ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชกำหนด ควบคุมสินค้าตามชายแดน พ.ศ. 2524

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2524
เป็นปีที่ 36 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมสินค้าตามชายแดนเพื่อป้องกันและ ปราบปรามการกระทำอันกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบ เรียบร้อยตามชายแดน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 157 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า พระราชกำหนดควบคุมสินค้า ตามชายแดน พ.ศ. 2524

มาตรา 2* พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2524/174/1พ/20 ตุลาคม 2524]

มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่นใดในส่วนที่บัญญัติไว้แล้ว ในพระราชกำหนดนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้ พระราชกำหนดนี้แทน

มาตรา 4 ในพระราชกำหนดนี้ สินค้า หมายความว่า สิ่งของที่อาจใช้ในการอุปโภคหรือบริโภค สารเคมี อาวุธ ยานพาหนะ และสิ่งของอื่นใด เขตควบคุม หมายความว่า เขตที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเขตควบคุม ตามพระราชกำหนดนี้ จำหน่าย หมายความว่า ขาย แลกเปลี่ยน ให้ โอนสิทธิหรือโอน การครอบครองให้แก่บุคคลอื่น ผู้อำนวยการ หมายความว่า ผู้อำนวยการควบคุมสินค้าในเขตควบคุม พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งให้ ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

มาตรา 5 พระราชกำหนดนี้มิให้ใช้บังคับแก่สถาบันระหว่างประเทศ หรือสถาบันของต่างประเทศที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ

มาตรา 6 เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมสินค้าตามชายแดนเพื่อ ประโยชน์ในการป้องกันหรือปราบปรามการแทรกซึมบ่อนทำลาย ป้องกันหรือ ปราบปรามการกระทำอันกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยตามชายแดน หรือเพื่อมิให้เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอันจะเป็นภัยต่อ ประเทศ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ให้ท้องที่หนึ่งท้องที่ใดตามชายแดน หรือส่วนหนึ่งส่วนใด ในน่านน้ำของประเทศไทยเป็นเขตควบคุมได้ ม

าตรา 7 เมื่อได้ประกาศเขตควบคุมตามมาตรา 6 แล้ว ให้รัฐมนตรี มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) กำหนดชนิดหรือประเภทสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุมในเขตควบคุมนั้น

(2) แต่งตั้งนายทหารยศตั้งแต่พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรีขึ้นไป หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการ การกำหนดชนิดหรือประเภทสินค้าควบคุมตาม (1) เมื่อประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา 8 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจกำหนดมาตรการโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการตามมาตรา 9 ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กำหนดจำนวนหรือปริมาณสินค้าควบคุมซึ่งบุคคลจะมีไว้ในครอบครอง หรือมีไว้เพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ตามความจำเป็น และจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใด ด้วยก็ได้

(2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจำหน่าย การเก็บ รักษา และการขนย้ายสินค้าควบคุม

(3) ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับสินค้าควบคุมเพื่อประโยชน์ในการ ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ การกำหนดตาม (1) และ (2) ให้ทำเป็นประกาศปิดไว้ ณ ศาลา กลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการตำบล และที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเขต ควบคุมอยู่ในท้องที่ ประกาศนั้น เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคสี่แล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา 9 ในแต่ละจังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุม ให้มีคณะกรรมการ คณะหนึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่า ราชการจังหวัด อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธร นายอำเภอแห่งท้องที่ ที่เกี่ยวข้อง พาณิชย์จังหวัด และผู้บังคับหน่วยทหารซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับ บัญชาที่ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบในการป้องกันในพื้นที่ชายแดน เป็นกรรมการ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ ให้รองผู้ว่าราชการ จังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

มาตรา 10 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจแต่งตั้งนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรีขึ้นไป หรือข้าราชการตำรวจยศ ตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป หรือข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป เป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามความจำเป็น

มาตรา 11 ในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง บัตรประจำตัว ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 12 เมื่อได้มีการประกาศกำหนดจำนวนหรือปริมาณสินค้าควบคุม ตามมาตรา 8 (1) แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใดมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกิน จำนวนหรือปริมาณดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการ หรือผู้ซึ่งผู้อำนวยการมอบหมาย บุคคลใดมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินจำนวนหรือปริมาณที่กำหนด ในวันที่มีประกาศตามมาตรา 8 (1) ต้องขออนุญาตต่อผู้อำนวยการหรือผู้ซึ่ง ผู้อำนวยการมอบหมายภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า เจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีประกาศดังกล่าว

มาตรา 13 ห้ามมิให้บุคคลใดนำสินค้าควบคุมเข้ามาในหรือส่งออกไป นอกเขตควบคุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการหรือผู้ซึ่ง ผู้อำนวยการมอบหมาย

มาตรา 14 การขออนุญาตและการอนุญาตตามมาตรา 12 และ มาตรา 13 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการ ประกาศกำหนด และให้นำมาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับ แก่การประกาศในกรณีนี้โดยอนุโลม

มาตรา 15 ในเขตควบคุมซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ให้ผู้อำนวยการ และพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่และพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปตรวจค้นในเคหะสถาน สถานที่หรือยานพาหนะใด ๆ ได้ ทุกเวลา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้

(2) ตรวจค้นบุคคลใด ๆ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิด ตามพระราชกำหนดนี้

(3) ตรวจค้นยานพาหนะที่จะเข้ามาในหรือออกนอกเขตควบคุมได้ ทุกเวลาและสั่งเจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะให้หยุด จอด หรือนำ ยานพาหนะไปยังที่หนึ่งที่ใดเพื่อตรวจค้นและสั่งการตามที่เห็นสมควร

(4) สั่งบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือ หลักฐานอื่นเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ถ้อยคำ บัญชี เอกสาร หรือหลักฐาน ดังกล่าวจะมีประโยชน์แก่การดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้

(5) ยึดหรืออายัดสินค้า เอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะหรือสิ่งของ ใด ๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้

(6) จับ ควบคุม และสอบสวน หรือส่งผู้ต้องหาตามพระราชกำหนดนี้ ไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไปก็ได้ การสั่งเจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะให้หยุด จอด หรือนำยานพาหนะ ไปยังที่หนึ่งที่ใดตาม (3) ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก หรือ กฎหมายเกี่ยวกับการเดินเรือ หรือกฎหมายอื่นว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี

มาตรา 16 บรรดาคดีที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชกำหนดนี้ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา 22 ไม่ว่าจะมีข้อหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายอื่น ด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวน ควบคุมผู้ต้องหาไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ต้องหา ถูกจับ ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ต้องหาไว้เกินกำหนดเวลาตาม วรรคหนึ่งเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้น ให้ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี ส่งตัวผู้ต้องหามาศาล และให้ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการประจำท้องที่ ที่อยู่ใน เขตควบคุมนั้นยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ในการนี้ให้ศาลมี อำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบห้าวันและรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกินหกสิบวัน

มาตรา 17 ในกรณีที่ผู้อำนวยการเป็นผู้ส่งสำนวนและมีความเห็น ควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ การแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้ใช้อำนาจของ อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี

มาตรา 18 สิ่งของที่ยึดไว้ ถ้าไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในขณะที่ยึด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศหาตัวเจ้าของภายในสิบห้าวันนับแต่ วันยึด หากไม่มีเจ้าของมาแสดงตัวขอรับคืนภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สิ่งของที่ยึดไว้ ถ้ามีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษา ให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของมิได้ขอรับคืนภายในสามสิบวัน นับแต่วันมีคำสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สิ่งของที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ถ้าเป็นของเสียง่าย หรือ ถ้าเก็บรักษาไว้ จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการ ดูแลรักษาเกินสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำบัญชีไว้แล้วจัดการขายทอดตลาด หรือจัดการโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้ เงินที่ได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินการแล้ว ให้ยึดไว้แทนสิ่งของ

มาตรา 19 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดตามมาตรา 8 หรือ เงื่อนไขที่ผู้อำนวยการกำหนดตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 20 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 22 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการ หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 15 (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 22 ทวิ* สินค้าควบคุมที่บุคคลใดมีไว้ในครอบครอง หรือมีไว้ เพื่อการใด รวมทั้งบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือ เครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลใดใช้อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ตามมาตรา 8 หรือสินค้าควบคุมที่บุคคลใดมีไว้ในครอบครองอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 12 หรือนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกเขตควบคุมอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 13 ให้ริบเสียทั้งสิ้น

*[มาตรา 22 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดฯ พ.ศ.2528]

มาตรา 23 ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำ ความผิดนั้น

มาตรา 24 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตาม พระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความมั่นคง ของรัฐ รัฐบาลจึงต้องควบคุมสินค้าบางชนิดหรือบางประเภทในเขตท้องที่บาง แห่งตามบริเวณชายแดนเพื่อมิให้สินค้าเหล่านั้นตกไปอยู่กับบุคคลที่เป็นภัยต่อ ประเทศ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการแทรกซึมบ่อนทำลายความ มั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ในการนี้จำเป็นต้องกำหนดมาตรการ เพื่อควบคุมสินค้าเหล่านั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

_____________________________

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดควบคุมสินค้าตามชายแดน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2528

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ มาตรการในการควบคุมสินค้าตามชายแดนที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกำหนด ควบคุมสินค้าตามชายแดน พ.ศ. 2524 ยังไม่สามารถป้องกันหรือปราบปราม การลักลอบนำสินค้าควบคุมเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกเขตควบคุมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้มีโทษริบสินค้าควบคุมที่บุคคลใดมีไว้ในครอบครอง มีไว้เพื่อการใด หรือนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกเขตควบคุม รวมทั้งบรรดา เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ที่บุคคลใด ใช้ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้การควบคุมสินค้าตามชายแดนมีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

*[รก.2528/120/1พ/5 กันยายน 2528]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย