที่มีมาแต่โบราณ พลาโต และอริสโตเติล
ปราชญ์กรีกก็มีแนวความคิดเช่นว่านี้ นักรัฐศาสตร์ในสมัยปัจจุบันบางคน เช่น โรเบิร์ต
ดาล เป็นอาทิไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว ดาลมองการเมืองในแง่ของ อำนาจ การปกครอง
(rule) และอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่ในสภาพอย่างใดดาล
นับเอาเรื่องทางศาสนา สหภาพแรงงาน และกิจการค้าเข้าอยู่ในเรื่องระบบการเมืองด้วย
ทัศนะของดาลมีจุดอ่อนตรงที่เขาไม่แยกความแตกต่างระหว่างหน่วยหลักของสังคมหรือสังคมส่วนรวมกับหน่วยย่อยของสังคมออกจากกัน
เป็นจริงที่ว่างศาสนา สหภาพแรงงาน หรือวงการค้าต่างมีการตัดสินใจมีการปกครอง
มีการใช้อำนาจหน้าที่
แต่การตัดสินใจดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมที่อยู่ในขอบเขตของหน่วยเล็ก
ๆ ที่ตนสังกัดอยู่ หาได้ครอบคลุมไปทั่วทุกส่วนของสังคมทั้งหมดไม่ โดยปรกติแล้ว
ระบบการเมืองที่เกี่ยวกับสังคมทั้งหมดมักจะมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่านั้นมาก เช่น
ในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบภายใน การสาธารณสุข การศึกษา
และการขจัดข้อขัดแย้ง และส่วนมากแล้วเกี่ยวข้องกับทรัพยากรจำนวนมหึมา
เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังบังคับ (coercive power) ที่มหาศาล และรวมถึงกำลังเงิน
(ภาษี) ตลอดจนความรู้ความชำนาญของระบบราชการ (expertise of bureaucratic knowledge)
อย่างมากมายอีกด้วย
ในการพิจารณาแนวความคิดหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับการเมืองนั้นพอจะสรุปได้ว่า
แนวความคิดด้านการวิเคราะห์ หน้าที่
ซึ่งตีความหมายการเมืองในฐานะที่เป็นกระบวนการดำเนินงานตามข้อตัดสินใจเพื่อสังคมทั้งหมดนั้นใช้ได้กับการเมืองของทุกสภาพสังคมในทุกสมัย
การมองการเมืองในลักษณะเช่นนี้ไม่แคบไม่กว้างจนเกินไป
ไม่เหมือนกับการตีความในรูปการแสวงหาสาธารณประโยชน์ หรือการปฏิบัติการของรัฐ
ซึ่งในการนำไปใช้มีข้อจำกัดหลายแง่ โดยเฉพาะในแง่ที่วา คำว่า สาธารณประโยชน์
เป็นคำกำกวม คลุมเครือ
ส่วนการปฏิบัติการของรัฐนั้นก็ยากต่อการกำหนดเป้าหมายและแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ตรงกัน
การยึดความหมายเกี่ยวกับรัฐก็เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดมากเกินไป
ส่วนกรณีความหมายในรูปแบบของ อำนาจ การปกครอง และอำนาจหน้าที่ นั้นก็กว้างเกินไป
ไม่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างสังคมส่วนรวมกับสังคมย่อยออกจากกันได้
นักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันเลือกที่จะวิเคราะห์ถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยการเมือง
สังคมและบุคคล เป็นต้นมา องค์การหรือสถาบันในสังคมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างไร
นโยบายสาธารณะมีผลกระทบต่อสังคมและบุคคลอย่างไรบ้าง ชีวิตทางการเมือง (political
life) ของบุคคล กลุ่มบุคคล สังคม สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไรบ้าง
ในการที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้นักรัฐศาสตร์จำต้องศึกษาการเมืองในแง่ของการวิเคราะห์ด้านหน้าที่ของระบบ
***อ้างอิง : พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. 2524. รัฐศาสตร์ :
พัฒนาการและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : โรง พิมพ์ศรีอนันต์