ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญา

ปรัชญากับพุทธศาสนา

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาคือ เป็นทั้งศาสนาและปรัชญา เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นนักคิดและนักปฏิบัติ ในฐานะเป็นนักคิด พระองค์ทรงสร้าง “ปรัชญาแห่งทางสายกลาง” ในการแสวงหาความรู้และในการพ้นทุกข์ และ “ปรัชญาแห่งเสรีภาพ” เพื่อปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากอำนาจต่างๆ ทั้งภายในตัวและนอกตัวมนุษย์จะได้มีเสรีภาพสมบูรณ์แบบ และความสุขสูงสุด ปรัชญาแห่งมนุษยนิยม ส่งเสริมมนุษย์ให้มั่นใจในศักยภาพของตนที่จะช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์และ มีความสุขที่แท้จริงได้ด้วยการกระทำของตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจนอกตัว “ปรัชญาแห่ง สันติสุข” เพื่อให้มนุษย์มีจิตใจเปิดกว้างในเรื่องศาสนาและความจริง ไม่ยึดติดกับความคิดเห็นและความเชื่อของคนเป็นสำคัญพร้อมทั้งมีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน นอกจากนั้นยังทรงเน้นให้ ชาวพุทธให้เหตุผลและประสบการณ์ทดสอบพระธรรมด้วยตัวเองให้เห็นความจริงก่อนที่จะยอมรับและปฏิบัติตาม พระพุทธองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดนับถือศาสนาพุทธด้วย “ศรัทธา” เท่านั้น เพราะความเชื่อศาสนาที่มีแต่ศรัทธาอย่างเดียวย่อมนำอันตรายมาสู่ศาสนิกชนและสังคมได้ง่าย เนื่องจาก “ศรัทธา” และ “ความงมงาย” มักจะอยู่ด้วยกัน

 ในฐานะที่เป็นผู้นำทางศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่จะช่วยให้คนพ้นทุกข์ประเภทต่างๆ จนสามารถมีความสุขสูงสุดไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่เลยได้ การปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามมรรค 8 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

 

 พุทธปรัชญาและพุทธศาสนาเป็นเหมือนกิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้เดียวกัน การตรัสรู้ที่เป็นปัญญารู้แจ้งของพระพุทธเจ้าเป็นผลของการคิดและการปฏิบัติของพระองค์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแสนนาน การตรัสรู้เป็นรากแก้วของตันไม้ ในขณะที่พุทธศาสนาเป็นลำต้นและ พุทธปรัชญาเป็นกิ่งก้าน ทั้งลำต้นและกิ่งก้านต้องอยู่ด้วยกัน ต้นไม้จึงจะเจริญเติบโตมีใบดอกและผลตามมา “ความรู้” หรือ “ความเข้าใจ” เป็นหัวใจของพุทธปรัชญา เช่นเดียวกับ “การปฏิบัติ” เป็นหัวใจของพุทธศาสนา “ความรู้” “ความเข้าใจ” ทำให้ชาวพุทธซาบซึ้งในพระปัญญาธิคุณและ พระกรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงนำความจริงที่ทรงรู้แจ้งมาเผยแพร่ในรูปของพระธรรม เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก และ “การปฏิบัติ” ช่วยให้ชาวพุทธได้รับประโยชน์เต็มที่จากพุทธศาสนาเหมือนกับลิ้นที่ได้ลิ้มรสอาหาร เราอาจเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพุทธปรัชญาและ พุทธศาสนาได้กับแผนที่และการเดินทางขึ้นภูเขา พุทธปรัชญาเป็นแผนที่ของทางขึ้นภูเขาและบริเวณรอบภูเขาที่เราต้องการปีนให้ถึงยอด พุทธศาสนาหรือการปฏิบัติเป็นเหมือนการออกเดินทาง (หลังจากได้ศึกษาแผนที่อย่างละเอียด) ไปสู่ยอดเขา การเดินทางอาจช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เดินทาง ชาวพุทธที่ต้องการบรรลุเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนาจึงควรศึกษาพุทธปรัชญาเพื่อนำมาสร้างปรัชญาชีวิตของตนสำหรับกำหนดเป้าหมายชีวิต และการดำเนินชีวิตให้มีคุณค่าสูงสุด พร้อมทั้งปฏิบัติตามปรัชญาความคิดนั้น

ปรัชญาและนักปรัชญา
ปรัชญากับวิทยาศาสตร์
ปรัชญากับศาสนา
ปรัชญากับพุทธศาสนา
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย