ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ปรัชญากับวิทยาศาสตร์
เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยที่ศาสตร์ต่างๆ ยังไม่เกิดขึ้น ปรัชญาเป็นศาสตร์เดียวที่ศึกษาเกี่ยวกับโลกและชีวิต แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเช่นกัน ก่อนสมัยกาลิเลโอความรู้ประเภทหนึ่งที่นักปรัชญาแสวงหา เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติและกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ความสำคัญอย่างหนึ่งของกาลิเลโออยู่ที่เป็นคนแยกวิทยาศาสตร์ออกจากปรัชญามาเป็นศาสตร์เอกเทศโดยกำหนดให้การทดลองเป็นส่วนสำคัญของการแสวงหาความรู้ นับแต่นั้นมาวิธีการแสวงหาความรู้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับจนเป็น วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยการสังเกต การตั้งสมมุติฐาน การคำนวณ และการทดลองและมีวัตถุประสงค์ที่จะได้ความรู้ที่เที่ยงแท้แน่นอนมาตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น
ถึงแม้ว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์ยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็มีเปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้สูงกว่าความรู้จากศาสตร์อื่น เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ผ่านขบวนการทดสอบทุกขั้นตอนมาแล้วเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเป็นความรู้ที่มีคนเชื่อถือและไว้วางใจมากที่สุดในเวลานี้ แม้แต่ นักปรัชญาเองก็ยอมรับว่าคำตอบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกมีเหตุผลและประจักษ์พยานชัดแจ้งกว่าทฤษฎีทางปรัชญา และยุติบทบาทของคนในการเป็นผู้ แสวงหาความรู้ เกี่ยวกับโลกและหันมาสนใจปัญหาเกี่ยวกับชีวิตที่ยังไม่มีศาสตร์ใดให้คำตอบที่แน่นอนและชัดเจนได้ นอกจากนั้นนักปรัชญายังสนใจที่จะวิเคราะห์และวิพากษ์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้มีความชัดเจนทางเหตุผลมากขึ้น และเพื่อบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ให้เป็นเอกภาพเดียวกันถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญาแยกออกจากกันออกเป็นสองศาสตร์เอกเทศ แต่ในวงการศึกษาตะวันตกระดับอุดมศึกษานิยม เรียกปริญญาบัตรของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ว่า ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Philosophy) หรือ Ph.D (มาจากภาษาละติน Philosophiae Doctoris) อยู่เป็นเวลานาน และมาเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Science หรือ Dsc.) ไม่กี่สิบปีเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเยล ในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงนิยมใช้ชื่อเดิมของปริญญาบัตรอยู่
ปรัชญาและนักปรัชญา
ปรัชญากับวิทยาศาสตร์
ปรัชญากับศาสนา
ปรัชญากับพุทธศาสนา