สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
NGOs เอ็นจีโอ กับ สังคมไทย
เวลานี้คำว่า “เอ็น จี โอ” ได้ถูกนำมาใช้กันจนเกร่อ และมีหลายต่อหลายครั้งที่คำว่า “เอ็น จี โอ” นี้ได้ถูกใช้ในลักษณะที่แสดงความเกลียดชัง ใช้แทนกลุ่มผู้ที่ต้องการประนามแสดงความหยามเหยียดต่าง ๆ แม้กระทั่งระบุไปเลยว่าเป็นผู้ต่อต้าน ขัดขวางความเจริญด้านต่าง ๆ ของประเทศ เป็นผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ และอาจเลยไปจนถึงการกล่าวหาว่า “เอ็น จี โอ” ที่พูดถึงนี้เป็นพวกที่ไปรับเงินรับทองมาจากต่างชาติเพื่อคัดค้านโครงการต่าง ๆ ของชาติ เสมือนเป็นกลุ่มของผู้ทรยศหรือเนรคุณต่อบ้านเมืองก็ยังเคยมี ทำให้ผู้ที่มิได้เข้าใจถึงคำว่า “เอ็น จี โอ” อย่างแท้จริงต่างเหมาเอาว่าพวก “เอ็น จี โอ” ทั้งหลายเป็นกลุ่มพวกที่เลวร้าย สร้างปัญหาอยู่เป็นประจำ
เอ็น จี โอ ย่อมาจากภาษาอังกฤษ Non-governmental Organization (NGO) หมายความถึงกลุ่มคนกลุ่มใดก็ได้ที่รวมตัวกันประกอบกิจกรรมเพื่อส่วนรวม จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ แต่พวกนี้มิใช่ทำกิจกรรมนั้น ๆ ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงแม้ว่าความหมายนี้จะกว้างขวางมาก กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นพวกที่รวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวม มิใช่การรวมตัวกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้ากลุ่มของตน ซึ่งนั่นจะเป็นแบบอย่างของธุรกิจ บางครั้งในภาษาไทยจึงเรียกกันว่า “องค์กรพัฒนาเอกชน” หรือ “องค์กรเอกชน” โดยอาจตั้งเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ดูเรื่องเล็ก ๆ ไปจนถึงเป็นกลุ่มใหญ่ ทำเรื่องใหญ่ ๆ ระดับชาติก็ได้ บางกลุ่มอาจถือว่าเป็นงานประเภท “อาสา” เข้ามาทำ จึงไม่สนใจว่าจะต้องไปจดทะเบียนอย่างเป็นทางการให้เป็นที่ยอมรับ เพราะการทำดีทำประโยชน์ไม่จำเป็นต้องไปประกาศให้ใครรู้ว่าใครเป็นคนทำ ในขณะเดียวกันรัฐก็เปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนเป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันการขัดแย้งกันในภายหลัง เพราะเมื่อรวมตัวทำงานที่มีประโยชน์อาจมีคนสนใจช่วยบริจาคเงินให้มาทำงาน หากมีเงินมาก ๆ เข้าหรือมีทรัพย์สินอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นก็จะต้องมีกฎเกณฑ์ทำเพื่อมิให้เกิดมีการฉกฉวยไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เกิดการบาดหมางกันขึ้นได้ จึงเปิดให้มีการจดทะเบียนพร้อมทั้งมีธรรมนูญขององค์กรนั้น ๆ อย่างชัดเจนในการดำเนินการ บางกลุ่มอาจไม่อยู่ในสถานะที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยทำบัญชี คอยจัดการรายงานต่อทางการได้ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ พวกเหล่านี้ก็อาจรวมตัวกันช่วยกันทำ เชื่อใจกัน หวังผลแต่การช่วยเหลือผู้อื่น จึงไม่สนใจการจดทะเบียน เพราะถือว่าคล่องตัวกว่าในการทำงาน บางครั้งจึงถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มเถื่อน แต่พวกนี้ก็ได้ทำประโยชน์ให้สังคมเป็นอันมาก ดังนั้น เอ็น จี โอ จึงมีความหลากหลายมาก
มักมีคำถามเกิดขึ้นเสมอ ๆ ว่า พวก เอ็น จี โอ เอาเงินจากไหนมาดำเนินการ เรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับ เอ็น จี โอ แต่ละกลุ่ม บางกลุ่มตั้งขึ้นมาโดยอาศัยบรรดาผู้ที่มีความคิดเห็นเหมือน ๆ กัน จะมีความตั้งใจที่จะรวมกันเพื่อช่วยทำกิจกรรมบางอย่างที่คนในกลุ่มนั้นมีความเชื่อว่าจำเป็นต้องทำ แต่ยังไม่เห็นมีใครเหลียวแล ดังนั้นพรรคพวกในกลุ่มนี้จึงอาจช่วยกันบริจาคเงินลงขันมาไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมของกลุ่ม การดำเนินการแบบนี้มีอยู่มากทีเดียว ซึ่งผู้ลงมือดำเนินการเองควักกระเป๋าตัวเองเพื่อช่วยทำให้งานที่จำเป็นนั้น ๆ เกิดขึ้นและลุล่วงไปตามเป้าหมาย ปกติก็มักมีอยู่ในกลุ่ม เอ็น จี โอ ที่ไม่ใหญ่นัก และไม่จดทะเบียน เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์จากการที่จะไปจดทะเบียนต่องานที่ต้องการทำ จึงไม่ต้องการและไม่มีความจำเป็นต้องไปจดทะเบียน
เอ็น จี โอ จำนวนมากซึ่งมักเป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่นั้น
มีขอบเขตของงานกว้างขวางขึ้น
พวกนี้มักได้รับเงินทุนสำหรับการดำเนินการจากการรับบริจาค พวกมูลนิธิต่าง ๆ
ก็เช่นกันเป็นกลุ่มที่ต้องการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นมูลนิธิฯ
ก็ย่อมจะมีกองทุนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว แต่เงินที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
นอกเหนือจากดอกเบี้ยของเงินทุนก่อตั้งแล้วก็มักจะเป็นเงินที่ได้มาจากการบริจาค
ซึ่งในกรณีที่เป็นองค์กรที่จดทะเบียนเหล่านี้
ตามกฎหมายต้องทำบัญชีการเงินอย่างถูกต้อง และยื่นต่อทางการทุกปีอยู่แล้ว
จึงสามารถตรวจสอบการใช้เงินได้อย่างชัดเจน
ต่อกรณีที่มักมีผู้แสดงความเห็นเชิงการแสดงความไม่พอใจว่าพวก เอ็น จี โอ
รับเงินต่างชาติแล้วมาต่อต้านขัดขวางการพัฒนาประเทศ
และบางครั้งถึงขนาดมีการกล่าวหาว่าไปรับเงินเขาในทำนองรับจ้างมาเพื่อทำให้โครงการดี
ๆ ในประเทศไม่มีโอกาสเกิด ซึ่งนับเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงและน่าเกลียดมาก
บางครั้งก็กล่าวหาว่าบรรดา เอ็น จี โอ นั้นพยายามหาเรื่องคัดค้าน ต่อต้าน
เพื่อให้เห็นว่ามีผลงานจะได้ใช้เป็นการอ้างถึงเพื่อขอเงินอุดหนุนจากต่างชาติ
ซึ่งความจริงข้อกล่าวหาทั้งหลายนี้เป็นการแสดงความมีอคติต่อการทำงานของ เอ็น จี โอ
ส่วนใหญ่อย่างไม่เป็นธรรม แม้อาจจะมี เอ็น จี โอ
บางส่วนที่มักมีกิจกรรมที่ทำให้เข้าใจเอาว่าเป็นการต่อต้านอยู่ตลอดมาก็ตาม
ผู้ที่เป็น เอ็น จี โอ จริง ๆ
นั้นต่างทุ่มเทในการทำงานตามส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้องอยู่อย่างเต็มสติกำลัง
ดังนั้นความรู้สึกที่ฝังลึกกับงานที่ตนทำจึงทำให้เกิดอารมณ์เสมือนหนึ่งความไม่ยุติธรรมหรือความยากลำบากทั้งหลายกำลังเกิดขึ้นกับตนเองด้วย
ดังนั้นในบางครั้งจึงอาจแสดงออกทางอารมณ์และทำให้ความมีเหตุมีผลลดลงไปได้
แต่โปรดอย่าได้กล่าวหาว่าเขาทำไปเพราะต้องการขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองเลย
บ้านเมืองไม่ได้ให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็นต่างหากจึงทำให้พวกเขาเกิดความ
รู้สึกเดือดร้อนและมองภาพในแง่ลบมากขึ้น
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าการต่อต้านของ เอ็น จี โอ
บางกลุ่มอาจจะมีข้อมูลในด้านต่าง ๆ ไม่เพียงพอ
แต่ได้เห็นความเดือดร้อนความยากจนของชาวบ้าน รวมทั้งความไม่ยุติธรรมทั้งหลายทั้งปวง
จึงฝังใจอยู่กับความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ดังนั้นจึงอาจมองภาพในแง่ลบ
ขาดความไว้ใจในผู้อื่น ทำให้มีทีท่าของการต่อต้านตลอดเวลา
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ เอ็น จี โอ
จะต้องแน่ใจในข้อมูลและความถูกต้องต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ แนะนำ
และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชาวบ้านได้อย่างถูกต้อง หากใช้อารมณ์และความรู้สึก
ความคิดอ่านต่าง ๆ ที่เสนอแนะต่อชาวบ้านอาจจะไม่ถูกต้องได้
กระนั้นก็ตามงานของ เอ็น จี โอ ส่วนมากเป็นลักษณะของการปิดทองหลังพระ ซึ่งมีเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามที่เป็นประโยชน์ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รูปแบบของการดำเนินงาน และวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป แม้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าควรให้มีการรวมกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะ เอ็น จี โอ ย่อมมีความหลากหลาย เพราะปัญหาแตกต่างกัน เป้าหมายในการทำงานของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกัน จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการรวมกัน ความจริงความหลากหลายคือความแข็งแกร่งในการให้การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปได้อย่างทั่วถึง และลงไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างถี่ถ้วน
เมื่อถามว่าการรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติเลวร้ายนักหรือ
ซึ่งแน่นอนหากรับเงินมาเพื่อบ่อนทำลายความเจริญของชาติจริง
ก็ผิดแน่และไม่ควรปล่อยเอาไว้ด้วย ต้องเอามาลงโทษ
แต่ปัจจุบันมีองค์กรนานาชาติเป็นจำนวนมากที่มีทุนให้กับ เอ็น จี โอ
ในประเทศที่กำลังพัฒนาให้แก้ปัญหาต่าง ๆ
ตามที่องค์กรหลักกำลังรณรงค์เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระดับโลกร่วมกัน
ทำไมจะรับทุนจากผู้ที่หวังดีต่อโลกเหล่านี้ไม่ได้
รัฐเองก็รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ อยู่
เช่นนี้จะถือว่ารัฐทำไม่ถูกต้องด้วยหรือไม่
ความจริงเป็นการสมควรเสียด้วยซ้ำไปที่จะให้บรรดาผู้คนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งเป็นผู้เอาทรัพยากรต่าง ๆ ของโลกไปใช้กันอย่างมากมาย
จนเกิดความเดือดร้อนในระดับโลกขึ้นเช่นในปัจจุบัน
และทรัพยากรส่วนมากที่ใช้ก็ไปจากประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง
ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่คนจากประเทศที่พัฒนาทั้งหลายจะต้องร่วมกันเสียสละเงิน
แล้วส่งมาให้ดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ
ในประเทศกำลังพัฒนานั้นได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และอะไรก็ตามที่ต้องทำในประเทศกำลังพัฒนาก็ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศพัฒนาแล้วด้วย
เพียงแต่จะต้องเลือกดูให้ชัดเจนว่าการช่วยเหลือให้ทุนนั้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาหรือมีสิ่งแอบแฝง
เพื่อการตัดสินใจรับหรือไม่รับความช่วยเหลือนั้นได้ถูกต้อง
สิ่งที่ควรยกมาวิเคราะห์ในเรื่องการต่อต้านนี้มีหลายประเด็นด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับ
เอ็น จี โอ ทั้งนี้เพื่อให้ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันมีมากเหลือเกินนี้
ลดความรุนแรงลง เพราะสภาพสังคมไทยปัจจุบันกำลังเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง
ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก
ยิ่งปล่อยไว้นานความฝังใจว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกต้อง
ยิ่งทำให้ไม่สามารถยอมรับความคิดอื่นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์หาวิธีแก้ไข
สิ่งแรกที่ควรเรียกร้องคือเรื่องของการทำความจริงให้ปรากฏ นักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ จริงซึ่งก็มีอยู่มากมายตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ น่าที่จะต้องแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการสู่สาธารณชนในฐานะที่อยู่ในสถาบันการศึกษา การให้บริการสังคมโดยบริสุทธิ์ ไม่มีใครมาจ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีความสับสนและตนเองมีความรู้ต้องออกมาให้ความคิดเห็นที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขมิให้ความไม่รู้จริงนำไปสู่ความเชื่อที่ผิด ๆ และกลายเป็นปัญหาของความขัดแย้ง แต่ที่ต้องระวังคือนักวิชาการที่ออกมาให้ความคิดเห็นนั้นต้องให้ความคิดเห็นเฉพาะในสิ่งที่ตนเองมีความรู้จริง หากตนเองมีความเชี่ยวชาญทางสาขาอื่น แต่ต้องการแสดงความคิดของตนเกี่ยวกับเรื่องซึ่งไม่ใช่ความชำนาญทางวิชาการของตน ต้องทำให้ชัดเจนต่อสังคมว่าที่แสดงความคิดออกมาเช่นนั้นเป็นเพียงมุมมองตามความรู้สึก แต่ไม่ใช้ความคิดอ่านที่มีข้อมูลและความรู้จริงอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะแสดงความห่วงใย การแสดงแนวคิดของตนเองตามความรู้สึกที่ตนเองกลั่นกรองมานั้น ต้องทำให้ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์จากข้อมูล แต่เป็นเพียงความคิดเห็นของตนเท่านั้น เพราะนักวิชาการหลายต่อหลายคนมีผู้คนศรัทธาในความคิดอยู่แล้ว หากพูดอะไรมาคนก็จะเชื่อ เมื่อไม่ใช่ในสาขาที่ตนเองรู้ดีแล้วความคิดเห็นที่แสดงออกมาอาจไม่ถูกต้องทีเดียวก็ได้ แต่อาจมีผู้เชื่อ ถ้ามีผู้เชื่อความเสียหายก็จะเกิดต่อไปได้
ประเด็นที่สองคือภาครัฐ ซึ่งมักจะเฉยเมินในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
เมื่อมีผู้เดือดร้อน หากร้องเรียนมาตามปกติก็มักจะไม่ได้รับความสนใจเท่าไร
แต่ถ้ามีการแสดงความรุนแรงมากขึ้น เช่น จับกลุ่มกันให้ใหญ่ขึ้น มีการปิดถนน
ประท้วงยืดเยื้อ ทำท่าทีรุนแรง ฯลฯ จนกระทั่งเป็นข่าวเป็นเรื่องที่มีผู้สนใจมากขึ้น
ถึงเวลานั้นภาครัฐจึงมักจะโดดลงมาแก้ปัญหา
เท่ากับเป็นการสอนผู้ประท้วงทั้งหลายว่าต้องใช้ความรุนแรงหรือมีทีท่าข่มขู่
รัฐจึงจะรีบจัดการ ดังนั้นผู้ประท้วงจึงหาทางทำวิธีการที่ทำให้เป็นข่าว
หรือให้มีผู้เดือดร้อนมาก ๆ เดี๋ยวรัฐก็จะเข้ามาแก้ไข
ความเฉยเมยเช่นนี้ต้องปรับเปลี่ยน
ต้องถือว่าเรื่องที่มีผู้เดือดร้อนก็ต้องรีบมาให้การเอาใจใส่
และรีบปรับปรุงสภาพเพื่อให้พันสภาพเดือดร้อนนั้น อย่ารอจนเรื่องบานปลาย
เอ็น จี โอ เองก็ต้องมีการทบทวนดูบทบาทของตนเองกันบ้าง เอ็น จี โอ ที่ทำทุกอย่างดี
ถูกต้อง ได้ผลอยู่แล้ว ย่อมเป็นตัวอย่างของ เอ็น จี โอ อื่น ๆ ได้ แต่ เอ็น จี โอ
ซึ่งยังมีความรู้สึกกันอยู่ว่าการเป็น เอ็น จี โอ นั้นต้องหาเรื่องประท้วง ซึ่งลึก
ๆ
แล้วก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องคือเป็นการไปสอดส่องดูว่ามีอะไรที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
แล้วขุดคุ้ยขึ้นมาตีแผ่ มิฉะนั้นความบกพร่องต่าง ๆ
เหล่านั้นจะถูกซ่อนอยู่กับโครงการต่าง ๆ ยากที่จะเห็นได้
แต่การนำมาตีแผ่และกลวิธีในการดำเนินการนั้นต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่คนอื่น ๆ
เขาจะมอง การแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงนั้นไม่ถูกต้องและมักไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ต้องใช้ข้อมูลและเหตุผลที่ถูกต้องเป็นเครื่องชี้
หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าผู้อ้างตัวว่าเป็น เอ็น จี โอ นั้นก็มีหลายรูปแบบ
ส่วนมากเป็นพวกต้องการช่วยแก้ปัญหาด้วยความตั้งใจจริง ต้องการทำประโยชน์ให้สังคม
แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันได้มีรูปแบบแบบอื่น ๆ เกิดขึ้นอีกมาก
เพราะกระแสความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยนั้นสูงขึ้นมาก
จึงมีหลายคนที่เข้ามาเป็น เอ็น จี โอ เพราะอยากมีชื่อเสียง
ถ้าต้องการได้ชื่อเสียงด้วยการทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องดี
แต่ถ้ามีสิ่งแอบแฝงก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะบางคนอยากมีหน้ามีตา
ไม่สนใจในเรื่องงานเสียสละเหล่านี้เท่าใดนัก บางคนอยากใช้งานของการเป็น เอ็น จี โอ
ให้ได้การยอมรับจากชาวบ้านเพื่อเป็นแนวทางเข้ามาสู่วงการเมือง เป็นต้น
พวกเหล่านี้อาจทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ต้องการทำดีร่วมกันเสียหายไปด้วย
มีหลายต่อหลายครั้งที่ เอ็น จี โอ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการพิจารณาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยความไม่แน่ใจว่าหากเข้าร่วมแล้วอาจถูกถือว่าไปร่วมพิจารณาแล้วจะถูกมัดมือให้การสรุปเป็นไปตามที่มีผู้ต้องการ โดยไม่ฟังเสียงชาวบ้านหรือ เอ็น จี โอ ที่เข้าไปร่วม ซึ่งแนวคิดนี้ต้องปรับเปลี่ยน การขัดแย้งจะไม่มีทางแก้ได้เลยถ้าไม่พิจารณากันด้วยเหตุผลและด้วยข้อมูล ทุกฝ่ายที่นำเสนอข้อมูลจะถูกตรวจสอบได้โดยผู้รู้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ต้องมีความจริงใจซึ่งกันและกัน มีการพิจารณาอย่างโปร่งใส ข้อมูลถูกตรวจสอบได้ และก็ต้องได้รับการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องด้วยเหตุผล ถ้าไม่เชื่อข้อมูลก็ต้องมีข้อมูลที่ดีกว่ามาหักล้าง จะอ้างเอาลอย ๆ ว่าข้อมูลที่เอามาใช้เป็นข้อมูลไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะทุกฝ่ายต้องหักล้างกันด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ใช่คิดเอา คาดเดาเอา เมื่อเราสามารถจะนั่งลงถกเถียงกันด้วยเหตุผล ด้วยข้อมูล ซักไซ้กันได้ ย่อมจะเป็นวิธีการดีที่สุดที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่การแก้ปัญหาจะเกิดไม่ได้เลยหากแต่ละฝ่ายยังคงดึงดันว่าตนเองถูก คนอื่นผิด และไม่ยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากคือการไม่ทำการตามข้อตกลงเมื่อมีการเจรจากันด้วยเหตุผลแล้ว หากฝ่ายที่ต้องปรับแก้ไม่ทำตามมติ อีกฝ่ายหนึ่งก็รับไม่ได้ ฝ่ายคัดค้านเมื่อตกลงแล้วก็ต้องยอมให้เป็นไปตามนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้ประกอบการก็ต้องยึดมั่นในข้อตกลง ประวัติในอดีตมักสร้างความไม่มั่นใจให้กับการตกลงในปัจจุบัน เพราะปรากฏอยู่บ่อย ๆ ว่าเมื่อตกลงกันได้แล้ว การติดตามช่วยเหลือแก้ไขสภาพตามที่ตกลงไว้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัตินั้นมักจะล่าช้า หรือปฏิบัติไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ โดยมักถือว่าได้เปรียบแล้ว จะทำอย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าละอาย ปราศจากคุณธรรม ซึ่งสร้างความไม่ไว้วางใจในการตกลงในเรื่องอื่น ๆ ต่อมา ส่วนทางฝ่าย เอ็น จี โอ การตัดสินใจต่าง ๆ ในการยอมรับวิถีทางเลือกต่าง ๆ นั้นต้องให้เป็นของชาวบ้านเอง หรือผู้เดือดร้อนเอง เอ็น จี โอ เพียงแต่ให้คำปรึกษาในด้านข้อมูลที่ถูกต้อง มีที่มาที่ไป ซึ่งเอามายืนยันกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปให้ความเห็นแทรกแซงการตัดสินใจของชาวบ้าน เอ็น จี โอ ต้องให้แต่เหตุผลและต้องไม่สร้างความกดดันให้กับการตัดสินใจของชาวบ้าน หากทุก ๆ ฝ่ายพยายามช่วยขจัดความขัดแย้งและปกป้องผลชาวบ้านไม่ให้เสียเปรียบได้นั้นคือการช่วยนำบ้านเมืองไปสู่สภาพ-การณ์ที่ดีขึ้น
ดร. สุรพล สุดารา
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 2544-2547