ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญา

เมื่อได้ยินหรืออ่านพบคำว่า “ปรัชญา” คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ ปรัชญาคืออะไร? การตั้งคำถามนี้เป็นเรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องยากที่จะตอบให้ถูกต้อง แม้แต่นักปรัชญาเองก็ตอบคำถามนี้แตกต่างกัน เช่นบางคนกล่าวว่าปรัชญาเป็นการมองดูโลกและชีวิตแบบลึกซึ้ง ในขณะที่หลายคนอธิบายว่า ปรัชญาเป็นวิธีการคิดและแสวงหาความรู้โดยใช้เหตุผล นอกจากนั้นยังมีนักปรัชญาจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าปรัชญาเป็นวิธีการวิเคราะห์ความรู้และภาษาในศาสตร์ต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงแม้ความคิดเห็นในเรื่องความหมายของ “ปรัชญา” แตกต่างกัน แต่นักปรัชญาทุกคนก็ยอมรับว่าธรรมชาติของปรัชญาคือการใช้เหตุผลวิเคราะห์ วิพากษ์ และสังเคราะห์ให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

 ความอยากรู้อยากเห็นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์สามารถตั้งคำถาม “ทำไม?” ได้ เนื่องจากเป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่มีเหตุผล ซึ่งทำให้อยากรู้อยากเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เป็นปริศนาให้คิด ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มองเห็นล้วนแต่น่าฉงนสนเท่ห์ด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ชีวิตมนุษย์เองก็เป็นสิ่งน่ารู้น่าเห็นไม่น้อยกว่าโลกและจักรวาล ความอยากรู้อยากเห็น ความอยากหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ที่สงสัยไม่เข้าใจ เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่ยอมอยู่เฉยมุ่งแสวงหาความรู้ ตราบใดที่มนุษย์ไม่ได้ความรู้ที่ต้องการ จิตที่อยากรู้อยากเห็นก็จะไม่มีวันมีสงบและเป็นสุข โดยเหตุที่ความรู้เป็นสิ่งไม่มีขอบเขตจำกัดและจับต้องไม่ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องแสวงหาความรู้สืบต่อกันไปเรื่อยๆ โดยไม่สิ้นสุด นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องแลกกับการเป็นสัตว์โลกที่มีเหตุผล

 

 มนุษย์อาจมีร่างกายเล็กกว่าหรือมีพลังน้อยกว่าสัตว์ใหญ่ เช่นช้าง แต่มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเห็น ในเรื่องเรี่ยวแรงแล้วมนุษย์อาจไม่แข็งแกร่งเช่นต้นอ้อที่ต้องโอนเอนไปมาตามแรงลม แต่มนุษย์ก็เป็นต้นอ้อที่คิด

ปรัชญาและนักปรัชญา
ปรัชญากับวิทยาศาสตร์
ปรัชญากับศาสนา
ปรัชญากับพุทธศาสนา
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย