ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2454 พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม ศุกรสังวัจฉร มาฆมาศ กัณหะปักษ์ ฉดิถีชีวะวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก 130 กุมภาพันธ์มาส อัฐมาศาหคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรม นราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อติศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิก โรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถจุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทร์สูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคย สรรพางค์ มหาชโนตตะมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิ์สมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศร สมมตประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโน ปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนบไมย บุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริห์ว่า พระธรรมนูญศาลทหารบกและพระธรรมนูญศาล ทหารเรือ ซึ่งโปรดเกล้า
ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้ เมื่อรัตนโกสินทรศก 126 และ 127 นั้น
เป็นแต่พระราชกำหนดสำหรับจัดการและกำหนดหน้าที่ และ อำนาจศาลทหารบกและศาลทหารเรือ
และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโปรดเกล้าฯ
ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้เมื่อรัตนโกสินทรศก 127 นั้น ก็บัญญัติแต่เฉพาะ
ลักษณะโทษแห่งความผิดล่วงละเมิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายสามัญ บัดนี้
สมควรจะมีพระราชบัญญัติ กำหนดลักษณะโทษแห่งความผิดต่าง ๆ
อันเป็นฐานล่วงละเมิดต่อกฎหมาย และหน้าที่ฝ่ายทหารขึ้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ทรง
พระราชปรารภว่า การกระทำผิดต่อกฎหมายและหน้าที่ฝ่ายทหารนั้น แม้เป็นการ
ซึ่งเกิดจากความประพฤติของบุคคลที่เป็นทหารเสียเป็นพื้นก็จริง แต่มีบางอย่าง
ที่อาจเกิดขึ้นจากความประพฤติของบุคคลสามัญก็ได้ ในพระราชบัญญัติเช่นนี้ควรมี
บทกฎหมายบางอย่าง ให้ใช้ได้ตลอดทั้งบุคคลที่เป็นทหารและบุคคลสามัญและใช่
แต่เท่านั้นบุคคลซึ่งเป็นทหารย่อมตั้งอยู่ในใต้บังคับวินัยทหาร
เมื่อกระทำผิดขึ้นต่อพระราชกำหนดกฎหมายอย่างคนสามัญ ความผิดนั้น
ย่อมมีลักษณะการละเว้น ความควรประพฤติในฝ่ายทหารเจือไปด้วย สมควรมีโทษ
หนักยิ่งกว่าผู้กระทำผิดเช่นเดียวกันซึ่งเป็นคนสามัญ
เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราไว้เป็นพระราช บัญญัติสืบไปดังนี้
[แก้ไขโดยประมวลกฎหมายอาญาทหารแก้ไขเพิ่มเติม พุทธ.2469 โดยแก้คำว่า
ขนมธรรมเนียมทหาร เป็น หน้าที่ฝ่ายทหาร และ วินัยทหาร]
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร
ภาค 1
ว่าด้วยข้อบังคับต่าง ๆ
---------
มาตรา 1 ให้เรียกพระราชบัญญัตินี้ว่า ประมวลกฎหมายอาญาทหาร
มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 131 เป็นต้นไป
[รก.2454/-/455/18 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 130]
มาตรา 3 ตั้งแต่วันที่ใช้กฎหมายนี้สืบไป ให้ยกเลิก
1) กฎหมายลักษณะขบถศึก
2) ข้อความในพระราชกำหนดกฎหมาย และกฎข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่ง เกี่ยวกับบรรดาความผิด
ที่กฎหมายนี้บัญญัติว่าต้องมีโทษ
มาตรา 4 ในกฎหมายนี้ คำว่า ทหาร หมายความว่า บุคคลที่อยู่ในอำนาจกฎหมายฝ่าย ทหาร
[นิยามนี้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 7) พุทธ.2487]
คำว่า เจ้าพนักงาน ที่ใช้ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญานั้น
ท่านหมายความตลอดถึงบรรดานายทหารบก นายทหารเรือ ชั้นสัญญาบัตร
และชั้นประทวนที่อยู่ในกองประจำการนั้นด้วย คำว่า ราชศัตรู นั้น
ท่านหมายความตลอดถึงบรรดาคนมีอาวุธ ที่แสดงความขัดแข็งต่ออำนาจผู้ใหญ่
หรือที่เป็นขบถหรือเป็นโจรสลัดหรือ ที่ก่อการจลาจล
คำว่า ต่อหน้าราชศัตรู นั้น ท่านหมายความตลอดถึงที่อยู่ในเขต ซึ่งกองทัพได้กระทำสงครามนั้นด้วย คำว่า คำสั่ง นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาข้อความที่ผู้ซึ่ง บังคับบัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควร เป็นผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัย และชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นนี้ท่านว่าเมื่อผู้รับคำสั่งนั้น ได้กระทำตามแล้ว ก็เป็นอันหมดเขตของการที่สั่งนั้น
[นิยามนี้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขฯ พ.ศ.2473 โดยแก้คำว่า นายทหาร เป็นผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหาร]
คำว่า ข้อบังคับ นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาข้อบังคับและ กฎต่าง ๆ ที่ให้ใช้อยู่เสมอ ซึ่งผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควร ได้ออกไว้โดยสมควรแก่กาลสมัย และชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
[นิยามนี้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขฯ พ.ศ.2473 โดยแก้คำว่า นายทหาร เป็น ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหาร]
มาตรา 5 ทหารคนใดกระทำความผิดอย่างใด ๆ นอกจากที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายอาญาทหารนี้ ท่านว่ามันควรรับอาญาตามลักษณะพระราช กำหนดกฎหมาย ถ้ากฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ให้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 5 ทวิ บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วย ธรรมนูญศาลทหาร ผู้ใดกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ในกรณีที่มิใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 107 ถึงมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าได้ มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือศาลใน ต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้น ในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษ น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้
*[มาตรา 5 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2507]
มาตรา 6* ผู้ใดต้องคำพิพากษาศาลทหารให้ลงอาชญาประหารชีวิต ท่านให้เอาไปยิงเสียให้ตาย
*[มาตรา 6 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขฯ พ.ศ.2477]
มาตรา 7* ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร มีอำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำความผิดต่อวินัยทหารตามกฎหมายว่าด้วย วินัยทหาร ไม่ว่าเป็นการกระทำความผิดในหรือนอกราชอาณาจักร
*[มาตรา 7 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2507]
มาตรา 8* การกระทำความผิดอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชา ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร พิจารณาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญให้ ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหาร และให้มีอำนาจลงทัณฑ์ตามมาตรา 7 เว้นแต่ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารจะสั่งให้ส่งตัว ผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการดำเนินคดีนั้นในศาล พลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร จึงให้เป็นไปตามนั้น
*[มาตรา 8 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2507]
มาตรา 9 ความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 นั้น ให้ใช้ตลอดถึงความผิด ลหุโทษ และความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย
[มาตรา 9 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2507]
มาตรา 10 บรรดาบทในพระราชกำหนดกฎหมาย ที่ท่านกำหนด แต่โทษปรับสถานเดียว ถ้าจำเลยเป็นทหารซึ่งไม่ใช้ชั้นสัญญาบัตรหรือชั้นประทวน ท่านว่าถ้าศาลวินิจฉัยเห็นสมควรจะให้จำเลยรับโทษจำคุกแทนค่าปรับ ตาม ลักษณะที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาญานั้นก็ได้
มาตรา 11 ความผิดฐานลหุโทษก็ดี ความผิดอันต้องด้วยโทษจำคุก ไม่เกินกว่าเดือนหนึ่ง หรือปรับไม่เกินกว่าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นนั้น เป็นโทษที่หนักก็ดี ถ้าจำเลยเป็นทหาร ท่านให้ศาลวินิจฉัยตามเหตุการณ์ ถ้าเห็นสมควรจะเปลี่ยนให้เป็นโทษขังไม่เกินกว่าสามเดือนก็ได้
มาตรา 12 เมื่อศาลทหารพิพากษาเด็ดขาดให้ลงโทษแก่ทหารคนใด ท่านว่าให้ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหารผู้มีอำนาจสั่งให้ลงโทษตามคำพิพากษานั้นวินิจฉัย ตามเหตุการ ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังต่อหน้าประชุม ทหารหมู่หนึ่งหมู่ใด ตามที่เห็นสมควรก็ได้
[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขฯ พ.ศ.2473 โดยแก้คำว่า นาย ทหาร เป็น
ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหาร และพระราชบัญญัติแก้ไขฯ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2507 แก้ไขคำว่า
ศาลทหารบกหรือศาลทหารเรือศาลใด เป็น ศาลทหาร]
|
หน้าถัดไป »