ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

หวาย

เป็นชื่อพืชในวงศ์หมากและหวาย ซึ่งส่วนมากมีลำต้นยาวเป็นเถาเลื้อย ใบประกอบแบบขนนก กาบใบมักเป็นปลอกหุ้มลำต้นและมักมีหนาม ก้านใบและแกนใบมักมีหนาม

หวายที่พบในประเทศไทยมีเจ็ดสกุล ประมาณ 72 ชนิด แต่ละสกุลมีลักษณะสำคัญคือ

1. สกุลหวายตะค้า มีประมาณ 370 ชนิด ในประเทศไทยมีประมาณ 40 ชนิด ลักษณะเด่นคือเป็นปาล์มที่ออกดอกเป็นผลได้หลายครั้ง

2. สกุลหวายพาลี มีประมาณหกชนิด ลักษณะเด่นคือออกดอกเป็นผลได้หลายครั้ง มีกาบหุ้มช่อดอกหรือใบประดับช่อดอกเพียงกาบเดียว ไม่มีกาบหุ้มแขนงช่อ หรือช่อดอกย่อย

3. สกุลหวายพน มีประมาณ 115 ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 18 ชนิด ลักษณะเด่นคือออกดอกเป็นผลได้หลายครั้ง ดอกออกด้านข้างของกาบใบ เป็นช่อแยกแขนงสั้น ๆ

4. สกุลหวายเดา มีประมาณ 25 ชนิด ในภาคใต้ของไทยมีหกชนิด ลักษณะเด่นคือตามข้อของลำหวาย มีตาขนาดใหญ่ และมักแตกกิ่งเลื้อยไปตามเรือนยอดไม้ ดอกออกบนก้านช่อแบบแยกแขนง เมื่อกิ่งใดออกดอกและเป็นผลก็จะตายไป

5. สกุลหวายช้าง มีชนิดเดียวคือหวายช้าง ลักษณะเด่นคือกาบใบมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีหนามขนาดใหญ่เรียงเป็นวงคล้ายหวี ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่บริเวณข้อตอนปลายล่า เมื่อออกดอกเป็นผลแล้วจะตายไป

6. สกุลหวายกำพด มีประมาณ 17 ชนิด ในไทยมีสามชนิด ลักษณะเด่นคือออกดอกเป็นผลครั้งเดียวแล้วตายไป ดอกออกบนช่อแยกแขนงขนาดใหญ่

7. สกุลหวายแดง มีประมาณห้าชนิด ในไทยมีสองชนิด ลักษณะเด่นคือผิวของลำหวายเป็นสีม่วงแดง ออกดอกเป็นผลครั้งเดียวแล้วตายไป

ถึงแม้ว่าหวายในไทยจะมีถึงเจ็ดสกุล 72 ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เพราะเนื้อและผิวหวายดังกล่าวมีลักษณะสวยงาม เหนียว ทนทาน นำมาจักสานและทำเครื่องเรือน หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ดี

คำว่าหวายเป็นคำเรียกพืชหลายวงศ์ หลายสกุล ในที่นี้บรรยายไว้เฉพาะวงศ์ปาล์มเท่านั้น ไม่รวมถึงหวายอยู่ในวงศ์อื่นเช่น หวายลิง วงศ์หวายลิง และวงศ์กล้วยไม้

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย